ศิลปะหลังกำแพงเรือนจำ Art Behind Bars Exhibition
นัยยะสำคัญของเรือนจำสุขภาวะ
นับตั้งแต่ปี 2555 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้สนับสนุนให้มีการวิจัยเชิงนโยบายและการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อในการสร้างความรู้และนวัตกรรม เป็นการสนับสนุนและส่งเสริมนโยบายและการดำเนินงานในการดูแลสุขภาวะของผู้ต้องขังภายใต้หลักการ “สุขภาวะเพื่อคนทั้งมวล” (Health for All) ซึ่งครอบคลุมถึงการสนับสนุนให้เกิดเรือนจำสุขภาวะในสังคมไทย
ดำเนินงานที่ผ่านมาแสดงให้เห็นแนวทางในการปรับเปลี่ยนเรือนจำให้เป็นพื้นที่ซึ่งผู้ต้องขังสามารถมีประสบการณ์ในทางบวกทั้งในส่วนของการดูแลสภาวะแวดล้อมและดูแลตนเองให้มีสุขภาพดีทั้งกายและใจ กิจกรรมต่างๆ ที่จัดขึ้นคือนวัตกรรมที่ก่อให้เกิด “ความรู้ที่มาจากการปฏิบัติ” ที่ก่อให้เกิดแนวคิดในการพัฒนาเรือนจำสุขภาวะ ซึ่งมีองค์ประกอบอย่างน้อย 7 ด้าน ได้แก่ (1) เพิ่มความสามารถในการดูแลตนเองของผู้ต้องขัง (2) ลดความเสี่ยงของการเป็นโรคที่พบบ่อยในเรือนจำ (3) เพิ่มโอกาสการเข้าถึงการบริการสุขภาพ (4) ผู้ต้องขังมีพลังชีวิต คิดบวก และมีกำลังใจ (5) ดำรงชีวิตอยู่ในความสัมพันธ์ที่เป็นมิตรและเอื้ออาทร (6) สามารถธำรงบทบาทของการเป็นแม่ ลูก และ/หรือสมาชิกในครอบครัว และ (7) มีโอกาสสร้างที่ยืนในสังคม
ความทุกข์ทรมานอันเกิดจากความสูญเสียอิสรภาพเป็นการลงโทษที่เพียงพอ ประสบการณ์ทางบวกคือหนทางในการพลิกฟื้นชีวิตผู้ต้องขัง
ข้อมูลล่าสุดจากกรมราชทัณฑ์แสดงให้เห็นว่า จากจำนวนผู้ที่ได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำ 100 คน มีผู้กระทำผิดซ้ำและต้องกลับเข้าสู่เรือนจำอีกครั้งจำนวนสูงถึง 45 คน นับเป็นอัตราการกระทำผิดซ้ำที่สูงมากในลำดับต้น ๆ ของโลก และหากยังไม่สามารถลดจำนวนผู้กระทำผิดซ้ำได้ ในอีก 3 ปีข้างหน้า ผู้พ้นโทษประมาณครึ่งหนึ่งจะกระทำผิดซ้ำและต้องกลับคืนสู่เรือนจำ
คนจำนวนมากคิดว่า การลงโทษในเรือนจำยังไม่เข้มข้นพอที่จะทำให้คนหลาบจำ
คนจึงไม่เกรงกลัวการกลับเข้ามาอยู่ในเรือนจำ
การศึกษาวิจัยที่มีอยู่แสดงให้เห็นว่า การช่วยให้ผู้ต้องขังมีประสบการณ์ในทางบวกขณะอยู่ในเรือนจำ ช่วยให้ผู้พ้นโทษมีความพร้อมที่จะกลับคืนสู่สังคมได้อย่างคนคุณภาพ เรือนจำจึงควรเป็นพื้นที่ซึ่งผู้ต้องขังได้ฟื้นฟูชีวิต มีพลังชีวิต มีโอกาสเรียนรู้สิ่งที่สนใจ ค้นพบความสามารถและตระหนักในคุณค่าของตนเอง และมีกำลังใจที่จะกลับออกไปใช้ชีวิตที่ดี มีคุณค่าต่อสังคม
การฟื้นฟูผู้ต้องขังต้องบูรณาการเข้าไปในชีวิตตลอด 24 ชั่วโมง ของการอยู่ในเรือนจำ
จึงจะทำให้”การเตรียมความพร้อมก่อนปล่อย” ประสบความสำเร็จ
การทำงานศิลปะช่วยให้ผู้ต้องขังตระหนักในคุณค่าของตัวเองและมีกำลังใจที่จะเริ่มต้นชีวิตใหม่ กระบวนการเปลี่ยนผ่านนี้เป็นการปูทางให้ผู้พ้นโทษสามารถคืนกลับเป็นพลเมืองที่ได้รับการยอมรับจากสังคม ผลงานศิลปะที่นำมาจัดแสดงเป็นส่วนหนึ่งของผลงานอีกเป็นจำนวนมาก โดยมีตั้งแต่การเขียนภาพบนหิน การจัดหินเป็นภาพ การปักผ้า การมัดย้อมผ้าครามและผลิตภัณฑ์จากผ้าคราม การดัดลวด การแกะหนังตะลุง การสารกระเป๋ากระจูดและเขียนภาพบนกระเป๋า งานสีวินเทจ งานเปเปอร์มาเช่
ผลงานศิลปะแต่ละชิ้นได้รับการสร้างสรรค์ขึ้นมาในเรือนจำซึ่งเป็นพื้นที่เฉพาะ ต่างจากงานศิลปะที่สร้างขึ้นในพื้นที่อื่นๆ แต่ละชิ้นงานมาจากความสิ้นหวัง ความเศร้า ความกดดัน ผสมผสานกับความปรารถนาในความเข้าใจ การให้อภัย และความต้องการเชื่อมโยงกับโลกภายนอก
การสื่อสารสังคมผ่านงานศิลปะหลังกำแพงเรือนจำ
คนทั่วไปมีแนวโน้มจะมองผู้ต้องขังและผู้พ้นโทษในลักษณะของ “ความเป็นอื่น” (the otherness) ซึ่งหมายถึงการกีดกันผู้ต้องขังและผู้พ้นโทษออกไปอยู่นอกแวดวงของสังคม ไม่มีความเสมอภาคกับผู้อื่น และไม่ได้รับการปฏิบัติเหมือนกับคนทั่วไป ทำให้ผู้พ้นโทษไม่มีที่ยืนในสังคม ขาดโอกาสในการเริ่มต้นชีวิตใหม่ หมดกำลังใจ ขาดความเชื่อมั่นในตนเอง และกลายเป็นผู้ที่ไม่สามารถพึ่งตนเองได้
การสร้างสังคมที่สงบสุขไม่ใช่การกีดกันหรือขจัดผู้กระทำผิดกฎหมายออกไป จากชุมชนและสังคมไม่ว่าจะโดยทางตรงหรือทางอ้อม หากแต่จะต้องเปิดโอกาสให้ผู้ซึ่งกระทำผิดซึ่งได้รับโทษตามตามกระบวนการยุติธรรมแล้วกลับมามีที่ยืนในสังคมได้
…เวลามันช้า ผมยังติดอีกนาน ถ้าผมมาทำงานนี้ ผมจะได้วิชาชีพ จะได้ทำเป็น ถ้าออกไป ผู้ต้องโทษเขาก็ไม่รับเราทำงานอยู่แล้ว งานแบบนี้เราทำเองได้ ทำที่บ้านได้ เป็นงานอิสระ แกะหนัง ตัวหนังตะลุง เราต้องใช้สมาธิ ดีตรงที่ว่า เราไม่ต้องคิดถึงอดีตที่ผ่านมา มันเลยทำใจได้
(ผู้ต้องขังชาย เรือนจำจังหวัดพังงา)
ผู้ต้องขังซึ่งเป็นผู้สร้างสรรค์งานศิลปะ มีความปรารถนาให้ผลงานของตนเองออกสู่สายตาคนทั่วไป ได้รับคำชื่นชมแม้เพียงเล็กน้อย และขอโอกาสที่จะได้รับการยอมรับเมื่อคืนกลับสู่สังคมภายนอก
นิทรรศการศิลปะหลังกำแพงเรือนจำ คือหนทางหนึ่งที่จะสื่อสารให้คนในสังคมรับรู้ความรู้สึก ความมุ่งหวังและความปรารถนาในโอกาสที่จะคืนกลับเป็นสมาชิกที่ดีของครอบครัว ชุมชน และสังคม โดยเฉพาะต้องการให้สังคมได้เห็นเรื่องราวและชีวิตของผู้ต้องขังผ่านผลงานศิลปะที่งดงาม และมีส่วนช่วยลบภาพตัวแทนซึ่งถูกสร้างขึ้นมาในลักษณะของ การประทับตราผู้ซึ่งเคยผิดพลาด แต่พร้อมที่จะทำทุกอย่างเพื่อกลับเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสมาชิกสังคมเหมือนประชาชนทั่วไป
เป้าหมายของนิทรรศการหลังกำแพงเรือนจำ
เพื่อสื่อสารกับสังคม ผู้วางนโยบาย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ถึงผลในทางบวกของการปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์ของเรือนจำจากการเป็นพื้นที่ของการลงโทษ ไปสู่ฐานคิดในการทำให้เรือนจำเป็นพื้นที่ที่เอื้ออำนวยให้ผู้ที่อยู่ในเรือนจำมีสุขภาวะที่ดีทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ การดำเนินการในเรือนจำควรมุ่งไปที่การตระเตรียมให้ผู้ต้องขังมีสุขภาวะที่ดีทั้งกายใจ และสามารถคืนกลับสู่สังคมในฐานะพลเมืองที่มีคุณภาพไม่กระทำผิดซ้ำ
กลุ่มเป้าหมายของการสื่อสารผ่านนิทรรศการศิลปะหลังกำแพงเรือนจำ
1.สาธารณชน คนทั่วไป เพื่อลดอคติที่มีต่อผู้ต้องขังและผู้พ้นโทษ
2.ผู้วางนโยบาย กำหนดนโยบายที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเรือนจำสุขภาวะ
3.กรมราชทัณฑ์ ร่วมกับหน่วยงานและภาคส่วนต่างๆ ดำเนินการเพื่อช่วยให้ผู้ต้องขังมีประสบการณ์ทางบวก
ในเรือนจำ ให้ความสำคัญกับการให้ผู้ต้องขังใช้เวลาในเรือนจำอย่างมีคุณค่า ไม่ปล่อยให้ชีวิตสูญเปล่า
เรือนจำที่เข้าร่วมโครงการศิลปะหลังกำแพงเรือนจำ
ศิลปะหลังกำแพงเรือนจำ ดำเนินการโดยโครงการเรือนจำสุขภาวะ ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยความร่วมมือของเรือนจำ 7 แห่ง ได้แก่ เรือนจำกลางอุดรธานี เรือนจำจังหวัดพังงา เรือนจำจังหวัดบึงกาฬ เรือนจำจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เรือนจำจังหวัดสุพรรณบุรี ทัณฑสถานหญิงธนบุรี และเรือนจำอำเภอสว่างแดนดิน แต่ละเรือนจำมีผู้ต้องขังชายและหญิงเข้าร่วมกิจกรรมศิลปะหลังกำแพงเรือนจำประมาณ 60-100 คน
นิทรรศการศิลปะหลังกำแพงเรือนจำ Art Behind Bars Exhibition
เปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าชมโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
ณ โถงชั้น 1 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
ระหว่างวันที่ 6-11 สิงหาคม 2567 เวลา 10:00-20:00 น.
โครงการเรือนจำสุขภาวะ ได้การสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
ผู้รับผิดชอบโครงการ: รศ.ดร.นภาภรณ์ หะวานนท์ และ ผศ. ธีรวัลย์ วรรธโนทัย