ห้องย่อย 6: พื้นที่ปลอดภัยเพื่อลดปัญหาความรุนแรง สร้างได้
กำหนดการ
Sapphire 202
เวลา | กิจกรรม |
09.30-10.00 น. | ลงทะเบียน |
10.00-10.10 น. | กล่าวเปิดและชี้แจงวัตถุประสงค์ โดย นางสาวจิตติมา ภาณุเตชะ ผู้จัดการแผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ |
10.10-10.50 น. | เวทีเสวนา การสร้างพื้นที่ปลอดภัย ลดปัญหาความรุนแรงในชุมชน
หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ศูนย์พึ่งได้ OSCC โรงพยาบาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช จ.ตาก ผู้อำนวยการกองสวัสดิการสังคม อบต.ป่ามะม่วง จ.ตาก ประธานชุมชนวัดสวัสดิ์วารีสีมาราม เขตดุสิต กรุงเทพฯ |
10.50-11.45 น. | เวทีเสวนา นวัตกรรมการสื่อสารเพื่อทำความเข้าใจและช่วยลดปัญหาความรุนแรง
ผู้อำนวยการด้านยุทธศาสตร์ บริษัทไซด์คิก จำกัด ผู้พัฒนาแพลตฟอร์มออนไลน์ Moments เพื่อสร้างพื้นที่ปลอดภัยและเสริมพลังผู้ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงทางเพศ ผู้ก่อตั้งเพจ Thai Consent และการ์ดเกมการเรียนรู้เรื่อง Consent สำหรับคนรุ่นใหม่ นักร้องที่สื่อสารประเด็นการลดความรุนแรงในคู่รัก บริษัท ลอรีอัล (ประเทศไทย) จำกัด |
11.45-12.00 น. | ข้อสังเกตต่อเเนวทางการเขับเคลื่อนงานเพื่อลดปัญหาความรุนเเรง
หัวหน้ากลุ่มงานสังคมสงเคราะห์ทางการเเพทย์ ศูนย์ OSCC โรงพยาบาลปทุมธานี คณะกรรมการกำกับทิศทางสุขภาวะทางเพศ สุขภาวะผู้หญิง เเละกลุ่มบุคคลที่มีเพศหลากหลาย ที่ปรึกษาแผนงานสุขภาวะผูหญิงฯ เเผนงานสุขภาวะผูเหญิงเเละความเป็นธรรมทางเพศ |
กำหนดการ
Sapphire 205
เวลา | กิจกรรม |
12.30-13.30 น. | ลงทะเบียน |
13.30-14.30 น. | สสส.ขับ…ภาคีเคลื่อน: อารยสถาปัตย์เพื่อคนทั้งมวล โดย คุณกฤษนะ ละไล ประธานมูลนิธิอารยสถาปัตย์เพื่อคนทั้งมวล |
14.30-15.00 น. | นิทรรศการเมืองไม่ทิ้งใครและกิจกรรมนำเข้าสู่การเสวนาเมืองที่ไม่ทิ้งใคร |
15.00-16.30 น. | เสวนาเรื่อง “เมืองในอนาคตควรเป็นแบบไหน เมืองอัจฉริยะ เมืองน่าอยู่ หรือเมืองที่ไม่ทิ้งใคร”
ตัวแทนจากเทศบาลเมือง Akashi ประเทศญี่ปุ่น ตัวแทนจากกรุงเทพมหานคร ตัวแทนจากสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร ประธานฝ่ายแผนงานและโครงการ ภาคีเครือข่ายขนส่งมวลชนทุกคนต้องขึ้นได้ (T4A) |
16.30-17.00 น. | เสียงจากเครือข่ายเมืองที่ไม่ทิ้งใคร : ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อเมืองที่ไม่ทิ้งใคร |
สานพลังภาคีนวัตกรรม
สร้างพื้นที่ปลอดภัย ลดความรุนแรงได้
เสียงเล็ก ๆ ที่ไม่ใครได้ยิน จากผู้ถูกกระทำความรุนแรง ตามที่เผยแพร่เป็นข่าวให้เห็นในสื่อต่าง ๆ เป็นเพียงยอดภูเขาน้ำแข็ง มีปัญหาภายใต้ยอดเขามากมาย หลายคนไม่กล้าแม้แต่คิดในใจเก็บเรื่องเงียบงันไม่บอกใคร
ในงานประชุมวิชาการและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เสียงที่คนอื่นไม่ได้ยิน : ประชากรกลุ่มเฉพาะ ครั้งที่ 2 “2nd Voice of the voiceless: the vulnerable populations” โดย สำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ หรือ สำนัก 9 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พูดคุยแลกเปลี่ยนกันในห้องย่อย “พื้นที่ปลอดภัยเพื่อลดปัญหาความรุนแรงสร้างได้” โดย มูลนิธิหญิงไทยก้าวไกล แผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ เครือข่ายทีม สหวิชาชีพ 3 จังหวัด อ.แม่สอด จ.ตาก จ.อุดรธานี และ จ.นครสวรรค์
จุดเล็ก ๆ พลังชุมชน สร้างพื้นที่ปลอดภัย
เปิดฉากเวทีเสวนา “การสร้างพื้นที่ปลอดภัย ลดปัญหาความรุนแรงในชุมชน” ถ่ายทอดประสบการณ์ทำงานยาวนานนับ 10 ปี ของ นัยนา ยลจอหอ ประธานชุมชนวัดสวัสดิ์วารีสีมาราม เขตดุสิต กรุงเทพฯ ตัวจริงของคนทำงานในพื้นที่ ออกปากว่า จริง ๆ ไม่ได้อยากทำ เพราะเป็นเรื่องยาก จุดเริ่มต้นมาจากปัญหาครอบครัว ชีวิตเราไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ และตัวเราเองนี่แหละเป็นจุดเปลี่ยน ต้องทำครอบครัวตัวเองให้ดีก่อน ถ้าเราเองยังหนีไม่พ้นวงจรความรุนแรง ลูกเราติดยา ก็จะแก้ปัญหาอะไรให้ใครไม่ได้ ถ้าไม่เปลี่ยนตัวเองความเชื่อถือศรัทธาไม่มี เราเริ่มจากจุดเล็ก ๆ ในครอบครัว อบรม ศึกษาเรียนรู้เพิ่มทักษะ ร่วมงานกับมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล บ่มเพราะจนเราสุกงอม จนสามารถขับเคลื่อนแก้ปัญหา มีความตระหนักรู้ว่าประเด็นอะไรที่ต้องช่วยเหลือหาทางเยียวยาแก้ไข ผลกระทบที่เกิดขึ้นเป็นอย่างไร ถ้าตัวเราไม่เข้มแข็งก็ไม่ประสบความสำเร็จ และทำงานต่อสู้มาอย่างยาวนาน จนเกิดกลไกเชื่อมโยงการทำงานกับภาครัฐในการประสานงานส่งต่อ
นัชชา ยอดสุวรรณ ผู้อำนวยการกองสวัสดิการสังคม อบต. ป่ามะม่วง จังหวัดตาก เสริมว่า จากชุมชนมาสู่ อปท. ที่มีหน้าที่ดูแลประชาชนใกล้ชิด ในบริบทพื้นที่เมื่อพบเจอปัญหาอยากให้คนลุกขึ้นมาช่วยเหลือดูแลกันให้เขาตระหนักว่า ความรุนแรงเป็นปัญหาของชุมชน เป็นจุดเริ่มต้นของทุกเรื่อง ไม่ว่าจะยาเสพติด ข่มขืน คนพิการ ผู้สูงอายุไม่มีใครดูแล หากสามารถแก้ต้นเหตุจะทำให้ชุมชนน่าอยู่ ถ้าชุมชนดูแลตัวเองได้ช่วยเหลือตัวเองได้ ลดภาระงานที่เราต้องไปแก้ไขปัญหา
“อบต.ป่ามะม่วง ใช้วิธีการนำประเด็นความรุนแรงเสนอในประชาคมบอกให้รู้ว่ามีเรื่องนี้จะแก้ปัญหาอย่างไร เริ่มชวนจิตอาสาเขามาเป็นทีม ให้ชุมชนเข้ามาเป็นแกน สร้างทีมขึ้น ทำฐานข้อมูลชุมชน และมีบริการ One Stop Service ช่วยเหลือประชาชน ให้เห็นว่า อบต. เป็นที่พึ่ง “ช่วยได้”
ความรุนแรง ไม่ใช่เรื่องส่วนตัว
เอมอร เพชรสังหาร ศูนย์พึ่งได้ OSCC โรงพยาบาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช จังหวัดตาก แบ่งปันประสบการณ์ทำงานว่า ระบบการทำงานที่ผ่านมาเป็นการทำงานที่แยกเป็นส่วน ๆ ทุกคนต่างทำหน้าที่ของตัวเองอย่างดีที่สุดแต่ปัญหาไม่คลี่คลาย จึงตั้งต้นคิดหาวิธีการพบว่า การดูแลคนถูกกระทำหรือใช้ความรุนแรงต้องดูปัญหาจากฐานราก ในครอบครัว คนที่ใกล้ชิด ตั้งแต่เริ่มต้น คนที่ใกล้ชิดกับปัญหาจะเกิดการเรียนรู้ร่วมกัน ได้ชวนอปท. 11 แห่ง ใน จ.ตาก เริ่มจากคนที่มีใจมาก่อน หากอยากทำงานมาช่วยกันเพราะไม่มีค่าตอบแทน พอรวมทีมได้ก็ชวนกันมาทำความเข้าใจว่า ความรุนแรงคืออะไร ความรุนแรงมีหลายรูปแบบ และไม่ใช่เรื่องส่วนตัวเป็นเรื่องของสังคมที่ต้องเฝ้าระวัง
“เราปูพรมกวาดในพื้นที่ แต่ละหมู่บ้านทั้งหมด มีการแบ่งเฉดสีระดับความรุนแรง ถ้าสีแดงต้องช่วยก่อน สีส้มเฝ้าระวัง สีเหลืองดูห่าง ๆ เราทำข้อมูลให้ชุมชนเฝ้าระวัง และหากพบความรุนแรงต้องทำอะไรบ้างอย่างเป็นระบบ คนที่สร้างความรุนแรงก็ต้องหาวิธีช่วยเหลือ เราพบว่าเขาเคยเป็นผู้ถูกใช้ความรุนแรงมาก่อน ปัญหาแต่ละพื้นที่จะต่างกัน ความรุนแรงกับยาเสพติด ความรุนแรงจากจิตเวช มีวิธีดูแลกันอย่างไร สิ่งสำคัญคือเจอให้เร็วที่สุด ในมุมของคนทำงานเราไม่อยากทำงานปลายทาง แต่ช่วยเหลืออะไรได้ก็ยื่นมือไปให้สุด”
กลไกชุมชนมีความสำคัญกับปัญหาความรุนแรงอย่างมาก จะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ฉายภาพให้เห็นชัดขึ้นว่า เมื่อก่อนถ้าผู้หญิงถูกกระทำความรุนแรงเป็นฝ่ายที่ต้องออกไปจากในชุมชน ซึ่งก็ไม่รู้จะไปอยู่ที่ไหน ทำไมผู้หญิงต้องหนีออกไป คนที่ไปต้องเป็นคนที่สร้างปัญหาหรือไม่ เมื่อชุมชนเข้าใจปัญหา เริ่มตระหนักก็นำมาสู่การแก้ปัญหา โดยมีกลไกภาครัฐสนับสนุน
“จุดเปลี่ยนสำคัญคนที่ประสบปัญหากับคนที่เข้าใจปัญหาต้องได้รับการสนับสนุนให้เติบโตไปพร้อมกับกลไกรัฐ ซึ่งสังคมปลอดภัย ไม่ใช่สังคมที่มีความรุนแรงเป็นศูนย์ แต่เป็นสังคมที่โอบอุ้มผู้ที่ประสบความรุนแรง โอบอุ้มคนทุกข์ จากปัญหาของคนในครอบครัว สร้างสังคมที่ไม่ยอมรับความรุนแรง”
นวัตกรรมการสื่อสารเปลี่ยนทัศนคติสังคม
หลังฟังมุมมองคนทำงานในระดับพื้นที่แล้วต่อด้วยเวทีเสวนา “นวัตกรรมการสื่อสารเพื่อทำความเข้าใจและช่วยลดปัญหาความรุนแรง” เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ ในการมีส่วนร่วมช่วยกันแก้ปัญหาความรุนแรง เริ่มจาก ตุลย์ ปิ่นแก้ว ผู้อำนวยการด้านยุทธศาสตร์ บริษัท ไซด์คิก จำกัด ผู้พัฒนาแพลตฟอร์มออนไลน์ Moments เพื่อสร้างพื้นที่ปลอดภัยและเสริมพลังผู้ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงทางเพศ
คุณตุลย์ ปิ่นแก้ว เล่าถึงแพลตฟอร์มออนไลน์ Moments ว่า เริ่มมาจากงานวิจัยของมูลนิธิหญิงชายก้าวไกลเมื่อ 2 ปีที่แล้ว พบว่า ผู้หญิงไทย 1 ใน 5 เคยเผชิญกับเหตุการณ์ความรุนแรงทางเพศ และผู้ที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงสูงสุด คือ เด็กหญิงอายุต่ำกว่า 15 ปี มากกว่า 78% ต้องเผชิญกับปัญหาอย่างโดดเดี่ยว ผ่านช่วงเวลาก้าวข้ามบาดแผลส่งผลกับปัจจุบันและอนาคต เราต้องการสร้างโมเมนต์ใหม่ ๆ กลับคืนมา เริ่มต้นและก้าวข้ามช่วงเวลาเลวร้าย ร่วมกับ 9 มหาวิทยาลัย เพื่อค้นหาว่า ผู้ได้รับผลกระทบต้องการความช่วยเหลืออะไร การช่วยเหลืออะไรที่ได้ผลและไม่ได้ผล พบว่า มีกลุ่มที่ช่วยเหลือตัวเองได้ ทำงานควบคู่กับการเรียน และกลุ่มที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวได้ อาจเพราะเข้าไม่ถึงความช่วยเหลือ ค่าใช้จ่ายสูง เราจึงต้องสร้างพื้นที่ที่เข้าถึงได้
“Moments เป็นการทดลองใช้งานในกลุ่มสมาชิกที่มีการออกแบบร่วมกันเป็นเวลา 1 เดือน ในพื้นที่สมาชิกกับพื้นที่สาธารณะคล้ายกับ Twitter แลกเปลี่ยนประสบการณ์ พูดคุย นำไปสู่ Healing วิธีที่จะก้าวข้ามและอยู่กับปัจจุบัน ไม่ต้องเปิดเผยตัวตน ในพื้นที่ภายนอกมีบทความ วิดีโอ พอดคาสต์ จากอินฟูลเอนเซอร์สร้างกำลังใจ ผลจากการศึกษาพบว่า สมาชิกอยากได้ทั้งพื้นที่ปลอดภัยและพื้นที่สาธารณะ 86% ต้องการพื้นที่ปลอดภัยที่ไม่ต้องเปิดเผยตัวตน แต่ในขณะเดียวกัน 61% อยากให้แฟลตฟอร์มที่ใช้งานประจำอย่าง YouTube, Facebook live, Zoom และ Instagram จัดกิจกรรมสาธารณะที่คนทั่วไปสามารถเห็นได้ โดย 90% ต้องการแบ่งปันเรื่องราวโดยไม่เปิดเผยตัวเพื่อสร้างกำลังใจกลับคืนมา”
คุณวิภาพรรณ วงษ์สว่าง ผู้ก่อตั้งเพจ Thai Consent และการ์ดเกม ‘sEXPLORE’ เรียนรู้เรื่อง Consent สำหรับคนรุ่นใหม่ แชร์ไอเดียการทำงานว่า ออกแบบเรื่องความรุนแรงที่ไปให้ไกลกว่ากางเกงในล็อกจิ๋ม แต่มีการพูดถึงอาวุธพกพา เครื่องมือในการป้องกัน ออกแบบชุดตรวจการข่มขืนใหม่ที่มีความเป็นมิตรหลายชิ้นงานได้รับรางวัล ล่าสุดออกแบบทำเกมการ์ดที่ใช้เล่นกับเพื่อนกระตุ้นให้คิด เช่น “เธอคิดว่าฉันใช้เวลากับแฟนมากเกินไปหรือป่าว” เพื่อให้เกิดการพูดคุยและสนุกที่จะตอบ ซึ่งเกมการ์ดนี้ จะมีการจัดอบรมเพื่อให้นำไปใช้งานได้นำเข้าสู่ระบบโรงเรียนต่อไป
ขณะที่ภาคเอกชนอย่าง คุณสิตานัน สิทธิกิจ ผู้จัดการฝ่ายสื่อสารองค์กร บริษัท ลอรีอัล (ประเทศไทย) จำกัด ก็กระโดดมาร่วมรณรงค์เรื่องความรุนแรงในคู่รักผ่านแคมเปญ “ความรุนแรงไม่ใช่ความรัก” แคมเปญนี้เรามองความเท่าเทียมกันเป็นเรื่องหลัก ตัวเลขข่าวทารุณกรรม ข่าวฆาตกรรมเพิ่มขึ้นสูงมาก อยากกระตุ้นให้ความรู้เด็กรุ่นใหม่ เห็นว่า การทารุณหรือล่วงละเมิด เป็นความรุนแรงไม่ใช่ความรัก มี 9 สัญญาณอันตรายที่อาจนำไปสู่ความรุนแรงในคู่รัก ได้แก่ 1. เพิกเฉย ในวันที่พวกเขาโกรธ 2. แบลกเมล์ ถ้าไม่ทำจะเอาเรื่องที่เคยทำไปบอกคนอื่น 3. ทำให้อับอายขายหน้า จนรู้สึกไม่ดีกับตัวเอง 4. พยายามปั่นหัว 5. หึงหวงเกินไป 6. ควบคุม เช่น ไม่ให้ไปกับเพื่อน ห้ามใส่กระโปรงสั้น 7. รุกราน เช่น ติดตามว่าอยู่ไหน เช็กโทรศัพท์ 8. ตัดขาด ยื่นเงื่อนไข และ 9. ข่มขู่ เรื่องเหล่านี้เป็นพฤติกรรมจุดเล็ก ๆ บางคนไม่มองว่าเป็นประเด็น โดยได้ร่วมกับมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ทำงานขับเคลื่อนเรื่องนี้ในกลุ่มนิสิตนักศึกษามหาวิทยาลัยเพื่อสร้างความตระหนัก
รักให้ตาย …. ฮีลใจด้วยความเข้าใจ
การสื่อสารผ่านเพลงก็ช่วยเยียวยา คุณรัณนภันต์ ยั่งยืนพูนชัย หรือ แพท วงเคลียร์ นักร้องที่สื่อสารประเด็นการลดความรุนแรงในคู่รักผ่านบทเพลง แพท เล่าว่า การที่เราเขียนเพลงเป็นเรื่องราวที่เขียนจากเรื่องจริงรอบตัว และสื่อสารด้วยตัวเองเล่นดนตรีดึงดูดคนให้คนที่มีเรื่องราว 90% กำลังเป็นทุกข์ทำให้เขาสบายใจ เพราะเข้าใจความเจ็บปวด เกิด “EMPATHY” การเจอกันไม่ใช่แค่ร้องเพลง เราได้แบ่งเบาบรรเทาความทุกข์ที่เกิดขึ้นกับเขา ในระบบออนไลน์ก็เช่นเดียวกัน มีคนส่งข้อความอินบ็อกปรึกษาเรื่องความรัก งาน ชีวิต เข้าใจคนอยากพูดกับคนที่ไว้ใจ สบายใจ แต่ไม่ต้องรู้จักเป็นการส่วนตัว
“เพลงรักให้ตาย เกิดขึ้นในช่วงที่ชีวิตเกือบไม่ได้เรียนต่อโท ไม่ได้ทำวง มีการทำ MV สื่อสารเรื่องความรุนแรงในครอบครัว และทำแคมเปญเล็ก ๆ ชื่อ ‘You Hurt I Hug’ ให้ส่งเรื่องราวเข้ามา และให้รางวัลไปหาเขา ขอเก็บเรื่องราวนั้น ตอนที่เจอดีใจ คนที่กล้ามาเจอคือ คนที่ขาข้างหนึ่งก้าวออกจากความรุนแรงแล้ว จากนั้นเปิดเพจส่วนตัวชื่อ Rannaphan & the cloud of thoughts และ Instagram ชื่อเดียวกัน แชร์ข้อคิดดี ๆ สร้างกำลังใจ และสร้างไลน์แอด เปิดพื้นที่ หวังที่จะรับฟัง”
บทสรุปสุดท้ายหลังจบการเสวนา คุณวรภัทร แสงแก้ว หัวหน้ากลุ่มงานสังคมสงเคราะห์ทางการแพทย์ ศูนย์ OSCC โรงพยาบาลปทุมธานี และคณะกรรมการกำกับทิศทิศทางสุขภาวะทางเพศ สุขภาวะผู้หญิง และกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ บอกด้วยความดีใจในฐานะหน่วยงานภาครัฐที่เห็นว่ามีคนหันมาสนใจปัญหาความรุนแรงในเด็กและครอบครัวมากขึ้น ทุกอย่างฝากภาครัฐไม่ได้ อยากเห็นชุมชนพื้นที่ทำงานร่วมกันกับภาครัฐ ค้นหาคนที่ประสบความรุนแรงให้เร็วที่สุด เพื่อไม่ให้ถึงมือรัฐแล้วรุนแรงทั้งกายใจเกิดเยียวยา ส่วนภาคเอกชนมีแนวคิดใหม่ ๆ ของคนรุ่นใหม่เป็นเรื่องที่ดีที่ต้องสนับสนุน
ขณะที่ ดร.วราภรณ์ แช่มสนิท ที่ปรึกษาแผนงานสุขภาวะผู้หญิงฯ กล่าวว่า รู้สึกขอบคุณเวที ตั้งแต่ทำงานชุมชนก็เห็นคนหน้าเดิมวันนี้ได้เห็นคนทำงานหน้าใหม่ ที่คิดถึงเรื่องความรุนแรงในสังคม เราทำเรื่องนี้กันมานานมากกว่า 20 ปี บางทีก็ท้อ เพราะแก้กันไม่จบแถมทวีความรุนแรงมากขึ้น ขอย้ำว่า การทำงานแก้ไขปัญหาความรุนแรง ไม่ใช่เรื่องส่วนตัว ที่เผชิญตามลำพังอีกต่อไป แต่มีจิตอาสาที่ทำงานเป็นทีม สานมือกันกับ อปท.หน่วยงานภาครัฐให้เข้ามาช่วย เชื่อมั่นในคนรุ่นใหม่ ๆ ที่จะช่วยกันเปลี่ยนความคิดสร้างความตระหนัก “ลดความรุนแรงในสังคม” ร่วมกัน
บทความ: งานประชุมวิชาการและแลกเปลี่ยนเรียนรู้เสียงที่คนอื่นไม่ได้ยิน : ประชากรกลุ่มเฉพาะ ครั้งที่ 2 วันที่ 21-23 กุมภาพันธ์ 2566
โดย บริษัท ออลไรท์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด
ความคิดเห็น ข้อมูลและบทสรุปที่นำเสนอในห้องย่อย ถือเป็นความคิดเห็นร่วมกันของเครือข่ายในห้องย่อยเท่านั้น
ทั้งนี้ จะถูกรวบรวมและนำไปเสนอเชิงนโยบายต่อไป
Please wait while flipbook is loading. For more related info, FAQs and issues please refer to documentation.
ดาวน์โหลด