“อย่ายัดเยียดให้ผมเป็นคนประเทศอื่นเลย” ฟังเรื่องจริงจาก ‘โชไอซ์ ปาทาน’ มุสลิมมะริด ที่คนทั่วไปไม่คิดว่าเป็นคนไทย

“ผมก็หวังว่าของขวัญปีใหม่ของผมปีนี้ คือการมีบัตรประชาชน”

สำหรับ โชไอซ์ ปาทาน ตัวแทนจากกลุ่ม ‘มุสลิมมะริด’ ที่กำลังประสบปัญหาไม่มีสัญชาติมาเป็นเวลานาน การมี ‘บัตรประชาชน’ เปรียบเสมือนของขวัญล้ำค่าที่เขาใฝ่ฝันมายาวนาน เนื่องจากเป็นสิ่งที่จะเปลี่ยนชีวิตเขาและพี่น้องคนไทยพลัดถิ่น รวมไปถึงมุสลิมจากพม่าได้อีกหลายร้อยชีวิต

มุสลิมมะริด คือ กลุ่มคนมุสลิมที่หลบหนีมาจากพื้นที่มะริดในประเทศพม่าที่เดิมทีเคยเป็นดินแดนของไทย พวกเขาหลบหนีจากการถูกกลั่นแกล้งและถูกเอารัดเอาเปรียบ นอกจากมะริดแล้วยังมีอีกหลายพื้นที่ในพม่าที่กลุ่มคนเหล่านี้อพยพออกมา เช่น ทวาย ตะนาวศรี เป็นต้น

โชไอซ์มีน้องทั้งหมด 3 คน มีแค่โชไอซ์คนเดียวเท่านั้นที่ยังไม่มีสัญชาติและไม่มีบัตรประชาชน เป็นเพราะว่าตามกฎหมายสัญชาติไทย หรือพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 มาตรา 7 ทวิวรรคสอง ลูกของพ่อแม่ที่อยู่ในกลุ่มผู้หลบหนีเข้าเมืองจากพม่า ที่อยู่อาศัยในประเทศไทยเกิน 15 ปี และมีลูกที่เกิดในราชอาณาจักรไทยจะได้รับสัญชาติไทย แต่ ณ ตอนนั้นโชไอซ์อายุเกิน 18 ปีแล้ว เขาจึงไม่ถูกนับว่ามีสัญชาติไทยไปด้วย

ชีวิตของการไม่มีสัญชาติสำหรับโชไอซ์มีทั้งเรื่องดีและร้ายปะปนกันไป มีบางครั้งที่เขาโดนล้อว่า “จะไปขายโรตีหรอ” หรือโดนกลั่นแกล้ง และถูกรีดไถจากตำรวจ หลังจากเข้าเรียนที่วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต ที่นี่เปิดโอกาสให้ตัวเขาเองได้เรียนรู้การช่วยเหลือคนอื่นๆ เพิ่มขึ้น 

แม้ในช่วงประถมเขาอาจจะถูกแกล้งมาบ้าง แต่พอก้าวเข้ามาในมหาวิทยาลัยแล้ว โชไอซ์เล่าอย่างสบายใจว่า “คนที่นี่เป็นกันเอง ทุกคนช่วยเลยกันเหมือนพี่น้อง อีกทั้งยังเจออาจารย์ที่พร้อมจะผลักดันลูกศิษย์อยู่เสมอ การเรียนโดยมีบัตรประชาชนเลขศูนย์ไม่ใช่ปัญหาสำหรับที่นี่เลย”

โซไอซ์เลือกเรียนคณะนี้เพราะอยากนำความรู้ไปช่วยเหลือผู้คน ทั้งพี่น้องคนไทยพลัดถิ่น และมุสลิมมะริด ความฝันของเขาคือการได้เป็น ‘ปลัด’ เพราะหลังจากที่ได้ทำงานในเครือข่ายแก้ไขปัญหาสถานะบุคคลที่คนไทยพลัดถิ่นเผชิญ โชไอซ์พบว่า นี้คงเป็นตำแหน่งที่เขาสามารถเข้าไปทำเพื่อช่วยเหลือคนอื่นๆ ได้มากที่สุด

“ตลอดการทำงานผมได้เจอปลัดบ่อย ผมเลยอยากเป็นปลัดฝ่ายทะเบียนเพราะเห็นว่า เป็นฝ่ายที่ผลต่อการขอเอกสารโดยตรง ถ้าได้เป็นจริงๆ ก็อยากจะเข้าไปทำงานเพื่อพี่น้อง อยากเป็นปลัดที่ใช้ใจ เข้าใจพี่น้องและแก้ปัญหาพวกเขาได้อย่างจริงจังกว่านี้”

หลังจากการทำงานในเครือข่ายมานาน โชไอซ์ได้เจอทั้งคนที่พร้อมจะเข้าใจปัญหาของพวกเขา และคนที่ไม่เปิดใจรับฟังพวกเขาเลย มีทั้งใช้อำนาจในทางที่ผิด เลือกปฏิบัติ แม้จะพยายามนั่งคิดว่า ทำไมบางคนถึงไม่เปิดใจ ไม่อยากเข้าใจพวกเขา แต่โชไอซ์ก็ได้คำตอบมาว่า คงเป็นทัศนคติที่แตกต่างกัน

การทำงานของเครือข่ายการแก้ปัญหาสัญชาติใน 4 จังหวัด

ปัจจุบันโชไอซ์เป็นหนึ่งในสมาชิกเครือข่ายการแก้ปัญหาสัญชาติใน 4 จังหวัด ได้แก่ ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร พังงา และระนอง ภารกิจของเครือข่ายนี้อยู่ที่การแก้ปัญหาสถานะบุคคลและสัญชาติให้กับคน 2 กลุ่ม ซึ่งก็คือคนไทยพลัดถิ่นและกลุ่มมุสลิมที่อพยพมาจากพม่า เป็นการทำงานร่วมกับมูลนิธิชุมชนไท เครือข่ายที่ทำงานกับคนไร้รัฐ ไร้สัญชาติในไทย และสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

นิยามของกลุ่มคนไทยพลัดถิ่นตามพระราชบัญญัติสัญชาติ ฉบับที่ 5 คือ กลุ่มคนที่อยู่ในดินแดนที่เสียไป เนื่องจากการแบ่งพรมแดนในอดีต ดินแดนเดิมที่เคยเป็นของไทยอย่างจังหวัดมะริด ทวาย และตะนาวศรี ถูกแบ่งไปอยู่ฝั่งพม่า คนไทยที่อยู่อาศัยในพื้นที่ดังกล่าว จึงกลายสภาพเป็นคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ของพม่าทันที

แต่พม่าเองก็บอกว่า ประชากรเหล่านี้เป็นคนไทย เนื่องจากวัฒนธรรม ประเพณี ของคนไทยในพื้นที่นี้มีความแตกต่างจากชาวพม่า ทำให้บางคนถูกนับเป็นพลเมืองชั้นสอง ส่งผลต่อการใช้ชีวิต เช่น ถูกข่มเหงรังแก เอารัดเอาเปรียบ สุดท้ายพวกเขาตัดสินใจอพยพกลับมาในดินแดนไทยอย่างต่อเนื่อง แต่เพราะยังไม่มีเอกสารทางกฎหมายที่บ่งบอกว่า เขาเป็นคนไทยและการรับรองสัญชาติแบบชัดเจน สถานะพวกเขาตอนนี้จึงเป็น ‘คนไทยพลัดถิ่น’

อีกหนึ่งกลุ่มที่โชไอซ์ทำงานด้วย คือ กลุ่มมุสลิมไทยพลัดถิ่น หรือที่เรียกกันว่า ‘มุสลิมจากพม่า’ โดยมุสลิมมะริดเป็นหนึ่งในกลุ่มมุสลิมจากพม่า พวกเขาเป็นกลุ่มคนที่นับถือศาสนาอิสลามอาศัยอยู่ในจังหวัดมะริด หรือเขตตะนาวศรี และจังหวัดอื่นๆ ในประเทศพม่า เดิมทีพื้นที่มะริดก็เคยเป็นดินแดนของไทยเช่นเดียวกัน เนื่องจากถูกกดขี่และไม่ได้รับความยุติธรรม ชาวมุสลิมจากพม่าจึงตัดสินใจหนีเข้ามาในประเทศไทย 

“ถ้าทำไร่ทำนา 70% ของกำไรที่ได้ จะต้องเอาไปแบ่งให้กับรัฐ หรือถ้าเลี้ยงวัวเลี้ยงควาย ก็มักจะโดนทหารขโมยไปหมด แล้วพวกเราก็นับถือศาสนาอิสลาม ต่างจากชาวพม่าส่วนใหญ่ที่นับถือพุทธ ทำให้ยิ่งโดนเลือกปฏิบัติกว่าเดิม” โชไอซ์เล่าถึงประสบการณ์ตรงที่พ่อแม่เขาพบเจอ

ปี 2535 เป็นช่วงเวลาที่กลุ่มคนไทยพลัดถิ่นและกลุ่มมุสลิมจากพม่าทยอยหลบหนีเข้ามายังประเทศไทยมากขึ้น เพราะได้รับผลกระทบจากการปราบปรามชนกลุ่มน้อยของรัฐบาลทหารพม่า พวกเขาต่างถูกกดขี่ และถูกเกณฑ์ไปเป็นแรงงานอย่างไม่เต็มใจ ทั้งคนไทยพลัดถิ่นและมุสลิมจากพม่า เลยตัดสินใจหลบหนีเข้ามาในบริเวณชุมพร ประจวบคีรีขันธ์ ระนอง และตราด ในช่วงเวลาที่ไล่เลี่ยกัน

การต่อสู้เพื่อให้ได้สัญชาติเดินทางมานานกว่า 20 ปี และ 11 ปีให้หลังจากที่มีพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2555 เครือข่ายเข้าแก้ไขในระดับอำเภอ ไปจนถึงระดับปฏิบัติ แต่สิ่งที่ยังเป็นอุปสรรคของการทำงานก็ยังมีอยู่หลายอย่าง หลักๆ ที่โชไอซ์สัมผัสได้ คือ งบประมาณในการทำงานไม่เพียงพอ รวมไปถึงจำนวนเจ้าหน้าที่ ไม่มีอุปกรณ์ในการดำเนินงาน ตัวพวกเขาเองก็เคยถูกกล่าวหาว่าไปเพิ่ม ‘ภาระงาน’ ให้กับเจ้าหน้าที่

“ตอนที่ผมไปขอเอกสารช่วยพี่น้องให้ได้สัญชาติ ผู้มีอำนาจคนหนึ่งตบโต๊ะ แล้วไล่ผมออกไป แถมยังพูดอีกว่า ‘คุณมีอำนาจอะไรมาสั่งผม ผมสอบปลัดเข้ามา ไม่ได้จับสลากมา’ ยังโชคดีที่เขาไม่ได้ทำร้ายผม”

เมื่อสิทธิที่ควรจะมีดันถูกมองว่าเป็นภาระของเจ้าหน้าที่ โชไอซ์บอกว่า เขาเองก็ไม่ได้อยากจะเป็นภาระของใคร แต่การมีบัตรประชาชน คือ สิทธิที่ทุกคนพึงมี ตัวเขารวมถึงพี่น้องคนไทยพลัดถิ่นอื่นๆ ก็คือมนุษย์คนหนึ่งที่ควรได้รับสิทธิ์นี้เช่นเดียวกัน

เนื่องจากการยื่นขอสัญชาติเป็นกระบวนการที่มีความซับซ้อน อาจจะใช้เวลานานได้ เช่น หากมีคนขอแก้ไขสัญชาติทั้งหมด 1,000 คน จะมีคิวทำเอกสารตามลำดับเลข แต่ถ้าหากคิวก่อนหน้าไม่มารายงานตัวหรือมาแก้ไข คิวถัดไปก็ไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากต้องรอให้สำเร็จไปทีละคิวก่อน มีกรณีที่คิวก่อนหน้าเป็นคนที่เสียชีวิตไปแล้ว เจ้าหน้าที่จำเป็นต้องดำเนินเรื่องของคนตายให้เสร็จก่อน ทำให้ระยะเวลาการขอสัญชาติคนถัดมายืดเยื้อและยาวนานขึ้น

คำว่า ‘ยาวนาน’ สำหรับโชไอซ์ไม่ใช่แค่หลักวันหรือหลักเดือน แต่คือหลักปี ในหลายกรณีการขอสัญชาติใช้เวลาลากยาวไปมากกว่า 10 ปี เลยก็ว่าได้

“บางคนได้สัญชาติไม่ถึงอาทิตย์ก็ตายเลยก็มี ผู้เฒ่าคนหนึ่งยื่นขอสัญชาติมา 10 กว่าปี เขาบอกว่า ‘ถ้ากูได้สัญชาติเนี่ย กูคงตายตาหลับ’ ท้ายที่สุดได้สัญชาติตอนปีที่ 11 แต่ยังไม่ทันได้ใช้สิทธิ์อะไรเลย ลุงก็ตายก่อนแล้ว”

เรื่องเล่าจากหนึ่งในกลุ่มคนไทยพลัดถิ่นที่โชไอซ์ได้เข้าไปช่วยเหลือ มีผู้สูงอายุหลายคนที่บางคนอายุเฉียด 100 ปี แต่ทางราชการก็ยืนยันให้ต้องหาญาติพี่น้องมาเป็นพยานพิสูจน์สัญชาติ ซึ่งในความเป็นจริงญาติพี่น้องของผู้เฒ่าเหล่านี้ ก็อาจล้มหายตายจากไปแล้ว โชไอซ์บอกว่า นี่เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ยังมีอีกหลายร้อยชีวิตที่รอการได้สัญชาติอยู่วันแล้ววันเล่า บางคนได้แล้ว แต่บางคนแม้แต่เรื่องคืบหน้าก็ยังไม่มีเลย

วรรณธิดา เมืองแก้ว เจ้าหน้าที่จากมูลนิธิชุมชนไท เสริมด้วยว่า ในแง่ของกฎหมายยังพบความคลุมเครือในด้านการกำหนดคุณสมบัติของคนทั้งสองกลุ่มนี้ เช่น กลุ่มมุสลิมจากพม่ายังไม่มีความชัดเจนว่า ตามกฎหมายควรระบุให้เขาเป็นผู้พลัดถิ่นสัญชาติพม่า หรือ ผู้หลบหนีจากพม่า เป็นต้น สิ่งนี้นำไปสู่ความล่าช้าของระบบการตรวจสอบสถานะ และพัฒนาสถานะในระดับต่อๆ ไป

ไม่ใช่แค่ระบบที่ไม่เอื้อ ประสบการณ์ที่โชไอซ์เจอมา เจ้าหน้าที่ในบางพื้นที่ก็ไม่เต็มใจที่จะช่วยเช่นเดียวกัน เพื่อนคนไทยพลัดถิ่นคนหนึ่งของเขา ยื่นขอสัญชาติมาเป็นเวลา 8 ปี ก็ยังไม่สำเร็จ แต่พอเป็นคำสั่งจากผู้มีอำนาจท้องถิ่น เพื่อนของโชไอซ์ก็ได้คำตอบทันทีว่า ต้องแก้ไขเรื่องอะไร ด้วยเหตุนี้เองทำให้โชไอซ์เข้าใจในกระบวนการและวิธีการเพื่อการขอสัญชาติมากขึ้น 

แม้รู้ดีว่าเป็นเรื่องที่ยากมาก แต่โชไอซ์และเครือข่ายฯ ก็ยังยืนยันที่จะทำหน้าที่ช่วยเหลือพี่น้องคนไทยพลัดถิ่นและพี่น้องมุสลิมมะริดต่อไป เพราะบัตรประชาชนใบเดียวมันสามารถเปิดโอกาสในชีวิต และเปลี่ยนชีวิตของคนไปได้เลย มันเป็นสิ่งเดียวที่ยืนยันว่าพวกเขาคือคนไทย และต้องเข้าถึงสิทธิสวัสดิการของไทย ไม่ว่าจะเป็น เงินรายเดือนสำหรับผู้สูงอายุ การรักษาพยาบาล การศึกษา และสิทธิอื่นๆ อีกมากมายที่มนุษย์คนหนึ่งพึงจะมี

เพราะบัตรประชาชนคือเครื่องยืนยันการมีตัวตนของพวกเขา

หลังจากการทำงานร่วมกับชุมชนเป็นเวลานาน วรรธิดา เมืองแก้ว พบว่าในปัจจุบันยังมีคนไทยพลัดถิ่นและมุสลิมจากพม่าจำนวน 18,000 คนจาก 38,000 คนที่รอการเข้าสู่กระบวนพิสูจน์สถานะ การถูกยอมรับว่าเป็นคนไทยสำหรับโชไอซ์และพี่น้องที่ยังไม่มีสัญชาติคนอื่นๆ มีความหมายต่อทั้งร่างกายและจิตใจของพวกเขา

“เราเป็นคนไทยไม่ใช่แค่ความรู้สึก แต่มาจากสายเลือด เราเกิดที่นี่ เรามีวิถีชีวิตเหมือนคนที่นี่”

รูปลักษณ์ภายนอกไม่ใช่ตัวบอกสัญชาติได้เสมอไป ต่อให้ใครมองว่าภายนอกที่โชไอซ์มี ไม่ว่าจะหน้าตา หรือสีผิว เหมือนเป็นคนต่างชาติ แต่เขาก็ยืนยันว่าเขาเกิดและเติบโตที่ไทย อย่ายัดเยียดให้เขาเป็นคนประเทศอื่นเลย

“วิถีชีวิต วัฒนธรรม ประเพณีปฏิบัติของเราก็เหมือนกับคนไทย ผมไปเดินตลาด คนในตลาดเขาไม่ได้รู้สึกว่าผมเป็นคนพม่า เขาก็รับรู้ว่าเป็นคนไทยคนหนึ่ง ประเทศไทยมีประเพณีอย่างเข้าพรรษา ออกพรรษา ต่อให้เราเป็นมุสลิม แต่เราก็รู้สึกว่าเราเข้าร่วมกับเขาได้ แค่เราไม่ไหว้พระแค่นั้นเอง”

ทั้งคนไทยพลัดถิ่นและกลุ่มมุสลิมไทยพลัดถิ่น เป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ที่ถูกทอดทิ้งกว่า 200 ปีที่พวกเขาไม่ได้รับการเหลียวแลจากรัฐ พวกเขาถูกตักตวงผลประโยชน์ไปร่วม 200 กว่าปี ทั้งๆ เขาก็เสียภาษีเหมือนคนอื่นๆ แต่กลับไม่ได้รับสวัสดิการเหมือนคนอื่นเลย

สำหรับโชไอซ์แล้ว ‘ใจ’ เป็นสิ่งที่เชื่อมผู้คนที่หลากหลายเข้ามาด้วยกัน ถ้าต่างฝ่ายต่างเปิดใจรับฟังกัน การแก้ไขปัญหาและช่วยเหลือกันและกันมันจะเกิดขึ้นได้ไม่ยาก

“สำหรับผม ทุกคนคือพี่น้อง ผมพร้อมที่สนับสนุนเขา ถ้ามีอะไรที่ช่วยเหลือได้ก็จะช่วย แม้บางคนจะไม่ได้อยู่ในเครือข่ายผมก็ช่วย ความฝันของผม คือ การที่ต่อสู้เพื่อให้คนอื่นมีชีวิตที่ดีขึ้น การทำแบบนี้ก็เหมือนผมได้เติมเต็มความฝันของผมไปด้วย ทุกคนคือมนุษย์เหมือนกัน และผมก็เชื่อว่า สักวันผมก็ต้องได้ดีบ้างเหมือนกัน”

โชไอซ์จึงไม่ขออะไรไปมากกว่าการที่ทุกคนมองกลุ่มคนไทยพลัดถิ่นและคนมุสลิมมะริดด้วยใจ มองให้เห็นว่าพวกเขาก็เป็นมนุษย์คนหนึ่งเหมือนคนอื่น เมื่อมองแบบนี้ได้โชไอซ์บอกว่า แล้วทุกคนก็จะเห็นเองว่าทำไมคนกลุ่มนี้ถึงต้องได้รับการช่วยเหลือ เพราะสิทธิมนุษยชนเป็นสิทธิมนุษย์ทุกคนควรจะได้รับนั่นเอง

แม้โชไอซ์จะพบเจอกับความยากลำบากมากแค่ไหนแต่เขาก็ยังยืนยันว่า เขาจะทำต่อไป เพราะการต่อสู้ครั้งนี้ทำเพื่อรักษาศักดิ์ความมนุษย์สำหรับพี่น้องคนอื่นๆ พ่อแม่ รวมไปถึงตัวเขาเองก็ด้วย และเขาเองก็คาดหวังว่าเด็กรุ่นต่อไปที่โตขึ้นมาจะมีคุณภาพชีวิตที่ดี สามารถเข้าถึงการศึกษา และสวัสดิการของไทยได้อย่างเท่าเทียมกันทุกคน

อ้างอิง

https://www.bora.dopa.go.th/wp-content/uploads/2022/02/nationality.pdf

กรณีศึกษา กลุ่มไทยพลัดถิ่นมุสลิม และกลุ่มมุสลิมจากพม่าในประเทศไทย วิถีชีวิตวัฒนธรรม ปัญหาสัญชาติและอคติชาติพันธุ์

แนวทางการเเก้ปัญหาด้านสิทธิสถานะบุคคลของเครือข่ายการเเก้ปัญหาคืนสัญชาติคนไทย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์. โชไอซ์ ปาทาน 

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

ระบุข้อความ