‘เพราะความสุขคือการบอกคนอื่นว่าเราเป็นใคร’ เข้าใจความสุขเรียบง่ายของคนชาติพันธุ์ที่พร้อมยืนหยัดตัวตนอย่างทรนง

ความสุขของเราคืออะไร เป็นคำถามที่สั้นและง่ายแต่มีความหมายมากมาย บ้างก็บอกว่าความสุขคือการใช้ชีวิตตามที่วาดฝันไว้, การใช้ชีวิตปราศจากความกังวล, หรือการวาดฝันให้เกิดนิพพานในชีวิตเพื่อความสงบสุขเสียที ซึ่งความสุขของแต่ละคน ลึกๆ ล้วนสะท้อนความต้องการบางอย่างที่ยังรู้สึกขาดหายไปในชีวิตหรือในสังคม เช่นเดียวกันกับความสุขของคนชาติพันธุ์

ภายในงาน Empowered Storytelling Workshop เติมพลังการเล่าเรื่องจากภายในเพื่อชาติพันธุ์ โดย Mutual x MasterPeace x Studio Persona สนับสนุนโดย สำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ (สำนัก 9) สสส. ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 10 สิงหาคมที่ผ่านมา ในช่วงหนึ่งของกิจกรรม ได้ตั้งคำถามว่า ‘ความสุขคืออะไร’ แล้วให้ทุกคนร่วมกันแชร์คำตอบที่แตกต่างกันตามประสบการณ์ แต่หากขยายความและนำความเป็น ‘ชาติพันธุ์’ มาเกี่ยวข้องด้วย คำตอบที่ปรากฏออกมามีจุดร่วมเหมือนกัน คือการที่พวกเขาภูมิใจและพร้อมตะโกนบอกคนอื่นว่า พวกเขาคือคนใครในสังคมแห่งนี้โดยไม่หวั่นไหวต่อสิ่งอื่น 

แม้พวกเขาจะถูกกดทับหรือถูกตีตรา แต่ความเชื่อมั่น และความศรัทธาต่อความเท่าเทียมกันในมนุษย์ทุกกลุ่ม ทำให้ยังมีเหล่าคนชาติพันธุ์ที่ต่อสู้ ซื่อสัตย์และยืนหยัดต่ออัตลักษณ์ และมีความสุขทุกครั้งที่ได้บอกเล่าคนอื่น ว่าพวกเขามีวัฒนธรรม เอกลักษณ์และคุณค่าในแบบตนเอง ที่พร้อมเปิดรับให้ทุกคนเรียนรู้ไปด้วยกัน 

แพท อินฟลูเอนเซอร์ชาติพันธุ์ตัดสินใจทำช่องยูทูบและเปิดแฟนเพจในเฟซบุ๊ก เพื่อนำเสนอวิถีชีวิตบนดอยของคนปกาเกอะญอ ทั้งการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ การเดินทางไปเที่ยวต่างอำเภอ นำเสนออาหารขึ้นชื่อในท้องถิ่น ซึ่งแพทบอกว่าหลังจากที่ได้เผยแพร่คลิปออกมาเรื่อยๆ คนที่ได้ดูคอนเทนต์ก็รู้สึกชอบ และอยากลองมาใช้ชีวิตสัมผัสด้วยตัวเอง

แพทเชื่อว่าการเกิดขึ้นของโลกอินเตอร์เน็ต ที่ทำให้ใครก็ได้สามารถเป็นนักสื่อสารเพื่อถ่ายทอดเรื่องราว โดยเฉพาะเรื่องราววิถีชีวิตพี่น้องชาติพันธุ์ที่หลายคนมองว่าแตกต่างและน่าสนใจ ออกมาสู่สายตาคนอื่นๆ ได้  ช่วยย่นระยะห่างระหว่างคนเมืองและคนชาติพันธุ์ให้เขยิบเข้ามาใกล้กัน 

นอกจากนี้ด้วยอุปนิสัยที่แพทเป็นคนช่างพูด ช่วงนี้ต้องออกบูธสินค้าโอท็อป ก็มักจะแนะนำตัวเองว่าเป็นกะเหรี่ยง 

“ก็ไม่มีใครดูถูกและยังชื่นชมเราด้วยซ้ำ แพทเชื่อว่ามีเพียงคนส่วนน้อยที่ยังมีอคติต่ออัตลักษณ์ของเขา แต่ก็จะขอใช้ชีวิตโฟกัสแค่กับสังคมที่เห็นคุณค่าในตัวเราดีกว่า”  

ดอยอธิบายว่า เพราะตอนนี้ชาติพันธุ์ยังคงขาดโอกาส และสิทธิที่เท่าเทียมกับคนอื่นๆ  จึงอยากแบ่งปันสิ่งดีๆ ให้คนอื่นบ้าง และพร้อมจะเข้าไปสนับสนุนตามกำลังที่มี ดอยเชื่อว่าแม้เขาจะไม่สามารถเลือกได้ว่าอยากจะเป็นใคร แต่เชื่อว่ามนุษย์สามารถยอมรับในตัวตนที่คนอื่นๆ ได้ 

ดอยยังเชื่ออีกว่าการที่กลุ่มชาติพันธุ์จะมีสิทธิเท่าเทียมกับคนอื่นได้ พวกเราต้องไม่กดตัวตนที่แท้จริงเสียก่อน

“ถ้าเราไม่กดตัวเอง คนอื่นก็จะไม่กดเรา มันจะทำให้เราก้าวข้ามความรู้สึกแตกต่างตรงนี้ไป ก้าวไปสู่การมองเป็นมนุษย์เท่ากัน เป็น ‘ฉัน’ และ ‘เธอ’”

พศินเป็นเยาวชนเพียงคนเดียวที่เดินทางมาร่วมงานเวิร์กช็อปในครั้งนี้ เขาเล่าว่าปีนี้เป็นปีสุดท้ายที่จะได้ใช้ชีวิตในรั้วโรงเรียนแล้ว ความฝันและความต้องการของพศินและเพื่อนๆ ในบทถัดไปคือการเข้ามหาวิทยาลัย พศินสนใจเรียนต่อในคณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยให้เหตุผลว่า อยากนำความรู้ที่ได้มาช่วยยกระดับชุมชน ดึงความเป็นเอกลักษณ์ของชุมชน ส่งเสริมให้มีความโดดเด่นมากขึ้น ให้คนในพื้นที่อื่นได้รู้จักชุมชนมากขึ้นผ่านเสียงดนตรี และผ่านสินค้าวัฒนธรรม

ซึ่งความสุขเรียบง่ายของพศิน คือการได้ทำกิจกรรมกับครอบครัวและชุมชนเพื่อสานสัมพันธ์ รวมทั้งการบอกว่าเขาคือชาติพันธุ์ไทใหญ่ เพราะความเป็นเอกลักษณ์และการมีภาษาเป็นของตัวเอง ที่ทำให้เขารู้สึกภูมิใจในการบอกกล่าวคนอื่นว่าเขาคือใคร

“เวลาเราบอกคนจังหวัดอื่นหรือพื้นที่อื่น เขาก็ไม่ได้เคลือบแคลงอะไรในตัวตนของเรา เพราะเราต่างก็เป็นคนไทยเหมือนกัน” พศินทิ้งท้ายกับเรา

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

ระบุข้อความ