ไม่มีลูกไม่เป็นไร เดี๋ยว ‘เช่า’ เอา : เช่าลูก บริการดูแลผู้สูงวัยจากลูกหลานชาติพันธุ์ของ Buddy HomeCare
ถ้าสังคมคนโสดที่ประเทศญี่ปุ่นและประเทศจีนมีบริการแฟนเช่าสำหรับคนโสดที่อยากมีแฟนในระยะสั้นๆ
จังหวัดเชียงใหม่ในตอนนี้ก็มี ‘การเช่าลูก’ เปิดให้บริการสำหรับผู้สูงอายุที่ไม่มีลูกหลานพาไปทำกิจกรรมต่างๆ
‘ไปแอ่วหา’ ‘ช่วยจัดยา’ ‘พาไปหาหมอ’ ‘นอนขาบเป็นเพื่อน’
4 คำนี้ คือ ส่วนหนึ่งของบริการเช่าลูกที่ระบุไว้ในเพจของ บั๊ดดี้โฮมแคร์ (Buddy HomeCare)
“ตอนแรกเราก็คิดอยู่เหมือนกันว่าคำว่าเช่าลูกดูแรงไปไหม กลัวมีดราม่า แต่พอโพสต์ลงไปกลับเป็นไวรัลเพราะเป็นคำที่น่าสนใจ แล้วเป็นเรื่องที่ดูเหมือนว่าทุกคนอยากได้” แบงค์-ทศวรรษ บุญมา ผู้จัดการบั๊ดดี้โฮมแคร์ ตอบเมื่อเราถามถึงเหตุผลว่าทำไมต้องเช่าลูก
บริการเช่าลูกเป็นบริการใหม่ของบั๊ดดี้โฮมแคร์ (Buddy HomeCare) วิสาหกิจเพื่อสังคมที่มีบริการดูแลผู้สูงอายุในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ก่อตั้งโดยมูลนิธิพัฒนางานผู้สูงอายุ และได้รับการสนับสนุนจากสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ (สำนัก 9) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยเปิดให้ผู้สูงอายุหรือลูกหลานของผู้สูงอายุติดต่อเข้ามาผ่านช่องทางเฟซบุ๊ค Buddy HomeCare และเบอร์โทรศัพท์
บริการนี้จะเป็นบริการที่จะส่งอาสาสมัครเข้าไปหาผู้สูงอายุ และให้บริการตามที่ผู้สูงอายุได้ระบุไว้ล่วงหน้า โดยทางบั๊ดดี้โฮมแคร์จะคิดค่าเช่าลูกเป็นรายชั่วโมง เริ่มต้นที่ชั่วโมงละ 350 บาท
“หลักๆ คือพาไปหาหมอไปโรงพยาบาล มีบางส่วนที่ขอพาไปเที่ยว”
บริการที่บั๊ดดี้โฮมแคร์ระบุไว้ในเพจมีตั้งแต่การอ่านฉลากยา จนไปถึงบริการที่เราคาดไม่ถึงอย่างการช่วยไถ TikTok ที่ทำให้โพสต์โปรโมทบริการเช่าลูกกลายเป็นกระแสขึ้นมา แบงค์อธิบายเพิ่มเติมว่า ผู้สูงอายุสามารถระบุเพิ่มเติมได้ว่าต้องการบริการอะไรที่นอกเหนือไปจากบริการที่ทางบั๊ดดี้โฮมแคร์ระบุไว้
1 ในคำขอที่คาดไม่ถึงที่แบงค์เคยได้รับ คือ ชวนไปต่างประเทศด้วยกัน โดยทางผู้สูงอายุระบุว่าจะเป็นคนออกค่าใช้จ่ายทั้งหมดให้ เพราะต้องการใครสักคนไปเป็นทั้งเพื่อนเที่ยวและตากล้องเมื่ออยู่ในต่างแดน
“มันเป็นการมองถึงอนาคตด้วยว่าจริงๆ แล้วคนในยุคปัจจุบันไม่อยากมีลูก ต้องการอยู่ตัวคนเดียว แต่พอแก่ตัวไปก็ต้องมีที่พึ่ง ใครจะพาไปหาหมอ ใครจะพาไปธนาคาร ใครจะพาไปตลาด ซึ่งเขาก็จะได้เช่าลูกเพื่อให้มาอยู่ มาช่วยเป็นครั้งคราว”
ให้เพื่อนต่างวัยเป็นลูกหลานชั่วคราว
ปัจจุบันประเทศไทยก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมสูงวัย (Aging Society) อย่างเต็มรูปแบบตั้งแต่ปี 2567 โดยอ้างอิงจากข้อมูลจากกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ปี 2566 ว่า ประเทศไทยมีจำนวนผู้สูงอายุคิดเป็น 1 ใน 5 ของประชากรไทยทั้งประเทศ และในขณะเดียวกัน จำนวนเด็กเกิดใหม่ในปี 2567 กลับมีไม่ถึง 5 แสนคน
บริการเช่าลูกจึงเกิดขึ้นมาด้วยมุมมองที่เข้าใจถึงความโดดเดี่ยวของผู้สูงอายุ และเสนอบริการให้กับเหล่าผู้สูงวัยที่ไม่มีลูกหลาน ตลอดจนผู้สูงวัยที่ลูกหลานไม่สามารถเข้ามาดูแลได้ตลอดเวลาเพราะมีหน้าที่การงานฉุดรั้งเอาไว้
แบงค์เล่าว่า ปัจจุบันอาสาสมัครที่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของบริการเช่าลูกนั้นมีอยู่ประมาณ 5 คน ซึ่งถูกคัดผ่านคุณสมบัติเบื้องต้นอย่าง มีใจรักในการบริการ ใจเย็น และมีความอดทนสูง เพราะการทำงานกับผู้สูงอายุแต่ละคนไม่ใช่เรื่องง่าย ส่วนเรื่องทักษะการดูแลผู้สูงวัยนั้น แบงค์บอกว่า อาสาสมัครทุกคนต้องผ่านการฝึกอบรมอย่างน้อย 70 ชั่วโมง จึงจะสามารถเริ่มงานได้
ถึงแม้จะใช้คำว่าอาสาสมัคร แต่อาสาสมัครทุกคนจะได้ส่วนแบ่ง 50% จากค่าจ้างในครั้งนั้นๆ ทำให้อาสาสมัครมีรายได้เสริม ส่วนทางบั๊ดดี้โฮมแคร์ซึ่งเป็นเจ้าของโครงการและดำเนินงานในรูปแบบวิสาหกิจเพื่อสังคมก็จะเอาเงินส่วนนี้ไปใช้ในการช่วยเหลือผู้สูงอายุในชุมชน อาทิ การมอบผ้าอ้อมผู้ใหญ่ ไม้เท้า และสิ่งของที่จำเป็นให้ ตลอดจนการให้บริการด้านสุขภาพเบื้องต้นฟรี ซึ่งเป็น 1 ในการต่อยอดบริการต่างๆ ที่ทางบั๊ดดี้โฮมแคร์กำลังดำเนินการ
วิสาหกิจเพื่อสังคม คือ กิจการที่มีจุดมุ่งหมายหลักในการแก้ไขปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อม เพื่อให้มีความยั่งยืนทางการเงินจากรายได้หลักที่มาจากสินค้าหรือบริการ โดยไม่ต้องพึ่งพาการบริจาค และมีการนำผลกำไรที่เกิดขึ้นไปลงทุนเพื่อขยายผลในชุมชน
ก่อนจะมาเป็นบั๊ดดี้โฮมแคร์ มูลนิธิพัฒนางานผู้สูงอายุจากการดำเนินโครงการอาสาสมัครดูแลผู้สูงอายุที่บ้านโดยใช้จุดแข็งอย่างความคุ้นเคยระหว่างอาสาสมัครและชุมชนในการทำให้ผู้สูงวัยกล้าที่จะพูดคุย แลกเปลี่ยน และไม่ปฏิเสธการดูแลจากอาสาสมัคร แต่เมื่อดำเนินการมาได้ระยะหนึ่ง ทางมูลนิธิฯ เห็นว่า สิ่งที่ขาดไปในการดูแลผู้สูงอายุคือ ความต่อเนื่อง และทักษะการดูแลของอาสาสมัคร จึงได้ก่อตั้งบั๊ดดี้โฮมแคร์จึงก่อตั้งขึ้น
โดยบั๊ดดี้โฮมแคร์ทำงานเกี่ยวกับผู้สูงอายุ 3 กลุ่มด้วยกัน คือ ผู้สูงอายุที่มีปัญหาเรื่องการเคลื่อนไหว ผู้สูงอายุที่มีอาการป่วยเรื้อรัง เช่น โรคอัลไซเมอร์ และผู้สูงอายุระยะสุดท้าย
และข้อแตกต่างที่ทำให้บริการเช่าลูกไม่เหมือนเนิร์สซิ่ง (Nursing) ของบริษัทเอกชน คือ เป็นการเก็บเงินค่าบริการ จากนั้นนำผลกำไรที่เกิดขึ้นไปดูแลผู้สูงอายุด้อยโอกาสและพัฒนาทักษะของผู้ดูแล ในขณะที่เนิร์สซิ่งของบริษัทเอกชนส่วนใหญ่จะเป็นศูนย์ดูแลผู้สูงอายุที่ให้ผู้สูงวัยจ่ายค่าบริการเพื่อไปอยู่อาศัย แทนที่จะได้อยู่บ้านของตัวเอง
โดยทีมดูแลของบั๊ดดี้โฮมแคร์ในปัจจุบันกว่า 20 คนเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ (คิดเป็น 80% ของพนักงานทั้งหมด) และส่วนใหญ่เป็นปกาเกอะญอ ซึ่งแบงค์บอกว่า ความโดดเด่นของพนักงานที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ คือ พวกเขาไม่เคยเลือกงาน หากมีเคสอะไรส่งให้ก็จะรับไปทั้งหมด แถมยังขยันขันแข็งมาก
เพราะส่วนใหญ่เรียนจบชั้นม.3 เพียงเท่านั้น ตัวเลือกของการทำงานจึงน้อย เมื่อมีโอกาสในการทำงานใหม่ๆ พวกเขาจึงเข้ามารับการอบรมการดูแลผู้สูงอายุ (หลักสูตรผู้ช่วยพยาบาล) 420 ชั่วโมงและฝึกงานภายใต้ความร่วมมือของมูลนิธิพัฒนางานผู้สูงอายุและคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อให้ได้วุฒิและงานดูแล เป็นต้นทุนชีวิตต่อไป
ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว สิ่งที่ผู้สูงวัยต้องการอาจไม่ใช่อะไรที่ยิ่งใหญ่ แต่เป็นใครสักคนที่เข้าใจ อาสาสมัครของบั๊ดดี้โฮมแคร์จึงต้องเป็นคนที่ใจเย็นและมีความอดทนในการช่วยเหลือผู้สูงอายุ
“มีเคสหนึ่งคุณยายที่เป็นอัลไซเมอร์ เขาจะอยากทำในสิ่งที่ทำมาตลอด คือ เดินออกไปนอกบ้าน ไปเยี่ยมเพื่อนบ้าน แต่ลูกหลานไม่สามารถดูแลได้ตลอดเวลา เลยต้องจำกัดให้อยู่แต่ในบ้าน คุณยายเลยมีอาการโวยวายตลอดเวลา ใช้ความรุนแรงกับตัวเอง กับข้าวของ เพื่อให้ได้สิ่งที่ตัวเองต้องการ”
ยงยุทธ เยอส่อ อดีตผู้ดูแลผู้สูงอายุที่บั๊ดดี้โฮมแคร์ อธิบายว่า ทักษะที่เหล่าอาสาสมัครจะขาดไปไม่ได้เลย คือ ความเข้าอกเข้าใจ เพราะผู้สูงอายุมักจะมีพฤติกรรมต่างๆ ที่เข้าใจได้ยาก และทำให้เกิดความขัดแย้งในการอยู่ร่วมกัน หากอาสาสมัครเข้าใจต้นตอของพฤติกรรมนั้นๆ จะช่วยให้อาสาสมัครช่วยปรับพฤติกรรมของผู้สูงอายุคนนั้นได้ นำไปสู่ปฏิสัมพันธ์ที่ดีขึ้นระหว่างผู้สูงอายุและสังคมแวดล้อม
นอกจากการปรับพฤติกรรม ที่ผ่านมาอาสาสมัครของบั๊ดดี้โฮมแคร์ก็ได้มีการช่วยปรับสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัยของผู้สูงวัยในชุมชนอีกด้วย เพราะพวกเขามองว่าสภาพแวดล้อมเป็น 1 ในสาเหตุที่ทำให้ผู้สูงอายุแสดงพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ เพราะฉะนั้น การดูแลคนสูงวัยจึงไม่ใช่แค่ทางร่างกายและจิตใจ แต่รวมถึงสภาพแวดล้อมที่พวกเขาอยู่เช่นกัน
“เริ่มจัดโน่นนี่ให้ ทำทุกอย่างให้เป็นห้อง ผู้สูงอายุก็หายใจได้โล่งขึ้น ทำได้ 2 – 3 เดือนมันเปลี่ยนแปลง เขาสดใสขึ้น ใบหน้าที่เหี่ยวเฉาก็ดีขึ้น มีสีสัน” ยงยุทธเสริม
สำหรับการเช่าลูก แบงค์ทิ้งท้ายเพิ่มเติมว่า ตอนนี้บริการเช่าลูกมีผู้สูงอายุติดต่อเข้ามาเยอะมาก และมีโอกาสที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะผู้ที่สนใจรับบริการนั้นมีทั้งในตัวจังหวัดเชียงใหม่ กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล
ทั้งนี้ แม้ว่าบางคำขอจะเป็นการขอให้อาสาสมัครคนเดิมไปนั่งคุยเฉยๆ ที่บ้าน แต่ก็สะท้อนให้เห็นว่า สิ่งที่ผู้สูงอายุต้องการ ไม่ใช่การให้บริการที่หวือหวา แต่เป็นคนที่เข้าใจและพร้อมมาอยู่เป็นลูกเป็นหลานเพื่อคลายเหงา
บางคนอาจมองว่า การผลักให้ ‘คนอื่น’ มาดูแลผู้สูงอายุในครอบครัวแทนตัวเองเป็นการแสดงความกตัญญูต่อคนที่เลี้ยงและดูแลเรามาตั้งแต่เด็ก แต่หากมองความเป็นจริง การดูแลพ่อแม่ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องอาศัยทั้งแรงกาย แรงใจ ความรู้ รวมไปถึงเวลาที่อาจกระทบไปยังหน้าที่การงานและสภาพคล่องของครอบครัว
“การดูแลพ่อแม่มันเหนื่อยนะ หนึ่ง คือ ไม่รู้ต้องทำอย่างไร สอง ถ้าไม่ดูแลสังคมก็บอกว่าอกตัญญูอีก แล้วทำไมต้องมาตีตราเราด้วย ในเมื่อเราไม่มีความรู้เรื่องการดูแลที่มากพอและต้องออกไปทำงาน ถูกไหม” เจนวิทย์ วิโสจสงคราม รองผู้อำนวยการมูลนิธิพัฒนางานผู้สูงอายุและผู้ก่อตั้งบั๊ดดี้โฮมแคร์ ตั้งคำถามชวนคิด
เพราะฉะนั้น การให้ผู้เชี่ยวชาญมาดูแลผู้สูงอายุในบ้านจึงไม่ได้แปลว่าอกตัญญูอย่างที่สังคมมักจะตีตราแต่เป็นการเลือกทางที่ดีกว่าและเหมาะสมกว่าให้กับคนที่ตัวเองรักต่างหาก