สามก๊ก กฎหมายความเท่าเทียมทางเพศ เรื่องเล่าของคนไร้บ้าน : ส่องหนังสือของคนไร้บ้าน ผู้สูงอายุ และกลุ่มชาติพันธุ์ อ่านอะไรกัน?

อีกไม่กี่วันก็จะมีเทศกาลสำคัญของชาวหนอนหนังสือ นั่นก็คืองานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 28  

ทำลิสท์รายชื่อหนังสือที่จะซื้อ อาจเป็นกิจกรรมที่ใครกำลังทำอยู่ ไม่ว่าจะส่องหนังสือเล่มไหนติดอันดับขายดี สำรวจว่าตอนนี้คนกำลังอ่านอะไรกัน ฟังคนดังๆ แนะนำหนังสือน่าอ่าน เป็นต้น

เราเองก็มีหนังสืออยากมาแนะนำด้วยเช่นกัน เป็นการแนะนำจาก ‘คนไร้บ้าน ผู้สูงอายุ และชาวชาติพันธุ์’ ที่พวกเขาก็อ่านและมีหนังสือเล่มโปรดที่อยากบอกต่อคนอื่นๆ เช่นเดียวกัน

นอกจากแนะนำหนังสือแล้ว รอติดตามคอนเทนต์อื่นๆ ภายใต้ Mutualxนับเราด้วยคน ที่จะหยิบเรื่องราวของพวกเขามาถ่ายทอดและเล่าให้ทุกคนๆ ฟัง ได้เร็วๆ นี้ที่เพจนับเราด้วยคน

‘การอยู่ลำพังนั้นไม่น่ากลัว แต่การอยู่กับความรู้สึกโดดเดี่ยวต่างหากที่ยากเกินทน’

ท่อนหนึ่งจากหนังสือ ‘คนไร้บ้าน การเดินทางสู่ความโดดเดี่ยว’ เขียนโดยอัจฉรา รักยุติธรรม เป็นหนังสือที่พิม (นามสมมติ) ชอบและกลายเป็นเล่มโปรดที่อยากบอกต่อให้คนอื่นๆ ได้อ่านด้วย

“ชีวิตเราก็ไม่ได้คิดว่าต้องอ่านหนังสือเล่มนี้ พอกลายมาเป็นคนไร้บ้าน เราก็อยากรู้ว่าในหนังสือจะเล่าอะไรบ้าง จะมีอะไรที่เหมือนกับเราไหม

“ถ้าไม่ได้เป็นคนไร้บ้านก็คงไม่อ่าน (หัวเราะ) ตอบตรงๆ เลย คือเราก็มองว่าเขาเป็นคนน่าสงสาร เป็นคนเร่ร่อน แต่ชีวิตเรา ณ ตอนนั้นก็มีอะไรที่ต้องทำเยอะมากๆ คงไม่มีเวลามานั่งอ่าน”

เพราะอยู่ในสถานะเดียวกับคนในเล่ม พิมจึงหยิบหนังสือนี้มาอ่าน และจากที่อ่านพิมบอกว่า เรื่องราวตรงกับความเป็นจริงมากๆ อย่างน้อยก็เหมือนกับสิ่งที่พิมเผชิญ หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่ทำให้ได้รู้จักคนไร้บ้านในอีกมุมมองหนึ่งที่อาจไม่ถูกบอก

“เราว่าอ่านแล้วมันทำให้เข้าใจคนไร้บ้านมากขึ้น เห็นถึงตัวตนของพวกเขาว่า ทุกคนต้องอยู่อย่างลำบากแค่ไหนกว่าจะผ่านไปแต่ละวัน ความเท่าเทียม ความเหลื่อมล้ำในสังคมที่มีสักกี่คนจะเข้าใจ การอยู่ในสังคมที่ไร้ศักดิ์ศรีของคนไร้บ้าน

“ตัวละครในหนังสือล้วนมาจากเรื่องเล่าจากพี่น้องไร้บ้านที่เกิดขึ้นกับตัวพวกเขาเอง เราชอบตรงที่มันทำให้เข้าใจได้เลยว่า คนไร้บ้านถูกมองข้ามจากความคิดของสังคม ที่มองแต่รูปลักษณ์ภายนอกของคน โอกาสที่เข้าไม่ถึง ความไม่มีตัวตนทำให้ถูกมองข้าม จริงๆ คนไร้บ้านไม่ได้มีคุณค่า หรือมีประโยชน์แต่อย่างใดในความคิดของหลายคน”

พิมก็หวังว่าถ้าใครมีโอกาสได้เจอหนังสือเล่มนี้ อยากให้ลองหยิบมาอ่านดู อาจไม่ต้องรู้สึกสนุกหรือชอบเหมือนกันกับเธอ แต่อย่างน้อยคงพอทำให้ได้รู้จักคนไร้บ้านในมุมๆ หนึ่ง ที่ไม่ใช่แบบสังคมตีตราพวกเขาไว้

กฎหมาย

เป็นเรื่องที่ ‘อุบล ร่มโพธิ์ทอง’ กำลังอ่านอยู่ในช่วงนี้ เพราะตำแหน่งงานที่ต้องเข้าไปขับเคลื่อน พัฒนาคุณภาพชีวิตให้แรงงานนอกระบบและผู้สูงอายุ ทำให้อุบลในวัย 70 กว่าๆ ต้องหมั่นหาข้อมูลอัปเดตตัวเองเสมอ

“ป้าอ่านได้ทุกอย่างแหละ ชอบอ่านเหมือนกัน แต่อ่านไม่ค่อยได้เยอะเท่าไหร่ เพราะงานเราก็เยอะด้วย”

“ป้าไม่ค่อยมีเรื่องโปรดนะ ช่วงนี้ก็จะอ่านแต่กฎหมาย เพราะเราต้องรู้กฎหมายเวลาจะต่อสู้อะไรใช่ไหมละ? เราจะอ่านพวกข้อตกลง อ่านกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับแรงงาน ตอนนี้ป้ากำลังศึกษาพรบ.ความเท่าเทียมทางเพศ เพราะแรงงานนอกระบบก็มี LGBTQ+” 

ระยะเวลาในการทำงานนี้อุบลบอกว่า นิ้วมือแทบจะนับไม่พอว่าทำมาแล้วกี่ปี แต่ปัจจุบันเธอยังคงทำงานเพื่อให้แรงงานได้รับสิทธิที่พวกเขาได้รับ 

“แรงงานนอกระบบก็มีคุณค่าทางเศรษฐกิจนะ เป็นหนึ่งคนที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจเหมือนกัน แต่ว่าค่าตอบแทนเขาน้อย เพราะไม่มีกฎหมายคุ้มครองไง เราถึงต้องทำงานเรื่องนี้”

“บางคนบอกว่าเราเป็นเล่าปี่ บางก็บอกว่าเป็นกวนอู แต่ตัวเราเองคิดว่าน่าจะเป็นเล่าปี่นะ”

‘สุพจน์’ เล่าให้ฟังว่า ใครคิดว่าเขาเหมือนตัวละครอะไรในเรื่อง ‘สามก๊ก’ หนึ่งในหนังสือเล่มโปรดของเขา

สุพจน์ หลี่จา เป็นชาวลีซูและกำลังนั่งอยู่ในตำแหน่งนายกสมาคมสร้างเสริมสุขภาวะชุมชนชาติพันธุ์ ซึ่งทำงานผลักดันคุณภาพชีวิตให้กับกลุ่มชาติพันธุ์ในไทย

‘ความกตัญญู’ ถือเป็นคุณสมบัติหนึ่งของคนลีซู พวกเขาถูกถ่ายทอดและปลูกฝังเรื่องนี้จนมันกลายเป็นลักษณะนิสัย สามก๊กที่มีจุดเด่นเรื่องนี้จึงไม่แปลกที่จะครองใจสุพจน์

“ชอบหลายตอนนะ เช่น ตอนเล่าปี่ไปหาขงเบ้งเพื่อให้มาทำงานด้วยถึงสามครั้งสามครา แสดงถึงความอดทนความมุ่งมั่นตั้งใจของเล่าปี่ ที่ผ่านบททดสอบที่ขงเบ้งใช้ 

“เราชอบตัวละครทุกตัวในเรื่อง เพราะมันได้ให้แง่คิดและมุมมองในการอยู่ร่วมกัน การวางแผน  การใช้คนของแต่ละคนเพื่อทำงาน อารมณ์ของตัวละครที่สื่อผ่านบทบาท และความสัมพันธ์ที่ยึดงานส่วนรวมเป็นเป้าหมายสำคัญ”

นอกจากความสนุกที่ได้จากการอ่าน สุพจน์บอกว่าเขานำแนวคิดหลักการบริหารคนและงาน มาใช้กับตัวเองด้วย การวางแผนงานในการทำงาน ได้อย่างมียุทธศาสตร์ และเป้าหมายที่ชัดเจน  มีการกำหนดบทบาทหน้าที่ตามความสามารถ ยืดหยุ่นตามบริบทของสถานการณ์ 

สุพจน์เจอเรื่องนี้ครั้งแรกสมัยเรียนมัธยม ระหว่างที่เดินหาหนังสือในห้องสมุดก็สะดุดตากับเรื่องนี้ ประกอบกับเขาสนใจวัฒนธรรมจีนอยู่แล้ว จึงหยิบมาอ่าน แล้วมันก็กลายเป็นเรื่องโปรดไปตั้งแต่ตอนนั้น

เหตุผลอีกอย่างที่สุพจน์ชอบสามก๊ก เพราะมันสัมพันธ์กับชีวิตของเขา ความกตัญญูที่มีต่อแม่ แม่สอนเรื่องนี้กับเขาเสมอ ดำเนินชีวิตที่ยึดถือคุณค่านี้ คล้ายกับตัวละครกวนอู

“ลีซูเรายึดมั่นเรื่องความกตัญญู คุณสมบัติเด่นของเราคือความกตัญญูต่อบุพการี”

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

ระบุข้อความ