หน้ากาก ดินปั้น ของขวัญ และตัวฉันเอง : ชมศิลปะแบบ Expressive Art ศิลปะที่บอกความในใจได้มากกว่าการพูดออกไป ผลงานที่มาจากฝีมือคนพิการและคนไม่พิการ
ที่นี่เราใส่หน้ากากเข้าหากัน
ประโยคดังกล่าวอาจฟังแล้วมีความหมายแง่ลบ แต่ในกิจกรรมเวิร์กชอป Empowered Storytelling เติมพลังการเล่าเรื่องจากภายในเพื่อคนพิการ การใส่หน้ากากเข้าหากันคือด้านบวก เนื่องจากเป็นหน้ากากที่ทุกคนทำเพื่อแสดงออกถึงความเป็นตัวเอง
หน้ากาก เป็นหนึ่งในผลงานศิลปะที่ผู้เข้าร่วมเวิร์กชอปครั้งนี้ต่างก็สร้างสรรค์กันออกมาอย่างเต็มที่ ซึ่งแต่ละคนมีความรู้สึกมากมายที่อยากจะสื่อสารออกมา เช่นเดียวกันกับชิ้นงานศิลปะอื่นๆ อย่าง ดินปั้น ของขวัญ ภาพตัดแปะ
เป้าหมายของกิจกรรมนี้คือการให้ผู้เข้าร่วมได้แสดงถึงความเป็นตัวเองผ่านศิลปะ Expressive Art หรือศิลปะบำบัด ผู้เข้าร่วมสามารถเรียนรู้ทักษะการสื่อสารในรูปแบบใหม่โดยใช้ศิลปะเป็นตัวนำทาง
“กิจกรรมวันนี้มันทำให้เรารู้สึกได้รับการฮีลใจ รู้สึกได้รับพลังบวกไปทำเพื่อคนอื่นต่อ”
หนึ่งในผู้เข้าร่วมกล่าว จุดมุ่งหมายของเวิร์กชอปนี้นอกจากจะมุ่งเน้นพัฒนาทักษะการสื่อสารสำหรับคนพิการแล้วก็ยังอยากให้ผู้เข้าร่วมทุกคนได้รับกำลังใจดีๆ จากคนแปลกหน้าที่เพิ่งจะมารู้จักกันในงานนี้ เพราะว่าทุกคนมีสิ่งที่เหมือนกันก็คือหัวใจอยากจะสื่อสารเพื่อคนส่วนรวมและสังคม
เวิร์กช็อปนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาการสื่อและขีดความสามารถของภาคีในการผลิตสื่อ เพื่อสร้างความตระหนักและสร้างการมีส่วนร่วมเพื่อลดความเหลื่อมลํ้าทางสุขภาพของกลุ่มประชากรเฉพาะ โดย Mutual x MasterPeace x Studio Persona และได้รับสนับสนุนจาก สำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ (สำนัก 9) สสส.
ทุกวันนี้เราอยู่ในสังคมที่มีความหลากหลายมากมาย แต่เราได้เข้าไปทำความรู้จักกับความหลากหลายเหล่านี้มากพอหรือยัง? เวิร์กชอปนี้จึงพาทุกคนที่มีหัวใจอยากสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ให้กับคนพิการ ซึ่งคนที่มีเข้าร่วมก็มีทั้งคนพิการและคนไม่พิการ
วันนี้เราอยากพาทุกคนไปดูตัวอย่างผลงานจากกิจกรรมจากคนพิการและคนไม่พิการ เพราะหลายๆ ครั้งงานศิลปะก็แทนความในใจได้มากกว่าการพูดออกไป ต่อให้ดังแค่ไหน หลายๆ ครั้งก็ไม่ถูกรับฟัง
กล่องของเพื่อนแมว
“ฟิวฏ์มีเพื่อนเป็นแมว แต่ไม่มีเพื่อนเป็นคน”
ตากลมและปากแดง คือ ชื่อเพื่อนเมี๊ยวที่ ‘ฟิวฎ์’ พูดถึง ฟิวฏ์เป็นคนที่มีความพิการทางการมองเห็น ซึ่งทำให้มองโลกได้อย่างเลือนราง แต่นั่นก็ไม่ใช่อุปสรรคของชีวิต เพราะฟิวฎ์มีทั้งคุณแม่ที่คอยดูแล มีแมวเป็นเพื่อนที่ทำให้สุขใจ และมีตัวเองที่มองหาความสุขในชีวิตเจอเสมอ
เมื่อถามถึงงานอดิเรก ฟิวฎ์บอกว่าตัวเองเป็นคนชอบหาความรู้ผ่านการทำกิจกรรมต่างๆ แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ลืมที่จะหาความบันเทิงอีกรูปแบบให้ตัวเอง นั่นคือการเล่นเกมส์ ดูหนัง และฟังเพลง
อีกหนึ่งกิจกรรมที่ฟิวฎ์ชื่นชอบเป็นพิเศษคือการได้เล่นกับเพื่อน เพื่อนที่ว่าก็คือเจ้าตากลม และเจ้าปากแดง ทั้ง 2 เป็นเพื่อนคู่ใจของฟิวฎ์มาตั้งแต่ไหนแต่ไร และเธอก็สบายใจที่จะมีเพื่อนเป็นแมว ผลงานชิ้นนี้ฟิวฎ์จึงอยากให้ทุกคนเห็นของขวัญที่พิเศษที่สุดในชีวิตของเธอ ก็คือเจ้าแมว 2 ตัวนี้นี่เอง
อยากมีเพื่อนเป็นคนบ้างไหม? คำถามนี้ส่งไปถึงฟิวฎ์ เธอหัวเราะพร้อมกับหยุดคิดไปครู่หนึ่ง ก่อนจะตอบออกมาด้วยน้ำเสียงร่าเริงสมกับเป็นฟิวฎ์
“อยากนะ ถ้ามีเพื่อนเป็นคนก็คงจะปรึกษาอะไรกันได้ แต่พอมีเพื่อนเป็นแมวก็ได้แต่ชมความน่ารัก แมวก็ฟังเราอย่างเดียว”
ฟิวฎ์ไม่ได้พูดด้วยความน้อยเนื้อต่ำใจ เพราะทุกวันนี้เธอก็มีความสุขดีกับชีวิตที่มีเพื่อนเป็นแมว แม้แมวจะตอบกลับอะไรมนุษย์ไม่ได้แค่อยู่เฉยๆ ให้เจอหน้ากันทุกวัน ก็ให้ความสุขมากล้นกลับมาที่ฟิวฎ์แล้ว
ใจสั่งมา
เป็นคนตาบอดทำไม่ได้หรอก
เป็นคนตาบอดก็อยู่เฉยๆ เถอะ
คำพูดที่ ‘โจ’ ได้ยินมาไม่รู้กี่ร้อยครั้ง ทั้งได้ยินมากับหูของตัวเอง และเพื่อนคนพิการคนอื่นๆ ประสบพบเจอมา เขาเคยสงสัยเหมือนกันว่า ทำไมคนพิการทางสายตาถึงต้องโดนตั้งคำถามโดนตั้งกำแพงตั้งแต่ยังไม่ทันเริ่มต้น?
คำถามและประสบการณ์ที่โจพบเจอมาหลายปี ส่งผลให้เขาตัดสินใจออกแบบผลงานด้วยการปั้น โจปั้นสิ่งที่เขาเจอมาตลอด ซึ่งก็คือ กำแพง
“สังคมในปัจจุบันคือสังคมแห่งความหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น เพศ อายุ พิการหรือไม่พิการ มีเหตุผลหลายประการที่คนเราจะแตกต่างกัน เป็นเรื่องดีที่เราจะโอบรับความหลากหลายเหล่านี้และอยู่ร่วมกันได้ แต่เราเชื่อว่ายังมีอีกหลายคนที่โดนกำแพงที่ปิดกั้นความหลากหลายอยู่”
ถ้ามีกำแพง ความหลากหลายจะอยู่ร่วมกันได้อย่างไร? แน่นอนว่าไม่ได้ เพราะฉะนั้นสิ่งที่โจคิดว่าจะทำให้กำแพงทลายลงได้ก็คือ ‘หัวใจ’
“ชิ้นนี้เราตั้งชื่องานว่า ใจสั่งมา เราเชื่อเสมอว่าถ้าคนเราใช้ใจในการเข้าใจซึ่งกันและกัน ทุกคนจะอยู่ร่วมกันได้แน่นอน ต่อให้มีบรรทัดฐาน กฎหมาย หรือค่านิยมอะไรในสังคมที่มันเป็นกำแพงปิดกั้นความหลากหลาย แต่ถ้าเราพร้อมที่จะเข้าใจอีกฝ่ายด้วยหัวใจ กำแพงนี้จะหายไปได้”
ปัจจุบันโจเป็นนักเคลื่อนไหวเพื่อคนพิการ เขาพาเพื่อนๆ คนพิการก้าวไปข้างหน้าและพยายามสร้างสังคมที่เข้าใจคนพิการได้อย่างไม่มีข้อแม้
Bucket List
“ของที่อยู่ในกล่องนี้ คือ สิ่งที่เราอยากทำก่อนจะตาย”
ผลงานกล่องของขวัญโดย ‘หนิง’ หญิงวัย 65 ปี เจ้าหน้าที่ศาลเยาวชนและครอบครัวที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรมนี้เพราะมีความตั้งใจที่อยากสร้างความเท่าเทียมและโอกาสในสังคม เธอตั้งชื่อกล่องนี้ว่า ‘Bucket List’ ที่หมายถึง รายการที่อยากจะทำให้สำเร็จก่อนตายแม้จะก้าวเข้าสู้วัยเกษียณเรียบร้อยแล้ว แต่หนิงก็เชื่อว่าชีวิตไม่ได้หยุดอยู่แค่นี้ ยังมีอะไรให้เธอได้เรียนรู้ ได้เล่น และได้ลองทำอีกมากมาย
เมื่อเรามายืนอยู่ตรงหน้า หนิงก็ไม่รีรอที่จะเปิดกล่องพิเศษกล่องนี้ให้เราดู ด้านในมีปุยนุ่มสีฟ้า เปลือกหอย และกิ่งไม้ พร้อมกับถามว่า “อยากรู้ไหมว่าของเหล่านี้คืออะไร”เรารีบพยักหน้าอย่างไม่ลังเล
“เราอยากทำประโยชน์ให้สังคมไปจนถึงบั้นปลายของชีวิต” หนิงเกริ่น
“ในกล่องนี้แสดงถึงเส้นทางที่เราอาจจะต้องเจอระหว่างทาง ถ้าโชคดีเส้นทางในชีวิตของเราก็คงจะนุ่มนิ่ม ราบรื่น สบาย เหมือนกับปุยนุ่นก้อนนี้ แต่เราก็ไม่ลืมเสมอว่าระหว่างทางเราอาจจะต้องเจออุปสรรคเหมือนพวกกิ่งไม้และเปลือกหอยที่จะมาทำร้ายเราได้ แต่นั่นไม่ใช่ปัญหาใหญ่ เพราะเรารู้ว่าเป้าหมายของเราคือความสุขที่ได้ช่วยเหลือสังคมอย่างที่เราต้องการ”
เวิร์กชอปครั้งนี้ทำให้หนิงได้รวบรวมความฝันและความตั้งใจก่อนตายของเธอให้เป็นรูปเป็นร่างอีกครั้ง แม้จะมีเปลือกหอยบาดมือ หรือกิ่งไม้ด้านหน้าเป็นอุปสรรค ถ้าสุดท้ายคือเป้าหมายตามที่หนิงตั้งใจ เธอก็พร้อมที่จะฝ่าฟันมันไป
อีกสิ่งสำคัญที่ทำให้ความตั้งใจของผู้หญิงคนนี้ยังไม่หายไปไหน คือ กำลังใจ ที่เธอได้รับจากคนรอบข้าง ทั้งครอบครัว เพื่อน และคนแปลกหน้าที่เพิ่งจะเคยเจอกันภายในเวิร์กชอปนี้อีกด้วย
“เราได้กำลังใจจากคนในที่มาร่วมกิจกรรมเยอะมาก การได้รับกำลังใจจากทุกคนยิ่งทำให้เราอยากทำประโยชน์ต่อไปจนกว่าจะหมดแรง” หนิงทิ้งท้าย
Blossom Spirit จิตวิญญาณที่ผลิบาน
มีหลายคนเลือกทำหน้ากาก ‘เมษา’ คือหนึ่งในนั้น เมษาเป็นทั้งนักการละครและเป็นทั้งอาจารย์ เธอเล่าว่าที่เธอเข้าร่วมเวิร์กชอปวันนี้เพราะเธอยากเล่าเรื่องความพิการให้ออกมาในรูปแบบที่เสริมสร้างความเท่าเทียมให้ได้ ส่วนหน้ากากคือตัวแทนของเธอ เธอบอกว่ามันคือหน้าตาของคนที่ได้ทำตามสิ่งที่รัก
“เวลาที่เราได้ทำตามสิ่งที่เรารัก มันมีความหมายกับเรามากนะ เพราะมันส่งผลดีกับเราและมันก็ส่งผลดีกับคนอื่นได้ด้วย”
ดูจากหน้ากากก็พอจะเดาได้ว่าสีชมพูเป็นที่เมษาโปรดปราน แต่หน้ากากไม่ได้สวยงามแค่ตรงหน้าเท่านั้น เมื่อเมษาพลิกสิ่งที่อยู่ภายใต้หน้ากากให้เราดู ก็พบว่ามีความสวยงามที่ซ่อนอยู่ในนั้นไม่แพ้กัน
“เมื่อพลิกใต้หน้ากาก เราอยากสื่อถึงศักยภาพ ทักษะ และความตั้งใจ สิ่งเหล่านี้ทำหน้าด้านหน้าของหน้ากากออกมาดูสดใสแบบนี้”
เห็นได้จากสีผม รวมถึงดอกไม้เล็กๆ สีชมพูที่อยู่บริเวณตา นี่คือความสดใสของหน้าตาคนที่ได้ทำตามสิ่งที่ตัวเองรักและชอบ ซึ่งเธออยากให้ผลงานชิ้นนี้เป็นแรงผลักดันให้ทุกคนกล้าทำให้สิ่งที่ตัวเองชอบอีกครั้ง ถึงแม้ว่าจะไม่สำเร็จโดยทันที แต่การฝึกฝนจนมาทั้งทักษะและศักยภาพต่างๆ จะทำให้เราสำเร็จได้
ในขณะเดียวกันเมษาก็อยากให้ทุกคนเดินทางตามความเชื่อมั่นที่ตัวเองมี เพราะเหตุนี้เธอจึงแปะนางฟ้าเล็กๆ ไว้ใต้ตา เพื่อที่จะบอกว่าบางครั้งเราก็ต้องใช้ความเชื่อนำทาง
เมื่อถึงเวลานั้นที่เราสำเร็จไปได้ตามฝั่งฝัน มันก็จะเหมือนดอกไม้ผลิบาน สร้างความสดใสให้กับตัวเองและคนอื่นที่ได้พบเห็น เหมือนกับหน้ากากนี้