‘เมนส์มาลางานได้ ลดการเลือกปฏิบัติต่อคนพิการ สร้างกำลังใจคนในเรือนจำ’ ปณิธานปีใหม่ของแรงงานข้ามชาติ คนตาบอด และอดีตผู้ต้องขังหญิง

เป้าหมายที่เคยตั้งไว้ปีที่แล้ว หรือปีก่อนๆ ยังไม่สำเร็จ ไม่เป็นไรนะ

เพราะถึงเวลาเริ่มต้นปีใหม่อีกครั้ง แปลว่าเราก็สามารถตั้งเป้าหมาย ปณิธานที่เราอยากทำในปีนี้ได้อีกครั้งเช่นกัน 

ผลักดันนโยบายให้แรงงานสามารถลาได้เมื่อ ‘ประจำเดือน’ มา

สร้างความเข้าใจและลดการเลือกปฏิบัติต่อคนพิการ

ให้ความรู้และกำลังใจคนที่อยู่ในเรือนจำ  

ปณิธานบางส่วนที่เกิดขึ้นของแรงงานข้ามชาติ คนพิการ และอดีตผู้ต้องขังหญิง 

แล้วปีนี้เราตั้งปณิธานอะไรไว้บ้าง แชร์มาบอกกันได้นะ

เมนส์มาลาได้

สิ่งที่ ‘หญิง’ บอกว่าอยากทำให้เกิดขึ้นจริงได้ในปีนี้ เป็นนโยบายที่หญิงและเพื่อนๆ ในกลุ่มนามว่า ‘คนงานหญิงเพื่อความยุติธรรม (WJG)’ กำลังผลักดัน ให้แรงงานที่มีประจำเดือนมีสิทธิลางานเมื่อวันนั้นมาถึง

ประจำเดือนเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นตามกลไกธรรมชาติของร่างกาย แต่ก็ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตไม่น้อย ตั้งแต่ปวดท้องระดับเบาๆ ไปจนถึงแทบจะเคลื่อนไหวไม่ได้ อาการอื่นๆ ที่ตามมาอย่างเป็นไข้ ปวดเมื่อยตามร่างกาย ทั้งหมดนี้ส่งผลต่อการใช้ชีวิต โดยเฉพาะการทำงาน ทำให้กลุ่มคนงานหญิงเพื่อความยุติธรรมอยากผลักดันให้แรงงานมีสิทธิลาได้เมื่อมีประจำเดือน

หญิงเป็นแรงงานข้ามชาติสัญชาติพม่า เดินทางมาที่ไทยทำงานเป็นลูกจ้างทำงานบ้านในจังหวัดเชียงใหม่ เธอเล่าว่า อาการที่ตัวเองเป็นเวลาประจำเดือนมา คือ ปวดท้อง ไม่สามารถอยู่ในที่เย็นๆ ได้เพราะทำให้เกิดไข้ เวลาประจำเดือนมาก็เลยส่งผลต่อการทำงานบ้านที่ต้องใช้แรงกายเป็นส่วนใหญ่ และหญิงไม่สามารถลาหยุดได้ 

“เราอยากให้ลาหยุดงานได้สัก 3 – 5 วัน โดยที่ได้รับค่าจ้างด้วย กำลังอยู่ในช่วงเสนอให้เพิ่มเข้าไปในกฎหมายคุ้มครองแรงงาน”

คงต้องมารอดูกันต่อว่าปณิธานของหญิงปีนี้จะเป็นอย่างไร หากใครสนใจอยากร่วมสนับสนุนหรือต้องการข้อมูลเพิ่มเติม สามารถสอบถามได้ที่เพจ กลุ่มคนงานหญิงเพื่อความยุติธรรม WJG

ลดการเลือกปฏิบัติต่อคนพิการ

ปณิธานที่ ‘บิ๊กเบล’ กฤษณ์พงษ์ เตชะพลี ตั้งใจทำอีกครั้งในปีนี้ หลังจากทำมาแล้วหลายปี ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นแม้จะไม่ได้เป็นคลื่นลูกใหญ่ แต่ก็ทำให้บิ๊กเบลสัมผัสได้ว่า คนเริ่มมีความเข้าใจในการอยู่ร่วมกับคนพิการมากขึ้น

“เรารู้สึกว่าสถานการณ์การเข้าถึงสิทธิและการเลือกปฏิบัติของคนพิการมันดีขึ้น อาจจะเกิดจากที่คนมีความรู้มากขึ้น แต่เรื่องที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย การทำนิติกรรมต่างๆ โดยเฉพาะด้านการเงิน ยังมีความไม่เข้าใจอยู่สูง เช่น เวลาคนพิการไปทำธุรกรรมที่ธนาคาร เจ้าหน้าที่บางคนจะมองว่าคนพิการทุกประเภทไม่สามารถทำธุรกรรมทางการเงินเองได้ ซึ่งไม่ถูกต้อง” 

บทบาทเจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมาย ประจำสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย บิ๊กเลยได้มีโอกาสให้คำแนะนำทางกฎหมายกับคนตาบอด และคนพิการประเภทอื่นๆ เสมอ ทำให้คนพิการเข้าถึงและรักษาสิทธิ์ของตัวเองได้ รวมไปถึงการไปให้ความรู้ความเข้าใจต่อคนพิการตามงานต่างๆ มีส่วนทำให้สังคมมีความเข้าใจและปฏิบัติต่อคนพิการดีมากขึ้น

ถ้าใครอยากรู้ข้อมูลหรือทำความเข้าใจคนพิการมากขึ้น บิ๊กเบลแนะนำช่องทางที่สามารถหาข้อมูลเพิ่มได้ เช่น สมาคมคนพิการแห่งประเทศไทย สมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย และ ThisAble.me สื่อที่นำเสนอเรื่องคนพิการโดยเฉพาะ

“เราตั้งเป้าหมายกับตัวเองว่า อยากทำกิจกรรมก่อการดี คือนำศิลปินเข้าไปเล่นในเรือนจำ แล้วเราก็เป็นวิทยากรให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อเขา”

ปณิธานปีนี้ของ ‘หนึ่ง’ ทิพรดา จำปานิล อดีตผู้ต้องขังหญิง ที่รู้ว่าคนในเรือนจำมีความคิดและความรู้สึกยังไง บางคนหมดหวังที่จะออกไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ คิดว่าตัวเองต้องลงเอยกลับมาที่เรือนจำอีกครั้ง

หนึ่งอยากเอาประสบการณ์ที่ตัวเองมีและกำลังใจไปให้เพื่อนๆ ในเรือนจำ ทำให้พวกเขามีความหวังเช่นเดียวกับที่เธอเคยมี เพราะการตั้งหลักชีวิตเริ่มต้นได้ใหม่เสมอ

“เราอยากเอาความสุขไปให้คนอื่นบ้าง อยากแชร์ประสบการณ์ว่าฉันก็เคยพลาด และวันนี้ฉันกลับมายืนอย่างมีสง่าอยู่อย่างโอเค อยากให้เพื่อนๆ ทุกคนมีกำลังใจ บางคนอาจจะคิดว่าเขากลายเป็นขี้คุกไปแล้ว เดี๋ยวก็ต้องกลับมาที่เดิม เราไม่อยากให้คิดแบบนี้ แล้วอยากให้สังคมช่วยเราทำงานตรงนี้ได้ด้วย การสนับสนุนต่างๆ ให้เราได้เอาความสุขเอาประสบการณ์ที่มีไปบอกเพื่อนๆ”

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

ระบุข้อความ