FACE THE INNER VOICE นิทรรศการจัดแสดงศิลปะในห้องเงียบ ที่ให้ศิลปะพูดแทนว่า สังคมต้องการความปกติมากกว่าอคติ
ถ้าการสื่อสารที่ไวที่สุดคือการพูด แล้วสื่อสารที่ดีที่สุดล่ะคืออะไร?
เราเองก็ไม่มีคำตอบให้ เพราะแต่ละคนก็ถนัดสื่อสารด้วยวิธีที่ไม่เหมือนกัน บางคนสื่อสารผ่านการเขียน บางคนสื่อสารผ่านเพลง บางคนก็สื่อสารผ่านการเต้น
สำหรับกิจกรรม ‘Empowering Storytelling Workshop เติมพลังการเล่าเรื่องจากภายใน เพื่อประชากรกลุ่มเฉพาะ’ การสื่อสารไม่ได้จำกัดไว้แค่การพูดอย่างเดียว แต่มันมีวิธีอื่นๆ อย่างศิลปะให้ทุกคนได้พูดออกมาผ่านสิ่งที่ทำอีกด้วย
ทั้งการทำศิลปะลงบนหน้ากาก กล่องของขวัญ ดินปั้น หรือตัดแปะกระดาษ ต่างก็เป็นการทำเพื่อสื่อสารอะไรบางอย่างเพื่อให้คนภายนอกได้รับรู้ ซึ่งบางเรื่องอาจเป็นเรื่องที่พวกเขาไม่เคยบอกใครมาก่อนเลยก็ได้
ผู้เข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้มีทั้งคนพิการ กลุ่มชาติพันธุ์ ผู้สูงอายุ และคนอื่นๆ อีกมากมาย ภายในห้องที่เงียบงัน ถึงไม่ได้พูดออกมาแต่ผลงานของพวกเขาบอกผ่านน้ำเสียงเฉพาะตัวถึงความเหงา ความเศร้า ความสนุก ที่ต่างไปเจอมา
พบกับผลงานของพวกเขาได้ใน นิทรรศการ ‘FACE THE INNER VOICE’ ที่จัดแสดงผลงานจากความรู้สึกข้างในของคนพิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และคนอื่นๆ ภายในงาน FACE THE VOICE มองด้วยตา ฟังด้วยใจ ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง’ ในวันที่ 23-24 พฤศจิกายน 2567 เวลา 10.00 – 20.00 น. @ มิวเซียมสยาม (Museum Siam)
วันนี้เราแอบเอาบางผลงานมาให้ทุกคนได้ดูกัน ก่อนจะเจอของจริงภายในงาน อยากให้ไปมองด้วยตา ฟังด้วยใจว่า เขาอยาก‘พูด’ อะไรกับเราบ้าง
‘ขอบคุณความสุขรอบตัว เพื่อต่อยอดความสุข’
เขาว่ากันว่าความสุขอยู่รอบตัวเราเสมอ ก็คงจะจริง เพราะ ‘พลอย’ สโรชา กิตติสิริพันธ์ ก็มักจะสัมผัสถึงความสุขได้เสมอไม่ว่าเธอจะอยู่ที่ไหนก็ตาม
พลอยคือคนพิการทางการมองเห็น ถึงแม้เธอจะมองไม่เห็นแต่ก็ใช่ว่าเธอจะมีความสุขไม่ได้ มีวิธีอื่นๆ มากมายให้เธอได้สัมผัสความสุขรอบตัว เช่น การได้เจอเพื่อนใหม่ๆ ได้มีบทสนทนาดีๆ กับใครสักคน และความสุขที่เธอได้เจอ ณ เวลาหนึ่ง ก็จะกลายเป็นความทรงจำที่สร้างความสุขต่อไปในอนาคตได้
‘ขอบคุณความสุขรอบตัว เพื่อต่อยอดความสุข’ ผลงานชิ้นนี้ของพลอยคือการตัดแปะกระดาษ ในนี้มีรูปธรรมชาติ มีต้นไม้ ขนนก ดอกไม้ เปลือกหอย นี่คือสิ่งของจากธรรมชาติที่หาได้รอบตัว ทำให้เห็นว่าการจะมีความสุขกับอะไรเล็กๆ น้อยๆ นั้นมันไม่ได้ยากเลย
ในกิจกรรมเวิร์กชอปครั้งนี้ ก็เป็นอีกครั้งที่ทำให้พลอยเก็บเกี่ยวความสุขกลับไปที่บ้านได้
“ดีใจมากที่ได้มา สิ่งที่เราได้กลับไปวันนี้ก็คือมิตรภาพ มันเป็นคำสั้นๆ แต่ยิ่งใหญ่มากนะ เราขอบคุณทุกคนที่เข้ามาทักทาย ช่วยเหลือ แล้วก็เข้ามาเป็นเพื่อนกัน”
ความสุขจากการได้ดูหนังก็เป็นอีกอย่างหนึ่งที่คนพิการชอบ สำหรับพวกเขากว่าจะได้ดูหนังสักเรื่องเป็นเรื่องที่ยากพอสมควรเพราะไม่มีเสียงบรรยายภาพ ต่อให้เป็นหนังที่ชอบแค่ไหน แต่ถ้าขาดเสียงบรรยายภาพไปก็เข้าไม่ถึงอรรถรสของหนังอยู่ดี
‘พรรณนา’ แอปพลิเคชันเสียงบรรยายภาพสำหรับคนพิการทางการมองเห็นที่ช่วยสร้างความสุขและความบันเทิงให้กับคนพิการได้ พลอยเป็นหนึ่งคนที่ใช้ตัวช่วยนี้เพื่อสร้างความบันเทิงในแต่ละวัน
การที่คนพิการมีช่องทางเข้าถึงความบันเทิงมากขึ้น มันไม่ได้แค่สร้างความสุขให้กับพวกเขา แต่มันยังเปิดโอกาสให้พวกเขามีส่วนร่วมกับคนอื่นๆ ในสังคมนอกจากคนพิการด้วยกันเองอีกด้วย
ในวันที่ 23 พฤศจิกายนนี้ พลอยจะมาเล่าประสบการณ์จากการใช้แอปพลิเคชัน รวมไปถึงการพยายามขยายโอกาสต่างๆ ไปให้ถึงมือเพื่อนๆ คนพิการ ผ่านเวทีทอล์ก Face The Power : 4 พลังของคนลงมือทำ ส่งต่อความหวังเพื่อ ‘ประชากรกลุ่มเฉพาะ’ เวลา 17:30 – 18:30 น.
“ยิ่งแก้ยิ่งเลอะ” ความไม่จริงใจ นำไปสู่ความแปดเปื้อนของสังคม
“ปัญหาที่ถูกแก้ด้วยความไม่จริงใจ บางครั้งยิ่งเพิ่มมูลของความขัดแย้งมากขึ้น และถ้าเราใช้สายตาที่มีสิ่งกีดขวางอยู่ ก็จะทำให้มองเห็นประเด็นไม่ชัดเจน”
สารที่ ‘นาซีฮะฮ์ มะโซะ’ ชาติพันธุ์มุสลิมมลายูอยากจะสื่อ คือ ความขัดแย้งและการมองกันด้วยอคติ คือสิ่งที่เธอพบเจอมานาน
นาซีฮะฮ์เล่าว่าเธอมาจากพื้นที่ที่มีความขัดแย้ง เธอเห็นความรุนแรงมาตั้งแต่ไหนแต่ไร เมื่อโตขึ้นจึงสนใจทำงานด้านสื่อ ซึ่งแน่นอนว่างานนี้จะทำให้เธอได้เจอผู้คนที่หลากหลายมากขึ้น รวมไปถึงผู้คนที่อยู่นอกเหนือจากชุมชนของตัวเอง
เมื่อได้ออกจากชุมชนของตัวเอง เธอพบว่าในสังคมนี้มีคนมองเธอด้วยสายตาที่หลากหลาย บ้างก็มองด้วยสายตาปกติและบ้างก็มองด้วยสายตาที่มี ‘อคติ’ ประสบการณ์ที่นาซีฮะฮ์เจอส่งผลให้เธอเลือกที่จะทำศิลปะผ่านหน้ากาก
หน้ากากฝั่งที่มีสีแปดเปื้อนหมายถึง คนในสังคมที่ต้องเจอกับความขัดแย้งจนทำให้แปดเปื้อนไปกับสิ่งด้านลบ ส่วนเส้นที่พาดขวางตาทั้งสองข้าง หมายถึง การที่มนุษย์มักจะมองสิ่งต่างๆ ด้วยสายตาหรือมุมมองของตัวเองทั้งนั้น จนทำให้บางครั้งเรามองเห็นความเป็นจริงอย่างกระจ่าง ท้ายที่สุดความขัดแย้งก็เกิดขึ้นได้
เราคือดอกไม้หลากหลายในป่า
ถ้าในป่ามีไม้หลากหลายพันธุ์ฉันใด มนุษย์ก็มีความหลากหลายฉันนั้น
ความหลากหลายที่ว่าก็มีมากมาย ทั้งเพศ อายุ ศาสนา เชื้อชาติ รวมไปถึงชาติพันธุ์ก็ด้วย ‘ปณชัย จันตา’ ผู้ที่มาจากกลุ่มชาติพันธุ์ลัวะเข้าใจความหลากหลายนี้เป็นอย่างดี เขาถึงเลือกที่จะสร้างผลงานที่แสดงให้เห็นถึงความหลากหลายออกมา
กลุ่มชาติพันธุ์ลัวะหรือลเวือะ คือ กลุ่มชาติพันธุ์ที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในบริเวณภาคเหนือเป็นส่วนใหญ่ ข้อมูลจากศูนมานุษยวิทยาสิรินธร ระบุว่า ชาวลัวะยังชีพด้วยการทำไร่หมุนเวียน และทำงานเกษตรอื่นๆ พวกเขามีความผูกพันกับป่า เพราะเป็นแหล่งทำกินและเป็นที่พักพิงให้กับคนในชุมชน
ปณชัยเดินทางจากแม่ฮ่องสอนเพื่อมาเข้าร่วมเวิร์กชอปครั้งนี้ เขาเลือกที่จะสื่อสารผ่านการทำกล่อง ภายในกล่องมีวัสดุที่สื่อให้เห็นถึงธรรมชาติ แน่นอนว่าแต่ละอย่างในกล่องก็มีความแตกต่างกัน ซึ่งเขามองว่ามันเป็นโลกของมนุษย์ที่มากความหลากหลายและความแตกต่าง นี่เป็นที่มาของผลงานที่ชื่อว่า ‘เราคือดอกไม้หลากหลายในป่า’
แต่ในความแตกต่างก็มีความบริสุทธิ์ของมันอยู่ ปณชัยอธิบายว่าเขาอยากให้กล่องนี้สื่อสารถึงความบริสุทธิ์ของธรรมชาติออกมา
กลุ่มชาติพันธุ์คือกลุ่มคนที่มักถูกมองว่าเป็น ‘คนอื่น’ ในสังคม เพราะพวกเขามีวิถีชีวิต ความเชื่อ และภาษาที่ไม่เหมือนกับคนหมู่มาก แต่ความแตกต่างก็ไม่ควรเป็นเส้นแบ่งระหว่างคนด้วยกัน ยิ่งการไปตีตรากลุ่มชาติพันธุ์ว่าเป็นพลเมืองชั้นสอง หรือมองว่าพวกเขาคือคนเผาไม้ทำลายป่า ยิ่งทำให้ช่องว่างระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์กับคนทั่วไปมีมากขึ้น
ถ้าเปรียบสังคมที่เรากำลังอยู่ว่าเป็นป่า แน่นอนว่าเราก็คงอยากจะเห็นป่าที่มีต้นไม้ ดอกไม้ ที่หลากหลาย มากกว่าจะถอนรากถอนโคนต้นที่แตกต่างเพื่อที่จะเห็นต้นไม้แบบเดียว
ใจสั่งมา
แม้จะมองไม่เห็น แต่โจก็ยังได้ยินอยู่ เสียงที่เขาได้ยินก็มีทั้งเสียงไพเราะ เสียงของความสนุก แต่ในขณะเดียวกันก็มีบางเสียงที่ฟังแล้วรู้สึกอึดอัดหรือไม่สบายใจ
“เป็นคนตาบอดทำไม่ได้หรอก”
“เป็นคนตาบอดก็อยู่เฉยๆ เถอะ”
คำพูดเชิงลบเหล่านี้ค่อยๆ ก่อตัวเป็นกำแพงที่เราอาจจะมองไม่เห็น แต่คนตาบอดเห็นและรับรู้เป็นอย่างดี มันคือกำแพงที่กีดกันไม่ให้พวกเขาได้มีพื้นที่ในสังคมเหมือนกับคนอื่นๆ พวกเขามีศักยภาพ มีความสามารถ แต่ก็ต้องซ่อนไว้เพราะใครๆ ก็ต่างมองว่าคนพิการควรอยู่เฉยๆ ในขณะเดียวกันมันก็เป็นกำแพงที่คั่นกลางระหว่างคนพิการและคนไม่พิการอีกด้วย
“สังคมในปัจจุบันคือสังคมแห่งความหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น เพศ อายุ พิการหรือไม่พิการ มีเหตุผลหลายประการที่คนเราจะแตกต่างกัน เป็นเรื่องดีที่เราจะโอบรับความหลากหลายเหล่านี้และอยู่ร่วมกันได้ แต่เราเชื่อว่ายังมีอีกหลายคนที่โดนกำแพงที่ปิดกั้นความหลากหลายอยู่”
โจอธิบายกำแพงนี้ให้ทุกคนได้เข้าใจผ่านการปั้นดินน้ำมัน นี่คือกำแพงใหญ่สีดำที่มีหนามทิ่มแทงคนที่เข้าใกล้ คล้ายๆ กับคำพูดเชิงลบที่คนพิการต้องเผชิญ แต่ตรงกลางของกำแพงมีสิ่งหนึ่งที่ทำให้สามารถมองทะลุไปได้ นั่นก็คือ หัวใจ
“ชิ้นนี้เราตั้งชื่องานว่า ใจสั่งมา เราเชื่อเสมอว่าถ้าคนเราใช้ใจในการเข้าใจซึ่งกันและกัน ทุกคนจะอยู่ร่วมกันได้แน่นอน ต่อให้มีบรรทัดฐาน กฎหมาย หรือค่านิยมอะไรในสังคมที่มันเป็นกำแพงปิดกั้นความหลากหลาย แต่ถ้าเราพร้อมที่จะเข้าใจอีกฝ่ายด้วยหัวใจ กำแพงนี้จะหายไปได้”
เพราะคนพิการก็คือคนคนหนึ่งที่อยากมีพื้นที่ในสังคมเหมือนกัน พวกเขามีความฝัน และความหวังที่อยากทำให้สำเร็จในชีวิต ถ้าสังคมเปิดโอกาสมากพอ พวกเขาก็สามารถทำความฝันนั้นให้สำเร็จได้ โดยที่ไม่ต้องพึ่งพาใคร
ความหวังของโจคือการสร้างสังคมที่คนพิการสามารถเป็นส่วนหนึ่งในนั้นได้ แม้วันนี้โจจะเป็นผู้สูงวัย แต่เขาก็ยังขับเคลื่อนเพื่อคนพิการอยู่ และเขาก็หวังว่าทุกคนจะใช้ ‘ใจ’ ในการทลายกำแพงนี้ลงได้