“ไม่เคยมีใครถามเรื่องนี้กับเรา แต่เราอยากบอก” เสียงจากผู้ต้องขัง คนพิการ คนไร้บ้าน ลูกหลานแรงงานข้ามชาติ ฯลฯ

คนพิการ ผู้ต้องขัง แรงงานข้ามชาติ คนไร้บ้าน…

ส่วนหนึ่งของกลุ่มคนที่มักถูกมองว่า แตกต่าง แปลกแยก อยู่ห่างไกลออกไป บางครั้งถูกเรียกว่าเป็น ‘คนชายขอบ’

ในความเป็นจริง เราอาจอยู่ใกล้กันกว่าที่คิด เพียงแต่ ‘ความต่าง’ ทำให้เราคิดว่าคงไม่มีวันโคจรมาเจอกันได้

เราทุกคนต่างหายใจ ดำเนินชีวิตอยู่ภายในพื้นที่กว้างใหญ่ที่เรียกว่า ‘สังคม’ และความแตกต่างก็เป็นสิ่งที่เราต่างสวมใส่เป็นปกติ เช่นเดียวกับเสื้อผ้า

การไม่รู้จักกันก็ทำให้เรามีภาพจำกับคนกลุ่มนี้ 

‘คนร้าย’ ภาพจำที่บางคนมีต่อ ‘ผู้ต้องขัง’

‘พวกตัดไม้ทำลายป่า’ อาจเป็นภาพจำที่บางคนมีกับ ‘กลุ่มชาติพันธุ์’

หรือ ‘ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้’ ที่กลายมาเป็นภาพจำของ ‘คนพิการ’

บางคนเติบโตและได้รับข้อมูลที่ส่งต่อมายาวนาน จนกลายเป็นภาพจำประทับและตีตราคนกลุ่มนี้ไว้ แต่มนุษย์นั้นหลากหลาย เราไม่อาจตีตราพวกเขาได้ด้วยข้อความประโยคเดียว

เราไม่ชอบถูกตีตรา คนอื่นก็ไม่ชอบเหมือนกัน…

ชวนทำความรู้จักพวกเขาผ่าน ‘เรื่อง’ ที่พวกเขาอยากเล่าให้ฟัง เพื่อให้ ‘เรา’ รู้จักกันมากขึ้น

สำหรับคนไร้บ้านสิ่งที่เขาต้องการไม่ใช่การตั้งคำถาม แต่เป็นการให้โอกาส

“ทำไมต้องนอนศาลาข้างทาง” หรือ “ทำไมไม่มีบ้าน” คำถามของสังคมต่อกลุ่มคนไร้บ้าน

แต่เพียว (นามสมมติ) คนไร้บ้านในใจกรุงเทพมหานคร บอกว่า คำถามเหล่านี้เป็นเรื่องที่พี่น้องคนไร้บ้านไม่อยากตอบ

เหตุผล คือ  “บางครั้งคนไร้บ้านก็ไม่รู้เหมือนกันว่า ทำไมต้องมาอยู่แบบนี้” 

คนไร้บ้านไม่ได้ต้องการให้คนตั้งคำถาม แต่พวกเขาต้องการโอกาสและการยอมรับในฐานะมนุษย์คนหนึ่งในสังคมที่เราต้องเรียนรู้และเติบโตไปพร้อมกัน

“ถ้าจะให้โอกาสพวกเรา ไม่ต้องหาเหตุผลว่าทำไม” เพียวทิ้งข้อความบรรทัดสุดท้ายไว้บนจดหมายแบบนั้น

“กำลังใจจากข้างนอก”

สิ่งที่ ‘ผู้ต้องขัง’ อยากได้รับ

การใช้ชีวิตในเรือนจำเป็นผลลัพธ์มาจากการกระทำของพวกเขา แต่ชีวิตหลังกำแพง พวกเขายังคงเป็น ‘มนุษย์’ คนหนึ่ง 

การรับรู้ว่ายังมีคนที่รอคอยพวกเขา และพร้อมที่จะให้โอกาสอีกครั้ง โดยเฉพาะคนใกล้ตัว เป็นเหตุผลหนึ่งที่จะช่วยให้เขาเปลี่ยนแปลงตัวเองได้เช่นเดียวกับคนอื่นๆ

“ในนี้ทุกคนต้องการญาติมาเยี่ยม ต้องการกำลังใจจากข้างนอก เป็นสิ่งที่ยากที่สุดสำหรับหนู เพราะหนูโตมาแบบพึ่งพาตัวเอง รู้สึกผิดที่ทำให้ญาติพี่น้องอับอายด้วย ไม่มีญาติ ไม่มีอะไรมาหา เราต้องรับจ้างทำโน่นทำนี่ ซักผ้าบีบนวด หนูเองก็ต้องการกำลังใจ” เสียงจากผู้ต้องขังคนหนึ่งที่อยากให้ใครสักคนรับรู้และเข้าใจ

การเดินทาง คือ ‘ความสุขเล็กๆ’ ที่มนุษย์ทุกคนต้องการ

ทว่า สำหรับคนพิการ ความต้องการ ‘ความสุขเล็กๆ’ กลับถูกมองว่าเป็นเรื่องแปลก และไม่สมควรได้รับ

“ตาบอดแล้วจะปีนเขาทำไม ขึ้นไปก็เป็นภาระของคนตาดีเปล่าๆ”

คือคำถามที่ ‘มอส’ ปราโมทย์ ชื่นขำ ชายวัย 25 ปี ทนายของศูนย์ในคำปรึกษากฎหมายที่หนึ่ง และเจ้าของเพจ ‘หลับตาเที่ยว’ ได้รับ

มอสสัมผัสกับการเดินป่าครั้งแรกเมื่อครั้งที่เขาเรียนปริญญาตรี เขาและเพื่อนๆ ที่ทั้งตาบอดและตาดี ต่างพากันลัดเลาะ หุบเขา ธารน้ำ ต้นไม้ ใบหญ้า เพื่อพิชิตยอดผา จุดสูงสุดของการเดินทาง ในการเดินทางครั้งนี้ ไม่มีใครเป็นภาระ ไม่มีใครน่าสงสาร ทุกคนเป็น ‘เพื่อนร่วมทาง’ ที่ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน 

“น้องที่ตาไม่บอดก็ช่วยเรานำทาง ส่วนเราที่ตัวใหญ่กว่าก็ช่วยเขาแบกของ ก่อไฟ กางเตนท์”

หากมองในไทย ด้วยภาพจำของคนพิการติดบ้าน ออกเดินทางของคนพิการอาจเป็นเรื่องแปลก “แต่ในต่างประเทศ การที่คนพิการออกมาเที่ยวเป็นเรื่องปกติมาก”

ภาพจำที่น่าสงสาร อาจกีดกันเขาออกจาก ‘ความสุขเล็กๆ’ ที่ทุกคนควรได้

มีกิน/ไม่มีกิน ทำงาน/ตกงาน ความเป็น/ความตาย คือ ‘ด้ายเส้นบาง’ ที่ไม่มีใครอยากถูกแขวนไว้ แต่บนชีวิตที่ผูกติดกับค่ารอบ‘ไรเดอร์’ ก็ต้องขี่มอเตอร์ไซค์บนด้ายเส้นบางๆ เส้นนั้น

ทุกครั้งคำสั่งส่งสินค้าเด้งขึ้นบนหน้าจอโทรศัพท์ ‘ไรเดอร์’พนักงานขนส่งอาหารและเอกสารมอเตอร์ไซค์ ก็พร้อมจะบิดคันเร่งมาหา

และเช่นเดียวกัน บนชีวิตวางอยู่บน ‘ค่ารอบ’ และการ ‘ทำยอด’ การขนส่งให้ถึงเป้า ทุกคำสั่งซื้อที่เด้งขึ้น คือโอกาสการที่เขาเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง 

สวัสดิการที่ได้มาจากการแข่งขันทำยอด ค่ารอบอันน้อยนิด คำสั่งของลูกค้าห้ามกดยกเลิก ทำให้เขาต้องรับคำสั่งอยู่ตลอดเวลาตั้งแต่เช้าจรดค่ำ และขับรถด้วยความเร็วเพื่อให้เก็บรอบใหม่ได้

เมื่อไร้สวัสดิการ ราคาที่ไรเดอร์ต้องจ่าย จึงไม่ใช่แค่ค่าเครื่องแบบ ค่ากล่องขนส่ง และค่าอาหารที่สำรองจ่าย แต่ยังมีปัญหาสุขภาพ เช่นโรคระบบทางเดินหายใจจากมลภาวะ มะเร็งผิวหนังจากแสงแดด อาการปวดเมื่อยจากการขี่มอเตอร์ไซค์เป็นเวลานาน รวมถึงความเสี่ยงในการประสบอุบัติเหตุและเสียชีวิต

ทุกคนๆ มีราคาที่ต้องจ่าย… แต่ราคาของชีวิตที่ปลอดภัย ไม่ควรมีใครต้องจ่ายคนเดียว

“เรารู้ตลอดว่าวันหนึ่งเราต้องกลับ เราก็อยากกลับ”

เหตุผลที่ออกจากบ้านเกิดพม่าในวัย 13 ปี ของ ‘ปูนา’ เพื่อชีวิตที่ดีขึ้น 

‘เมืองไทย’ กลายเป็นจุดหมายของเธอที่จะมาทำงาน เก็บเงิน ส่งกลับไปให้ครอบครัว

การปรับตัวเป็นเรื่องยากแน่นอน แต่สภาพแวดล้อม ‘คน’ ก็เป็นเรื่องยากที่ปูนาต้องเผชิญ บางคนที่นี่ก็มองพวกเธออย่างไม่เป็นมิตร

“เป็นคนไม่ดี”

“จะมาแย่งอาชีพคนไทย”

ส่วนหนึ่งที่ที่ปูนาและเพื่อนคนอื่นๆ เคยเจอ ทำให้สิ่งที่ปูนาอยากบอก คือ พวกเธอไม่ใช่คนไม่ดี เชื้อชาติไม่ใช่ตัวกำหนดความดี-เลวของคน พวกเขาเพียงแค่มาทำงาน เพื่อชีวิตที่ดีขึ้น พร้อมกับมีความหวังว่าจะได้กลับบ้าน

“สุดท้ายก็ขอบคุณทุกๆ คนที่มีน้ำใจกลับเรา แล้วให้โอกาสเรามีงานทำ มีตั่งเลี้ยงดูพ่อแม่ แล้วให้อยู่ในเมืองไทย” คำขอบคุณที่ปูนาอยากมอบให้กับทุกคนที่เข้าใจเธอ

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

ระบุข้อความ