“เกลียดชาถ้วยนี้มาก​ เพราะมันจริงเกินไป” เมื่อการเบลนด์ชามีไว้เพื่อใครสักคน กลับมาเข้าใจและเห็นคุณค่าในตัวเอง

เคยสงสัยบ้างไหมว่าเวลาที่ดื่มชา เราดื่มอะไรที่มากกว่ารสชาเข้าไปด้วยรึป่าวนะ ?

บางคนบอกว่า..“เหมือนกำลังดื่มกินชีวิตที่ขมขื่นของตัวเองลงไปเลย”

บางคนเบลนด์ชาให้ตัวเองแต่กลับบอกว่า “เกลียดชาถ้วยนี้มาก​ เพราะมันจริงเกินไป”

และสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างบ่อยครั้ง คือ After Effect หลังการจิบชาที่หลายๆ คนมักจะพูดว่า

“ไม่เห็นรู้สึกอะไรเลย​ ชาก็แค่ชา แต่ทำไมอยู่ๆ ก็รู้สึกอยากร้องไห้ก็ไม่รู้ เหมือนถูกรับฟัง​ เหมือนมีชาร้องไห้เป็นเพื่อน”

สำหรับเรา การเบลนด์​ชาหรือการผสมชาตั้งแต่ 2 ชนิดขึ้นไปคือศาสตร์​และศิลป์​แห่ง​ ‘การเลือก’​  เรา ‘เลือก’ เพื่อจะหาส่วนผสมที่ใช่ในแต่ละช่วงเวลา โดยเริ่มต้นจากการเลือกใบชาตั้งต้น (Based Tea)  มันคล้ายกับช่วงเวลาที่เราได้กลับตั้งคำถามให้กับชีวิตในช่วงนั้นๆ ไปพร้อมกัน

“เรากำลังจะไปที่ไหน” 

“เราทำสิ่งเหล่านี้ไปเพื่ออะไร” 

“จริงๆ แล้วเราต้องการอะไร”

การใช้กลิ่นของใบชาแต่ละแบบที่สะสมเอาไว้มาสะท้อนคำตอบของคำถามเหล่านั้น เช่น หากเรานึกถึง ‘ความรู้สึกหนักแน่น’ เราจะนึกถึงชาอัสสัม เพราะการได้เจอชานี้มันเกิดขึ้นจากการไปเดินขึ้นภูเขาอยู่หลายวัน ยังคงเป็นความรู้สึกที่จำได้ไม่ลืมว่าระหว่างทางที่เดินขึ้นไปนั้น เราถอดใจไปกี่ร้อยรอบ ร้องไห้ไปกี่สิบหน แต่สุดท้ายเราก็ยังคงเดินต่อไป จนในที่สุดก็ได้มาเจอกับร้านค้าเล็กๆ ในหมู่บ้านระหว่างทางเดินกลับ เขาเสิร์ฟชาอุ่นๆ ให้กับเราในวันสุดท้ายของการเดินทาง ชาถ้วยนั้นเหมือนเป็นรางวัลที่บอกกับเราว่า “ขอบคุณที่ไม่ถอดใจไปซะก่อน” และหลังจากนั้นไม่ว่าครั้งไหนๆ ที่เราได้ดื่มชาอัสสัม  เราจะนึกถึง “พลังแห่งความหนักแน่น”  ที่ชาอัสสัมถ้วยนั้นมอบให้แก่เราเสมอ

หรือชาบันฉะ ที่ได้ดื่มที่ไรก็จะนึกถึง ความหวัง’ อยู่เสมอ ชาบันฉะเป็นชาทั่วๆ ไปที่ชาวไร่ที่นั่นมีติดไว้แทบจะทุกบ้าน เรารู้จักชาชนิดนี้ครั้งแรกจากการไปเป็นอาสาสมัครที่ฟาร์มออร์แกนิกในเทศญี่ปุ่น โฮสต์มักจะชงแบบเย็นๆ ใส่กระบอกน้ำให้เหล่าอาสาพกติดตัวไปตอนไปตัดฟืนและถอนหญ้าในไร่อยู่เสมอ 

อากาศที่ญี่ปุ่น ถึงคราวหนาวก็หนาวสุดขั้ว บทจะร้อนขึ้นมาก็ร้อนไปถึงหัวใจ เรายังจำภาพของคุณลุง คุณป้าหลายคนเปิดกระบอกชาที่ชงแบบเย็นยกขึ้นดื่มหลังจากหว่านเมล็ดพันธุ์เสร็จได้ดี เป็นใบหน้าและแววตาที่เต็มไปด้วยความหวัง ที่อีกไม่นานพวกเขาคงได้เก็บเกี่ยวพืชพันธุ์เหล่านี้มาใช้ประโยชน์ได้ในอนาคต

สำหรับเรา ‘ใบชา’ จึงเป็นตัวแทนเหมือนกล่องเก็บความทรงจำที่สะท้อนความรู้สึก และเรื่องราวได้เป็นอย่างดี เหมือนเราได้มองเห็นแก่นของชีวิตในแต่ละช่วงเวลา ผ่านใบชาที่เราเลือกมาชงดื่ม และในระหว่างที่ดื่ม ภาพความรู้สึกของช่วงเวลาเหล่านั้นก็จะหวนกลับมา ทำให้เรากลับไปมองเห็นรายละเอียดเล็กๆ ของชีวิต ที่อยู่ระหว่างทางเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

Blender ที่เต็มไปด้วยรายละเอียด 

นอกจากการเลือกใบชาตั้งต้นแล้ว ขั้นตอนการค้นหาสมุนไพรและดอกไม้แห้งต่างๆ (Blender) มาผสมเบลนด์เข้าไปกับใบชา ก็สำคัญไม่แพ้กัน เพราะเป็นตัวแทนของรายละเอียดในชีวิตที่ต้องผ่านการแสวงหาประสบการณ์และองค์ความรู้ใหม่ๆ เพื่อมาประกอบให้ชีวิตของเรามีมิติที่หลากหลายมากขึ้น

กระบวนการค้นหาและได้มาซึ่ง Blender นั้นน่าสนุก หลายๆ ครั้ง ในกระบวนการนี้เราจะชอบพาตัวเองไปขลุกตัวอยู่ที่ร้านขายสมุนไพรตามที่ต่างๆ ได้คุยกับคุณลุง คุณป้า เจ้าของร้านสมุนไพร เขาจะคอยเล่าและช่วยแนะนำสมุนไพรต่างๆ ให้เราฟัง

ส่วนหนึ่งของสมุนไพรและดอกไม้แห้งเหล่านี้เราได้มาจากร้านขายยาจีนที่เขาทำวัตถุดิบเหล่านี้ส่งขาย 

และอีกส่วนหนึ่งเราได้มาวัตถุดิบมาแบบสดจากชุมชนต่างๆ ที่ปลูกแบบออร์แกนิก แล้วเราก็เอามาตากแห้งเองที่บ้าน ทั้งหมดจึงเต็มไปด้วยกระบวนการค้นหา ค้นพบ และรอคอย ที่สามารถสะท้อนความหลากหลายให้กับแต่ละมิติของชีวิตได้เป็นอย่างดี

เพราะสมุนไพรและดอกไม้แห้งที่เราสะสมไว้จะให้สรรพคุณ​ มีสี  มีกลิ่น​ มีรสที่แตกต่างกันออกไป​ ด้วยเหตุนี้ ในการนำมาผสมกับใบชาแต่ละครั้ง มันจึงชวนให้เรานึกถึง ‘ความไม่แน่นอนแห่งชีวิต’ อยู่เสมอ

เช่น อุณหภูมิ ชนิดน้ำ เวลาในการชง รวมถึงสัดส่วนของวัตถุดิบที่เรานำเบลนด์ผสมด้วย

เราจึงชอบช่วงเวลาแห่งการได้ฝึกเฝ้าสังเกต การค่อยๆ เลือก และการทดลองหาส่วนผสม ที่เหมาะสมสำหรับแต่ละช่วงเวลาของชีวิต เพื่อนำมาผสมผสานรสชาติ สี และกลิ่นของชาถ้วยนั้นๆให้สามารถสะท้อนภาพที่เข้ากันกับชีวิตของเราในขณะนั้นได้อย่างพอเหมาะ พอดี 

กิจกรรม Empower Storytelling Workshop ครั้งนี้ก็เช่นกันเรามีโอกาสไปร่วมออกแบบชาเพื่อชวนให้คนพิการและผู้ที่ทำงานด้านคนพิการ ให้ได้มีช่วงเวลาช้าๆ เพื่อกลับมาใคร่ครวญกับตัวเองและให้ชาแต่ละถุงพาไปสู่การค้นพบข้อความและความหมายบางอย่าง ที่แต่ละคนต้องการสื่อสารสู่โลกใบนี้ ผ่านการเลือกชาที่เบลนด์มาแตกต่างกัน 

ในกิจกรรมทุกคนได้ใช้ประสาทสัมผัสในการทำความรู้จักกับชาที่เราเตรียมไว้ 6 แบบที่สอดคล้องกับชีวิตทั้ง 6 มิติ ได้แก่ การงาน ความสัมพันธ์ สุขภาพ การเรียนรู้เติบโต ความพึงพอใจในชีวิต และ ผลกระทบด้านสังคม  โดยชาแต่ละแบบที่เราเลือกมา ประกอบด้วย Based Tea และ Blender จากสมุนไพรและดอกไม้แห้งต่างๆ กว่า 10 ชนิด ที่เราได้เดินทางไปเก็บสะสมมา 

“จะทำอย่างไรให้เป็นชาที่ผู้เข้าร่วมทุกคนสบายใจที่ได้สำรวจ ใคร่ครวญ และตีความชาเหล่านี้ไปด้วยกัน”  คือโจทย์สำคัญของการเบลนด์ชาหนนี้ 

เพราะบางคนไม่ได้กลิ่น บางคนก็มองไม่เห็น หรือบางคนอาจจะมีข้อจำกัดบางอย่างเกี่ยวกับอาการป่วยทางสมองร่วมด้วย ดังนั้นสิ่งที่เราใส่เพิ่มเข้าไปนอกเหนือจากรูป รส กลิ่น ที่เคยออกแบบมา คือผิวสัมผัสของวัตถุดิบที่อยู่ในชาแต่ละถุงด้วย ที่ต่อให้ไม่ได้กลิ่น มองไม่เห็น หรือรับรสไม่ได้ แต่ผิวสัมผัสที่นำไปสู่ความรู้สึกนึกคิดและความทรงจำบางอย่าง จะได้เป็นอีกหนึ่งที่วิธีที่จะช่วยดึงเรื่องราวออกมาให้ทุกคนได้พูดคุยร่วมกันได้อย่างเท่ากันจริงๆ

ชา 6 แบบ 6 มิติ

  • มิติด้านการงาน (Work) Based Tea เป็น Bancha ชาประเภทที่จัดว่ารสบางที่สุดจากบรรดาชาเขียวญี่ปุ่นทั่วไป เพราะได้มาจากใบชาที่เก็บนอกฤดูกาล สีออกไปทางเหลืองอมเขียว ให้รสฝาดที่ปลายลิ้น เป็นรสชาติที่หลายคนน่าจะคุ้นเคย ซึ่งสะท้อนถึงความเรียบง่ายในการใช้ชีวิต โดย Blender ที่เรานำมาผสมคือ ข้าวตอกคั่ว กลิ่นหอมคล้ายฟางที่เผาไหม้ เป็นผิวสัมผัสที่แฝงไปด้วยคุณค่าของการทำงาน ที่ชวนให้ย้อนนึกถึงทุ่งนาและช่วงเวลาของกำลังเตรียมพื้นที่ก่อนการทำเกษตร การเลือกชารสนี้มาใช้จึงแฝงไปด้วยคุณค่าของการทำงาน
  • มิติด้านความสัมพันธ์ (Relationshop)  Based Tea เป็น Earl Grey เป็นชาที่หมักนานจนเกิดการ oxidized เต็มที่ ทำให้ใบชามีสีเข้มไปจนถึงดำ มีกลิ่นหอมของน้ำมันมะกรูดอ่อนๆ เรานำมาผสมกับ Blender จากเปลือกผลไม้ตระกูลซิตรัสหลากชนิด เช่น เกรปฟรุต เลม่อน ส้มจี๊ด และมะนาว ทำให้ชาถุงนี้มีกลิ่นหอมกึ่งหวานกึ่งเปรี้ยวจากผลไม้ผสมกับรสฝาดติดปลายลิ้นของชาดำ เปรียบเสมือนช่วงเวลาในความสัมพันธ์ที่มีทั้งความหอมหวาน ความอบอุ่น บางครั้งก็ซ่อนรสขมแห่งความเจ็บปวด ความผิดหวัง หรือความเศร้าโศกในความสัมพันธ์ ผิวสัมผัสของของเปลือกผลไม้ต่างๆ ที่เลือกมาเป็นตัวแทนของความหลากหลายและความซับซ้อนของอารมณ์ความรู้สึกในความสัมพันธ์ของมนุษย์
  • มิติด้านสุขภาพ (Health)  Based Tea เป็น Pu’er (แบบสุก) เป็นชาที่รู้สึกว่ายิ่งเก็บนานเท่าไหร่ รสชาติจะยิ่งดี ในสมัยโบราณชาผูเออร์จะถูกหมักเอาไว้ในตะกร้าสานด้วยไม้ไผ่และรองด้วยใบตอง และเก็บรักษาเอาไว้ตั้งแต่ 1 ปี 5 ปี 10 ปี ไปจนถึง 20 ปี เพื่อให้เกิดการพัฒนาของรสชาติแล้วจึงนำออกขาย โดยชาผู้เออร์สุกที่ผ่านกรรมวิธีหมักแบบดั้งเดิมเป็นเวลานานหลายปี จะทำให้ได้ชาที่มีรสชาติซับซ้อน หอมกรุ่น มีกลิ่นไม้เก่าๆ รสหวานนุ่ม และมีประโยชน์ต่อสุขภาพ นอกจากจะช่วยในระบบย่อยอาหาร ควบคุมไขมันในเลือดแล้ว ยังช่วยขับสารพิษ แก้อาการปวดศีรษะ และบรรเทาความเครียดได้ด้วย  Blender เป็นพุทราจีน เก๋ากี้ ขิงแห้ง ดอกเบญจมาศ ผิวสัมผัสของส่วนผสมจะมีความหลากหลายเหมือนลิ้นชักสมุนไพรในร้านขายยาจีนแถวเยาวราช โดยทุกการจิบชาถุงนี้จะให้ความรู้สึกสดชื่น ผ่อนคลาย และเติมพลังชีวิตให้แก่ร่างกายและจิตใจของทุกคนได้
  • มิติด้านการเรียนรู้การเติบโต (Growth and Learning) Based Tea และ Blender มีส่วนผสมของดอกไม้แห้งกว่า 10 ชนิดที่เราทำเอง เช่น ดอกกุหลาบ ดอกมะลิ ดอกเก๊กฮวย ดอกลิลลี่ เป็นต้น เนื่องจากการทำชาดอกไม้เป็นสิ่งที่ละเอียดอ่อน มีขั้นตอนซับซ้อน ผิวสัมผัสของดอกไม้จะให้ความรู้สึกเหมือนอยู่ในทุ่งกว้าง ได้ออกเดินทางและช่วงเวลาแห่งความสนุก ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เป็นชาถุงที่ให้กลิ่นอบอวลเหมือนอยู่ในทุ่งดอกไม้กว้าง ให้ความรู้สึกสดชื่น เบิกบาน พร้อมเรียนรู้ พร้อมเติบโต และความสนุกที่ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ 
  • มิติด้านความพึงพอใจส่วนตัว (Hobby) Based Tea เป็น ชาเขียว โดยใช้ Blender เป็นดอกมะลิ เปลือกมะนาว และเสาวรสอบแห้ง ชาเขียวกับดอกมะลิให้กลิ่นหอมละมุน แทนถึงความสงบและความผ่อนคลาย เหมาะสำหรับช่วงเวลาแห่งการพักผ่อน เติมพลังให้จิตใจได้คลายความตึงเครียด ชาถุงนี้ให้กลิ่นหอมหวาน ผิวสัมผัสหลากหลาย เมื่อจิบแล้วจะได้ความรู้สึกสนุกสนานจากรสชาติที่ชามอบให้  สะท้อนช่วงเวลาของการได้ทำงานอดิเรกที่เต็มไปด้วยความสนุกสนานได้อย่างลงตัว 
  • มิติด้านผลกระทบด้านสังคม (Social Environment) Based Tea เป็น ชาอัสสัม เพราะประวัติศาสตร์อันยาวนานของชาอัสสัม สะท้อนให้เห็นถึงความเจริญรุ่งเรืองและความยั่งยืนของอุตสาหกรรมชาที่ส่งผลกระทบทั้งทางบวกและทางลบต่อสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นบทเรียนสำคัญในการพัฒนาอย่างยั่งยืนและการอยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืนระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ  Blender ของชาถุงนี้ เป็น บ๊วยจากอำเภอกัลยาณิวัฒนา และสิหมะอบแห้ง จากอำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นที่มีกระบวนการผลิตตั้งแต่การเพาะปลูก การเก็บเกี่ยว จนถึงการแปรรูป ซึ่งต้องอาศัยแรงงานและภูมิปัญญาดั้งเดิมของชุมชนอาข่าที่สืบทอดกันมา ผิวสัมผัสของชาถุงนี้เราตั้งใจให้สะท้อนถึงการเคารพในความหลากหลายทางวัฒนธรรมและผลกระทบทางสังคม ด้วยการใส่ความแข็งและความนิ่ม ความเป็นผงละเอียด และความคงรูปเอาไว้ในถุงเดียวกัน 

ทันทีที่ชาทั้ง 6 มิติ จำนวนกว่าร้อยถุงได้ถูกวางลงบนโต๊ะ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมได้ค่อยๆ ใช้เวลาทำความรู้จัก บางคนเริ่มจากการดม บางคนเริ่มจากการจับ บางคนพยายามจะมองดูว่ามีอะไรอยู่ในถุงบ้าง เป็นช่วงเวลาเนิบช้าที่ทุกคนจะได้ทบทวนตัวเองผ่านการเชื่อมโยงกับชา เพื่อค้นพบและเลือกชาที่ใช่สำหรับตัวเอง 

หลังจากนั้นพวกเราได้ชวนให้ทุกคนได้ล้อมวงพูดคุยแลกเปลี่ยนเรื่องราวมิติต่างๆ ในชีวิตด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงาน ความสัมพันธ์ สุขภาพ หรือเป้าหมายในชีวิต โดยชาที่แต่ละคนเลือกมานั้นสะท้อนมุมมองที่มีต่อชีวิตในแต่ละด้าน นับเป็นวงสนทนาที่ทุกคนได้นั่งลงและพูดคุยและสื่อสารกันโดยปราศจากข้อจำกัดใดๆ ของร่างกาย 

บางคนเล่าเรื่องราวความท้าทายในการทำงานให้สังคมเห็นคุณค่าของคนพิการ บางคนแบ่งปันเรื่องราวการเอาชนะอุปสรรคจากความพิการทางร่างกาย หรือบางคนก็เปิดเผยถึงความกังวลในการดูแลสุขภาพและคุณภาพชีวิตของตนเอง แต่ละเรื่องราวล้วนมีรสชาติที่แตกต่างกันไป เช่นเดียวกันกับชาที่ผสมผสานจากองค์ประกอบที่หลากหลาย

การได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการได้แบ่งปันและรับฟังเรื่องราวซึ่งกันและกันครั้งนี้ ทำให้เราได้เห็นมุมมองใหม่ๆ ต่อประสบการณ์ชีวิตของกันและกันมากขึ้น สำหรับเรา ‘ชาแต่ละถุง’ ที่ผู้เข้าร่วมแต่ละคนได้เลือกไป เปรียบเสมือนสื่อกลางที่ช่วยเชื่อมโยงและถ่ายทอดเรื่องราวของแต่ละชีวิตได้อย่างสบายใจ  ทุกคนได้แบ่งปันและเรียนรู้ซึ่งกันและกัน สร้างความเข้าใจและเห็นคุณค่าในตัวตนและเรื่องราวของแต่ละชีวิตร่วมกัน ซึ่งไม่ได้หมายถึงในมุมของผู้เข้าร่วมแต่เพียงเท่านั้น แต่เสียงสะท้อนของทุกคนในครั้งนี้ยังนำไปสู่ความเข้าใจและยอมรับในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างเท่าเทียมกันจริงๆ ทั้งในมุมของตัวเราเอง ทีมวิทยากร และทีมงานทุกคน

(หมายเหตุ : การเบลนด์ชานี้เป็นส่วนหนึ่งของเวิร์คช็อป Empowered Storytelling เติมพลังการเล่าเรื่องจากภายในเพื่อคนพิการ  ภายใต้โครงการพัฒนาการสื่อและขีดความสามารถของภาคีในการผลิตสื่อ เพื่อสร้างความตระหนักและสร้างการมีส่วนร่วมเพื่อลดความเหลื่อมลํ้าทางสุขภาพของกลุ่มประชากรเฉพาะ โดย Mutual x MasterPeace x Studio Persona และได้รับสนับสนุนจาก สำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ (สำนัก 9) สสส.)

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

ระบุข้อความ