‘รับจ้างต่อคิว’ อาชีพที่ทำให้คนไร้บ้านมีบ้านให้กลับ

สินค้าหายาก รุ่น Limited Edition ที่ผลิตเพียงไม่กี่ชิ้นของใครหลายคนอาจมาจากการจองคิวข้ามคืนของ ‘กลุ่มคนไร้บ้าน’

3-15 วัน คือ ระยะเวลาที่คนไร้บ้านจะต้องรอในพื้นที่สาธารณะเพื่อเป็นคิวแรกในการซื้อสินค้านั้นๆ เพราะคิวที่ได้ส่งผลต่อรายได้ที่เขาจะรับ

แต่งานรับจ้างต่อคิวทำให้เขารู้สึกมั่นคงและสามารถกลับไปใช้ชีวิตของตัวเองเหมือนก่อนได้ ขณะเดียวกันก็มอบหลักประกันทางใจ อยากได้อะไรก็ซื้อด้วยน้ำพักน้ำแรงตัวเองและแบ่งปันคนอื่นโดยไม่ต้องรอของบริจาค

ความรู้สึกเหล่านี้เกิดขึ้นภายในใจของพี่น้องคนไร้บ้านที่เข้าร่วม ‘โครงการที่อยู่อาศัยคนละครึ่ง’ แถวตรอกสลักหินใกล้กับสถานีรถไฟหัวลำโพง โครงการที่ที่เกิดจากความร่วมมือของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย (มพศ.) กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และภาคีเครือข่ายภาควิชาการ ภาครัฐ และประชาสังคม ที่ทำงานบนความเชื่อว่า ที่อยู่อาศัยคือประตูด่านแรกที่จะทำให้คนไร้บ้านเข้าถึงงานที่มีคุณภาพ

นับเราด้วยคน คุยกับพิม (นามสมมติ) แกนนำคนไร้บ้านในโครงการฯ ชวนดูเบื้องหลังสินค้ารุ่น Limited ว่าต้องผ่านอะไรบ้าง ก่อนจะถึงมือผู้รับ

จากจองพระวัดดัง สู่จองสินค้าทุกอย่างที่ต้องการ

ก่อนจะรับหน้าที่จองรองเท้า กระเป๋า เสื้อผ้า บัตรคอนเสิร์ตหรือตุ๊กตา คนไร้บ้านบางคนเดินสายทั่วประเทศรับจ้างต่อคิวจองพระอยู่แล้ว แต่ในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด 19 ทำให้บางงานถูกยกเลิกการเดินทางไปต่างจังหวัดทำให้กลุ่มคนไร้บ้านเหนื่อยและได้รับรายได้ไม่คุ้มค่าแรง แทนที่จะได้เงินเต็มจำนวน 500 บาทต่อหนึ่งงาน นายจ้างก็หักค่าจ้างหลือเพียง 100 บาท 

หลังจากนั้นโอกาสก็เข้ามาอีกครั้ง เพราะมีนายจ้างติดต่อพิม (นามสมมติ) ให้มารับจ้างต่อคิวซื้อตุ๊กตาและจ้างไปจับฉลากเพราะนายจ้างรู้ว่าพิมจะสามารถหาจำนวนคนต่อคิวให้พวกเขาได้อย่างน้อย 40-50 คน ขณะเดียวกันก็เป็นการการันตีรายได้ให้กับกลุ่มคนไร้บ้านว่าจะได้อย่างน้อย 200 บาทต่องาน

จากจุดนี้ทำให้นายจ้างหลายคนมองเห็นเครือข่ายกลุ่มคนไร้บ้านของพิม ทำให้มีคนมาติดต่อให้รับจ้างซื้อรองเท้าและนาฬิกา บางงานทำให้คนไร้บ้านมีรายได้มากขึ้นเป็น 1,000 – 2,000 บาทต่อครั้ง

 

‘นอนแคมป์’ แปลว่า ไม่ว่าจะนานแค่ไหน เราก็จะรอให้

พิมเล่าถึงขั้นตอนของการจองคิวว่า เริ่มต้นเมื่อนายจ้างโทรศัพท์มาบอกว่ามีงานจองสินค้าพร้อมกับแจ้งสถานที่และจำนวนคนที่ต้องการ หน้าที่ของพิม คือ เคาะประตูห้องและพิมพ์ข้อความลงในไลน์กลุ่มของคนไร้บ้านในตรอกสลักหิน เมื่อได้ผู้สนใจรับงานครบจำนวน ทุกคนจะมารวมตัวกับเพื่อออกเดินทางไปพร้อมกัน

“คำว่า ‘ออกเดี๋ยวนี้’ ไม่ว่าคุณจะอยู่ที่ไหน สภาพยังไง ใส่รองเท้าแล้วออกเลย เพื่อที่จะไปรอหน้าห้าง มันอยู่ใกล้แค่นี้ เคาะเรียก วิ่งตามกัน แล้วนั่งแท็กซี่ไป” 

สินค้าบางชนิดรอเพียงคืนเดียว บางชนิดก็ต้องรอ 15 วันกว่าจะได้คิว คนไร้บ้านจึงเรียกช่วงเวลาการรอนี้ว่าเป็น ‘การนอนแคมป์’ ซึ่งหมายถึงใช้ชีวิตหน้าห้างสรรพสินค้าหรือลานจอดรถ

“เราต้องไปตั้งหัวคิวก่อน ไม่งั้นเราต้องไปต่อเขา พี่ห้องโน้นไปมาวันนี้ รองเท้ามี 16 คู่ 100 กว่าคน ถ้าคุณเกินที่ 16 จากที่ได้ 500 อาจจะเหลือ 200 บาท ซึ่งบางทีต้องวิ่งแข่งกัน เราเคยไปซื้อนาฬิกาโดนเหยียบจนขาพลิก เพื่อที่จะเอาเงิน เพราะเงิน 1,000 มันสำคัญสำหรับพวกเรามาก งานวันนั้นวันเดียว เราได้ค่าห้องแล้ว”

ซื้อสินค้า รับเงิน แล้วกลับบ้าน

หลังจากได้รับบัตรคิว นายจ้างจะเข้ามาแจกบัตรเครดิตให้คนละหนึ่งใบ หน้าที่ของคนไร้บ้าน คือ เข้าไปซื้อของ ถ้างานไหนพิมไปด้วย เธอจะเป็นคนตรวจสินค้าก่อนส่งนายจ้าง แล้วค่อยรับเงิน จากนั้นจึงนำมาจ่ายให้กับคนไร้บ้านที่มาด้วยกันต่อไป

พิมบอกว่า ส่วนใหญ่สินค้าที่คนไร้บ้านไปเข้าแถวต่อคิวให้จะถูกนำไปขายในร้านค้าต่างๆ 

“นายทุนเขาเอาไปขายต่อ บางคนส่งต่อนอก บางคนก็ขายที่สยามแค่วันเดียวหรือขายที่ร้านของตัวเอง”

“กลับบ้านก่อนนะ”  คือ ประโยคที่คนไร้บ้านสื่อสารผ่านกลุ่มไลน์ กลุ่มที่ไม่ต่างจากกลุ่มไลน์ครอบครัวที่มีไว้เพื่อสื่อสารกันภายในของกลุ่มคนไร้บ้าน ทั้งเรื่องที่อยู่อาศัย กิจวัตรประจำวัน และงานที่กำลังทำอยู่ และสิ่งเหล่านี้พิมรับรู้ได้ว่า ทุกคนมีความสุขกับชีวิตตัวเองมากขึ้น

“เรารับรู้ได้ด้วยตัวเองว่า บางคนไม่มีงาน พอไปทำงาน เขาอยากบอก สังเกตได้จากไลน์กลุ่มจะมีแจ้งเตือนทุกวัน บอกว่า อันนี้ฉันกำลังทำอยู่ ตอนนี้ฉันกำลังขับรถ เช้ามาฉันตื่นไปทำงานแล้ว บางครั้งคนอื่นอาจจะมองว่า มาบอกทำไม ไม่ได้เป็นเพื่อน ไม่ได้สนิท มาบอกฉันทำไม ฉันมานั่งดู ปวดหัว แต่สำหรับพวกเขามันเป็นสิ่งที่พวกเขาภูมิใจแล้วอยากบอกใครสักคน”

รวมถึงสามารถตอบคำถามจากสังคมได้ว่า เขาไม่ได้ไร้บ้าน แต่พักอยู่ตรงนี้ พิมบอกว่า การได้บอกคนอื่นว่าเขาพักที่ไหน มันคือความภูมิใจที่คนไร้บ้านอยากจะบอก

“คนไร้บ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพอิสระ เพราะถ้าไปสมัครงานประจำ พวกเขาไม่รู้ว่าจะตอบเจ้าของยังไงว่านอนที่ไหน ถ้าเจ้าของรู้ เขาไม่รับแน่ๆ แต่วันนี้บางคนมีงานประจำเขาตอบได้เต็มปากว่า เช่าห้องอยู่ ทุกวันนี้ใครถามว่าไปไหน เขาตอบว่ากลับบ้านเพราะมันคือความภูมิใจของคนไร้บ้าน”

บ้าน เงิน และครอบครัว หลักประกันทางใจที่เปลี่ยนจากผู้รับเป็นผู้ให้

เมื่อมีบ้าน มีงาน และมีครอบครัว แม้จะไม่ใช่ครอบครัวที่ผูกพันกันทางสายเลือด แต่สามสิ่งนี้ก็มากพอที่มอบความกล้าให้คนไร้บ้านเปลี่ยนจากผู้รับเป็นผู้ให้

บางคนมีงานประจำเป็นแม่ครัวในโรงเรียวัดดอนก็ขับรถมอเตอร์ไซค์มาส่งอาหารกับพี่น้องคนไร้บ้านตอนเย็นของทุกวันโดยไม่บ่น แต่เขายินดีที่จะทำด้วยความเต็มใจ

ไม่ว่าจะแยกย้ายไปตามเส้นทางชีวิตของตัวเอง แต่มุมของพิม พื้นที่ตรงนี้ก็ยังเป็นครอบครัวที่ดูแลกันและกันเสมอ เพราะเธอเองก็เคยเป็นคนที่รอของบริจาค ต้องวิ่งแข่งกับคนอื่น ขณะที่วันนี้เธอและพี่น้องคนไร้บ้านสามารถที่จะซื้อของที่อยากได้เป็นรางวัลเล็กๆ น้อยๆ ให้กับความพยายามของตัวเองได้ 

“เมื่อก่อนเราเป็นคนหนึ่งที่ต้องวิ่งไปก่อนเพื่อน แซงทุกคน เพราะเราต้องใช้ของสิ่งนั้นมาขายแลกกับเงิน คนอื่นก็ทำเหมือนกัน แต่ทุกวันนี้ทุกคนเฉยๆ เพราะมันอิ่ม อยากกินหรืออยากได้อะไรเขาก็ซื้อเลยมันไม่ใช่ของราคาแพง แต่เขาซื้อเป็นของตัวเอง ไม่ต้องรอของบริจาค” 

Shares:
QR Code :
QR Code