เปลี่ยนเรื่องที่คนส่ายหน้า ให้กลายมาเป็นวาระแห่งชาติ : มัดรวม 4 วิธีสู้กับอคติในแบบของนักขับเคลื่อน
‘อคติ’ คำสั้นๆ แต่มีพลังมาก มากพอที่จะทำให้คนบางกลุ่มถูกมองว่าเป็นคนร้าย คนอื่น และคนที่สมควรได้รับความรุนแรง
จะจัดการกับอคติก็ใช่ว่าจะง่าย เพราะมันต้องอาศัยการต่อสู้ที่ยาวนานและต่อเนื่อง ทุกวันนี้อคติบางอย่างก็ยังไม่หายไป แต่อย่างน้อยก็เห็นว่ามันลดลงก็ยังดี
ทุกวันนี้เราได้เห็นนโยบายเพื่อรักษาสิทธิและศักดิ์ศรีของประชากรกลุ่มต่างๆ มากมาย แต่กว่าจะเดินทางมาถึงจุดนี้ได้ แน่นอนว่ามันไม่ง่ายเลย แต่ก็ไม่ได้ยากจนทำให้พวกเขาเหล่านี้ถอดใจแล้วล้มเลิกไป
เวทีทอล์ก Face the Changer : 4 เสียงเปลี่ยนอคติให้เป็นโอกาส ถอดบทเรียนนักขับเคลื่อนนโยบาย ที่ทำเรื่องเล็กให้เป็นเรื่องใหญ่ จนกลายเป็นวาระแห่งชาติ – คือเวทีของคนไม่กี่คน ที่ต่อสู้กับอคติเพื่อคนอีกหลายหมื่นแสน
นี่คือหนึ่งในกิจกรรมจากงาน ‘FACE THE VOICE’ มองด้วยตา ฟังด้วยใจ ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เมื่อวันที่ 23 พ.ย. 2567 ที่ผ่านมา งานนี้ได้รวบรวมทั้งคนคิดการใหญ่ และคนลงมือทำมาแลกเปลี่ยนรู้ เพื่อเป็นเวทีแห่งการส่งต่อไอเดียดีๆ เพื่อประชากรกลุ่มเฉพาะ
เริ่มต้นจาก ‘ชูวงศ์ แสงคง’ นักขับเคลื่อนเรื่องแรงงานข้ามชาติ ที่พยายามจะบอกกับสังคมว่า ‘ถ้าขาดพวกเขาไปแล้วเราจะรู้สึก’
ต่อด้วย ‘ประสาน อิงคนันท์’ เจ้าของเพจมนุษย์ต่างวัย เพจที่ลดอคติต่อผู้สูงวัยด้วยการทำให้เห็นว่า ‘ต่างวัย ไม่ได้มาจากต่างดาว’
‘รศ.ดร.สุชาดา ทวีสิทธิ์’ อาจารย์ประจำสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ขับเคลื่อนเรื่องปัญหาความรุนแรงในครอบครัวมามากกว่า 10 ปี และพยายามสร้างความเข้าใจร่วมกับสังคมว่า ปัญหาของผู้หญิง ไม่ใช่เรื่องของคนข้างบ้าน แต่คือปัญหาของชุมชน
และสุดท้าย ‘น.พ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์’ ประธานกรรมการนโยบาย องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย ผู้รับมือกับอคติต่อกลุ่มชาติพันธุ์ ด้วยกระบวนการที่หลากหลาย
มาดูกันว่า กว่าจะเดินทางมาถึงจุดนี้ได้ ในฐานะนักขับเคลื่อนนโยบาย พวกเขามีวิธีจัดการกับอคติอย่างไรบ้าง
จะกวาดบ้านให้พวกเขา หรือจะให้พวกเขาทำเอง
พวกเขา คือ พนักงานเสิร์ฟ พ่อครัว คนงานในไซต์ก่อสร้าง ชาวประมงที่หาปลามาส่งครัวร้านอาหารหรู ฯลฯ
พวกเขา คือ ประชากรข้ามชาติที่เป็นแรงงานนั่นเอง กลุ่มคนเหล่านี้เป็นคนที่ถูกมองว่าไม่ใช่คนไทยและเป็นแค่คนมาหางานทำเฉยๆ ฉะนั้นหลายคนจึงติดอยู่กับชุดความคิดที่ว่า แรงงานข้ามชาติเข้ามาแย่งงาน แย่งเงินของคนไทย พอได้เสร็จแล้วพวกเขาก็จะกลับไปและไม่เสียภาษี
“ขาดเขาแล้วเราจะรู้สึก” ประโยคประจำตัวของ ‘ชูวงศ์ แสงคง’ นักขับเคลื่อนเรื่องแรงงานข้ามชาติ จากการทำงานในประเด็นเป็นเวลายาวนาน ชูวงศ์พยายามพิสูจน์ว่าประโยคข้างต้นเป็นเรื่องจริง เพราะงานยาก งานลำบาก งานสกปรก 3 งานเหล่านี้ที่คนไทยไม่นิยมทำกัน ประชากรข้ามชาติคือคนที่เข้ามาทำแทน
“ช่วงที่แรงงานข้ามชาติเข้ามาทำงานแรกๆ เขาเข้ามาแค่ 10 จังหวัด แต่เป็นเพราะการเรียกร้องของกลุ่มผู้ประกอบการที่ต้องใช้แรงงาน ก็ขยายจาก 10 เป็น 30 เป็น 40 และอยู่ทั่วประเทศในปี 2544 จะเห็นว่า ไม่ใช่อยู่ๆ ก็มากันเต็มประเทศไทย แต่มีการร้องขอและมีการคุยกันระหว่างกลุ่มของผู้ประกอบการ ภาคธุรกิจของประเทศไทยตอนนั้นที่ขาดแคลนแรงงานในส่วนของงานยาก งานลําบาก เลยทําให้ ณ ปัจจุบันก็ขยายและอยู่กันทั่ว”
นอกจากอคติที่ว่าแรงงานข้ามชาติจะเข้ามาแย่งงานคนไทยแล้ว ยังมีอีก 2 อคติ ได้แก่ แรงงานข้ามชาติมาอยู่ฟรีไม่ต้องเสียภาษีแบบคนไทย ชูวงศ์บอกว่า ประชากรข้ามชาติไม่ได้จ่ายภาษีแบบคนไทยก็จริง แต่พวกเขาต้องเสียเงินอย่างน้อย 3,000 บาทต่อปี ให้กับค่าใบอนุญาตทำงาน ค่าประกันสุขภาพ หรือค่าวีซ่า เป็นต้น ยังไม่รวมค่าใช้จ่ายอื่นๆ เพื่อที่จะทำให้พวกเขาอยู่ที่ประเทศไทยได้
“อีกทั้งการจ่ายภาษีมันเป็นหน้าที่ของนายจ้างที่จะต้องหักออกไปจากรายได้ ไม่ใช่หน้าที่ของแรงงานข้ามชาติโดยตรง” ชูวงศ์ให้ข้อมูล
อคติอีกอย่างหนึ่งก็คือ แรงงานข้ามชาติทำร้ายนายจ้าง ซึ่งก็เกิดจากการบ่มเพาะมาจากสื่อที่พอเห็นว่าผู้กระทำเป็นแรงงานข้ามชาติก็จะนำประเด็นนี้มาเป็นพาดหัว เช่น แรงงานต่างชาติก่อเหตุทะเลาะวิวาท แรงงานเมียนมาบุกยิงนายจ้าง ในทางกลับกันผู้ก่อเหตุที่เป็นคนไทยเองก็มีไม่น้อย แต่พาดหัวก็จะไม่มีการเจาะจงเชื้อชาติแบบนี้
การทำงานต่อสู้กับอคตินี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะมันเกิดจากการมองว่าพวกเขาคือคนอื่นโดยเชื้อชาติอย่างชัดเจน เพราะฉะนั้นการทำงานเพื่อขับเคลื่อนเรื่องแรงงานข้ามชาติ จึงต้องเข้าใจด้วยว่า การช่วยเหลือครั้งนี้ เราจะไม่ได้ช่วยเหลือแค่เฉพาะแรงงานข้ามชาติ แต่มันก็คือการช่วยเหลือตัวเองด้วย
“เริ่มต้นมาจากเมื่อปี 2533-2534 เราได้รับเชิญให้ไปช่วยแก้ปัญหาเรื่องวัณโรคในกลุ่มแรงงานข้ามชาติ เราได้รับการติดต่อจากทางสํานักงานสาธารณสุขที่สงขลา จากนั้นก็ระนอง เมื่อเข้าไปแล้วเราก็คุยกันกับทีมว่า ‘นี่คือการทํางานกับเขาเพื่อป้องกันเราด้วยนะ’ เพราะว่าโรคติดต่อ มันไม่ขอดูพาสปอร์ต มันไม่ขอดูบัตรประชาชน มันไปได้หมด”
ชูวงศ์ถามกลับว่าเราจะสบายใจได้อยู่หรือไม่ ถ้ารู้ว่ามีคนที่ป่วยวัณโรคแต่เพราะพวกเขาเข้าถึงการรักษาไม่ได้ พวกเขาเลยต้องใช้ชีวิตต่อ? หรือเราจะสบายใจหรือไม่ถ้าหากมีเด็กที่ไม่ได้เข้ารับการศึกษาเลยเข้ามาเล่นกับลูกของเรา?
ถ้าหากคำตอบคือไม่สบายใจ วิธีการที่ดีที่สุดคงไม่ใช่ขับไล่พวกเขาเหล่านั้นออกไป ในฐานะมนุษย์ด้วยกัน มันจะดีกว่าไหมถ้าเข้าไปส่งเสริมให้พวกเขาเข้าถึงการรักษาที่ดี และสนับสนุนให้ลูกหลานของแรงงานชาติข้ามได้เรียนหนังสือ
นอกจากนี้ชูวงศ์มองว่า การลงมือช่วยเหลือเขาโดยตรงเลยไม่ใช่วิธีที่ได้ผลเสมอไป แต่เขามองว่าการให้แรงงานข้ามชาติได้มีส่วนช่วยเหลือตัวเองและลงมือทำเอง แบบนี้ถึงจะยั่งยืนกว่า
“คําพูดที่ 2 ที่เรามักจะพูดกับคนทํางานในทีม คือ ‘จะทําเองหรือจะให้เขาช่วย’ เราอยากจะกวาดบ้านให้กับแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาอยู่ในเมืองไทยด้วยตัวของพวกเราเองหรือเราจะชวนเขาเข้ามาทํางานด้วยกัน คําตอบก็คือ ควรที่จะให้เขาเป็นคนช่วย เพราะฉะนั้นมันเลยมีระบบที่เราทํางานกับอาสาสมัครขึ้นมา”
นึกภาพว่าสังคมนี้คือบ้านหนึ่งหลังที่รก มีฝุ่นและเศษขยะมากมาย แทนที่เราจะกวาดบ้านหลังนี้ให้กับแรงงานข้ามชาติฝ่ายเดียว มันคงจะดีกว่าถ้าเรายื่นไม้กวาดให้กับแรงงานข้ามชาติด้วย ให้ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมในการทำความสะอาดครั้งนี้โดยที่ไม่มีใครต้องรู้สึกเสียเปรียบ
ทำเรื่องเฉพาะกลุ่มให้ไปถึงคนหมู่มาก
ฟันน้ำนม vs ไดโนเสาร์
คำแรกคือคำเรียกกลุ่มเด็กรุ่นใหม่ สื่อให้เห็นว่าพวกเขาคือเด็ก ยังไม่มีประสบการณ์ กลุ่มคนที่ยังไม่รู้เรื่องอะไรมากนัก ส่วนไดโนเสาร์เป็นคำที่ใช้เรียกแทนคนอายุโตกว่า ถูกมองว่าเป็นกลุ่มโบราณคร่ำครึ ตามโลกสมัยใหม่ไม่ทัน
ทั้งสองคำ คือ คำที่มาจากอคติเพราะความต่างวัยทั้งนั้น แต่ถ้าเราอยากอยู่สังคมแห่งความหลากหลายได้อย่างมีความสุข เราจะทำยังไงให้อคติระหว่างวัยนี้หายไป?
‘มนุษย์ต่างวัย’ เป็นอีกหนึ่งสื่อพยายามขจัดช่องว่างระหว่างวัย ในขณะเดียวกันก็พยายามลบอคติที่สังคมมีต่อคนสูงวัยอีกด้วย ‘ประสาน อิงคนันท์’ เจ้าของเพจมนุษย์ต่างวัยบอกว่า นอกจากจะเอาอคติในสังคมมาสะท้อนให้เห็นแล้ว เขายังเอาอคติในใจตัวเองที่เคยมีต่อความสูงวัยมาถ่ายทอดอีกด้วย
“นอกจากอคติที่คนอื่นมองผู้สูงวัยแล้วเนี่ย มันก็จะมีอคติในใจเราด้วย ถ้าสมมุติว่าเราเป็นคนมีอายุแล้วแก่แล้ว เรามองตัวเราเองว่ายังไง เช่น เรามองว่าเมื่อเราแก่แล้วศักยภาพจะหายไปหรือเปล่า นี่เป็นคีย์หลักๆ ในการนำมาสร้างเป็นประเด็น”
จริงๆ แล้วผู้สูงอายุก็ยังมีศักยภาพและทำอะไรได้อีกมาก แต่อาจจะเป็นเพราะสื่อในหลายปีก่อน นำเสนอศักยภาพของผู้สูงอายุไว้ที่กิจกรรมเดิมๆ เช่น เต้นลีลาศ รำไทเก๊ก แต่จริงๆ แล้วมันยังมีกิจกรรมและมิติอื่นๆ ของผู้สูงอายุที่สื่อสามารถหยิบจับเพื่อนำเสนอศักยภาพของพวกเขาได้
‘แค่ต่างวัย และไม่ได้มาจากต่างดาว’ สโลแกนของมนุษย์ต่างวัย ซึ่งมันก็จริงที่คนสูงวัยไม่ได้มาจากโลกไหน พวกเขาก็คือมนุษย์คนหนึ่งที่เคยเป็นเด็กแบบเราๆ มาก่อน และการเติบโตขึ้นของวัยก็ไม่ควรที่จะทำให้คุณค่าในตัวของพวกเขามีน้อยลง
ไม่มีใครหนีความแก่ได้พ้น ประสานบอกว่าถึงใครจะบอกว่านี่เป็นเพจที่มีแต่ผู้สูงวัยเขาดูกัน แต่สักวันหนึ่งเรื่องของผู้สูงวัยก็จะกลายมาเป็นเรื่องของเราเอง อย่างน้อยๆ หนุ่มสาวก็มีพื้นฐานเรื่องผู้สูงวัยบ้างจากการเห็นคุณพ่อคุณแม่และญาติใกล้ชิด
“ส่วนใหญ่เราคิดประเด็นจากในบ้านทั้งนั้นเลยครับ เช่น เกิดอะไรขึ้นบ้างนะ พ่อแม่ดื้อหรือเปล่า ทุกอย่างก็วนเวียนอยู่ในชีวิตตัวเอง แล้วก็วนเวียนอยู่ในชีวิตเพื่อนฝูง เพื่อนๆ ก็จะโทรมาเล่า เจอปัญหาอะไรบ้าง แล้วก็หยิบพวกนั้นมาทําประเด็น”
ทำเรื่องคนไกลให้เป็นคนใกล้ตัว และทำให้เรื่องเฉพาะกลุ่มให้เข้าถึงคนหมู่มากได้ เราไม่จำเป็นต้องรอให้ตัวเองเป็นผู้สูงวัยถึงจะเข้าใจเรื่องราวของผู้สูงวัย เพจมนุษย์ต่างวัยจึงพยายามสื่อสารไปยัง Gen x Gen Y ที่เป็นคนรอบตัวของผู้สูงอายุอีกด้วย
แน่นอนว่าเทคนิคการสื่อสารก็ไม่ใช่แค่การบอกว่าเราควรลดอคติต่อผู้สูงวัยอย่างตรงไปตรงมา แต่มันคือการค่อยๆ แทรกซึมผ่านเนื้อหาต่างๆ ให้อคติค่อยๆ เจือจางลงไปเอง
“เราทำเรื่อง Niche (เฉพาะกลุ่ม) ให้มันเข้าถึง Mass (คนหมู่มาก) แต่ในความ Mass เราจะค่อยๆ แทรกการมองวัยที่แตกต่างเหมือนเป็นคนอื่น การหมิ่นแคลนกัน เราพยายามจะแทรกสิ่งเหล่านี้เข้าไปอยู่ข้างใน แต่เราก็ค่อยๆ แทรกเข้าไปอย่างแบบซอฟท์ๆ ที่จะทําให้มันไปได้”
ไม่แน่ว่า การทำความเข้าใจความเป็นผู้สูงวัยในตอนนี้ มันอาจจะช่วยให้เราทำความเข้าใจตัวเองได้ง่ายยิ่งขึ้น ในตอนที่เราเป็นผู้สูงวัยแล้วก็ได้
ปัญหาของผู้หญิง ไม่ใช่เรื่องข้างบ้าน แต่คือ ปัญหาของชุมชน
เรื่องของผู้หญิง คือ เรื่องที่ ‘รศ.ดร.สุชาดา ทวีสิทธิ์’ จากสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล พยายามต่อสู้มายาวนานมากกว่า 10 ปี ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับความรุนแรงในครอบครัวที่ผู้หญิงมักจะเป็นเหยื่อ
ต้นเหตุของความรุนแรงก็มาจากการที่ฝ่ายผู้กระทำเห็นว่าตนเองมีอำนาจ ‘เหนือกว่า’ และเห็นว่าเมื่อผู้หญิงทำตัวผิดไปจากกรอบจารีตประเพณี เช่น ไม่เป็นแม่ศรีเรือน ไม่เรียบร้อย ไม่ดูแลงานบ้าน พวกเขาสามารถลงมือและลงโทษผู้หญิงได้อย่างชอบธรรม
“โครงสร้างทางความคิดทั้งหลายมันเข้ามาอยู่ในเนื้อในตัวเราหมดแล้ว มนุษย์เราเติบโตมาในสังคมและถูกหล่อหลอมให้เป็นโครงสร้างที่เดินได้ เราพร้อมที่จะตัดสินคน เราพร้อมที่จะใช้ความรุนแรงกับคน ถ้าหากว่ามันไม่เป็นไปตามบรรทัดฐานที่เราถูกสอนมา”
นี่คือต้นตอของอคติต่อผู้หญิงที่อ.สุชาดาพยายามจะล้มมันลง แต่การจะทำงานกับปัญหาความรุนแรงที่ผู้หญิงต้องเผชิญ ต้องมีการมองที่หลากหลาย ผู้หญิงมีหลายมิติทับซ้อน และไม่ใช่ว่าผู้หญิงทุกคนจะเหมือนกันเสมอไป
“ผู้หญิงกลุ่มเฉพาะ คือ ประชากรที่เป็นผู้หญิงกลุ่มเฉพาะทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็น ผู้หญิงกลุ่มเฉพาะที่เป็นชาติพันธุ์ ผู้หญิงกลุ่มเฉพาะที่นับถือต่างศาสนา หรือผู้หญิงกลุ่มเฉพาะที่เป็นแรงงาน หรือแม้กระทั่งแม่ชี ซึ่งเกี่ยวกับเรื่องจิตวิญญาณ ศาสนา อะไรแบบนี้ไม่ได้อยู่ในความสนใจของผู้กําหนดนโยบาย”
เพราะการเป็นกลุ่มเฉพาะนั้นหมายความว่า พวกเธอจะมีข้อจำกัดบางอย่างที่ไม่อาจมองข้ามผ่านไปได้ ทำให้การแก้ไขปัญหาความรุนแรงแบบทั่วไปอาจไม่สามารถช่วยเหลือได้มากพอ
แต่ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิงกลุ่มไหนก็ไม่ควรที่จะต้องเจอกับความรุนแรง อาจารย์สุชาดาจึงเริ่มทำงานกับกลุ่มผู้หญิงเฉพาะที่หลากหลาย เริ่มจากทำงานกับเครือข่ายสตรีม้งในประเทศไทย เพื่อสร้างพื้นที่ทางสังคมและลดปัญหาความรุนแรงจากจารีตประเพณีที่ผู้หญิงม้งต้องประสบในชุมชนแม่สาใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ จนกระทั่งเกิดการรื้อฟื้นพิธีกรรมรับลูกสาวกลับบ้าน ซึ่งกลายมาเป็นโครงการที่เป็นไปตามความเชื่อและประเพณีดั้งเดิม แถมยังพาผู้หญิงออกมาจากความรุนแรงได้ และสามารถกลับมาอยู่ที่ครอบครัวเดิมได้อีกครั้ง
หรืออย่างโครงการที่ทำงานกับผู้หญิงมุสลิม เพื่อช่วยเหลือเรื่องการหย่า เนื่องจากมีผู้หญิงมุสลิมไม่น้อยที่จำใจต้องทนอยู่กับสามีหรือครอบครัวที่เต็มไปด้วยความรุนแรง แต่เพราะความเชื่อและวิถีปฏิบัติบางอย่างจึงทำให้พวกเธอไม่สามารถแยกทางได้อย่างง่ายๆ
“เคยทํางานกับผู้นําทางศาสนา ผู้หญิงมุสลิมถ้าจะหย่า จะต้องไปคุยกับโต๊ะอิหม่ามประจําหมู่บ้าน เพื่อไปขอหย่า จริงๆ เขาต้องฝ่าฟันจากคนในครอบครัวก่อนนะ ถ้าพ่อแม่ไม่ยอม ก็ไม่เป็นไร เดี๋ยวไปขอโต๊ะอิหม่าม แล้วโต๊ะอิหม่ามคนหนึ่งเคยบอกกับเราว่า ‘ถ้าจะมาขอหย่าเหรอ ผมจะไล่ให้ไปทําละหมาดเพิ่ม เพราะถ้าคุณมีปัญหาในครอบครัวแสดงว่าคุณละหมาดและปฏิบัติศาสนกิจยังไม่เพียงพอ’ อันนี้คือสิ่งที่เขาตอบ เพราะฉะนั้นเรื่องของการหย่าบางทีผู้หญิงก็รู้สึกว่ามันบาป”
วิธีการช่วยเหลือผู้หญิงกลุ่มเฉพาะของอ.สุชาดา คือ การให้ผู้นำชุมชนได้เข้ามาสำรวจสภาพแวดล้อมของผู้หญิงด้วยตัวเอง ให้มาเรียนรู้ด้วยตัวเองว่าความยากที่ผู้หญิงต้องเจอในครอบครัวที่ใช้ความรุนแรงมันมีอะไรบ้าง ทำให้ทุกคนเห็นปัญหาร่วมกัน และไม่คิดว่าความรุนแรงคือเรื่องส่วนตัว แต่คือเรื่องของสังคม
“ความรุนแรงในครอบครัวไม่ใช่แค่ปัญหาของผู้หญิง แต่จริงๆ แล้วเป็นปัญหาของชุมชน ถ้าผู้หญิงไม่มีความสุข แล้วคนในชุมชน สามี ลูก หรือชาวบ้านจะมีความสุขอยู่ได้อย่างไร เราพยายามย้ำสิ่งนี้ตลอดเวลาแล้วก็ให้เขาอาสาเข้ามามาพัฒนาศักยภาพ พัฒนาวิธีการจัดการกับปัญหาความรุนแรงในครอบครัวด้วยตัวเอง”
กลุ่มชาติพันธุ์ กับกระบวนการจัดการกับอคติ 5 ระดับ
ตัดไม้ทำลายป่า ค้าขายเสพติด เข้าเมืองผิดกฎหมาย
นี่คือ 3 อคติใหญ่ๆ ‘นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์’ ประธานกรรมการนโยบาย องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย เห็นจากการทำงานในประเด็นกลุ่มชาติพันธุ์มาเป็นเวลายาวนาน
กว่าจะผลักดันเรื่องสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์ให้เป็นนโยบายได้ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องฝ่าฟันกับอคติที่ฝังรากลึกอยู่ในสังคม ทั้งเรื่องการผลักกลุ่มชาติพันธุ์ให้เป็นคนอื่นและผลักให้พวกเขาเป็นคนร้าย
“เวลาที่พี่น้องชาติพันธุ์จะทวงถามถึงสิทธิ บางคนก็จะความรู้สึกว่า มันไม่ใช่สิทธิที่เขาพึงมี เพราะว่าเขาเข้าเมืองผิดกฎหมาย เช่น การมีชุมชนพี่น้องชาติพันธุ์อยู่ในเขตป่าทั้งหลาย พวกเขาก็มีชีวิตอยู่มาก่อนการประกาศเขตป่า แต่ว่าพอเขาจะมาทวงถามหาเรื่องสิทธิที่จะอยู่กับป่า คนก็จะมักจะรู้สึกว่าจะมาทวงสิทธิ์อะไรในเมื่อคุณเป็นคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย มันก็จะไปผิดซ้ําแล้วก็ตอกย้ําลักษณะแบบนี้อยู่ตลอดเวลา”
คุณหมอจึงบอกว่า การทำงานกับอคติจึงต้องอาศัยกระบวนการและต้องมีหลายระดับ พูดง่ายๆ ว่า ถ้าเป็นเกมส์ ก็ควรจะมีวิธีเล่นที่วางแผนมาอย่างดี ไม่ใช่การเล่นแบบสุ่มสี่สุ่มห้า ซึ่งคุณหมอแบ่งกระบวนการจัดการกับอคติไว้ทั้งหมด 5 ระดับด้วยกัน
ระดับแรก คือ ระดับของการชื่นชมและเห็นคุณค่า ทำให้คนทั่วไปเห็นกลุ่มชาติพันธุ์มีคุณค่า อาจจะเริ่มจากสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งมันก็พอที่จะค่อยๆ ทลายอคติเดิมที่เคยมีได้
“เมื่อก่อนเราก็จะมีกิจกรรม เช่น จัดเวิร์กชอป ชวนเด็กๆ มาเย็บชุดของพี่น้องชาติพันธุ์ ใส่ตุ๊กตาตัวเล็กๆ แล้วก็มาเย็บชุดกะเหรี่ยง ประดับด้วยลูกปัด มีชวนให้มาชิมอาหารชาติพันธุ์ ให้มาเห็นว่า ผ้าทอของเขามันสวยนะ ดนตรีของเขามันมีสีสันน่าสนใจนะ อันนี้เป็นระดับที่หนึ่งเลย คือ ต้องเป็นเรื่องของคุณค่าและและการชื่นชม”
ขยับไประดับที่สอง คือ การทำให้เห็นความเป็นมนุษย์ในความแตกต่าง เช่น เรากับเขาก็ต่างเป็นแม่ที่รักลูกเหมือนกัน เวลาที่ลูกของเขาป่วยเขาก็จะทุกข์ใจเหมือนกับเวลาที่เราเห็นลูกของเราป่วย นี่จึงเป็นการฉีกเส้นที่แบ่งแยกความเป็นเขาและเรา ทำให้เห็นว่าทุกคนล้วนเป็นมนุษย์ที่มีความรู้สึกไม่ต่างกัน
“เวลาเราเล่าเรื่องพี่น้องชาติพันธุ์ เราก็มักจะเล่าผ่านชีวิตของคน ว่า เขาต่อสู้กับภัยพิบัติ เขาต่อสู้กับการถูกเหยียดหยาม ถูกอคติ หรือแม้แต่ต่อสู้เพื่อที่จะรักษาลูกเขาซึ่งป่วยเป็นปอดบวม แล้วเขาอยู่พื้นที่ชายขอบที่ชายแดน ถ้าเขาเสียลูกเขาก็เสียใจเหมือนกัน อันนี้คือทำให้เห็นว่าความเป็นมนุษย์ มันมีอยู่เหมือนกันในตัวทุกๆ คน”
ระดับที่สาม คือ การพูดถึงเอกลักษณ์เฉพาะของพวกเขา เช่น กลุ่มชาติพันธุ์บางกลุ่มเขามีความเชื่อและวิถีปฏิบัติต่างจากคนทั่วไปอย่างไร เพื่อทำให้เห็นว่าแต่ละคนก็มีข้อจำกัดหรือความเชื่อในแบบของตัวเองที่เราก็เคารพซึ่งกันและกัน
ส่วนระดับที่สี่ คือ การชี้ให้เห็นว่าความคิดบางอย่างมันคืออคติจริงๆ เช่น จะมีความคิดที่คนชาติพันธุ์คือคนเผาป่า นี่คืออคติที่ถูกผลิตซ้ำและส่งต่อมาตลอด ทั้งๆ ที่เราไม่เคยลงไปศึกษาความจริงเลยว่า พวกเขาทำจริงๆ หรือไม่ หรือการมีอคติต่อกลุ่มชาติพันธุ์ม้งว่าเป็นคนค้ายาเสพติด ก็ถือเป็นอคติเช่นเดียวกัน
และระดับที่ห้า คือ การทำงานเพื่อลบล้างอคติ ในมุมของคุณหมอมันคือการสร้างนโยบายที่ทำให้กลุ่มชาติพันธุ์เข้าถึงสิทธิและสวัสดิการเท่าเทียมกับคนอื่นๆ และอยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรี อย่างเช่นพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ที่กำลังถูกผลักดันอยู่
แต่ถ้าหากจะข้ามมาทำงานในระดับที่ห้าเลยโดยไม่มีการเริ่มจากระดับที่หนึ่งถึงสี่มาก่อน คุณหมอบอกว่ามันจะเป็นเรื่องยาก
“ถ้าเราไปออกกฎหมายนะอย่างเดียวโดยไม่ได้ทำเรื่องหนึ่งถึงสี่มาก่อน กฎหมายก็จะถูกต่อต้าน คนจะมีความรู้สึกว่า ไปให้สิทธิ์มันทําไม มันไม่ใช่มนุษย์ มันไม่ใช่พวกเรา มันไม่มีอะไรดีที่เราจะเห็นคุณค่าเขาอยู่เลยจะไปคุ้มครองสิทธิ์เขาทําไม เราจะเห็นได้ว่าในต่างประเทศการทํางานเรื่องต่อสู้กับอคติมันแฝงเข้าไปในหนังสือเด็กในหลักสูตรการเรียน เด็กนักเรียนต้องได้เรียนเรื่องความหลากหลายมาตั้งแต่เด็ก”
ฉะนั้นการต่อสู้กับอคติจึงไม่ใช่สิ่งที่จะเกิดขึ้นได้ภายในวันสองวัน แต่มันต้องมีการปูพื้น ค่อยๆ เจาะไปหารากของอคติ และต้องใช้เวลากว่าจะถอนรากถอนโคนมันออกมาได้ แม้จะฟังดูเป็นเรื่องยากแต่ก็ใช่ว่ามันจะเกิดขึ้นไม่ได้