ฟังเพลง (อนาชีด) ดูหนังสารคดี ออกกำลังกายในที่เฉพาะ : ความบันเทิงแบบมุสลิมที่เรียบง่ายและผ่อนคลายในสังคมพหุวัฒนธรรม
การดูหนังรักฟินๆ ชวนจิกหมอน การออกกำลังกายรีดเหงื่อเพื่อให้อะดรีนาลีนสูบฉีด หรือกระทั่งการปลดปล่อยความเครียดเต็มพลังในสถานบันเทิง พร้อมเครื่องดื่มรสเข้มที่คุ้นเคยเมื่อได้ไปเยือน
กิจกรรมที่กล่าวไปข้างต้นดูเป็นสิ่งธรรมดา หากเราต้องการทำกิจกรรมเหล่านี้ก็สามารถลงมือทำได้ทันที แต่ถ้าชาวมุสลิมจะทำกิจกรรมเพื่อความบันเทิงบ้าง พวกเขาสามารถฟังเพลง ดูหนัง ออกกำลังกายได้ทันทีเลยหรือไม่ หรือหากมีเงื่อนไขบางอย่าง ความบันเทิงแบบใดบ้างที่ชาวมุสลิมสามารถทำได้โดยไม่ขัดกับหลักศาสนา
คำบอกเล่าจากบอย (นามสมมติ) จะพาเราย้อนประสบการณ์ในอดีตถึงคำถามจากเพื่อนๆ ต่างศาสนา ที่มักถามเขาอยู่บ่อยครั้งในช่วงที่ศึกษาต่อระดับปริญญาโท อย่างการจัดงานเลี้ยงสังสรรค์ของรุ่นตามวาระต่างๆ ซึ่งเพื่อนร่วมรุ่นจะให้เกียรติสอบถามก่อนว่า เขาสามารถเข้าร่วมกิจกรรมได้หรือไม่ และสถานที่แบบไหนที่สามารถจัดได้ อาหารหรือเครื่องดื่มชนิดใดบ้างที่สามารถทานได้ เพื่อให้เราเกิดความสบายใจที่จะเข้าร่วม
“ในฐานะที่เราเป็นมุสลิม การเข้าร่วมกิจกรรมสังสรรค์ งานเลี้ยงของรุ่นเป็นสิ่งจำเป็น เพราะเป็นการเชื่อมสัมพันธ์การเข้าสังคมระหว่างเพื่อนๆ แม้เราแตกต่างทางศาสนา เราก็สามารถเข้าร่วมได้ แต่ผมจะปฏิเสธการเข้าร่วมในสถานบันเทิงประเภท ผับ ไนต์คลับ ที่เน้นการเข้าไปเต้นและดื่มเหล้ากันอย่างเมามัน เพราะมุสลิมจะไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับสถานที่เหล่านั้น สุดท้ายเพื่อนๆ ได้เลือกร้านอาหารทั่วไป ที่ให้เราสามารถไปร่วมได้ โดยตนเองจะหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ และเลือกรับประทานอาหารที่มั่นใจว่าทานได้เท่านั้น”
การร่วมกิจกรรมของคนต่างศาสนา เช่น งานศพของบุคคลที่รู้จัก ชาวมุสลิมสามารถเข้าร่วมงานได้ตามปกติ เพราะถือเป็นการให้เกียรติ และเป็นการแสดงความเสียใจต่อครอบครัวผู้เสียชีวิต แต่หากภายในงานเริ่มประกอบพิธีทางศาสนาก็จะปลีกตัวออกมา เพราะเราจะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับพิธีกรรมต่างศาสนา
ช่วงเทศกาลสงกรานต์สำหรับชาวมุสลิมแล้ว ในช่วงเทศกาลนี้จะก็ไม่เล่นน้ำสงกรานต์ หากมองผิวเผินแล้ว การเล่นน้ำสงกรานต์ไม่น่าจะเป็นสิ่งที่ต้องห้ามเพราะเป็นแค่การเอาน้ำมาราดกัน ในช่วงหน้าร้อนมันช่วยดับร้อนได้อีกต่างหาก แต่หากศึกษาความเป็นมาของพิธีสาดน้ำสงกรานต์จะพบว่า เทศกาลสงกรานต์มีความเกี่ยวเนื่องกับหลักความเชื่อของศาสนาอื่น ซึ่งตามหลักศาสนาอิสลามแล้ว จะไม่ส่งเสริมให้เข้าไปยุ่งเกี่ยว
ดูหนังสารคดี ฟังเพลงอนาชีด เล่นกีฬาอย่างไม่เอิกเกริก
คนมุสลิมก็สามารถทำกิจกรรมคล้ายกับคนอื่นๆ เพื่อผ่อนคลายชีวิตจากความเครียด เช่น การเที่ยวชมสถานที่ธรรมชาติ เพื่อไปชมความงามจากสิ่งที่พระเจ้าทรงสร้างขึ้น การอ่านคัมภีร์อัลกุรอาน การพบปะสังสรรค์กับเพื่อน การเลือกรับชมหนังสารคดีที่ไม่ขัดกับคำสอน และการออกกำลังกายจากกีฬาหลากหลายประเภท ทั้งการเตะฟุตบอล เล่นวอลเลย์บอล แบดมินตัน หรือการวิ่ง บอยอธิบายว่า ทางศาสนาไม่มีข้อจำกัดในประเภทของกีฬาว่าสามารถเล่นได้หรือไม่ได้ แต่จะมีเงื่อนไขว่าผู้หญิงที่ต้องการออกกำลังกายจะต้องแต่งกายสุภาพ เพื่อไม่เป็นที่ดึงดูดสายตา ซึ่งในบางพื้นที่ในสามจังหวัดชายแดนก็แก้ไขปัญหานี้ด้วยการจัดพื้นที่เฉพาะให้กับผู้หญิงมุสลิมที่ต้องการออกกำลังกาย
“ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เขาจะจัดพื้นที่เฉพาะให้กับมุสลิมผู้หญิงที่ต้องการเต้นแอโรบิก เช่น โรงยิม ลานเอนกประสงค์ เพราะบางครั้งเวลาผู้หญิงเวลาออกกําลังกายอาจจะดึงดูดสายตา ซึ่งการออกกําลังกายบางท่าทางอาจจะดูเอิกเกริก ตอนนี้ผู้หญิงมุสลิมที่ต้องการออกกำลังกายมากขึ้น ในพื้นที่สามจังหวัดเขาก็ปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ด้วยการจัดพื้นที่เฉพาะเป็นสัดส่วน ผู้หญิงก็สามารถออกกำลังกายได้”
จริงๆ แล้ว ชาวมุสลิมก็สามารถฟังเพลงได้เช่นกัน แต่เพลงเหล่านั้นจะต้องเป็น ‘อนาชีด’ หรือลำนำชีวิต ที่นักวิชาการศาสนาส่วนหนึ่งอนุญาตให้ร้องและฟังได้ตามขอบเขตศาสนาอิสลาม อนาชีดจะมีเนื้อหามุ่งสอนให้มุสลิมปฏิบัติตามหลักการของศาสนา โดยจะสอดแทรกออกมาในรูปแบบของการขับร้อง ซึ่งอนาชีดเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมชาวมุสลิมที่สืบทอดกันมา มักนิยมร้องด้วยทำนองเพลงประสานเสียง ที่พัฒนามาจากบทกวีทั้งวิธีการร้องและการใช้ภาษา โดยไม่มีดนตรีประกอบการร้อง ส่วนภาษาที่ใช้สื่อสารก็แตกต่างกันในแต่ละท้องถิ่น เช่น ภาษาอาหรับ ภาษาอังกฤษ ภาษามลายู และภาษาไทย
บทเพลงอนาชีดนิยมขับร้องกันมากในภาคใต้ของประเทศไทย โดยมีบทบาทสำคัญในแง่ของการสื่อกลางทางวัฒนธรรม และปลูกฝังค่านิยมทัศนคติที่ดีในการดำรงชีวิตตามแบบฉบับของศาสนา มากกว่าเพลงหรือดนตรีสมัยใหม่ที่เนื้อหาเน้นพูดถึงความรักในเชิงชู้สาวมากเกินไป จนทำให้หลงระเริงกับสิ่งยั่วยุภายนอก หลงลืมพระเจ้า จนทำให้ผิดกับหลักปฏิบัติของศาสนาโดยไม่รู้ตัว
บอยเล่าอีกว่า ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ก็มีการฟังดนตรีแบบอนาชีด ที่เนื้อหาเกี่ยวข้องกับศาสนา ถ้าเนื้อหาของเพลงมีความหมายที่นำไปสู่การทำความดีต่อพระเจ้า หรือการอนุรักษ์ธรรมชาติก็ไม่เป็นปัญหา แต่หากเป็นการเข้าร่วมคอนเสิร์ตที่ส่วนใหญ่จัดกันอาจมีอิทธิพลทำให้ผู้คนค่อยๆ ห่างจากศีลธรรม หรืออาจเป็นการฝ่าฝืนคำสอนของศาสนา ชาวมุสลิมจึงไม่ควรเข้าร่วม
‘อีดิ้ลฟิตริและอีดิ้ลอัฎฮา’ วันแห่งการเฉลิมฉลองของชาวมุสลิม
หากนึกถึงวันสำคัญรื่นเริงที่เกี่ยวข้องทางศาสนา สำหรับชาวพุทธก็คงเป็นวันสงกรานต์ หรือวันคริสต์มาสที่กลายเป็นช่วงเวลาแห่งความสุขที่คริสตศาสนิกชนทั่วโลกต่างรอคอย ชาวมุสลิมทั่วโลกก็มีวันสำคัญที่ตั้งตารอเพื่อร่วมเฉลิมฉลองอย่าง ‘วันอีดิ้ลฟิตริและวันอีดิ้ลอัฎฮา’ เช่นกัน
วันอีดิ้ลฟิตริและวันอีดิ้ลอัฎฮามีชื่อเรียกอีกอย่างว่า ‘วันอีดเล็กและวันอีดใหญ่’ วันอีดิ้ลฟิตริจะจัดขึ้นหลังการถือศีลอดในช่วงเดือนรอมฎอนเสร็จสิ้น ส่วนวันอีดิ้ลอัฎฮาจะจัดขึ้นหลังการเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ ซึ่งทั้งสองวันนี้จะมีการจัดพิธีเฉลิมฉลองที่บ้านกันอย่างสนุกสนาน ที่พร้อมไปด้วยบรรยากาศอบอุ่นและอาหารรสอร่อยที่รอต้อนรับคนจากแดนไกล
จากบทสัมภาษณ์ของดาวุด ทับอุไร คณะกรรมการมูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย ในรายการวิทยุนับเราด้วยคน เล่าว่า แม้รูปแบบการเฉลิมฉลองของชาวมุสลิมจะมีเงื่อนไขบางอย่าง ที่แตกต่างจากการเฉลิมฉลองทั่วไป แต่นั่นก็ไม่ใช่ปัญหาในการสร้างความสุขในแบบพวกเขา เพราะทั้งสองวันสำคัญนี้ชาวมุสลิมจะมีการตกแต่งประดับบ้านเรือน และสวมใส่ชุดสวยงามเพื่อรอรับญาติพี่น้องที่เดินทางกลับมาเยี่ยมเยือนอีกครั้ง นอกจากนี้ยังมีการประกอบอาหารคาวและขนมหวานท้องถิ่นอย่าง ‘ตูปะ’ ที่มีหน้าตาคล้ายข้าวต้มลูกโยนของภาคกลาง รวมทั้งในพื้นที่สามจังหวัดและแถบมาเลเซียก็มีการเปิดอนาชีด เพื่อเชิญชวนให้คนที่อยู่ไกลบ้านเกิดความรู้สึกอยากกลับบ้านเพื่อไปเยี่ยมครอบครัว
แม้ความบันเทิงในรูปแบบชาวมุสลิม จะมีเงื่อนไขบางอย่างที่แตกต่างกับการประกอบกิจกรรมบันเทิง ตามที่เราคุ้นชิน ซึ่งความบันเทิงที่มีเงื่อนไขก็ไม่เป็นปัญหาสำหรับพวกเขาในการหาความรื่นเริงในชีวิตประจำวัน โดยความแตกต่างเหล่านี้ถือเป็นเรื่องปกติที่สามารถพบเจอได้ในสังคมพหุวัฒธรรมการเคารพความแตกต่าง จึงเป็นสิ่งสำคัญในการดำรงอยู่ร่วมกันไม่ว่าคุณจะเป็นใคร นับถือศาสนาใดก็ตาม