สูงวัยก็มีรักใหม่ได้ : อย่าเพิ่งตั้งกำแพงกับ ‘รักครั้งใหม่’ ของพ่อแม่ แม้ไม่เห็นด้วยก็ช่วยอยู่ข้างกันก่อน
“เดี๋ยวก็โดนหลอก”
“อายุขนาดนี้แล้ว ไม่มีใครมารักจริงหรอก”
“ความรักจากลูกหลานก็พอแล้ว”
เมื่อพูดถึงความรักครั้งใหม่ในกลุ่มคนสูงวัย ใครๆ ก็มักจะคิดว่าพวกเขากำลังโดน ‘หลอก’ แม้แต่ลูกหลานในบ้านเองก็คิดแบบนี้ แถมบางทียังตั้งคำถามว่าคนสูงวัยจะมีความรักใหม่ไปทำไม ในเมื่อความรักที่ลูกหลานมีให้ก็น่าจะพอแล้ว
เราจึงตั้งคำถามต่อว่าทำไมถึงเป็นเช่นนี้ แทนที่จะเป็นความรู้สึก ‘สนับสนุน’
คำถามนี้สามารถหาคำตอบได้ในรายงานวิจัยโครงการสร้างสังคม DEE (Diversity, Equity and Empathy): ศึกษาสถานการณ์อคติต่อกลุ่มเปราะบางและสื่อสารเพื่อสร้างความตระหนักรู้ของสังคม (หรือ โครงการสร้างสังคม DEE) โดย คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สนับสนุนโดย สำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ (สำนัก 9)
คนทั่วไปมักมองผู้สูงวัยเป็นพระในบ้าน เคารพแบบเก็บไว้บนหิ้ง ฟังดูเป็นเรื่องดี แต่จริงๆ แล้วนี่รวมถึงไปการพยายามจำกัดว่าผู้สูงวัยควรอยู่ที่ไหน ควรทำอะไร และไม่ควรทำอะไรบ้าง และถ้าทำนอกเหนือจากสิ่งที่ถูกกำหนดไว้ ก็จะถูกมองว่าดื้อหรือไม่สมควร
การมีความสัมพันธ์แบบคนรัก เป็นหนึ่งสิ่งที่ผู้วิจัยในงานชิ้นนี้พบว่าคนส่วนใหญ่ไม่อยากให้ผู้สูงวัยมี 70% ผู้ตอบแบบสอบถามมองว่า ผู้สูงวัยควรเป็นต้นแบบที่ดีให้กับลูกหลานและมักเป็นประโยชน์ให้กับสังคม ติดอยู่กับภาพลักษณ์ที่ว่าผู้สูงวัยเป็นคนใจเย็น เป็นคนธรรมะธรรมโม 42% จากผู้ตอบแบบสอบถามเห็นด้วยว่าผู้สูงวัยควรปฏิบัติธรรม
อีกทั้งที่ลูกหลานกลัวว่าผู้สูงวัยจะโดนหลอก เพราะมักไม่เชื่อว่าผู้สูงวัยมี ‘ศักยภาพ’ มากพอ ซึ่งเป็นการอคติแบบเหมารวม เกิน 60% มองว่าผู้สูงวัยใช้เทคโนโลยีไม่เป็น สุขภาพร่างกายอ่อนแอ ลูกหลานมองว่าผู้สูงวัยควรมีคนอยู่ดูแลด้วยเสมอ และไม่ควรจะอยู่คนเดียว
หรือว่าความรักจะไม่ใช่เรื่องของคนสูงวัย? ‘อ้อย’ นภาพร ไตรวิทย์วารีกุล พิธีกรชื่อดังจากรายการ ‘คลับฟรายเดย์’ รายการที่รับฟังปัญหาด้านความรัก ได้มาแชร์มุมมองของความรักในวัยผู้ใหญ่ที่วัยรุ่นมักไม่เข้าใจในงาน มนุษย์ต่างวัย Fest 2025 ภายใต้หัวข้อ ‘รักรุ่นใหญ่.. หัวใจ(ไม่)ว้าวุ่น : คุยเรื่องซีซันใหม่ของหัวใจ’ เมื่อวันที่ 22 มิ.ย. 2568 ที่ผ่านมา
“ลูกตั้งคำถามกับพ่อแม่ว่า ‘ความรักจากลูกยังไม่พออีกหรอ?’ ลองถามตัวเองก่อนเถอะ ทีคุณมีพ่อแม่มาทั้งชีวิต ทำไมถึงอยากมีแฟน? ทุกความสัมพันธ์มันตอบโจทย์เราคนละอย่าง มันตอบโจทย์เราคนละโหมด”
ลูกยังอยากมีความรัก อยากมีแฟน อยากมีคนให้ห่วงใยในรูปแบบความสัมพันธ์อื่นๆ ที่นอกเหนือจากครอบครัว แล้วทำไมพ่อแม่หรือคนสูงวัยจะมีบ้างไม่ได้ ถ้าจะเป็นห่วงและกลัวพ่อแม่โดนหลอก อ้อยบอกว่าความรักเป็นจุดอ่อนของคนทุกวัย ไม่ว่าจะอายุน้อยหรืออายุมาก บางทีเราอาจจะรักคนอื่นมากกว่าตัวเอง หรือหมกมุ่นอยู่กับความสัมพันธ์จนมากเกินไปได้เหมือนกัน ฉะนั้นแล้วสิ่งที่ควรให้ความสำคัญไม่ใช่เรื่องอายุ แต่คือเรื่องของการมีสติกับความรักที่ทุกวัยควรจะคำนึงไว้มากกว่า
สิ่งสำคัญที่พ่อแม่และลูกไม่ควรละทิ้งคือ ‘การสื่อสาร’ อ้อยบอกว่าบางทีถ้าพ่อแม่มีความรัก แล้วลูกอยากรู้จักอีกฝ่ายมากขึ้น ก็ลองใช้การสื่อสารที่สร้างความสบายใจให้กับทุกฝ่าย เช่น ชวนคนรักของพ่อแม่มาเจอกัน หากิจกรรมทำร่วมกันเพื่อให้รู้จักกันมากขึ้น ดีกว่าจะไปตั้งกำแพงไปเลยว่า ทุกคนที่เข้ามาหาผู้สูงวัยคือเข้ามาหลอก
“ต่อให้ไม่เห็นด้วยก็ช่วยอยู่ข้างกันก่อน เพราะครอบครัวคือทีมเดียวกัน และเมื่อไหร่ก็ตามที่เป็นทีมเดียวกัน เราอย่าเพิ่งเตะแข้งเตะขากันเอง”
ไม่มีใครอายุมากไปสำหรับความรัก อ้อยบอกว่าสิ่งสำคัญคือการตั้งสติตลอดเวลาและอย่าลืมรักตัวเองให้ได้มากที่สุด การเริ่มต้นใหม่จะเกิดขึ้นในวัยไหนก็ได้
“คนสูงวัยมาแตะจุดเป้าหมายในชีวิตเรียบร้อยแล้ว มาถึงความฝันที่เคยมีหมดแล้ว หลังจากนั้นจะเข้าสู่ชีวิตซีซั่นสอง เรามีความสุข มีความตื่นเต้นกับการเรียนรู้ และหนึ่งในความตื่นเต้นนั้นคือเรื่องความรัก ถ้าบังเอิญเจอคนที่ตรงกันก็ดี ไม่มีก็อยู่ให้ได้” อ้อยทิ้งท้าย