“มือต้องปฏิบัติให้ได้ ทำให้เป็น แต่หัวใจก็ต้องใช้ให้มาก” รศ.ดร.สุชาดา ทวีสิทธิ์ : zero tolerance สู่สังคมที่ไม่อดทนต่อความรุนแรงอีกต่อไป
“ในครอบครัว เราต้องปลูกฝังวัฒนธรรม zero tolerance หรือการไม่อดทน อดกลั้นต่อการใช้ความรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำร้ายทางกายกัน ต่อให้ผู้หญิงทำผิดจารีตประเพณีอย่างไรก็ไม่ควรใช้กำลัง แต่สังคมไทยมันไม่ใช่”
หลายสิบปีกับประเด็นความรุนแรงต่อผู้หญิง ถ้านับเป็นอายุงานก็ทะลุเพดานผู้เชี่ยวชาญไปเรียบร้อย แต่ถ้านับเนื้องาน การทำงานใดงานเดียวด้วยเวลานานเท่านี้ ไม่เคลื่อนหน้างานไปไหน แน่นอน ถ้าไม่ใช่ความสนใจชนิดมุ่งมั่น ก็ควรต้องตั้งคำถามว่าประเด็นนี้ซึ่งก็คือ ‘ความรุนแรง’ ไม่ว่าจะเป็นความรุนแรงบนฐานเพศหรือความรุนแรงในครอบครัว มันไม่ดีขึ้นใช่หรือเปล่า
เราคุยกับ รศ.ดร.สุชาดา ทวีสิทธิ์ แห่งสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ทั้งเชี่ยวชาญและคร่ำหวอดในน่านน้ำนี้มานาน
อาจารย์เป็นนักมานุษยวิทยาที่สอนหนังสือ ทำงานวิจัย รวมทั้งทำงานพัฒนาและรณรงค์ด้านสตรีศึกษา และเพศภาวะศึกษา ได้ทำงานกับสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ (สำนัก9) สสส. พัฒนาแผนพัฒนาสุขภาวะผู้หญิงระยะที่ 1 และระยะที่ 2 เพื่อให้สำนัก 9 นำไปเป็นแนวทางสนับสนุนการทำงานพัฒนาสุขภาวะผู้หญิงขององค์กรภาคประชาสังคม อีกทั้งอาจารย์ทำหน้าที่หนุนเสริมด้านวิชาการและเทคนิคต่างๆ แก่องค์กรที่รับทุนไปทำงาน นอกจากนั้น อาจารย์ยังเป็นผู้รับผิดชอบหลักโครงการวิจัยและพัฒนาเกี่ยวกับการยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงอีกหลายโครงการ
ล่าสุดที่อาจารย์ดำเนินการ คือ โครงการพัฒนาแกนนำและกลไกชุมชนเพื่อป้องกันและลดปัญหาการทำความรุนแรงต่อผู้หญิงในชายแดนใต้ ดำเนินงานในจังหวัดปัตตานี และโครงการพัฒนาหลักสูตรและคู่มือแนวปฏิบัติออนไลน์เพื่อป้องกันและรับมือการคุกคามทางเพศในบริบทการทำงาน สำหรับให้สถานประกอบกิจการภาคเอกชนนำไปใช้อบรมพนักงานทุกระดับ
คำถามสุดท้ายของบทสทนานี้จึงมีอยู่ว่า ทำไมอาจารย์ถึงทำงานนี้มานานขนาดนี้
“ก็มันเห็นความไม่ยุติธรรมไง เห็นความตึงเครียดของความสัมพันธ์ระหว่างคน ระหว่างเพศ เพราะตอนนี้ก็ไม่ได้มีแค่หญิงชายแล้ว มีเพศหลากหลายด้วย”
สำหรับอาจารย์ ต้องอาศัยทั้งความคิดและความรู้สึกถึงจะทำงานนี้ได้ และก่อนจะทำงานที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรง เราต้องยอมรับก่อนว่าความรุนแรงมันมีอยู่ ไม่ว่าจะกระทำต่อเพศสภาพไหนก็ตาม และที่สำคัญคือการยอมรับข้อเท็จจริงที่ว่า สังคมไทยยังเป็นสังคมที่ยอมรับการใช้ความรุนแรงอยู่มาก
ผู้หญิงมุสลิม – การหย่าไม่เคยง่าย
“เราเป็นสังคมที่ยอมรับความรุนแรงนะ ผู้หญิงเองก็ยอมรับความรุนแรง เวลาจัดอบรมในชุมชน เราใช้กิจกรรมเลือกข้างเป็นตัววัดทัศนคติยอมรับความรุนแรงในครอบครัว โดยการตั้งคำถาม เช่น ถ้าสามีทุบตีภรรยาเพราะไม่ทำงานบ้าน เรายอมรับได้ไหม หรือ ทุบตีเมียเพราะเมียมีชู้เรายอมรับได้ไหม พบว่าส่วนใหญ่ผู้เข้าอบรมเลือกไปยืนตรงยอมรับได้หมดเลย อันนี้สะท้อนวิธีคิดชัดเจนว่า ถ้าผู้หญิงมีพฤติกรรมนอกกรอบจารีตประเพณี การใช้ความรุนแรงของผู้ชายเป็นสิ่งที่ชาวบ้านมักยอมรับหรือเห็นว่า ‘สมควรแล้ว’ ด้านภรรยาเองก็บอก ‘หนูต้องยอมให้สามีทุบตีเพราะหนูผิดเอง’ ไปจัดกิจกรรมนี้ที่ชุมชนไหนก็จะเจอคำตอบลักษณะนี้ส่วนมาก”
งานขับเคลื่อนสำคัญของอาจารย์คือความรุนแรงในครอบครัวในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะที่จังหวัดปัตตานี และในภาคเหนือ โดยเฉพาะในกลุ่มชาติพันธุ์ม้ง
“สามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีลักษณะเหมือนกันตรงชนกลุ่มใหญ่คือมุสลิม ประเด็นคือในเชิงของจารีตประเพณี ผู้หญิงต้องเชื่อฟังสามี ซึ่งในคัมภีร์อัลกุรอานบอกว่าผู้หญิงผู้ชายเท่ากัน ผู้หญิงได้รับการยกย่องด้วยซ้ำไป แต่เนื่องจากว่าวิถีชีวิตของคนมุสลิมจะขึ้นตรงกับชารีอะห์หรือกฎหมายศาสนา ซึ่งเรื่องนี้ที่เป็นประเด็น เพราะเป็นการตีความของผู้อ่าน ผู้ใช้ชารีอะห์ ซึ่งส่วนใหญ่คือผู้ชาย ทั้งๆ ที่เงื่อนไขสังคมมันเปลี่ยนแปลง มันเคลื่อนไปแล้ว แต่คนจำนวนมากยังยึดติดอยู่กับจารีตดั้งเดิมที่ไม่สอดคล้องกับเงื่อนไขใหม่ของวิถีชีวิตทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม”
เช่น เรื่องการมีภรรยาได้ 4 คน ซึ่งการจะมีภรรยาเพิ่มได้ สามีต้องสามารถดูแลและเลี้ยงดูภรรยาทุกคนได้อย่างเท่าเทียม
“หมายความว่าผู้ชายต้องมีฐานะทางเศรษฐกิจ การอนุญาตให้ชายมุสลิมมีภรรยาได้มากถึง 4 คนได้ เพราะว่าในประวัติศาสตร์ของสังคมอาหรับที่เป็นแหล่งกำเนิดศาสนาอิสลาม มีสงครามการสู้รบบ่อยครั้ง ทำให้ผู้ชายเสียชีวิต และภรรยากลายเป็นม่าย และมีลูกที่กำพร้าพ่อ จำนวนมาก แล้วสมัยนั้น ผู้หญิงและเด็กที่อยู่กันโดยลำพังมีชีวิตที่ยากลำบาก เพราะความอดอยาก และไม่ปลอดภัย ต้องมีผู้ชายคอยปกป้องดูแล สังคมจึงอนุญาตให้ผู้ชายที่มีฐานะดี รับหญิงม่ายมาเป็นภรรยาได้ นอกเหนือจากภรรยาคนแรก แต่นั่นเป็นกติกาสังคมที่ถูกกำหนดขึ้นภายใต้บริบทเฉพาะในช่วงประวัติศาสตร์หนึ่งของสังคมอาหรับ”
จากการลงพื้นที่เก็บข้อมูลและทำงานวิจัย อ.สุชาดา อธิบายว่า ปัจจุบันหลายครอบครัว ผู้หญิงมุสลิมต้องทำงานหนัก ยิ่งในช่วงของภาวะความขัดแย้งในชายแดนใต้ ผู้ชายอาจจะเดินทางออกจากชุมชนไปทำงานไม่ได้ เพราะกังวลเรื่องความปลอดภัย
เมื่อมีความรุนแรงเกิดขึ้นในครอบครัว ไม่ว่าปัญหานั้นจะเกิดจากยาเสพติด การมีภรรยาหลายคน ปัญหาเศรษฐกิจความคิดหรือทัศนคติไม่ลงรอยกัน จนมาถึงจุดที่ว่าการแยกกันอยู่นั้นดีกว่าการอยู่ด้วยกัน การหย่าคือทางออกที่เป็นไปได้ยากกว่าปกติ โดยเฉพาะถ้าเกิดจากความต้องการของภรรยา
“การที่ผู้หญิงจะลุกขึ้นมาขอหย่าสามีไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ผู้หญิงถูกสอนมาว่าต้องรักษาสถาบันครอบครัวไว้ให้ได้มากที่สุด ยังไงก็ต้องอดทน เพื่อลูก เพื่อหน้าตาพ่อแม่ เพราะการหย่าเป็นประเด็นให้คนในชุมชนติฉินนินทา แล้วพอลุกขึ้นมาตัดสินใจว่าจะหย่า จำนวนไม่น้อยถูกพ่อแม่ คนในครอบครัวห้าม หลายคนต้องฝ่าด่านพ่อแม่ไปหาผู้นำศาสนาเพื่อขอหย่า เคยคุยกับโต๊ะอิหม่ามคนหนึ่ง เขาบอกว่า ถ้ามีผู้หญิงมาขอหย่ากับโต๊ะอิหม่าม ผมจะบอกให้ไปทำละหมาดเพิ่ม เพราะการมาขอหย่า แสดงว่าพวกเขาปฏิบัติกิจทางศาสนาไม่เพียงพอ ครอบครัวก็เลยไม่มีความสุข”
ในขั้นตอนการหย่าของครอบครัวมุสลิม อาจารย์บอกว่า ปกติผู้ชายถ้าอยากหย่า สามารถเปล่งวาจาติดต่อกันสามครั้งก็ถือว่าสมบูรณ์แล้ว
นั่นคือ ‘การหย่าด้วยถ้อยคำที่ชัดเจน’ เป็นการหย่าด้วยถ้อยคำที่มิได้ให้หมายความเป็นอย่างอื่นนอกจากการหย่า เช่น (طلقتك) ฉันได้หย่าเธอแล้ว หรือ ( أنت طالق )เธอได้หย่าแล้ว หรือ( أنت مطلقة ) เธอถูกหย่าแล้ว หรือ ( علي الطلاق )สำหรับฉันได้หย่าแล้ว หรือถ้อยคำอื่น ๆ ในทำนองเดียวกันนี้ (ที่มา : https://www.islammore.com/view/737)
“ถ้าผู้หญิงต้องการหย่าต้องไปหาโต๊ะอิหม่าม ถ้าโต๊ะอิหม่ามไม่หย่าให้ ก็ต้องไปที่คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด และที่นี่ บางคนก็เผชิญกับการพูดจาไม่ดีจากเจ้าหน้าที่ผู้ชายที่รับเรื่อง ผู้หญิงบางรายต้องจ้างผู้ชายด้วยเงินจำนวนหนึ่งเพื่อให้ยอมหย่าด้วยซ้ำ คือมันรับกันไม่ไหว สามีทั้งติดยา ทำร้ายร่างกาย มีผู้หญิงคนหนึ่งต้องหนีไปทำงานมาเลย์ เพราะถ้าอยู่ในหมู่บ้านสามีก็มารบกวน มาทำร้าย”
แต่งานของอาจารย์คือการเข้าไปบรรเทาความยากให้กระบวนการหย่าเป็นไปอย่างทำร้ายทุกฝ่ายให้น้อยที่สุด
ต.ทุ่งพลา กับ ต.ควนโนรี อ.โคกโพธิ์ ปัตตานี เป็นพื้นที่ทำงานของอาจารย์ภายใต้โครงการพัฒนากลไกชุมชน ความน่าสนใจของสองตำบลนี้อยู่ที่ การเป็นพื้นที่สองวัฒนธรรม ซึ่งคนมุสลิมและคนพุทธอาศัยอยู่ร่วมกันมานาน
“เราชวนให้คนในชุมชนเก็บข้อมูล ได้มาประมาณเกือบ 700 ครัวเรือน สองตำบลนี้เป็นตำบลใหญ่ เราเจอสถานการณ์ความรุนแรงในครอบครัว หญิงไทยพุทธกับไทยมุสลิม ใกล้เคียงกัน คือประมาณ 15% ถือว่าสูงนะ”
พอได้ข้อมูลมาแล้ว ขั้นตอนต่อมาคือการรับสมัครแกนนำจิตอาสาจากแต่ละหมู่บ้าน ส่วนใหญ่เป็น อสม. ผู้นำชุมชน (ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน) รวมทั้งบัณฑิตอาสาพัฒนาชุมชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ โดยจัดอบรมแกนนำเหล่านั้นให้มีศักยภาพทำงานเรื่องความรุนแรงในครอบครัวได้ในหลายหลักสูตร ได้แก่ ความเข้าใจเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ ความรุนแรงในครอบครัวรูปแบบต่างๆ ใช้กระบวนการอบรมและการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม ร่วมกันคิด ร่วมกันวิเคราะห์สาเหตุปัญหา แลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน และร่วมกันออกแบบกิจกรรมแก้ปัญหา
“พวกเขาช่วยกันวิเคราะห์ระบบนิเวศทางสังคมของผู้หญิงในชุมชนว่ามีอะไรบ้าง หลังจากนั้น แกนนำได้รับการฝึกให้ออกเยี่ยมบ้านทุกหลัง โดยแบ่งกลุ่มบ้านที่รับผิดชอบ เวลาเขาออกไปเยี่ยมบ้าน ก็สอนวิธีการเยี่ยมบ้าน ให้ฝึกสังเกต พูดคุย ให้คำปรึกษา รวมทั้งไปถึงการปรับเปลี่ยน mindset ของแกนนำ
ให้มองว่าปัญหาความรุนแรงในครอบครัวไม่ใช่เรื่องส่วนตัว เพราะก่อนหน้าที่จะทำโครงการนี้ หากว่าครอบครัวไหนทะเลาะทุบตีกัน ใช้ความรุนแรงกัน ชาวบ้านจะไม่เข้าไปยุ่งเลย ถือว่าเป็นเรื่องของแต่ละบ้าน ปล่อยให้จัดการกันไปเอง”
รวมถึงให้ความรู้เกี่ยวกับพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว เน้นย้ำว่ามีมาตรหนึ่งซึ่งระบุว่า ถ้าหากใครพบเห็นการทำร้ายร่างกายกันในครอบครัว จะนิ่งเฉยไม่ได้ ถือว่าผิดกฎหมายนี้
“เราเอาเรื่องนี้ไปคุยว่าปัญหาการทำความรุนแรงในครอบครัว ไม่ใช่เรื่องส่วนตัวนะ แต่เป็นเรื่องของชุมชน คุณจะอยู่ได้อย่างไรถ้าคนในชุมชนโดยเฉพาะผู้หญิงไม่มีความสุข ถ้าผู้หญิงไม่มีความสุข คนทั้งชุมชนก็ไม่น่าจะมีความสุข”
แต่เดิม แกนนำที่เป็น อสม. ต้องลงเยี่ยมบ้านอยู่แล้ว แต่จะไปดูแลเฉพาะปัญหาสุขภาพ ปัญหาการเจ็บป่วยด้วยโรคต่างๆ ของชาวบ้าน แต่หลังจากพวกเขาเข้ารับการอบรมโครงการนี้ พวกเขาเริ่มทำงานลึกขึ้น เช่น สังเกตถึงสัญญาณของการถูกทำความรุนแรง เช่น รอยฟกช้ำตามร่างกาย หรือภาวะซึมเศร้า เป็นต้น มากกว่านั้นคือเขาดูว่าภายในบ้านว่ามีร่องรอยการใช้ความรุนแรงอื่นใดอีกบ้าง จนทำออกมาเป็นแผนที่ความรุนแรงในครอบครัวของแต่ละหมู่บ้านและของตำบล
‘แผนที่เดินดิน (Geo-social mapping)’ ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือหนึ่งในการสำรวจข้อมูลปัญหาความรุนแรงในครอบครัวในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยให้คนในชุมชนออกเดินเยี่ยมบ้าน สำรวจชีวิตของสมาชิกในครอบครัวอื่นๆ ไถ่ถามสารทุกข์สุขดิบ นำข้อมูลที่ได้ไปใส่ในแผนที่ชุมชน ปักหมุดว่าหลังไหนที่ต้องเฝ้าระวังปัญหาความรุนแรงในครอบครัว
“ถ้าบ้านไหนมีความเสี่ยงระดับกลางเขาก็ปักหมุดหรือใส่สีเหลือง แต่ถ้าพบมีความรุนแรงเกิดขึ้นแล้วพล็อตจุดสีแดงไว้ แล้วจึงเอาแผนที่ความรุนแรงของแต่ละหมู่บ้านมารวมเป็นภาพตำบลว่า แต่ละตำบลมีบ้านที่เสี่ยงและบ้านที่กำลังเผชิญกับความรุนแรงในครอบครัวกี่ราย เป็นความรุนแรงในลักษณะใดบ้าง และเข้าให้ความช่วยเหลือตามความเหมาะสม”
ถ้าเกินกำลังที่แกนนำจะทำได้ เขาก็จะส่งต่อไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีระบบส่งต่อ โดยได้รับความร่วมมือจากโรงพยาบาลชุมชน เจ้าหน้าที่ตำรวจ
“จากเดิมที่พวกเขาเหมือนอยู่โดดเดี่ยว เชื่อมต่อการช่วยเหลือทั้งภายในชุมชน และภายนอกชุมชนไม่ได้ พอเจอปัญหาความรุนแรงในครอบครัวยิ่งโดดเดี่ยวหนักขึ้นไปอีก มีเรื่องความอับอายเข้ามาด้วย แต่พอเราทำกระบวนการพัฒนาแกนนำ พัฒนากลไกแกนนำจิตอาสาในระดับหมู่บ้าน ระดับตำบล รวมทั้งมีกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน โต๊ะอิหม่ามเข้ามาเป็นคณะทำงาน พอแกนนำเข้มแข็งก็เป็นกลไกที่เคลื่อนงานได้ดีขึ้น ทำงานและจัดระบบช่วยเหลือกันเอง และส่งต่อเคสเข้าสู่ระบบบริการได้ ทำให้เคสเข้าถึงความช่วยเหลือได้มากขึ้น”
กว่าจะได้ ‘รับลูกสาวม้งกลับบ้าน’
‘รับลูกสาวกลับบ้าน’ คือความพยายามที่จะพาลูกสาวม้งกลับบ้านกรณีเลิกกับสามี หรือเป็นม่ายเพราะด้วยจารีตประเพณีของชาวม้ง ถือว่าลูกชายเป็นลูกของครอบครัว ส่วนลูกสาวเป็นเพียงแขกหรือผู้มาเยือนเท่านั้น เมื่อแต่งงานก็ไปเป็นลูกสาวของครอบครัวสามี
ลูกสาวที่แต่งงานออกเรือนไปแล้ว จะไม่สามารถกลับมาอยู่กับพ่อแม่ได้อีก หากกลับมาถือว่า ‘ผิดผี’ เชื่อกันว่าหากยอมรับให้ลูกสาวที่ออกเรือนไปแล้วกลับมาอยู่ร่วมบ้าน จะทำให้ครอบครัวต้องเจอกับความโชคร้ายต่างๆ นานา ครอบครัวพี่ชายน้องชายที่อยู่บ้านของพ่อแม่ก็จ้องรังเกียจ ผู้หญิงหลายคนที่แต่งงานไปแล้ว แต่ประสบปัญหาความรุนแรงในครอบครัว จึงต้องทนอยู่กับสามี เนื่องจากไม่มีที่ไป
“เวลามีพิธีกรรมต่างๆ ในครอบครัว ผู้หญิงต้องนั่งอยู่แถวหลัง ห้ามกินข้าวร่วมโต๊ะกับผู้ชาย หากในครอบครัวต้องจัดพิธีกรรมเซ่นไหว้หรือขอขมาผีบรรพบุรุษ บ้านใดมีแต่ผู้หญิงก็จะยุ่งยาก เพราะผู้หญิงนำพิธีกรรมเองไม่ได้ และจะไปบอกกล่าวหาคนมาทำพิธีกรรมให้ก็ไม่ได้ ต้องไปขอให้ผู้ชายที่เป็นญาติไปบอกกล่าวแทน เพราะคนม้งคิดว่าคำพูดของผู้หญิงนั้นไม่น่าเชื่อถือ”
“หัวใจสำคัญของการทำงานคือ ให้คนข้างในเก็บข้อมูล เราสอนให้ชาวบ้านทำวิจัย ซึ่งเป็นหนทางให้เขาได้สนทนาเรื่องที่ไม่เคยได้สนทนากัน โดยเฉพาะเรื่องความรุนแรงในครอบครัว เรื่องเพศ เหมือนการทำงานกับกลุ่มมุสลิมที่เริ่มจากการสร้างแกนนำ คุยกับผู้นำหมู่บ้าน ผู้นำพิธีกรรม ผู้นำแซ่ ให้เขาวิเคราะห์ปัญหาเองว่าปัญหาผู้หญิงม้งมีอะไรบ้าง ปัญหาก็ออกมาเยอะแยะเลย”
อาจารย์เริ่มต้นทำงานกับเครือข่ายสตรีม้งในประเทศไทย เพื่อสร้างพื้นที่ทางสังคมและลดปัญหาความรุนแรงจากจารีตประเพณีที่ผู้หญิงม้งต้องประสบเป็นครั้งแรกในชุมชนแม่สาใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ จนกระทั่งเกิดการรื้อฟื้นพิธีกรรมรับลูกสาวกลับบ้าน และต่อมามีการขยายผลโครงการ เปลี่ยนชื่อมาเป็นโครงการ ‘รับลูกสาวกลับบ้าน’ หรือ ‘โครงการฟื้นฟูกฎจารีตและแก้ไขปัญหาความรุนแรงเพื่อสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้หญิงและเด็กชาวม้ง’ ที่แผนงานสุขภาวะผู้หญิง ดำเนินการร่วมกับเครือข่ายสตรีม้งในประเทศไทย โดยได้รับการสนับสนุนต่อเนื่องจาก สสส. โครงการฯ นี้มุ่งทำความเข้าใจกับครอบครัวชาวม้งใน 13 จังหวัดภาคเหนือว่าลูกสาวไม่ใช่เพียงผู้มาเยือน แต่เป็นคนในครอบครัว
“ในช่วงแรกที่เข้าไปทำงาน เราชี้ให้ชุมชนม้งเห็นว่าจารีตประเพณีแบบนี้มันทำให้ ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย เป็นทุกข์นะเราไปจัดกระบวนการที่เชื่อมประสานหลายฝ่ายเข้ามาพูดคุย เราก็โดนท้าทายเยอะ พ่อหลวงคนหนึ่งแกเป็นกำนัน เป็นตระกูลแช่ที่สำคัญในหมู่บ้านด้วย แกก็บอกว่าอาจารย์คิดดู ถ้าเป็นบ้านอาจารย์ คนเป็นผีตายโหง เขาจะเอาศพเข้าบ้านมั้ย”
จากกระบวนการคุย อาจารย์ค้นพบว่า มีผู้ชายที่เป็นพ่ออยู่พอสมควรเลย ที่เจ็บปวดจากการเห็นลูกสาวทุกข์จากจารีตปฏิบัติ จึงใช้จุดนี้ค่อยๆ เปลี่ยนความคิด และจับประเด็นว่าถ้าคนไม่ได้รับความสุขจากจารีตประเพณีซึ่งแสดงอัตลักษณ์ของคนม้งก็ไม่มีความหมาย คนก็จะไม่อยากอยู่ในอัตลักษณ์แบบที่ทำให้ตัวเองเป็นทุกข์ คนม้งหลายคนเปลี่ยนศาสนา หลายคนออกจากชุมชนไปใช้ชีวิตข้างนอก
“เราก็ถามว่าแล้วชุมชนม้งจะอยู่ได้มั้ยถ้ามีแต่คนอยากออกไป ทั้งหมดนี้มาจากกระบวนการพูดคุยแลกเปลี่ยน ได้เห็นความทุกข์ของกันและกัน”
ผู้นำแซ่ ผู้นำพิธีกรรมกลายมาเป็นกำลังสำคัญในการรื้อฟื้นพิธีรับลูกสาวกลับบ้าน ซึ่งเคยอยู่ในประเพณีม้งดั้งเดิมแต่หายไปไม่ถูกนำมาปฏิบัติ เพราะว่าไม่ต้องการให้มีสามีภรรยาเลิกรากัน
อาจารย์เล่าให้ฟังว่า ตอนนั้นผู้นำชุมชนเป็นบ้านแรกที่กลับมาจัดพิธีกรรมรับลูกสาวกลับบ้าน และจำเป็นต้องตีฆ้องร้องป่าวเพื่อประกาศให้ชุมชนทราบและค่อยๆ เกิดการยอมรับ หลังจากเห็นตัวอย่างบ้านนี้ว่าปกติดี สิ่งที่เรียกว่าผิดผีและบรรพบุรุษลงโทษไม่เกิดขึ้น
เมื่อคนในชุมชนมองเห็นปัญหาร่วมกัน ในระยะต่อมา เครือข่ายสตรีม้งในประเทศไทยจึงได้รวมกลุ่มผู้หญิงม้งเพื่อสร้างพื้นที่ปลอดภัย ให้คำปรึกษากันและกัน โดยที่ไม่ต้องสู้หรืออยู่ในภาวะจำยอมอย่างโดดเดี่ยว
รุนแรงกว่าอคติคือวางเฉย
สังคมไทย ผู้ชายถูกหล่อหลอมมาว่าต้องเป็นหัวหน้าครอบครัว เป็นผู้นำ ผู้หญิงคือภรรยาที่ดีและดูแลลูก
“นี่คือประเด็นใหญ่เลย และปัญหาใหญ่ที่ทำให้เกิดความรุนแรงในครอบครัว ปัญหาเศรษฐกิจกับความไม่ซื่อสัตย์ต่อกัน การตบตี การทำร้ายร่างกายจะไม่เกิด ถ้าคุณไม่คิดว่าคุณมีอำนาจเหนือกว่า”
มากกว่าหาต้นเหตุว่าเพศใด ประเด็นสำคัญกว่านั้นคือ วัฒนธรรมที่สร้างและหล่อเลี้ยงการใช้อำนาจเหนือมาได้จนถึงตอนนี้
“ทำให้ทุกคนถูกกดดันและใช้ชีวิตเหมือนกับโครงสร้างสังคมที่เดินได้ คือ ซึมซับเอาค่านิยม และบรรทัดฐานที่ทำให้เห็นคนแต่ละเพศไม่เท่าเทียมกันไว้เต็มไปหมด”
คำตอบซ้ำๆ ที่ย้ำกันมานานคือปิตาธิปไตย หรือ ระบอบชายเป็นใหญ่ ที่แทรกซึมไปทุกเพศ ทุกวัย กลายมาเป็นความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ผลิใบอ่อนตั้งแต่ในบ้าน เติบโตแตกกิ่งในรูปแบบความสัมพันธ์ ไปจนหยั่งรากและสร้างฐานที่มั่นในระบบการทำงานทั้งรัฐและเอกชน
ล่าสุดอาจารย์กำลังทำโครงการพัฒนาหลักสูตรและคู่มือแนวปฏิบัติในระบบออนไลน์สำหรับสถานประกอบกิจการภาคเอกชน เพื่อป้องกันและรับมือกับปัญหาการคุกคามทางเพศในโลกการทำงาน
“มันเกิดขึ้นในทุกที่ทำงาน มหาวิทยาลัย ขสมก. บขส. สายการบิน สถานประกอบกิจการ ที่มีการนำเอาเรื่องเพศมาแลกเปลี่ยนผลประโยชน์”
ทำงานเรื่องนี้มาหลายสิบปีและทำต่อไปแน่ๆ อาจารย์บอกว่าอุปสรรคสำคัญที่สุด คือ การวางเฉย ต่อเรื่องที่เกิดขึ้น และให้ค่าความร้ายแรงแค่ระดับหมาหยอกไก่
“เวลามีเรื่องร้องเรียนและกรรมการสอบข้อเท็จจริง ผู้กระทำมักบอกว่าทำอย่างนั้นจริงๆ เพราะผู้หญิงยินยอม นั่นคือคำสารภาพและเป็นพยานหลักฐานอย่างดีว่าคุณมีพฤติกรรมแสวงหาประโยชน์ทางเพศจากการทำงาน หาเศษหาเลยทางเพศจากเพื่อนร่วมงาน หรือผู้ใต้บังคับบัญชา เพราะเราคุ้นชินอยู่ในวัฒนธรรมแบบนี้ และยอมรับมัน แล้วผู้หญิงจำนวนหนึ่งซึ่งเป็น bystander ก็คือคนที่มองเห็นเหตุการณ์ นอกจากไม่ทำอะไรแล้วอาจจะร่วมกล่าวโทษผู้หญิงด้วยกันว่าไปให้ท่าเขาเอง ไปยินยอมเอง นี่คือวิธีคิดของคนส่วนใหญ่เลย เมื่อมันไม่โดนกับคุณ คุณไม่เปลี่ยนวิธีคิดแบบนี้หรอก นี่คืออุปสรรคใหญ่”
แล้วอะไรที่ทำให้อาจารย์ทำงานมาถึงตอนนี้?
“เพราะมันเห็นความไม่ยุติธรรมแบบนี้ไง เห็นความตึงเครียดของความสัมพันธ์ระหว่างคน ระหว่างเพศ เพราะตอนนี้ก็ไม่ได้มีแค่หญิงชายแล้ว มีเพศหลากหลาย ที่ประสบปัญหาการถูกคุกคามทางเพศในที่ทำงาน
จนถึงบรรทัดนี้ อาจารย์ย้อนกลับไปนึกถึงช่วงวัยเด็กของอาจารย์ ที่ได้รับรู้เรื่องราวการเสียชีวิตของหญิงสาวชนเผ่าจากภาคเหนือคนหนึ่งซึ่งฝังใจ
“ครอบครัวเรามีบ้านให้เช่า มีคนเช่าคนหนึ่งเป็นหญิงขายบริการ หน้าตาสวยมาก เข้าใจว่าหญิงสาวคนนี้ถูกผู้ชายล่อลวงมาขายบริการที่แถวภาคใต้ โดยมีผู้ชายวัยคราวพ่อที่เข้าใจว่าเป็นสามี พาตระเวณไปขายบริการในที่ต่างๆ ต่อมา ผู้หญิงท้อง ผู้ชายคนนั้นก็พาไปทำแท้ง แต่ตกเลือด นอนซมอยู่คนเดียวในห้องเช่า มีคนรู้จักพาไปส่งโรงพยาบาล แต่ก็เสียชีวิตอย่างโดดเดี่ยว สัปเหร่อจัดการเผาศพแบบศพไม่มีญาติ ซึ่งมันเป็นอะไรที่ฝังใจ ทำให้เห็นว่าชีวิตผู้หญิงในประเทศไทยเป็นแบบนี้นี่เอง ก็พยายามที่จะทำงานเรื่องพวกนี้ ให้ข้อมูลคนมากที่สุด จะได้เปลี่ยนวิธีคิด มุมมองต่อผู้หญิง และการทำความรุนแรงต่อผู้หญิงกัน
ปัญหาบ้านเรา เวลาทำงานเรื่องพวกนี้จะไปทำงานกับผู้หญิงเยอะ แต่เราทำงานกับผู้ชายน้อย มันก็เลยเปลี่ยนได้น้อย จริงๆ แล้วจุดคาดงัดมันอยู่ที่ผู้ชาย ถ้าเราสามารถ educate เด็กผู้ชายให้เข้าใจเรื่องพวกนี้ตั้งแต่เด็ก จะแก้ปัญหาได้มากขึ้น”
อาจารย์ย้ำว่าความรู้สึกมีความสำคัญในการในทำงานเรื่องนี้ ต้องทำอย่างรู้สึก อย่างเห็นอกเห็นใจและเข้าใจ
“ความคิด การวิเคราะห์ ก็สำคัญแต่เราต้องมีให้ครบ มือก็ต้องปฏิบัติให้ได้ ทำให้เป็น แต่หัวใจก็ต้องใช้ให้มาก”