พร้อมแค่ไหน ? เมื่อเกษียณไปจะมีเงินพอใช้
พร้อมแค่ไหน ? เมื่อเกษียณไปจะมีเงินพอใช้
.
มีสองทฤษฎีความเชื่อเกี่ยวกับการเงินในวัยทำงานก็คือ “ อดทนออมตอนนี้เพื่อสบายตอนเกษียณ” กับ “หาความสุขตอนนี้ให้มากที่สุด” ในความเป็นจริงนั้นไม่มีทฤษฎีใดถูกไปเสียทั้งหมด แต่สิ่งสำคัญที่ต้องรู้เสมอก็คือ “ความรู้เท่าทันทางการเงิน” (Financial Literacy) นั้นเป็นเรื่องสำคัญ หากคุณคิดว่าจะมีชีวิตที่ยืนยาวไปหลังเกษียณ ก็ย่อมต้องมีการวางแผนการเงินที่ดีให้กับชีวิต
.
จินางค์กูร โรจนนันต์ รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พบว่าในการวางแผนการเงินของประชาชนในการใช้จ่ายตลอดช่วงวัยทำให้ทราบว่าครัวเรือนที่จะสามารถดูแลเด็กวัยเรียน ดูแลคนแก่ และมีเงินเก็บส่วนหนึ่งสำหรับใช้จ่ายหลังเกษียณอายุไปจนถึงอายุ 90 ปี จะต้องมีเงินออมประมาณ 7.7 ล้านบาท ตามผลการสำรวตของ สศช. แต่จะมีคนชรากี่เปอร์เซนต์ที่จะมีเงินเก็บเท่าจำนวนดังกล่าว
.
ข้อมูลจากกรมกิจการผู้สูงอายุ ร่วมกับภาควิชาการธนาคารและการเงิน คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เคยทำการวิจัยจากผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่าครัวเรือนที่มีสมาชิกคนเดียว และมีอายุ 55 ปีขึ้นไป หรือจะเรียก “สูงวัย ไร้ญาติ” มีตั้งแต่ยากจนไปจนถึงร่ำรวย แต่เมื่อหาค่าเฉลี่ยออกมาแล้ว ผลที่ได้คือถ้าอายุ 55-59 ปี จะใช้จ่ายกันต่ำที่สุดเดือนละ 5,679 บาท (ไม่รวมค่ารักษาพยาบาล เพราะใช้สวัสดิการของรัฐ หรือมีประกันสุขภาพ) ส่วนใช้จ่ายสูงสุดจะอยู่ที่เดือนละ 21,541 บาท ซึ่งกลุ่มนี้ยังไม่น่าเป็นห่วง เพราะยังทำงานได้หากเกษียณอายุ 60 ปี
.
จากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่าผู้สูงอายุมากกว่า 50% มีแหล่งรายได้หลักจากลูก รองลงมาเป็นรายได้จากการทำงาน ขณะที่มีเพียง 4.4% ที่ได้รับเงินบำเหน็จบำนาญ และอีก 2.9% เป็นเงินที่มาจากดอกเบี้ยเงินออม เงินออมและทรัพย์สิน ซึ่งในปัจจุบันทำให้คนที่แบกรับค่าใช้จ่ายกลายเป็นประชากรวัยทำงาน ซึ่งจะกลายเป็น “แซนด์วิช” ที่ถูกบีบประกบต้องคิดถึงวัยเกษียณของตัวเอง และยังต้องดูแลพ่อแม่ที่อยู่ในวัยเกษียณอีกด้วย
.
ดังนั้น การวางแผนการเงินนั้นควรเริ่มตั้งแต่เริ่มทำงาน และการรู้เท่าทันทางการเงินนั้น ควรเริ่มตั้งแต่ในระดับโรงเรียนประถม อูริค ซาเกา ผู้อำนวยการธนาคารโลกประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เปิดเผยรายงานล่าสุดของธนาคารโลกเรื่อง “ปิดช่องว่างการเข้าถึงบริการทางสุขภาพของผู้สูงอายุ : ความเป็นธรรมทางสุขภาพและความครอบคลุมทางสังคมในประเทศไทย” พบว่าผู้สูงอายุจำนวนมากประสบกับความยากลำบากในการใช้บริการทางสุขภาพเหล่านี้ เหตุผลหลักประการหนึ่งคือ พวกเขาต้องพึ่งพาผู้ดูแลและญาติพี่น้องในเวลาที่ต้องเดินทางมายังสถานพยาบาล ซึ่งเกิดขึ้นโดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุยากจน และผู้สูงอายุวัยปลายที่มีอายุมากกว่า 80 ปี และอาศัยอยู่ในชนบท
.
จากรายงานเรื่อง “Live Long and Prosper: Aging in East Asia and Pacific” ของธนาคารโลก หรือ ได้มีการสำรวจว่า ‘คุณคิดว่าใครต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายหลังเกษียณอายุสำหรับผู้ที่เกษียณอายุแล้ว?’จากการสำรวจพบว่า ในประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน และสิงคโปร์ เกินกว่าครึ่งตอบว่าคนที่ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายหลังเกษียณอายุ ก็คือตัวผู้เกษียณอายุเอง ในขณะที่ประเทศที่กำลังพัฒนา เช่น จีน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และไทย เกินกว่าครึ่งตอบว่าคนที่ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายหลังเกษียณอายุ คือรัฐบาลสะท้อนภาวะที่คนสูงวัยในประเทศกลุ่มนี้ไม่สามารถพึ่งพาตัวเองได้
.
ความรู้พื้นฐานที่สำคัญทางการเงินที่สำคัญที่ทุกคนควรมีก็เช่นเรื่อง “เงินเฟ้อ” และ “ความแตกต่างระหว่างการออมและการลงทุน” ซึ่งจะมีโอกาสนำเสนอในครั้งต่อไป ส่วนในกลุ่มคนชราที่ยากจนปัญหาที่เจอก็คือเรื่องความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่ไม่สามารถเข้าถึงทรัพยากรได้ และ การจัดรัฐสวัสดิการที่ไม่เพียงพอ ทั้งเรื่องเบี้ยยังชีพคนชราและการเข้าถึงระบบสาธารณสุข ไม่เช่นนั้นภาวะ “แก่ก่อนรวย ป่วยก่อนตาย” คงเป็นอนาคตที่มืดมนสำหรับประเทศไทย
.
#รู้เท่าทันทางการเงิน #วัยเกษียณ
เเหล่งที่มา https://www.facebook.com/curiouspeople.me