จากความรู้สึก ‘คิดถึงบ้าน’ จนกลายมาเป็นธุรกิจของชุมชน : คุยกับ ต้อม-อรรถพล สิงพิลา แรงงานคืนถิ่นที่สร้าง ‘อีสานบีฟ’ เพื่อให้คนในชุมชนไม่ต้องไปทำงานไกลบ้าน
เหนื่อย แต่คุยกับใครไม่ได้
คิดว่าใครหลายคนก็เคยเผชิญกับความรู้สึกนี้ ในวันที่เหนื่อยล้าจากการทำงาน แต่กลับบ้านมาก็พูดกับใครไม่ได้ เพราะมีแค่เราคนเดียวที่แบกกระเป๋าจากบ้านมาทำงานในพื้นที่ห่างไกล เพื่อ ‘เงิน’ คำสั้นๆ ที่ส่งผลต่อชีวิตเรามหาศาล
หลายๆ คนไม่ได้ต้องการอะไรมากกว่าอ้อมกอด หรือกำลังใจจากคนในครอบครัว แค่ไม่กี่อย่างนี้ก็สามารถเติมแรงใจให้รับมือกับสิ่งต่างๆ ที่เข้ามาในชีวิตได้ แต่ทำได้ยากนัก เมื่อพวกเขาเหล่านั้นอยู่ไกลเหลือเกิน
แต่ถ้าจะเลือกทำงานหรือสร้างอาชีพในบ้านเกิดตัวเองก็เป็นอะไรที่ดูยาก หากจังหวัดเราไม่ใช่จังหวัดที่ได้รับความสนใจ เราอาจต้องเผชิญกับรายได้ที่ลดลง หรือธุรกิจที่สร้างอาจไม่ประสบความสำเร็จ ยิ่งถ้าเป็นคนที่ไม่ได้มีต้นทุนมากนัก การพลาดหรือล้มครั้งหนึ่งเปลี่ยนชีวิตได้เลย ทำให้บางคนยอมทนเหงาดีกว่าต้องเจอรายได้น้อย
“ใช้ต้นทุนเดิมที่ครอบครัวมีอยู่แล้ว มาต่อยอดเป็นธุรกิจครอบครัวเล็กๆ แม้จะสร้างรายได้ไม่มาก แต่มีความสุข”
หนึ่งความเห็นจากกลุ่มตัวอย่างในงานวิจัย ข้อท้าทายและการฟื้นคืนชีวิตในชุมชนของแรงงานคืนถิ่นนอกระบบคนรุ่นใหม่ในภาคการเกษตรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดย จิตราภรณ์ สมยานนทนากุล และคณะ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
จากการสำรวจพบว่า กลุ่มเป้าหมายที่เป็นแรงงานคนรุ่นใหม่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีความพึงพอใจระหว่างก่อนกลับบ้านและหลังกลับบ้านต่างกันใน 3 มิติ ได้แก่ มิติด้านความสัมพันธ์ของครอบครัวหรือญาติพี่น้อง ซึ่งก่อนกลับบ้านมีความพึงพอใจอยู่ที่ 7.12% แต่หลังกลับบ้านมีความพึงพอใจเพิ่มขึ้นที่ 8.7% มิติต่อมา คือ มิติด้านคุณภาพชีวิต พวกเขามีความพึงพอใจในคุณภาพชีวิตก่อนกลับบ้านอยู่ที่ 6% แต่หลังจากกลับบ้านเพิ่มขึ้นเป็น 8% และสุดท้ายคือมิติด้านเศรษฐกิจ กลุ่มเป้าหมายพอใจกับรายได้ก่อนกลับบ้านมากกว่า ซึ่งอยู่ที่ 6% แต่หลังกลับบ้านเหลือแค่ 5%
ทั้งความสัมพันธ์กับครอบครัวและคุณภาพชีวิตดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด แต่ปัญหาหลัก คือ สภาพเศรษฐกิจที่อาจจะไม่ได้มั่นคงเท่าตอนทำงานไกลบ้าน นี่จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้คนเลือกทำงานไกลบ้าน
จะดีกว่าไหม ถ้ารายได้ก็เพิ่มขึ้นหรือเท่าๆ กับตอนที่ทำงานไกลบ้านด้วย โครงการแรงงานคืนถิ่น ที่ได้รับการสนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงถูกจัดตั้งมาเพื่อเติมเต็มช่องว่างนี้โดยเฉพาะ โครงการที่สนับสนุนให้แรงงานไกลบ้านทุกคน ได้กลับมาทำงานที่บ้านเกิดอีกครั้ง และยังช่วยสนับสนุนธุรกิจชุมชนให้ยั่งยืนอีกด้วย
ต้อม-อรรถพล สิงพิลา สมาชิกโครงการแรงงานคืนถิ่น เป็นอีกคนหนึ่งที่มีความฝันอยากจจะกลับมาทำงานที่บ้านเกิด พร้อมพัฒนาชุมชนของตัวเอง เกิดเป็นธุรกิจที่ชื่อว่า อีสานบีฟ เนื้อวากิวขายทั้งปลีกและส่ง (E-San Beef) ซึ่งวันนี้ต้อมเองจะเป็นคนเล่าเรื่องราวการเริ่มต้นธุรกิจของชุมชนเขวาไร่ ที่ตั้งต้นจากการ ‘อยากพาแรงงานกลับบ้าน’
พื้นเพต้อมเป็นคนจังหวัดอะไร
ผมคนมหาสารคามครับ อยู่อำเภอโกสุมพิสัย ตำบลเขวาไร่ อยู่ที่นี่มาตั้งแต่เกิดเลย
เป็นความตั้งใจของเราเลยไหมว่า ตอนทำงานจะทำที่ไหนก็ได้ หรือต้องกลับมาทำงานที่บ้านเกิดตัวเองเท่านั้น
ยังไม่ได้คิดไว้ ช่วงเราเรียนมหาวิทยาลัยมหาสารคามเราก็ไม่ได้อยู่บ้าน ต้องย้ายไปอยู่หอใกล้ๆ แทน แต่เพราะตอนนั้นยังเด็กและมีเพื่อน เป็นการห่างบ้านครั้งแรกๆ ในชีวิต ตอนนั้นก็เลยรู้สึกสนุก ตื่นเต้น ได้เจอสิ่งใหม่ตลอด เราก็เลยไม่ได้ตั้งใจว่า ตอนจบมาจะต้องทำงานที่ไหน รู้แค่ว่าอยากทำงานที่ช่วยเหลือสังคม
พอจบมา แรกเริ่มตั้งใจจะทำงานราชการ แต่พอคิดไปคิดมาแล้วมันไม่ค่อยเหมาะกับเราเท่าไหร่ เลยเลือกทำงานสายสังคมแทน จะได้ช่วยเหลือคนแบบที่เราตั้งใจไว้
ถ้าเลือกทำงานที่มหาสารคาม งานมีให้ทำเยอะไหม
ต้องย้อนไปก่อนว่า ผมเรียนจบรัฐศาสตร์มา เลยอยากทำงานที่มันได้ช่วยเหลือสังคม เราก็เลยทำงานอยู่ในภาคประชาสังคมมากกว่าที่จะทำงานในระบบแบบจริงจัง ส่วนใหญ่ก็เป็นพวกฟรีแลนซ์ จัดเวิร์กช็อปพัฒนาศักยภาพ พัฒนาบุคคล
ในมหาสารคามงานก็พอหาได้ แต่เราก็ไม่ค่อยได้อยู่บ้านเท่าไหร่ ย้ายไปตรงนู้นที ตรงนี้ที บางทีก็ต้องย้ายเป็นปีเลย เราเคยไปประจำที่ขอนแก่นกับสุรินทร์เพื่อไปทำงานเหมือนกัน
ความท้าทายของการเป็นแรงงานที่ทำงานไกลบ้านคืออะไร
ทำงานไกลบ้าน สิ่งที่ต้องยอมรับ คือ การห่างไกลครอบครัว ที่สำคัญเลยเราต้องปรับตัวกับความใหม่ของทุกอย่าง ทั้งวัฒนธรรมใหม่ ภาษาใหม่ ผู้คนใหม่ๆ หรือแม้กระทั่งการกินก็ต้องปรับกันใหม่ บางทีการปรับตัวก็ยิ่งทำให้รู้สึกคิดถึงบ้าน มันเหนื่อยนะที่ไม่ได้เจอคนในครอบครัว
ดูเหมือนต้อมจะทำงานไกลบ้านมาตลอด อะไรเป็นเหตุผลที่ทำให้ต้อมเริ่มสนใจอยากกลับมาทำงานที่บ้าน
พอห่างบ้านไปนานๆ ก็เริ่มรู้สึกอิ่มตัว นึกถึงเมื่อก่อนที่ว่าเราอยู่กับครอบครัว อยู่กับชุมชนแถวบ้านเรามาตั้งแต่เกิด เรียนประถมหรือมัธยมก็เรียนใกล้ๆ ไม่ต้องห่างไปไหนไกล มีเพื่อนๆ ในหมู่บ้านที่รู้จักสนิทสนมกัน การออกไปทำงานไกลบ้านถึงจุดหนึ่งก็เริ่มรู้สึกเหงา รู้สึกคิดถึงบ้าน บวกกับพ่อแม่เราก็อายุมากขึ้นในทุกๆ วัน เราก็อยากกลับอยู่ใกล้เพื่อดูแลพวกเขาด้วย
เพราะเหตุผลนี้หรือเปล่าที่ทำให้ต้อมเข้าร่วม ‘โครงการแรงงานคืนถิ่น’
ใช่ครับ อย่างแรกเลยเพราะเราก็อยากกลับมาทำงานที่บ้าน ไม่อยากห่างจากครอบครับไปไกลแล้ว เราก็ต้องหาอาชีพหรือธุรกิจที่เราทำแถวบ้านเกิดของเราได้
ต่อมาก็คือ เราเห็นว่าโครงการนี้มันไม่ได้ช่วยเหลือแค่เรา แต่ยังช่วยเหลือคนในชุมชนได้อีกด้วย เพราะเป็นการนำสิ่งที่ชุมชนถนัดหรือมีความโดดเด่นมาสานต่อให้เป็นอาชีพ สร้างรายได้ให้ทั้งเกษตรกรและคนอื่นๆ อีก ซึ่งมันก็ตรงกับความตั้งใจของเรา ที่อยากจะทำงานช่วยเหลือสังคม ก็เลยตัดสินใจเข้าร่วม
รู้จักโครงการแรงงานคืนถิ่นได้อย่างไร
เริ่มมาจากการที่เราไปสมัครโครงการอาสาคืนถิ่นก่อน ซึ่งเราก็เป็นรุ่นที่ 6 เราก็เลยมีโอกาสได้รู้จักพี่น้องในชุมชนของเรามากยิ่งขึ้น แล้วได้ก็พบปะกับเครือข่ายที่มาจากหลายจังหวัดเลย เครือข่ายด้านอาหารจากขอนแก่นก็มี
พอได้แลกเปลี่ยนกันไปเราก็คุยกันเองว่า เราจะทำยังไงให้ขับเคลื่อนแรงงานในพื้นที่บ้านเกิดกันได้บ้าง ก็มีการหารือกันว่าควรจะเริ่มจากตรงไหน นิยามแรงงานคืนถิ่นว่าอะไร ลงพื้นที่ไปยังชุมชนเพื่อคุยกับชาวบ้านเลยว่าตอนนี้เขามีปัญหาอะไรที่ทำให้เขาทำมาหากินไม่ได้บ้าง แล้วเอามาพัฒนาต่อครับ
คนในชุมชนของต้อมส่วนใหญ่ทำอาชีพอะไร
มีหลากหลายนะ ตั้งแต่ทำเกษตร ทำไร่ ทำนา ปลูกมันสำปะหลัง ปลูกอ้อยก็มี แล้วก็มีคนที่เขาทำด้านปศุสัตว์เหมือนกัน เลี้ยงหมู เลี้ยงวัวนี่ก็แทบจะมีกันทุกบ้านเลย
ส่วนใหญ่จะเป็นรุ่นพ่อแม่ที่เขาทำกัน ส่วนคนรุ่นใหม่บางคนเขาก็ไม่อยากทำต่อ เพราะมันยากแล้วก็เหนื่อยด้วย เขาก็เลยนิยมไปทำงานที่โรงงานกัน ซึ่งโรงงานก็ต้องไปทำที่ต่างจังหวัดเลย มีไปขอนแก่นบ้าง กรุงเทพฯ บ้าง นอกจากนี้ก็จะเป็นช่างรับจ้างซ่อม ต่อเติม ประมาณนี้ครับ
จุดเริ่มต้นของ ‘อีสานบีฟ (E-San Beef)’ เกิดขึ้นได้อย่างไร
เราตั้งต้นจากมองหาความโดดเด่นของชุมชน ต้องเป็นอะไรที่คนในชุมชนมีทักษะนี้อยู่แล้ว มีทรัพยากรอยู่แล้ว จะได้ไม่ต้องเริ่มต้นจาก 0 เราเห็นว่าเกือบทุกบ้านในชุมชนเขวาไร่เลี้ยงวัว อย่างบ้านผมเองก็เลี้ยงวัวด้วยเหมือนกัน มีอยู่ 20 ตัวเลย แต่วัวที่คนที่นี่เลี้ยง คือ วัวบราห์มัน ซึ่งปัจจุบันราคามันไม่ค่อยดีเหมือนแต่ก่อนแล้ว
จากนั้นเราก็เอาข้อมูลที่เรามีไปปรึกษาคนในโครงการแรงงานคืนถิ่นว่า ธุรกิจแบบไหนจะตอบโจทย์กับชุมชนเราบ้าง มีคนแนะนำให้ทำเนื้อวากิวเพราะมันกำลังเป็นที่ต้องการของตลาด มันตอบโจทย์เกษตรแบบใหม่ แถมสร้างรายได้ได้รวดเร็วกว่าเลี้ยงวัวแบบเดิม นอกจากนี้ก็พยายามเอาของที่มีอยู่ดั้งเดิมมาลดต้นทุนอื่นๆ เช่น บ้านไหนทำไร่อ้อย ก็ซื้ออ้อยมาเลี้ยงวัว ใครทำปุ๋ยก็ขายต่อมูลวัวให้เขาเอาไปแปรรูปต่อได้ เรียกได้ว่าธุรกิจเราพยายามดึงทุกคนให้มามีส่วนร่วมมากที่สุด
เราก็เอาต้นแบบธุรกิจนี้ไปพัฒนาต่อให้มันวิสาหกิจชุมชน ไปแบ่งปันความรู้ต่อให้ชาวบ้านเนื่องจากว่าเดิมทีชาวบ้านที่นี่เขาไม่ได้เลี้ยงวัวสายพันธุ์วากิวมาก่อน ก็ต้องมีการปรับอะไรกันนิดหน่อยจนสามารถออกมาเป็นผลิตภัณฑ์อีสานบีฟได้
ป้ายยาอีสานบีฟให้ฟังหน่อย
อีสานบีฟ คือ วิสาหกิจชุมชนผู้ผลิตและแปรรูปเนื้อโคตำบลเขวาไร่ มีผลิตภัณฑ์แปรรูปเนื้อหลายชิ้นส่วน
เช่น ริบอาย สันคอ สันใน ใบพาย ลูกมะพร้าว จุดเด่นของร้านเรา คือ เนื้อนุ่มละมุน ละลายในปาก เราใช้กรรมวิธีการเลี้ยงแบบดั้งเดิม เน้นการให้อาหารธัญพืชท้องถิ่น ลูกค้ามั่นใจได้ว่า จะได้เนื้อที่สดใหม่ สะอาด ปลอดภัย ผ่านกรรมวิธีการผลิตที่ได้มาตรฐานอย่างแน่นอน
ปัจจุบันเราส่งออกเนื้อให้กับร้านอาหารทั่วประเทศ ขายทั้งปลีกและส่ง มีจำหน่ายทั้งแบบยกตัว แยกเป็นชิ้นส่วน ยกก้อน หรือลูกค้าอยากได้แบบไหนก็สามารถสั่งมาได้เลย พวกสินค้าที่เป็นเนื้อเสียบไม้เราก็มี อันนี้ซื้อไปย่างแล้วก็กินได้เลย เร็วๆ นี้กำลังพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ด้วยครับ
จบรัฐศาสตร์ แต่ต้องมาขายเนื้อวากิวและยังต้องมาสร้างธุรกิจให้ชุมชนอีก ถือว่ายากไหม
เอาจริงๆ ก็ยาก แต่เราคิดว่าการเริ่มต้นมันก็ต้องยากเหมือนกันหมดนั้นแหละ ช่วงแรกเราก็ต้องศึกษาหาข้อมูล ลงพื้นที่ วางแผนธุรกิจ ทำเอาปวดหัวอยู่เหมือนกัน แต่โชคดีตรงที่พอเราอยู่ในโครงการแรงงานคืนถิ่น เขาก็มีเครือข่ายหรือมีผู้เชี่ยวชาญที่เขาเคยทำธุรกิจแล้ว เราก็เลยไปปรึกษาพูดคุยกับพวกเขาได้ เรามีเครือข่ายที่คอยแนะแนวให้ว่า ควรเริ่มจากตรงไหน ควรทำอะไรบ้าง
นอกจากนี้ ถ้าเรื่องไหนที่เราไม่รู้ แล้วเราอยากรู้ ทางโครงการเขาก็จะมีงบประมาณเพื่อจัดอบรม แล้วเราก็เข้าไปเรียนรู้จากตรงนั้นได้
ถ้ามีคนมาบอกว่า “เป็นลูกจ้างเขาก็ดีอยู่แล้ว” เราจะตอบว่ายังไง
มันก็แล้วแต่คนจะมองนะ อย่างคนในชุมชนเราเองที่เราพยายามดึงให้มาเข้าร่วมด้วย บางคนเขาก็ไม่เอา เขาบอกว่าเขาทำงานโรงงานเหมือนเดิมดีกว่า เพราะมันได้เงินชัวร์แน่ๆ เราก็ไม่ได้ว่าอะไร เพราะถือว่าเรามีเป้าหมายไม่เหมือนกัน
เป้าหมายของเราในตอนนี้ คือ การสร้างธุรกิจที่เป็นของชุมชนเพื่อให้คนที่ไม่ได้อยากไปทำงานไกล ได้มีโอกาสทำงานในบ้านเกิดตัวเอง พัฒนาตัวเองกันที่นี่ เราเองก็เป็นคนนั้นที่อยากจะเห็นชุมชนโตขึ้นได้ด้วยคนในชุมชนเอง มันอาจจะยากหน่อย แต่ถ้าท้ายที่สุดคนในชุมชนได้ผลประโยชน์อย่างยั่งยืน เราว่ามันก็คุ้ม
วันนี้อีสานบีฟเดินทางมาถึงไหนแล้ว
ก็ถือว่าเติบโตขึ้นจากวันแรกพอสมควร มันก็ยังมีอะไรที่ต้องพัฒนาต่อ เรากับชุมชนก็ช่วยกันเดินหน้าอย่างค่อยเป็นค่อยไป ตอนนี้เราใช้การอาสาอย่างเดียว ยังไม่มีค่าตอบแทนให้ ขอให้มีใจที่อยากพัฒนาชุมชนด้วยกันก่อน
ปัจจุบันอีสานบีฟก็เริ่มมีลูกค้าเข้ามาเรื่อยๆ ลูกค้าประจำเราก็มีแล้ว ตอนนี้ก็พยายามพัฒนาเนื้อของเราต่อ เข้าไปร่วมมือกับเครือข่ายที่เขาสนับสนุนสตาร์ทอัพ (Start-Up) ด้วย
ถ้าสนใจอยากได้ข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าเพิ่มเติมได้ที่เพจเฟซบุ๊ก ‘อีสานบีฟ เนื้อวากิวขายทั้งปลีกและส่ง’
ในที่สุดต้อมก็ได้ทำงานที่บ้านแล้ว รู้สึกถึงความแตกต่างของการทำงานไกลกับทำงานใกล้บ้านอย่างไรบ้าง
ที่ชัดเจนเลยคือเราได้เจอหน้าครอบครัวบ่อยขึ้น จากที่นานๆ เจอทีก็ได้เจอกันแทบทุกวัน ได้กินข้าวพร้อมหน้าพร้อมตา เวลาเหนื่อยก็กลับมาคุยกับคนที่บ้านได้ มันทำให้เรารู้สึกไม่ได้อยู่คนเดียว
อีกหนึ่งอย่างที่เห็น คือ กิจวัตรประจำวันเราเปลี่ยนไป พออยู่กับครอบครัวแล้วเรากินข้าวได้ตรงเวลา เพราะคนที่บ้านเขาก็จะเรียกมากินพร้อมๆ กัน มีกิจกรรมที่ได้ทำร่วมกับครอบครัว หรือก็สังสรรค์กับเพื่อนๆ แถวบ้าน นี่คือสิ่งที่เปลี่ยนไป