ห้องย่อย 4: เตรียมความพร้อมสังคมสูงวัย…ฝึกลุก ล้มเป็น
กำหนดการ
Sapphire 205
เวลา | กิจกรรม |
09.30-10.00 น. | ลงทะเบียน |
10.00-10.30 น. | รู้ก่อนล้ม (ประเมินความเสี่ยงต่อการล้ม) โดย ทีมคณาจารย์คณะกายภาพบำบัดเเละสหเวชศาสตร์การกีฬา มหาวิทบาลัยรังสิต |
10.30-11.00 น. | เปิดเวทีและบรรยายพิเศษสังคมสูงวัย โดย ศ.ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ประธานกรรมการนโยบาย ส.ส.ท. |
11.00-12.00 น. | รู้ทันล้ม (การออกกำลังการเพื่อป้องกันการล้ม ท่าล้มเเละลุกที่ถูกวิธี) โดย ดร.วรชาติ เฉิดชมจันทร์ คณบดีคณะกายภาพบำบัดและเวชศาสตร์การกีฬา ดร.บุศรา ชินสงคราม รองคณบดีคณะกายภาพบำบัดและเวชศาสตร์การกีฬา ฝึกปฏิบัติการ การออกกำลังกายเพื่อป้องกันการล้ม ท่าล้มเเละลุกที่ถูกวิธี ทีมคณาจารย์คณะกายภาพบำบัดและเวชศาสตร์การกีฬา มหาวิทยาลัยรังสิต |
12.00-12.30 น. | สรุปบทเรียนและระดมข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ดำเนินรายการ โดย คุณพลินี เสริมสินสิริ นักวิชาการสื่อมวลชนอิสระ |
กำหนดการ
Sapphire 205
เวลา | กิจกรรม |
12.30-13.30 น. | ลงทะเบียน |
13.30-14.30 น. | สสส.ขับ…ภาคีเคลื่อน: อารยสถาปัตย์เพื่อคนทั้งมวล โดย คุณกฤษนะ ละไล ประธานมูลนิธิอารยสถาปัตย์เพื่อคนทั้งมวล |
14.30-15.00 น. | นิทรรศการเมืองไม่ทิ้งใครและกิจกรรมนำเข้าสู่การเสวนาเมืองที่ไม่ทิ้งใคร |
15.00-16.30 น. | เสวนาเรื่อง “เมืองในอนาคตควรเป็นแบบไหน เมืองอัจฉริยะ เมืองน่าอยู่ หรือเมืองที่ไม่ทิ้งใคร”
ตัวแทนจากเทศบาลเมือง Akashi ประเทศญี่ปุ่น ตัวแทนจากกรุงเทพมหานคร ตัวแทนจากสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร ประธานฝ่ายแผนงานและโครงการ ภาคีเครือข่ายขนส่งมวลชนทุกคนต้องขึ้นได้ (T4A) |
16.30-17.00 น. | เสียงจากเครือข่ายเมืองที่ไม่ทิ้งใคร : ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อเมืองที่ไม่ทิ้งใคร |
เตรียมความพร้อมสังคมสูงวัย
ปรับทุกมิติและปัจจัยแวดล้อมให้แข็งแรง
การหกล้มในผู้สูงอายุเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ง่ายและใกล้ตัวมาก เนื่องจากร่างกายของผู้สูงอายุที่เสื่อมถอย ไม่ว่าจะเป็นกล้ามเนื้อ สมอง สายตา หรือกระดูก และสภาพแวดล้อมที่ไม่ปลอดภัย จึงเป็นเรื่องที่ผู้สูงอายุและผู้ดูแลต้องระมัดระวังอย่างมาก เพราะอาจส่งผลให้กระดูกหัก พิการ เป็นผู้ป่วยติดเตียง หรืออันตรายถึงแก่ชีวิตได้ และแน่นอนว่าหากผู้สูงอายุหกล้ม นอกจากตัวผู้สูงอายุที่ได้รับผลกระทบโดยตรงแล้ว ยังส่งผลต่อครอบครัวและคนใกล้ชิดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังคำพูดที่ว่า “ล้มหนึ่งคน เจ็บทั้งบ้าน”
ในการประชุมวิชาการและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เสียงที่คนอื่นไม่ได้ยิน : ประชากรกลุ่มเฉพาะ ครั้งที่ 2 ห้องประชุมย่อย “เตรียมความพร้อมสังคมสูงวัย ฝึกลุก ล้มเป็น” ได้มีการแลกเปลี่ยนถึงการก้าวสู่สังคมสูงวัยและการเตรียมความพร้อมในมิติต่าง ๆ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สภาพแวดล้อม สุขภาพ สังคม และเทคโนโลยี โดยมุ่งเน้นให้ผู้สูงอายุพึ่งพาตนเองได้นานที่สุด และมีรายได้หลังอายุ 60 ปี ผ่านกระบวนการเตรียมความพร้อมฝึกลุกและล้มเป็น เพื่อป้องกันการบาดเจ็บ พิการ และเสียชีวิต
รศ.ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ประธานกรรมการนโยบายองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) มองว่า เมื่อเข้าสู่สังคมสูงวัยกลุ่มคนที่ได้รับความเดือนร้อนมากที่สุด คือ วัยทำงานที่มีอายุต่ำกว่า 40 ปี สังคมสูงวัยจึงไม่ใช่ปัญหาของผู้สูงอายุในปัจจุบัน แต่เป็นปัญหาของคนหนุ่มสาว การเตรียมความพร้อมป้องกันการแก่และเสียชีวิตในทันทีเนื่องจากการหกล้ม จึงเป็นหนึ่งในการเตรียมพร้อมที่สำคัญเพื่อเข้าสู่สังคมสูงวัย และท้องถิ่นควรมีอำนาจในการออกแบบกิจกรรมเพื่อรองรับสังคมสูงวัยในมิติต่าง ๆ อีกด้วย
“วันนี้เราคุยกันถึงเรื่องการฝึกล้มแล้วลุกให้เป็น ไม่มีใครบอกได้ว่าจะล้มเมื่อไหร่ หัวใจสำคัญคือเราต้องเตรียมตัวรับมือกับการล้มให้ได้ ล้มอย่างมีท่า ลุกอย่างคนฉลาด ต่อไปโรงพยาบาลจะแน่นมากขึ้น คนที่สูงอายุหรือคนทั่วไปเมื่อเจ็บป่วยเข้าโรงพยาบาล โรงพยาบาลแน่นทำยังไงครับ ก็ต้องเอาคนที่หายแต่ยังหายไม่ดีกลับมาอยู่บ้าน ถ้าดูแลไม่ดีอาการหนักขึ้นก็ต้องกลับมาใหม่ เพราะฉะนั้นอาจจะต้องคิดเรื่องศูนย์ฟื้นฟู เพราะบางอย่างไม่ต้องไปโรงพยาบาล มาฟื้นฟูที่นี่ หรือบางทีเมื่อโรงพยาบาลแน่นแต่ยังหายไม่ดีก็มาที่ศูนย์ฟื้นฟู เพื่อกายภาพบำบัด ฝังเข็ม แพทย์ไทย กิจกรรมบำบัด อีกมิติหนึ่งที่สำคัญคือ มิติด้านสังคมชุมชน ทำอย่างไรให้วัด โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นร่วมมือกัน ต้องร่วมกันที่จะทำกิจกรรมรองรับสังคมสูงวัยได้ดีขึ้น”
ด้าน ดร.บุศรา ชินสงคราม รองคณบดีคณะกายภาพบำบัดและเวชศาสตร์การกีฬา มหาวิทยาลัยรังสิต ซึ่งเป็นหัวหน้าทีมในการให้ความรู้และฝึกทักษะการล้มและลุกในครั้งนี้ กล่าวว่า ในผู้ที่เคยมีประวัติการล้มจะมีความเสี่ยงในการล้มซ้ำเป็นสองเท่า โดยสาเหตุที่ทำให้ล้มมี 2 ปัจจัย คือ หนึ่งปัจจัยในตัวเรา และสองปัจจัยเสี่ยงภายนอก เช่น บ้านที่มีธรณีประตูหรือการเปลี่ยนระดับทางเดิน ภายในบ้านมีแสงสว่างไม่เพียงพอ ทางเดินมีของวางระเกะระกะ บ้านที่ระบายอากาศไม่ดีมีความอับชื้น ไม่มีราวจับในการนั่งและลุกขึ้นยืนบริเวณที่อาบน้ำและโถส้วม ไม่มีราวบันได เป็นต้น ทั้งนี้การฝึกโปรแกรมป้องกันการล้มต้องใช้เวลาเพราะต้องอาศัยความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ
“ปัจจัยเสี่ยงภายในที่จะทำให้เกิดการล้มหลัก ๆ คือความแข็งแรงและการทรงตัว ซึ่งจะเสื่อมลงเมื่ออายุมากขึ้น แต่ทุกคนสามารถชะลอหรือเพิ่มกล้ามเนื้อเพื่อจะป้องกันการหกล้มได้ด้วยการออกกำลังกาย การป้องกันการล้มจึงต้องใช้การออกกำลังกายเป็นยาอย่างต่อเนื่อง ถ้าเมื่อไหร่ที่หยุดจะเกิดความเสี่ยงใหม่ทันที”
นอกจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และฝึกทักษะการล้มและลุกอย่างปลอดภัยแล้ว อ.กรรณิการ์ บันเทิงจิตร ผู้จัดการสำนักงานประสานสนับสนุนการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาวะรองรับสังคมสูงวัย ยังได้นำเสนอข้อเสนอเชิงนโยบายผู้สูงอายุและการรองรับสังคมสูงวัยในมิติต่าง ๆ ทั้งด้านเศรษฐกิจ ด้านสภาพแวดล้อม ด้านสุขภาพ ด้านสังคม และด้านเทคโนโลยี เพื่อนำเสนอให้เชิงนโยบายแก่พรรคการเมืองในการเลือกตั้งครั้งนี้ต่อไป
“การเลือกตั้งครั้งนี้จะเห็นนโยบายของพรรคการเมืองเชิงตัวเลข เบี้ยยังชีพ 3,000 บาท เงินเดือน 2,500 ก็ไม่รู้ว่าเขาจะเอาเงินมาจากไหน พวกเราในนามของเครือข่ายภาควิชาการและประชาสังคมก็ได้ใช้ความรู้และงานวิจัยมาช่วยกันเขียนเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อเสนอให้พรรคการเมือง ซึ่งพูดในเชิงที่ประชาชนได้ประโยชน์แต่ไม่ได้เอาเงินมาเป็นตัวตั้ง และจะขอสอบทานข้อเสนอกับทุกคนด้วย คือ 1. ด้านสังคมด้านเศรษฐกิจก็คือการจ้างงานทั้งระบบ ไม่เฉพาะผู้สูงอายุ การจัดสวัสดิการรัฐที่เพียงพอและครอบคลุมอย่างเหมาะสม การส่งเสริมการออมในหลากหลายรูปแบบ 2. มุ่งการสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน การฝึกวันนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของการปรับสภาพแวดล้อมในบ้านเรา 3. ด้านสุขภาพ ต้องสร้างมาตรการส่งเสริมสุขภาพ เน้นสร้างน้ำซ่อม ไม่ใช่ป่วยแล้วก็รักษา และพัฒนาการดูแลผู้ป่วยระยะกลางและระยะยาว มีกองทุนต่าง ๆ มารองรับ 4. ด้านสังคมก็คือการสร้างสังคมสำหรับคนทุกกลุ่ม การสร้างกลไกสานพลังสังคมให้เข้มแข็ง ชุมชนท้องถิ่นต้องพึ่งตนเองได้ และ 5. ด้านเทคโนโลยี คือ เน้นการพัฒนาความรู้และการเข้าถึงเทคโนโลยี”
สังคมสูงวัยจึงไม่ใช่เรื่องใหญ่ของผู้สูงอายุ แต่คือวาระแห่งชาติที่ทุกคนต้องร่วมคิด วางแผน และเตรียมความพร้อมทั้งระบบ อาจเริ่มจากเรื่องที่ดูเหมือนจะเล็กน้อยอย่างการป้องกันการล้มและฝึกการลุกที่ปลอดภัยสำหรับคนทุกวัย แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่านี่คือจิ๊กซอว์ตัวเล็ก ๆ ที่ส่งผลต่อภาพใหญ่ของสังคมสูงวัยที่ทุกคนต้องเผชิญ และเป็นไปได้ว่าการลุกขึ้นมาฝึกทักษะการล้มและลุกในครั้งนี้อาจไม่ใช่แค่ทักษะทางกายภาพ แต่อาจได้ประโยชน์ในทางจิตใจ และการก้าวต่อของสังคมที่กำลังจะเปลี่ยนไปอีกด้วย
บทความ: งานประชุมวิชาการและแลกเปลี่ยนเรียนรู้เสียงที่คนอื่นไม่ได้ยิน : ประชากรกลุ่มเฉพาะ ครั้งที่ 2 วันที่ 21-23 กุมภาพันธ์ 2566
โดย บริษัท ออลไรท์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด
ความคิดเห็น ข้อมูลและบทสรุปที่นำเสนอในห้องย่อย ถือเป็นความคิดเห็นร่วมกันของเครือข่ายในห้องย่อยเท่านั้น
ทั้งนี้ จะถูกรวบรวมและนำไปเสนอเชิงนโยบายต่อไป
Please wait while flipbook is loading. For more related info, FAQs and issues please refer to documentation.
ดาวน์โหลด