เรากำลังมองหา ‘ผู้จ้างงานคนพิการ’ มาร่วมสร้างสังคมเสมอภาคไปด้วยกัน

อยากมีส่วนร่วมสร้างโอกาสและความเสมอภาคให้เกิดขึ้นในสังคมกับคนทุกกลุ่ม

ต้องการมีส่วนร่วมเสริมศักยภาพและสร้างอาชีพให้คนพิการอย่างยั่งยืน

ถ้าคุณเป็นสถานประกอบการที่มีคุณสมบัติตามนี้ อย่ารอช้า รับสมัครคนพิการเข้าไปทำงานกันเถอะ!

สำหรับคนพิการ การมีอาชีพไม่ใช่แค่หล่อเลี้ยงชีวิตและหารายได้เพียงอย่างเดียว แต่มันเป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้คนพิการรู้ว่า ตัวเองมีศักดิ์ศรีและมีคุณค่ากับสังคม นี่เป็นเหตุผลที่ สำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ (สำนัก9) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มูลนิธินวัตกรรมทางสังคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทุ่มเทเวลากว่า 10 ปี เพื่อผลักดันให้คนพิการมีอาชีพที่มั่นคงและหาเลี้ยงตัวเองได้อย่างยั่งยืน

กฎหมายแรงงานคนพิการ ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.2550 และพ.ศ.2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2556 ระบุให้สถานประกอบการมีทางเลือกดำเนินการตามมาตรา 33 ที่ว่าด้วยสถานประกอบการต้องจ้างงานแรงงานและแรงงานคนพิการเป็นอัตราส่วน 100:1 แต่ถ้าไม่จ้างก็จะสามารถใช้วิธีส่งเงินเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการตามมาตรา 34

การมีงานทำเป็นทางเลือกที่ทางมูลนิธิฯ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพอยากให้เกิดขึ้นมากที่สุด การออกแบบนวัตกรรมเพื่อให้ผลักดันให้คนพิการเข้าไปอยู่ในสถานประกอบการ จึงถูกพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

ความท้าทายในการจ้างงานกระแสหลักของคนพิการมาจากปัจจัยหลายๆ อย่าง ไม่ว่าจะเป็น ทัศนคติที่หลายสถานประกอบการยังไม่มั่นใจว่าคนพิการจะทำงานได้เต็มที่ไหม รวมไปถึงไม่รู้ว่าถ้าหากรับคนพิการเข้ามาทำงานด้วยแล้ว จะต้องปรับสถานที่และเพื่อนทำงานร่วมกับคนพิการอย่างไร ส่งผลให้คนพิการบางส่วนเข้าไม่ถึงการมีงานทำ  และคนพิการบางส่วนได้รับการจ้างด้วยค่าแรงขั้นต่ำเท่านั้น  ซึ่งก็ขัดกับวิถีชีวิตของคนพิการที่มีค่าใช้จ่ายในชีวิตสูงกว่าคนทั่วไป เช่น ค่าใช้จ่ายสำหรับการเดินทางที่รองรับคนพิการได้ หรือค่าใช้จ่ายสำหรับอุปกรณ์ที่ใช้อำนวยความสะดวกในการดำรงชีวิต

มูลนิธินวัตกรรมทางสังคมพยายามลดความท้าทายเหล่านี้ด้วยวิธีการต่างๆ เช่น เป็นตัวกลางให้สถานประกอบการสามารถเข้ามาปรึกษา หรือช่วยกันออกแบบงานให้เหมาะสมกับคนพิการได้ หรือจับคู่ทักษะของคนพิการให้ตรงกับความต้องการของสถานประกอบการ

การทำงานยังส่งผลให้คนพิการมีสุขภาวะที่ดีขึ้นอีกด้วย จากการสอบถามคนพิการที่มีงานทำบอกว่า พวกเขารู้ว่าตัวเองมีความแข็งแรงทางกายมากขึ้น เนื่องจากได้ขยับและทำกิจกรรม รู้สึกว่าดูแลตัวเองได้ และรู้สึกมีความสุขจากการมีความมั่นใจในตัวเองอีกครั้ง

ผลลัพธ์เหล่านี้ไม่ใช่แค่คนพิการที่จะได้รับไป แต่สถานประกอบการเองก็ได้ประโยชน์ไม่น้อยไปกว่ากัน ไม่ว่าจะเป็นการมีแรงงานที่มีศักยภาพ เพราะนักศึกษาคนพิการที่ผ่านศูนย์บ่มเพาะบัณฑิตพิการ (IW Working Center) จะผ่านการฝึกอาชีพ และทักษะต่างๆ ที่สามารถนำไปใช้ในโลกการทำงานได้จริง ซึ่งศูนย์ดังกล่าวเป็นการร่วมมือของมูลนิธินวัตกรรมฯ และสถาบันการศึกษา

นอกจากนี้ สถานประกอบการที่รับคนพิการเข้าทำงานสามารถลงบันทึกรายจ่ายได้ 2 เท่า และลดหย่อนภาษีได้ 1 เท่า ไม่ต้องส่งเงินเข้ากองทุนคนพิการฯ ตามมาตรา 34 อีกต่อไป 

“เราเข้าร่วมโครงการฝึกงานผ่านศูนย์บริการนักศึกษาพิการที่มหาวิทยาลัย ตามมาตรา 35 และได้เข้าทำงานกับบริษัทไมเนอร์ เราไปทำให้เขาเห็นศักยภาพของคนพิการอย่างแท้จริงมากกว่าคำบอกเล่าจากคนอื่น ขอให้โอกาสนี้ที่เราได้รับสามารถส่งต่อให้น้องๆ คนพิการคนอื่น มาช่วยการผลักดันคนพิการให้อยู่ในการสร้างงานกระแสหลักกันเถอะ”

ณภัทร วิชัยดิษฐ์ นักศึกษาพิการทางการมองเห็น เล่าต่อว่า ตัวเองจบจากมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี สาขาสารสนเทศศาสตร์และบรรณารักษศาสตร์ เขาได้เข้าร่วมกับโครงการกับมูลนิธินวัตกรรมทางสังคม เพราะความตั้งใจของตัวเองและความช่วยเหลือจากหน่วยงานต่างๆ ปัจจุบันณภัทรเป็นเจ้าหน้าที่ควบคุมบัญชีคลังสินค้าที่บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด

“เราเริ่มจากรับนักศึกษาพิการเข้ามาฝึกงาน ได้เห็นศักยภาพเดิมที่มี  พาไปพัฒนาทักษะต่อ จากเดิมที่ไมเนอร์มีตำแหน่งว่างแล้วจะรับนักศึกษาฝึกงานเข้ามาทำ เราเปลี่ยนเป็นออกแบบตำแหน่งใหม่ที่เหมาะกับน้องๆ คนพิการที่เรากำลังจะรับเข้ามาเลยดีกว่า เพื่อให้ตอบโจทย์การทำงานของพวกเขา”

อรทัย ถินประวัติ ผู้จัดการฝ่ายแรงงานสัมพันธ์ ที่บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด นี่คืออีกหนึ่งเสียงจากนายจ้างที่ร่วมผลักดันให้คนพิการมีงานทำและเกิดการจ้างงานในกระแสหลักขึ้น

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

ระบุข้อความ