ทุกคนมีส่วนร่วมจัดการกับปัญหาความรุนแรงได้
ความรุนแรงอยู่ใกล้ตัวกว่าที่เราคิด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความรุนแรงทางเพศ หรือความรุนแรงภายในครอบครัว ที่เห็นกันตามข่าวบ่อย ๆ ไม่เว้นแต่ประชากรกลุ่มเฉพาะ เช่น คนพิการ แรงงานข้ามชาติ ฯลฯ ความรุนแรงของปัญหานั้นยิ่งเพิ่มขึ้น เนื่องจากข้อจำกัดทางด้านการสื่อสาร การบอกเล่าเรื่องราว หรือการขอความช่วยเหลือ รวมถึงกระบวนการทางกฎหมายและระบบให้การช่วยเหลือ ที่จะต้องมีความละเอียดอ่อนเพียงพอและสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้ประสบปัญหาได้ว่า “เสียงที่สะท้อนออกไปนั้น จะได้รับการจัดการอย่างเป็นธรรม” ไม่ว่าความรุนแรงนั้นจะเกิดขึ้นกับใคร
“ผู้ประสบปัญหาความรุนแรง ไม่ได้ต้องการเพียงมิติทางกฎหมายหรือการคุ้มครองสิทธิเพียงอย่างเดียว แต่กระบวนการดูแลโอกาสที่จะบอกเล่า บอกกล่าว และตัดสินใจเลือกทางออกได้ ซึ่งการทำงานแบบเสริมพลังสร้างพื้นที่ปลอดภัยนั้น จะก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนพูดคุย สร้างพลัง กล้าลุกขึ้น และมีกำลังพอจัดการกับความไม่เป็นธรรมได้” – คุณจิตติมากล่าว ซึ่งพื้นที่ปลอดภัยเหล่านี้ ทุกคนทุกฝ่ายมีส่วนร่วมช่วยสร้างสรรค์ให้เกิดขึ้นได้ หากมองในระดับบุคคล เราสามารถเริ่มต้นได้จากความใส่ใจในคนใกล้ตัว คอยสังเกต ไถ่ถาม ให้ความเป็นเพื่อน หากเป็นระดับชุมชน ทุกคนที่อยู่ร่วมกันก็ควรมีความรู้และทักษะรับมือกับความรุนแรง รู้ว่าจะต้องติดต่อเบอร์ไหน การเข้าไปแทรกแซง หรือจัดการกับเหตุที่เกิดขึ้นอย่างไร หากเป็นระดับสังคมวัฒนธรรม อาจจะต้องเริ่มต้นจากการปรับวิธีคิด ความคิด หรือความเชื่อใหม่ว่า “ความรุนแรงเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ อยากให้ทุกคนช่วยกันส่งเสียงจะเป็นการช่วยลดความรุนแรงได้มากขึ้น”
การส่งเสริมการเรียนรู้และทำให้สมาชิกในสังคมเข้าใจและมีทักษะการรับมือกับความรุนแรงในรูปแบบต่าง ๆ ยังเป็นช่องว่างสำคัญ ซึ่งเรื่องนี้เป็นองค์ประกอบสำคัญต่อการป้องกันหรือลดทอนความรุนแรงของปัญหาได้ การเสริมทักษะชีวิตให้เท่าทันต่ออารมณ์ที่เกิดขึ้น ไวต่อความรู้สึกที่ไม่ปลอดภัย อิสรภาพที่ถูกจำกัด รวมถึงความรุนแรงที่ค่อย ๆ เพิ่มระดับที่ส่งผลกระทบต่อร่างกายและจิตใจ ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นได้ทั้งในครอบครัว สถานประกอบการ หรือพื้นที่สาธารณะ ซึ่งการสังเกตและประเมินสถานการณ์เหล่านี้ เป็นวิธีการเบื้องต้นหนึ่งที่จะช่วยป้องกันหรือจัดการกับปัญหาได้อย่างรวดเร็วและทันท่วงที
และสำหรับท่านใดสนใจประเด็นปัญหาดังกล่าว คนรุ่นใหม่ที่มีความกังวลกับเหตุการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นในชีวิต หรือหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับนโยบาย หรือต้องการส่งเสริมให้ชุมชนมีสวัสดิภาพและความปลอดภัยจากความรุนแรงเหล่านี้ สามารถเข้ามาพบปะ พูดคุย และแลกเปลี่ยน เพื่อจุดประกาย เสริมทักษะ ตลอดจนได้แนวทางการเริ่มต้นทำงานได้ที่ห้องย่อย “การลดปัญหาความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศในประชากรกลุ่มเฉพาะ” ได้ในงาน “Voice of the voiceless ครั้งที่ 2 – ก้าวสู่สุขภาวะที่เป็นธรรม รับฟังทุกเสียงอย่างเท่าเทียม” ระหว่างวันที่ 21-23 กุมภาพันธ์ 2566
แล้วเรายังมีกิจกรรม ที่น่าสนใจอีกมากมาย จึงขอให้ท่านโปรดกดติดตาม เฟซบุ๊กเพจ: นับเราด้วยคน และเว็บไซต์ สำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. กันได้เลย เพื่อรับข้อมูลดี ๆ ที่เรานำจะบอกเล่ากันอย่างสม่ำเสมอต่อไป
#สสส #นับเราด้วยคน #Vov2 #เสียงที่คนอื่นไม่ได้ยิน #voiceofthevoiceless #ประชากรกลุ่มเฉพาะ