หัวคิด มือทำ ใจสู้ : แชร์เรื่องจริงจาก Face The Power เวที 4 พลังของคนลงมือทำ ที่จะทำให้เห็นว่า อคติจะหายไปได้ต้องมาจากการคิดแล้วลงมือทำจริง
กว่าทีมฟุตบอลจะคว้าถ้วยรางวัลไปได้ แน่นอนว่าทีมนั้นจะต้องมีคนลงสนามที่มีพลัง ไม่ใช่ว่ามีแค่โค้ชที่บอกทิศทางอยู่อย่างเดียว
วงทอล์ก Face The Power : 4 พลังของคนลงมือทำ ส่งต่อความหวังเพื่อ ‘ประชากรกลุ่มเฉพาะ’ คือวงทอล์กของคนลงสนาม ที่ลงมือต่อสู้กับอคติด้วยตัวเอง และหวังว่าจะส่งต่อพลังเหล่านี้ไปยังคนอื่นๆ อีกด้วย
นี่คือหนึ่งในกิจกรรมจากงาน ‘FACE THE VOICE’ มองด้วยตา ฟังด้วยใจ ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เมื่อวันที่ 23 พ.ย. 2567 ที่ผ่านมา งานนี้ได้รวบรวมทั้งคนคิดการใหญ่ และคนลงมือทำมาแลกเปลี่ยนรู้ เพื่อเป็นเวทีแห่งการส่งต่อไอเดียดีๆ เพื่อประชากรกลุ่มเฉพาะ
เริ่มต้นจาก ‘ฮีซัมร์ เจ๊ะมามะ’ ผู้ผลิตและกำกับหนังสั้น I’m Not Your F***ing Stereotype ที่ค้นพบว่าความเป็นมุสลิมของตนเองเป็นความแปลกแยก จึงสร้างหนังเพื่อบอกว่า มุสลิมก็คือปุถุชนทั่วไป และไม่ขำกับประโยคที่เพื่อนชอบหยอกว่าวันนี้พกระเบิดมาด้วยหรือเปล่า
ต่อด้วย ‘วรรณา แก้วชาติ’ ผู้ประสานงานโครงการมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย และตัวแทนเครือข่ายสลัม 4 ภาค ผู้ผลักดันกระบวนการ ค้นหา-พิสูจน์-ยืนยันตัวตนผ่านการตรวจดีเอ็นเอเพื่อช่วย ‘คนไทยไร้สิทธิ’
ตามด้วย ‘สโรชา กิตติสิรพันธุ์’ บรรณาธิการสำนักพิมพ์ผีเสื้อปีกบาง และ ‘ปิยะวัลย์ องค์สุวรรณ’ กรรมการ มูลนิธิด้วยกันเพื่อคนพิการและสังคม ทั้งสองคนจะมาเล่าถึงความบันเทิงของคนพิการที่ถูกพัฒนามาเป็นแอปพลิเคชันเสียงบรรยายภาพพรรณนา
ปิดท้ายด้วย ‘บุญรอด อารีย์วงศ์’ ผู้พิการทางการเคลื่อนไหว และผู้ที่มีความหลากหลากหลายทางเพศ และ ‘สุรางค์ จันทร์แย้ม’ ผู้อำนวยการ SWING Thailand ผู้ที่จะมาช่วยสร้างความเข้าใจเรื่องอัตลักษณ์ทับซ้อน พร้อมสะท้อนให้เห็นถึงอคติที่สังคมมีต่อแต่ละกลุ่มประชากร
เพราะคนลงสนามก็มองภาพแตกต่างไปจากโค้ช แต่ละคนจะมีมุมมองต่อการลงมือทำและทำมันอย่างไรให้สำเร็จ บทความนี้มีคำตอบ
“มุกปาเบคอนใส่ คือไม่ตลก”
คงไม่มีใครไม่เคยเห็นคนมุสลิม พวกเขาคือกลุ่มคนที่อาจจะมีวิถีชีวิตและความเชื่อที่แตกต่างไปจากคนส่วนใหญ่ ซึ่งทำให้พวกเขาถูกตีความและตีตราไปตามสายตาของคนส่วนใหญ่ ทั้งๆ ที่ในความจริงพวกเขาไม่ได้เป็นเช่นนั้น
“คนมุสลิมมีเมียได้หลายคนจริงหรอ”“เคยลองกินหมูไหม”“พกระเบิดมาด้วยหรือเปล่า” ถ้าให้จดคำถามที่ ‘ฮีซัมร์ เจ๊ะมามะ’ เจอมาตลอดลงบนกระดาษ เขาคงสามารถรวบรวมคำถามเหล่านั้นเป็นหนังสือเล่มหนาๆ สักเล่มได้ ความสงสัยจากคนต่างศาสนาไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าคำถามเหล่านั้นมีอคติและการเหมารวมซ่อนอยู่
“อัสลามมุอาลัยกุม สวัสดีครับ ผมชื่อฮีซัมร์ เจ๊ะมามะ ผู้กำกับหนังเรื่อง i’m not your f***ing stereotype ครับ ตามชื่อหนังเลย หนังธีสิสจบของผมเรื่องนี้ว่าด้วยการถูกเหมารวมและถูกตีตราของมุสลิม”
นี่คือประโยคที่ฮีซัมร์ใช้แนะนำตัวกับผู้ชมทั้งหลายในงานเสวนาครั้งนี้ I’m noy your F***ing Stereotype คือหนังที่ฮีซัมร์ทำขึ้นเพื่อสะท้อนความอัดอั้นในใจที่เขาต้องทนมานานตลอดหลายปี เขาอยากให้สังคมได้รับรู้ว่าการเป็นคนมุสลิมต้องเผชิญกับอะไรบ้าง โดยซ่อนความตลกร้ายแบบหน้านิ่งไว้ในตัวละครนำอย่าง ‘มารียัม มุสลิมมีน’ หญิงสาวมุสลิมวัยมัธยมที่ไม่ค่อยมีความภูมิใจกับความเป็นตัวเองเท่าไหร่ การย้ายมาเรียนในกรุงเทพฯ ทำให้กลายเป็นคนแปลกขึ้นมาซะงั้น ทั้งๆ ที่ตอนอยู่นราธิวาส เธอก็คือเด็กธรรมดาคนหนึ่ง
“วันหนึ่งเมื่อมีโอกาสได้ทำหนังจบธีสิส ผมเลยเลือกทำประเด็นนี้ที่เก็บไว้ในใจมานาน โดยมีความคิดอยู่สองอย่าง นอกจากจะอยากสื่อสารกับเพื่อนว่าเราไม่โอเค ไม่ตลกด้วยกับคำถามเหล่านั้น จังหวะนั้นน้องสาวผมเองกำลังจะขึ้นมหาลัย ปี1 เลยอยากทำหนังเรื่องนี้ให้มันดู เพราะผมรู้จักมันดีพอ มันเป็นคนเลือดร้อนกว่าผมมาก คงหัวเสียไปเหวี่ยงใคร ถ้าเจอใครไปแหย่ตัวตนเข้า หนังเรื่องนี้เลยเป็นเหมือนจดหมายจากพี่ชายแชร์บาดแผลให้น้อง”
ฮีซัมร์บอกว่านี่คือหนังที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อแชร์ให้พี่น้อง ทั้งพี่น้องชาวมุสลิมและน้องสาวแท้ๆ ของตัวเอง คล้ายเป็นการเตรียมตัวให้ออกไปเจอโลกภายนอกว่า คนส่วนใหญ่เขายังไม่เข้าใจคนมุสลิม ในแบบที่คนมุสลิมเข้าใจกันเอง แม้หนังเรื่องนี้จะถูกฉายไปเมื่อ 4-5 ปีที่แล้ว แต่เรื่องการโดนล้อ เหยียด เหมารวม ก็ยังคงมีมาถึงตอนนี้
“เรื่องราวไม่นานนี้ ไม่ว่าจะจากคอมเมนต์ข่าวขบวนพาเหรดปาเลสไตน์ หรือ กระทั่งรำลึก 20 ปีเหตุการณ์ตากใบ ก็ยังเจอคนบางกลุ่มเข้าไปคอมเมนต์ในเชิงที่ว่าเหมารวม เช่น ‘พวกคุณจะไปเข้าข้างพวกโจรใต้ทำไม’ ‘พวกมันเป็นศัตรูกับความมั่นคงของชาตินะ’ ยังคงพบเจอคอมเมนต์เหล่านี้ที่มองเราเป็นคนนอก คนที่น่าหวาดกลัว ยังคงไม่มองพวกเราเป็นคนเท่ากับพวกเขา”
ซ้ำร้าย การเหยียดหรืออคติถูกวิวัฒนาการให้กลายเป็น ‘มุกตลก’ เช่น “เดี๋ยวปาเบคอนใส่ซะเลย” “อยากเอาหมูยัดปาก” หรือ “แบบเธอถอดผ้าคลุม (ฮิญาบ) แล้วจะสวยมากเลยนะ” คำพูดเหล่าสำหรับคนที่ต้องเจอบ่อยๆ มันไม่ตลกเลยแม้แต่น้อย
ฮีซัมร์หวังว่าทั้งหนังและการได้ขึ้นมาอยู่บนเวทีทอล์กครั้งนี้ จะทำให้อคติค่อยๆ จางหายลงไป และสิ่งที่เกิดขึ้นใหม่คือความตระหนักรู้ที่ว่าไม่มีใครควรถูกผลักออกจากสังคม หรือถูกโดนล้อเพียงเพราะเขามีความเชื่อที่ไม่เหมือนกัน
“ผมมักเคยโดนถามว่า ‘เฮ้ยบัง..มากรุงเทพฯ พกระเบิดมาด้วยหรือเปล่า’ คำตอบผมคือ พกครับ
แต่เป็นระเบิดที่เรียกว่า ภาพยนตร์”
วันนี้ฮีซัมร์เล่าอย่างติดตลกว่าเขาพกระเบิดตามที่คนอื่นคิดจริงๆ แต่ระเบิดของเขาคือภาพยนตร์เรื่องนี้ ที่จะระเบิดความอคติในตัวทุกคนให้แตกกระจาย และสะเทือนไปยังความคิดของทุกคน
“คนไทยไร้สิทธิ เหมือนสายลม รู้สึกว่ามีแต่มองไม่เคยเห็น”
“วันนี้เราอยากชวนคนที่นี่จินตนาการว่า ถ้าบัตรประชาชนหาย และไม่มีโอกาสทำใหม่ได้อีก”
ในฐานะผู้ชม เราก็ลองนั่งคิดไปพร้อมกับ ‘หน่อย’ วรรณนา แก้วชาติ ผู้ประสานงานโครงการมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัยและตัวแทนเครือข่ายสลัม 4 ภาค ผู้ที่ต่อสู้เพื่อคนไทยไร้สิทธิเป็นเวลายาวนาน
สิ่งที่จะเกิดขึ้นเมื่อเราต้องใช้ชีวิตแบบไม่มีบัตรยืนยันตัวตน คือ เราจะไม่สามารถเข้าถึงสิทธิและสวัสดิการขั้นพื้นฐานใดๆ ได้ จะไปหาหมอก็ใช้ได้แค่สิทธิสุขภาพในระบบบัตรทองเท่านั้น เข้าถึงการศึกษาได้ยากมากๆ และเมื่อเรียนจบก็ไม่สามารถทำงานได้ ซื้อรถไม่ได้ ซื้อบ้านไม่ได้ ทำอะไรไม่ได้เลย
“สำหรับคนที่ไม่มีบัตรประชาชน เมื่อเรียนจบ คุณจะไม่สามารถทํางานได้ เพราะไปสมัครงานคุณต้องใช้บัตร คุณต้องมีเลขไปรับวุฒิการศึกษา ถ้าไปจะรักษาพยาบาลก็ต้องจ่ายเงินก่อน เพราะว่ามันเบิกไม่ได้ ซื้อรถไม่ได้ ซื้อบ้านไม่ได้ คุณมีแค่ลมหายใจ แต่คุณไม่มีชีวิตที่มีศักดิ์ศรีเท่ากับคนอื่นๆ ในสังคมนี้”
ชีวิตปกติที่มีบัตรประชาชนจะช่วยให้เราเข้าถึงสิทธิและสวัสดิการต่างๆ ได้อย่างราบรื่น เราหยุดจินตนาการเรื่องเหล่านี้ได้ แต่สำหรับคนบางกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มคนไทยไร้สิทธิ พวกเขาไม่ต้องอาศัยการจินตนาการตาม เพราะการเข้าไม่ถึงสิทธิคือเรื่องที่เขาต้องเผชิญในชีวิตจริงทุกๆ วัน
คนไทยไร้สิทธิแบ่งเป็น 3 กลุ่มใหญ่ คือ 1. กลุ่มที่เกิดมามีพ่อแม่เป็นคนไทย แต่ไม่เคยทำบัตรประชาชน ไม่มีการแจ้งเกิด แต่พอจะมีพยานที่อ้างอิงได้ว่าเขาเป็นคนไทย 2. กลุ่มที่ติดทะเบียนบ้านกลาง คนที่ทิ้งบ้านไปนานหลายปี คนอื่นสามารถย้ายเราออกจากทะเบียนบ้านที่เคยอยู่ได้ ทำให้ชื่อไปอยู่ทะบียนบ้านกลาง และ 3. พอชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านกลางครบ 10 ปี วันดีคืนดีชื่อของเขาหรือเธอก็ถูกดีดออกไปจากระบบข้อมูล ชื่ออาจจะโดนใช้แทน และกว่าจะได้กลับคืนมาก็ไม่ง่ายเลย
ตลอดการทำงานของหน่อยตั้งปี 2560 จนมาถึงตอนนี้ มีคนไทยไร้สิทธิมากมายอยู่ในประเทศโดยที่เราไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าอยู่กับพวกเขา คำพูดที่หน่อยยกมาพูดบ่อยครั้ง คือ “คนไทยไร้สิทธิ เหมือนสายลม รู้สึกว่ามีแต่มองไม่เคยเห็น” เพราะเป็นคนทำงานด้านนี้ หน่อยจึงมองเห็นสายลมอย่างพวกเขาตลอด หน่อยเองก็พยายามผลักดันให้คนอื่นมองเห็นพวกเขาเป็นมนุษย์ เป็นคนไทยคนหนึ่งเหมือนกัน
“เราทำงานช่วยเหลือมาทั้งหมดราว ๆ 4,000 ราย และเรายังมีคนที่ไร้สิทธิอยู่ราวเกือบล้านคน แต่ระหว่างทางเดินนั้น เราพบว่าหลายคนมีปัญหาในมือหมด”
ปัญหาที่ว่าก็มีหลากหลาย ทั้งโดนผลักออกให้เป็นคนอื่น ทั้งการใช้เวลานานมากๆ ในการพิสูจน์สิทธิ ไหนจะมีคนประสงค์ร้ายหลอกกลุ่มคนเหล่านี้ให้ไปจ่ายเงินเพื่อให้ได้บัตรมา แต่จริงๆ แล้วคือการหลอกให้จ่ายเงินโดยที่ไม่ได้อะไรกลับมาเลย
หน่อยและเครือข่ายการทำงาน รวมไปถึงสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ (สำนัก 9) จึงรวมกันผลักดันให้สังคมมองเห็นพวกเขามากขึ้น หน่อยเล่าว่าปัจจุบันมี 14 จังหวัดและ 22 โรงพยาบาลทั่วประเทศที่เป็นหน่วยเก็บสิ่งส่งตรวจพิสูจน์ DNA ที่เป็นเครือข่ายการทำงานเพื่อให้ช่วยเหลือคนที่ตกหล่นจากสิทธิได้ หน่อยบอกว่า อยากให้พวกเขามีทางเลือกในชีวิตของตัวเองมากกว่าที่จะต้องรอให้คนอื่นมาหยิบยื่นให้
“อยากจะบอกว่าคนเหล่านี้ก็มีฝันไม่ต่างจากพวกเรา คนเหล่านี้มีชีวิตไม่ต่างจากพวกเรา แต่ ณ วันนี้ ความฝันเหล่านั้นมันไกลเกินกว่ามือเล็ก ๆ เนื่องจากเราทํางานแล้วเราเห็นว่า ถ้าไม่มีพวกเรา มือเล็ก ๆ เหล่านั้นมันไปไม่ถึงสิ่งที่เราเรียกมันว่าบัตรประชาชน การมีบัตรประชาชนสําคัญมาก เพราะมันคือรัฐสวัสดิการ มันคือโอกาสทํางาน มันคือโอกาสเดินทาง มันคือโอกาสมีทรัพย์สิน มันคือโอกาสทุกอย่างในชีวิต”
การทำงานเพื่อคนไทยไร้สิทธิยังไม่จบลงแค่นี้ หน่อยพูดอย่างอิ่มใจว่าเธอดีใจที่เดินทางมาไกลได้ขนาดนี้ แต่การเดินทางครั้งนี้ยังคงต้องไปต่อ และต้องได้รับแรงสนับสนุนจากสังคมด้วย
พรรณนา – แอปที่ทำให้คนตาบอดดูหนังกับคนอื่นได้ โดยไม่ต้องปิดโรงแยก
ดูหนัง ฟังเพลง เล่นกีฬา ดูซีรีส์ ฯลฯ
สารพัดกิจกรรมที่สามารถทำได้ในยามที่อยากหาความบันเทิงใส่ตัว ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้ก็เข้าถึงได้อย่างง่ายดาย ใช้เวลาเพียงเสี้ยววินาทีเราก็สามารถเข้าไปดูหนังได้แล้ว
แต่สำหรับคนพิการ ถ้าการเข้าถึงแหล่งบันเทิงแบบทั่วไปเกิดขึ้นได้อย่างง่ายได้บ้างก็คงจะดี เพราะพวกเขามีข้อจำกัด และสังคมเองสร้างข้อจำกัดให้พวกเขา
“เราเป็นคนตาบอดสนิทตั้งแต่เกิด ช่วงหลังๆ มาเราก็ไม่ได้เข้าไปดูหนังในโรง เพราะโรงหนังมันต้องเงียบ แต่เราต้องให้พ่อกระซิบให้ฟังตลอดเวลาว่าในหนังมันเกิดอะไรขึ้นบ้าง เราก็เลยดูหนังที่บ้าน”
‘พลอย’ สโรชา กิตติสิรพันธุ์ บรรณาธิการสำนักพิมพ์ผีเสื้อปีกบาง คนพิการทางการมองเห็นตั้งแต่เกิด พลอยเล่าว่าตอนเด็กๆ จะชอบดูพวกละครหรือซีรีส์เพราะมันยาว ในขณะที่หนังมันสั้นทำให้เธอดูไม่ค่อยเข้าใจเท่าไหร่ อีกหนึ่งสิ่งบันเทิงที่เธอชอบคือเพลง ในสมัยที่ซาวด์อะเบาท์ยังเป็นที่นิยมอยู่ เธอมักจะใช้สิ่งนี้เพื่อฟังเพลงในโรงเรียน จนครูฝ่ายปกครองถึงกับต้องยึด
พลอยห่างไกลจากการเข้าโรงหนังมาก ไม่ใช่ว่าเธอไม่อยากเข้า แต่ถ้าเข้าไปแล้วดูไม่ได้ แถมอาจจะไปสร้างความรบกวนให้คนอื่น เธอจึงเลือกที่จะดูหนังอยู่ที่บ้าน จนกระทั่งมีนวัตกรรมที่ชื่อว่า ‘แอปพรรณนา’ ทำให้พลอยได้เดินเข้าโรงหนังอีกครั้ง
แอปพรรณนาคือแอปพลิเคชันเสียงบรรยายภาพที่ทำให้คนพิการเข้าไปดูหนังในโรงร่วมกับคนไม่พิการได้ ในหนังมักจะมีหลายฉากที่ตัวละครเคลื่อนไหวแต่ไม่มีเสียง ฉากเหล่านี้ทำให้คนพิการทางการมองเห็นไม่รู้ว่ามีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นอยู่ แต่พอมีแอปพรรณนาเข้ามา พวกเขาก็สามารถฟังจากแอปพลิเคชันได้ว่าตอนนี้ตัวละครกำลังทำไร ทำท่าไหน หรือกำลังเดินไปทางไหน
“เริ่มต้นจากการที่เรามีเพื่อนเป็นคนพิการ ก็พาเพื่อนตาบอดเฮโลกันไปดูหนัง ปรากฏว่าก็เขาต้องคอยสะกิดถามว่าเกิดอะไรขึ้น มันก็เลยเป็นที่มา เราก็เลยคิดถึงการออกแบบตัวช่วยบางอย่าง มันสามารถช่วยทําให้ข้อจํากัดของความพิการหายไปได้”
‘โบว์’ ปิยะวัลย์ องค์สุวรรณ กรรมการมูลนิธิด้วยกันเพื่อคนพิการและสังคม กล่าว เธอเป็นคนหนึ่งที่มีเพื่อนเป็นคนพิการมากมาย แน่นอนว่าตามประสาเพื่อนเราก็อยากจะทำกิจกรรมร่วมกันกับเพื่อนๆ อย่างเช่นการดูหนัง แต่ก็ติดปัญหาตรงที่ว่า เธอที่เป็นคนไม่พิการทางการมองเห็นสามารถดูได้ แต่เพื่อนที่เป็นคนพิการดูไม่ได้
“จริงๆ มันก็คือการทำให้คนพิการและคนไม่พิการได้มาเป็นเพื่อนกัน ความหมายของความเป็นเพื่อนก็คือว่า เราเปิดโอกาสให้เขาได้มาทำกิจกรรมในสังคมด้วยการออกแบบกิจกรรมหรือนวัตกรรมต่างๆ”
โบว์ยังเสริมอีกว่า การที่สังคมเปิดพื้นที่ให้คนพิการและไม่พิการอยู่ร่วมกัน มันจะทำให้สังคมได้เห็นซึ่งกันและกัน ทำให้เกิดการรับรู้ว่าในสังคมมีความหลากหลาย ไม่ว่าจะทำอะไรก็นึกถึงเพื่อนคนพิการที่เขาก็อยากใช้ชีวิตสนุกสนานอยู่เหมือนกัน ปัญหาของคนพิการก็จะกลายเป็นปัญหาของเราด้วย ซึ่งนำไปสู่การร่วมกันแก้ไขปัญหาอนาคต
ไม่ใช่แค่ความสนุกสนาน แต่ในฐานะบรรณาธิการอย่างพลอย เธอคิดว่าการได้ดูหนังคือการเปิดโลกทัศน์ใหม่ๆ ที่เธอไม่เคยได้สัมผัสมาก่อน พลอยยกตัวอย่างว่า หนัง i’m not your f***ing stereotype ก็คือหนังที่มีการสื่อสารที่น่าสนใจ แต่ถ้าคนพิการดูไม่ได้ ก็จะมีคนหลายคนที่พลาดโอกาสรับสารเกี่ยวกับประเด็นอคติต่อคนมุสลิม
“หนังมันไม่ใช่แค่ความบันเทิง แต่ว่ามันคือต้นตอที่เราจะนํามาวางแผนงานต่างๆ ออกแบบงานต่างๆ ในชีวิตของเราต่อไปได้ด้วย เพราะฉะนั้นมันคือแหล่งการเรียนรู้อย่างหนึ่งที่จะนํามาสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีของคนอื่นต่อไป” พลอยทิ้งท้าย
“ถ้าขอใครสักคนได้ก็คงขอให้เขารับเราได้ ทั้งเรื่องเพศสภาพและความพิการ”
“คำว่า คนพิการ ทำให้เราโดนปฏิเสธในหลายๆ เรื่อง เช่น สมัครเรียนโรงเรียนก็ไม่รับ พอเรียนได้ก็โดนเลือกปฏิบัติจากอาจารย์ พอตอนทำงานก็ไม่มีใครรับ หรือว่ารับแล้วก็จะได้เงินเดือนน้อยกว่าคนอื่นๆ”
บุญรอด อารีย์วงศ์ คนพิการทางการเคลื่อนไหว และผู้ที่มีความหลากหลากหลายทางเพศ บุญรอดเล่าว่าถ้าไม่มีคำว่าคนพิการอยู่หน้าชื่อของเขา การปฏิเสธเหล่านั้นก็คงจะไม่มี แต่ในเมื่อเขาเกิดมาพร้อมกับคำคำนี้ บุญรอดก็สู้ที่จะเรียน และสู้ที่จะทำงาน ไม่อย่างนั้นเขาก็คงไม่มีโอกาสยืนได้ด้วยตัวเอง
“สังคมไทยมีกรอบให้กับคนพิการเสมอว่า เป็นคนพิการทำงานไม่ได้ เรียนไม่ได้ มันเป็นความคิดที่เก่ามาก”
คงเพราะการมองคนไม่เท่ากัน ทำให้ทัศนคติเหล่านี้เกิดขึ้น การเป็นคนพิการทำให้เจออุปสรรคมากมาย การเป็นผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศก็ทำให้บุยรอดยิ่งเจออคติซ้อนเข้าไปอีก
สุรางค์ จันทร์แย้ม ผู้อำนวยการ SWING Thailand เล่าว่า เธอเป็นคนหนึ่งที่ทำงานเพื่อช่วยเหลือผู้ที่มีอัตลักษณ์ทับซ้อน โดยกลุ่มผู้มีอัตลักษณ์ทับซ้อนมี 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่มคนที่มีความพิการและมีความหลากหลายทางเพศ 2.กลุ่มคนที่เป็นแรงงานข้ามชาติและมีความหลากหลายทางเพศ และ 3.กลุ่มที่เป็นคนขายบริการ (Sex Worker) และมีความหลากหลายทางเพศ
แต่ละกลุ่มมีอุปสรรคและข้อจำกัดของตัวเองแตกต่างกันออกไป เช่น กลุ่มแรกจะเจอกับอคติของคนที่ไม่เข้าใจว่า คนพิการจะมีความรักไปทำไม กลุ่มที่สองจะเจอปัญหาของการกลับบ้านเกิดตัวเองไม่ได้ พวกเขาคือแรงงานข้ามชาติที่ตอนอยู่ประเทศไทยก็สามารถเป็นตัวเองได้เต็มที่ เนื่องจากประเทศไทยเป็นที่ที่เปิดกว้างเรื่องความหลากหลายทางเพศ แต่วันหนึ่งพวกเขาก็อยากจะกลับไปอยู่บ้านเกิด ทว่าบ้านเกิดไม่ได้เปิดรับความหลากหลายเท่าประเทศไทย พวกเขาก็อาจจะต้องหลบซ่อนความเป็นตัวเองไว้หรือไม่ก็ไม่สามารถกลับไปได้ หรือกลุ่มที่สามที่เจอกับปัญหาอคติ โดนสังคมรังเกียจเพราะทำงานขายบริการที่ไม่ได้รับการยอมรับ โดนปฏิบัติราวกับเป็นสิ่งของ ไม่ใช่มนุษย์เหมือนคนอื่น
“จากปัญหาอย่างที่บุญรอดเล่าให้ฟังเรื่องการไม่ได้เรียนหนังสือ ไม่ได้รับเข้าทํางานด้วยเหตุว่าเป็นคนพิการ หรือเป็น LGBTIQNA+ เราคิดว่า ปัญหาอยู่ตรงที่ส่วนหนึ่งสังคมมองคนไม่เท่ากัน พอเรามองความเป็นคนของคนไม่เท่ากันการตีตรามันเข้ามา การเลือกปฏิบัติมันเข้ามา สวัสดิการที่มีอยู่มันจึงไม่เชื่อมโยงกับปัญหาและอุปสรรคของคนในแต่ละคน”
พวกเขาไม่รู้จะหันหน้าไปทางไหน SWING จึงเปิดพื้นที่ให้พวกเขาได้รับการปรึกษา ช่วยเหลือ โดยไม่ต้องโดดเดี่ยวอีกต่อไป ในกรณีของบุญรอดที่มีครอบครัวที่สนับสนุนเป็นอย่างดีก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีมากๆ แต่ก็ยังมีอีกหลายคนที่ขาดการสนับสนุนจนไม่สามารถใช้ชีวิตของตัวเองได้ ถึงแม้คนนั้นจะเป็นทั้งคนที่มีความหลากหลายทางเพศ คนพิการ แรงงานข้ามชาติในคนเดียวกัน สุรางค์ก็ยังมองว่าเราก็สามารถช่วยเหลือพวกเขาได้
สิ่งที่จะทำให้ทุกอัตลักษณ์ยืนหยัดอยู่ได้ในสังคม คือ การมองคนให้เท่ากัน
“เราเชื่อว่าคนพิการทุกคน อยากใช้ชีวิตของตัวเอง อยากเรียนจบ อยากมีครอบครัว อยากมีความรัก แต่สิ่งที่เป็นอยู่ คือ สังคมสร้างกรอบว่าคนพิการทําไม่ได้หรอก แต่เราเชื่อว่ากรอบนี้มันจะหายไป คนพิการทุกคนจะมีสิทธิ์เรียน ที่ตัวเองอยากเรียน ทํางานที่ตัวเองอยากทํา ได้แน่ๆ ในอนาคต” เสียงจากบุญรอด