มีบ้าน แต่ไม่อยากกลับไป : ชีวิตของคนไร้บ้านไทย เมื่อบ้านไม่ใช่แค่ที่อยู่อาศัย แต่มีจิตใจเป็นส่วนประกอบ

“คำว่าคนไร้บ้านไม่ใช่แค่ไม่มีที่อยู่อาศัย แต่เป็นเรื่องทางจิตใจ ประมาณ 30% ของคนไร้บ้านในกรุงเทพฯ มีญาติมีที่อยู่อาศัยให้กลับไปนะ แต่เขาไม่ได้รู้สึกว่านี่เป็นบ้านให้เขากลับไปได้ เป็นเหตุผลว่าทำไมเขาถึงกลายเป็นคนไร้บ้าน”

อนรรฆ พิทักษ์ธานิน ผู้จัดการแผนงานพัฒนาองค์ความรู้ฯ คนไร้บ้าน สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เล่าให้ฟังถึงชีวิตของ ‘คนไร้บ้าน’ ในมุมที่คนอาจไม่เคยรู้

ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ให้นิยามของ ‘การไร้บ้าน’ ไว้ว่า เป็นสภาพของคนที่ไร้ที่อยู่ หรือไม่สามารถหาที่อยู่เป็นของตัวเองได้ ซึ่งสาเหตุอาจจะมาจากหลายปัจจัย เช่น การถูกทอดทิ้ง การหนีออกจากบ้าน การไร้ที่พึ่ง ความยากจน ฯลฯ ทำให้เขาจึงร่อนเร่พเนจรไปตามที่ต่างๆ มีชีวิตไม่แน่นอน

โครงการแจงนับคนไร้บ้าน (One Night Count) ทำการสำรวจคนไร้บ้านในประเทศไทย เพื่อทำงานป้องกัน แก้ไข ฟื้นฟู และพัฒนาคุณภาพชีวิตพวกเขา ซึ่งโครงการดังกล่าวเกิดจากความร่วมมือของสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ (สำนัก 9) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรุงเทพมหานคร มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย มูลนิธิอิสรชน และมูลนิธิกระจกเงา 

2,499 คน เป็นจำนวนของคนไร้บ้านทั้งประเทศในตอนนี้ กรุงเทพมหานครเป็นพื้นที่ที่มีคนไร้บ้านมากที่สุด 1,271 คน รองลงมาเป็นจังหวัดชลบุรี 126 คน โครงการแจงนับทำการสำรวจคนไร้บ้านและแบ่งเป็นประเด็นต่างๆ ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจ คือ สถานะการมีบ้าน หรือมีครอบครัวให้กลับไปใช้ชีวิตร่วมด้วย 

จากการสำรวจพบว่า 51% ของจำนวนคนไร้บ้านมีบ้านให้กลับไป แต่เลือกที่จะไม่กลับ รองลงมา 31% ไม่มีบ้านให้กลับไป แล้วก็มีอีก 62% ที่ไม่เคยกลับบ้านไปเลย หลังจากเข้าสู่สภาวะคนไร้บ้านแล้ว 

เพราะบ้านไม่ใช่แค่ที่อยู่อาศัย แต่มันยังมีความหมายและทำงานกับเราในรูปแบบอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้เราได้พัก หลังจากการต่อสู้กับโลกภายนอก หรือเติมพลังให้เราสามารถเดินต่อไปได้เรื่อยๆ

หากบ้านไม่สามารถทำสิ่งเหล่านี้ได้ หรืออยู่ไปก็มีแต่ความเจ็บปวด จึงไม่แปลกที่บางคนจะเลือกละทิ้งบ้าน แล้วออกไปใช้ชีวิตในเส้นทางอื่น แม้มันจะดูไม่แน่นอนก็ตาม

สามารถดูข้อมูลคนไร้บ้านด้านอื่นๆ ได้ที่นี่ 

 

อ้างอิง 

https://anthropology-concepts.sac.or.th/glossary/66

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

ระบุข้อความ