ดูลิเก เที่ยวสังขละบุรี เยี่ยมป้าที่โรงพยาบาล การเดินทางออกจากบ้านครั้งแรกของ 3 เด็กสาวหลังจากได้รหัส G ไม่ต้องเป็น ‘เด็กล่องหน’ อีกต่อไป
“พอมีบัตรแล้ว หนูได้ออกไปเที่ยวสังขละฯ ครั้งแรกในชีวิต ตื่นเต้นมากค่ะ”
โม ชูบัตรใบหนึ่งให้เราดู พร้อมกับบอกว่า มันคือ ‘บัตรเลข 0’ สิ่งที่ทำให้เธอได้ออกไปเที่ยวนอกรั้วบ้านครั้งแรกในชีวิต
ก่อนหน้าที่จะมีบัตรเลข 0 ได้ พวกเขาเคยมี ‘รหัส G’ มาก่อน ซึ่งก็คือ รหัสสำหรับผู้ที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน G ย่อมาจาก Generate ที่มีความหมายว่า ‘ทั่วไป’ โดยเด็กๆ ที่มีรหัส G มักจะเป็นเด็กที่ไม่มีสัญชาติไทย พวกเขาเป็นลูกหลานของกลุ่มชาติพันธุ์หรือประชากรข้ามชาติที่อาศัยในประเทศไทย เมื่อเด็กๆ เกิดมา ครอบครัวไม่ได้ไปแจ้งเกิด เพราะพ่อแม่บางคนเองก็ยังไม่มีสถานะทางกฎหมายเช่นกัน ทำให้ไม่มีเอกสารไปยืนยันตัวตน ซึ่งเป็นหนึ่งในขั้นตอนการแจ้งเกิดกับเจ้าหน้าที่
รหัส G จะถูกกำหนดขึ้นด้วย DMC (Data Management Center) ระบบจัดเก็บข้อมูลนักเรียนรายคนของประเทศไทย สำนักคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เป็นหน่วยงานที่ออกเลขประจำตัว 13 หลักให้ ซึ่งขึ้นต้นด้วยตัวอักษร G
เมื่อเด็กที่ไร้สัญชาติได้รหัสมา พวกเขาก็เปลี่ยนสถานะเป็นเด็กติด G แทน และสามารถใช้รหัสนี้เป็นสิ่งยืนยันตัวตนได้ ทั้งนี้เพราะการศึกษาเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่เด็กทุกคนควรเข้าถึงได้ เด็กเหล่านี้จึงมีรหัส G ก่อนเพื่อที่จะได้เรียนหนังสือ ซึ่งสิทธิที่ตามจากการมีรหัส G จะครอบคลุมแค่เรื่องการศึกษาเสียส่วนใหญ่
ส่วนบัตรประจำตัวประชาชนที่ขึ้นต้นด้วยหมายเลข 0 คือ บุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนราษฎร ไม่มีสัญชาติและยังไม่ได้รับการให้สัญชาติไทย แต่สามารถอาศัยอยู่ในประเทศไทยได้ชั่วคราว อาจจะเป็นบุคคลที่เป็นชนพื้นเมืองดั้งเดิม กลุ่มชาติพันธุ์ ประชากรข้ามชาติ ชนเผ่าต่างๆ ที่ต้องไม่มีจุดยึดโยงกับประเทศอื่นใดแล้วทั้งสิ้น ซึ่งเลขประจำตัวประชาชนของกลุ่มคนที่ใช้บัตรนี้จะมีเลข 13 หลักที่ขึ้นต้นด้วยเลข 0 และหลักที่หกและเจ็ดเป็นเลข 00
สิ่งสำคัญที่ทำให้บัตรเลข 0 ต่างกับรหัส G คือ บัตรเลข 0 สามารถนำไปใช้ในการเข้าถึงสิทธิการรักษาพยาบาลได้ เช่น กองทุนประกันสุขภาพบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ โดยกองเศรษฐกิจสุขภาพและหลักประกันสุขภาพ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ที่ใช้ในการเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุขและการแพทย์ โดยที่ไม่ต้องจ่ายเงินแพงหรือเสี่ยงไปคลินิกเถื่อน
“หนูยืนยันตัวเองได้เพราะมีบัตร หลังจากนั้นก็เลยออกไปเที่ยวที่ไกลๆ จากบ้านครั้งแรก หนูไปเที่ยว ไปดูลิเก แล้วก็ไปวัด”
สำหรับโม การมีบัตรทำให้โลกของเธอเปิดกว้างมากขึ้น ช่วยเติมเต็มความทรงจำในวัยเด็กให้มีเรื่องราวมากมาย ตอนนี้ความฝันของเด็กม.3 อย่างโม คือ การเปิดร้านอาหารเล็กๆ ในหมู่บ้าน เธอบอกว่า อาจไม่ใช่คนทำอาหารเก่งมาก แต่มั่นใจว่าทำออกมาอร่อยแน่นอน
เช่นเดียวกันกับ ไข่ เพื่อนของโมที่ก่อนหน้านี้ไม่เคยออกจากบ้านเลย ขนาดไข่ใช้ชีวิตอยู่ในอำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรีมานาน บ้านอยู่ห่างจากแหล่งท่องเที่ยวชื่อดังของทองผาภูมิ 30 นาที ชีวิตของไข่ก็วนๆ อยู่แค่บ้านและโรงเรียน ไม่เคยเข้าไปในตัวเมืองซักครั้ง เพราะ ‘กลัวโดนจับ’
ความกลัวนี้มาจากป้าข้างบ้าน ที่เป็นคนบอกกับไข่เองว่า เธอเป็นเด็กต่างด้าว ถ้าออกไปไหนแล้วมีคนเห็นจะโดนตำรวจจับ ไข่ก็เลยกลัวมาตลอด พอถึงวันที่มีบัตรยืนยันตัวตนแล้ว ไข่จึงออกจากบ้านได้อย่างสบายใจ
“หนูไปสังขละบุรี ไปสะพานมอญ อีกอย่างหนึ่งหนูก็กล้าไปโรงพยาบาลด้วย เมื่อก่อนไม่มีบัตรไม่กล้าไปหาหมอ เพราะกลัวเขาไม่รักษาให้ แถมเคยไปแล้วก็แพงมาก ตอนนี้จ่ายแค่ 30 บาทค่ะ”
ไข่บอกว่า สถานที่ที่เธออยากไปหลังจากนี้ คือ อีต่อง เพราะเคยได้ยินว่าสวยและมีของกินอร่อย ส่วนเป้าหมายในอนาคตของไข่ คือ เรียนพยาบาล เพราะอยากรักษาแม่ที่เป็นโรคความดันมานาน
“ได้บัตรปุ๊บหนูก็ออกจากบ้านเลย หนูออกไปเยี่ยมป้าที่โรงพยาบาล หนูดีใจ ป้าก็ดีใจที่เจอหนู”
การได้เจอหน้าคุณป้าอันเป็นที่รักของมะตู ทำให้บัตรใบนี้ยิ่งมีค่ากับเธอมาก เธอต่างจากเพื่อนคนอื่นตรงที่มะตูไม่ได้ชื่นชอบการออกไปข้างนอกสักเท่าไหร่ มะตูสบายใจที่จะอยู่บ้านมากกว่า ก่อนหน้านี้ป้าของมะตูป่วยติดเตียงมาเป็นเวลานาน แต่เธอก็ไม่มีโอกาสได้ไปเยี่ยมสักที เนื่องจากกลัวที่จะต้องออกจากบ้าน เพราะเธอก็ไม่รู้ว่าจะโดนจับหรือไม่ พอมีบัตรใบนี้แล้ว มะตูจึงได้ไปเยี่ยมคุณป้า
เป้าหมายของมะตูหลังจากนี้ คือ การดูแลครอบครัว มะตูตั้งใจไว้ว่า จะเข้าเรียนคณะเกี่ยวกับเกษตร เนื่องจากเห็นพ่อแม่ทำไร่ทำสวนมาเป็นเวลานาน เธอก็หวังว่าจะแบ่งเบาหน้าที่ของพ่อและแม่ได้บ้าง
ไม่มีความฝันไหนเล็กเกินไปหรือเรียบง่ายเกินไป โม ไข่ และมะตู มีความฝันได้ส่วนหนึ่งเป็นเพราะพวกเธอได้รับบัตรเลข 0 แค่บัตรใบเล็กๆ ใบนี้ก็สามารถทำให้อนาคตเป็นสิ่งที่มองเห็นได้ชัดเจนยิ่งขึ้น แถมทำให้พวกเธอมีตัวตนในบ้านเกิดได้เสียที
ความฝันของเด็ก 1 คน เกิดขึ้นได้จากความร่วมมือของคนนับร้อย
การมีบัตรประจำตัว แน่นอนว่าจะช่วยให้เด็กๆ เข้าถึงสิทธิทางการศึกษาได้มากยิ่งขึ้น พวกเขาไม่ต้องถูกเรียกว่า ‘เด็กล่องหน’ อีกต่อไป
‘ส้ม’ วันดี มณีมงคลกาญจน์ เจ้าหน้าที่ประจำกลุ่มส่งเสริมการเข้าถึงการสนับสนุนด้านสุขภาพและสังคม APASS Thailand เล่าว่า ที่บางคนใช้คำว่าเด็กล่องหนเป็นเพราะก่อนหน้าที่จะมีรหัส G เด็กเหล่านี้จะไม่ถูกนับว่าอยู่ในโรงเรียน ส่งผลต่อเรื่องสำคัญอย่าง ‘งบอาหารกลางวัน’ ที่จะให้ตามจำนวนเด็กในโรงเรียน โดยจะนับแค่เด็กไทยเท่านั้น ขณะเดียวกันในทองผาภูมิมีเด็กชาติพันธุ์เยอะมาก งบประมาณอาหารกลางวันกับจำนวนเด็กเลยไม่สัมพันธ์กัน แถมนี่ยังเป็นอีกเหตุผลที่โรงเรียนไม่ค่อยอยากรับเด็กชาติพันธุ์เข้าเรียน
“นอกจากนักเรียนที่เป็นเด็กติด G จะมีสถานะ มีตัวตนแล้ว โรงเรียนก็จะได้ผลประโยชน์ไปอีกด้วย เขาจะนับเด็กติด G ว่าเป็นเด็ก 1 คน เหมือนกับเด็กไทย การไปของบอาหารกลางวันก็จะสัมพันธ์กับตัวเลขเด็กในโรงเรียนยิ่งขึ้น แถมโรงเรียนยังเปลี่ยนจากขนาดเล็กเป็นขนาดกลางได้ด้วย ซึ่งผลประโยชน์ก็จะตกอยู่กับเด็กมากที่สุด”
ส้มเป็นหนึ่งคนที่ทำงานช่วยเหลือประชากรข้ามชาติและกลุ่มชาติพันธุ์ มานานกว่า 3 ปี ทําโครงการสร้างเสริมความรอบรู้ในกลุ่มประชากรข้ามชาติ ร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ และองค์กรท้องถิ่นอย่างอำเภอทองผาภูมิ โดยรวมแล้ว การร่วมมือครั้งนี้สามารถช่วยเหลือเด็กติด G ในกาญจนบุรีไปแล้วทั้งหมด 1,250 คน จาก 1,479 คน
โรงเรียนเป็นกลไกสำคัญที่ทำให้หน่วยงานตามเชื่อมต่อกับเด็กได้มากยิ่งขึ้น เพราะโรงเรียนคือสถานที่แรกๆ ที่เด็กใช้เวลามากพอๆ กับที่บ้าน ฉะนั้นแล้ว โรงเรียนในทองผาภูมิส่วนใหญ่จึงมีวิสัยทัศน์และความเข้าใจเรื่องการเข้าถึงสิทธิต่างๆ เป็นอย่างดี
อีกหน่วยเล็กๆ ที่อยู่เบื้องหลังแต่ทำงานหนักไม่แพ้กันในการช่วยเหลือเด็กติด G คือ อาสาสมัครสาธารณสุขต่างด้าว หรือ อสต. นอกจากจะดูแลเรื่องสุขภาพแล้ว อสต. ยังช่วยเหลือด้านสถานะบุคคลอีกด้วย เพราะพวกเขาเป็นคนในหมู่บ้านที่ทราบดีว่า ในชุมชนมีจำนวนเด็กเกิดใหม่ที่ยังไม่มีสถานะอยู่ทั้งหมดเท่าไหร่ ด้วยความที่พูดภาษาเดียวกันกับผู้ปกครอง พวกเขาจึงนำความรู้ที่ได้ไปประชาสัมพันธ์ให้พ่อแม่ของเด็ก ที่เป็นประชากรข้ามชาติหรือกลุ่มชาติพันธุ์ ทำให้เกิดความเชื่อใจและยอมที่จะให้ความร่วมมือด้วย
“การช่วยเหลือด้านสถานะบุคคลต้องอาศัยการร่วมมือที่แข็งแรงและกว้างขวางมาก ฮีโร่ในงานของส้ม คือ อสต. เขาเป็นอาสาสมัครที่ไม่ได้ค่าตอบแทนใดๆ แต่มาด้วยใจล้วนๆ รู้สึกว่าเขาเป็นมดงานสําคัญที่ทํางานด้วยหัวใจ และช่วยอุดรอยรั่วของงานได้มาก”
ทั้งนายอำเภอ โรงเรียน มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย อำเภอทองผาภูมิ องค์กรส่งเสริมการเข้าถึงการสนับสนุนด้านสุขภาพและสังคม (APASS) และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ต่างร่วมกันยกระดับชีวิตของเด็กเหล่านี้ให้มีบัตรประจำตัว เพื่อให้พวกเขามีความฝันและมีอนาคตได้ต่อไป
“เริ่มจากฝ่ายอำเภอทองผาภูมิที่เห็นความสำคัญของเด็กไร้สถานะ ประสานงานกับโรงเรียนต่างๆ ทั้งผู้อำนวยการ และครูฝ่ายทะเบียน ส่วนเราช่วยกันประสานงานตรงนี้ แล้วก็ยังมีหน่วยเล็กๆ ย่อยๆ อย่าง อสต. อีกมากมายเข้ามาร่วมด้วย ทําให้โครงการตรงนี้สําเร็จได้ เราขาดใครไปคนใดคนหนึ่งไม่ได้จริงๆ” ส้มย้ำอีกครั้ง
ตัวตนและความฝันที่ยืนยันได้ด้วยรหัส G
“บางคนคิดว่ามันคือเรื่องเล็กน้อย แต่สําหรับคนที่เขามีปัญหาสถานะบุคคล นั่นคือความดีใจของเขา แม้กระทั่งบางคนที่ไม่ได้เรียนหนังสือ เพราะว่าไม่มีบัตรประชาชน ไม่มีเอกสารแสดงตัวตน เขาอยากจะเรียน แต่เขาก็ไม่มีกําลังใจที่จะเรียน พอเขาได้มีรหัสเป็นเครื่องยืนยันตัวตน เขาก็รู้สึกที่จะอยากเรียนต่อได้”
‘กำลังใจ’ คือ สิ่งที่ จิรวรรณ คำอ่อน ปลัดอำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรีมองว่า เป็นสิ่งที่เห็นได้ชัดหลังจากที่เด็กได้รับรหัส G
ที่ทองผาภูมิมีคนกลุ่มชาติพันธุ์มากถึง 60-70% ของประชากรทั้งหมด พวกเขาเป็นประชากรที่ควรเข้าถึงสิทธิต่างๆ เหมือนกับคนไทย และเพราะความใส่ใจที่ทองผาภูมิไม่เคยทิ้งคนชาติพันธุ์และประชากรข้ามชาติ ทำให้ที่นี่เป็นต้นแบบการพัฒนางานสถานะบุคคลให้กับพื้นที่อื่นๆ จนถูกเรียกว่า ‘ทองผาภูมิโมเดล’
“ถามว่าทำไมรัฐถึงควรให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาสถานะบุคคล เพราะหนึ่ง-มันเกิดประโยชน์กับรัฐไทย มันคือการบันทึกข้อมูลส่วนบุคคล หมายถึงการจัดเก็บอัตลักษณ์ของเด็ก เป็นประโยชน์ที่ระบุได้ว่าเด็กคนนี้ชื่ออะไร ภาครัฐก็จะมีข้อมูลพวกเขาเก็บไว้ อีกอย่างมันคืองาน เป็นหน้าที่ของทางอำเภอด้วย สอง-เราก็มองถึงประโยชน์ของเด็กเป็นหลัก เขาเข้าไม่ถึงโอกาสหลายๆ อย่าง ถูกมองเป็นชายขอบ ซึ่งเราก็ต้องช่วยเหลือให้เขาได้มีสิทธิเหมือนคนอื่น”
ปีการศึกษา 2566 ปลัดบอกว่า มีจำนวนเด็กไร้สถานะเพิ่มมาใหม่อีก 97 คน ซึ่งจะดำเนินการพัฒนาสถานะให้พวกเขาต่อไป แต่ถึงอย่างนั้นแล้วการมีรหัส G ไม่ได้แปลว่าสถานะของเด็กๆ จะสมบูรณ์ 100% เนื่องจากรหัสนี้มีไว้ใช้สำหรับการศึกษาเท่านั้น แต่สิ่งที่สามารถนำไปพัฒนาสถานะต่อให้มีบัตรประชาชนได้ คือ บัตรเลข 0 ซึ่งหมายถึงบัตรประจำตัวบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน สำหรับกลุ่มชาติพันธุ์ที่เข้ามาอาศัยในประเทศไทย แต่อย่างน้อยๆ ตอนนี้พวกเขาควรมีรหัส G ไว้ก่อนเพื่อยืนยันการมีตัวตนของตัวเองได้
แม้เรื่องราวการช่วยเหลือเด็กติด G จะดูเป็นเรื่องพิเศษ แต่ปลัดก็ยืนยันว่าทั้งหมดนี้คือ ‘หน้าที่’ ที่เจ้าหน้าที่จำเป็นต้องปฏิบัติตามข้อกฎหมาย เพื่อให้ทุกคนได้รับสิทธิเท่าเทียมกัน เพียงแต่ว่าทางอำเภอเองก็พยายามอำนวยความสะดวกให้กับเด็กมากที่สุด
“แทนที่เด็กจะต้องเดินทางมาอำเภอ เราไปออกหน่วยตามแต่ละโรงเรียนเลย เพื่อให้เด็กไม่ต้องเดินทางไกล ส่วนเด็กที่ต้องรีบใช้บัตรเพื่อเรียนต่อ อย่างเช่นเด็กมัธยมปีที่ 3 หรือเด็กมัธยมปีที่ 6 ทางอำเภอก็นัดวันให้มาได้เลย เพื่อความรวดเร็ว แล้วเด็กก็จะได้ไม่กังวลเรื่องการไม่มีสถานะไปเรียนต่อด้วย”
หลักการทำงานที่เจ้าหน้าที่ในอำเภอทองผาภูมิยึดถือร่วมกัน คือ ‘การไม่เลือกปฏิบัติ’ ทุกคนคือมนุษย์ มีสิทธิเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะเป็นคนไทย คนชาติพันธุ์ หรือประชากรข้ามชาติ ทางอำเภอเองก็จะพยายามอำนวยความสะดวกให้กับพี่น้องประชากรข้ามชาติและคนชาติพันธุ์ให้ได้มากที่สุด
“กฎหมายก็สําคัญเพราะเราเป็นเจ้าหน้าที่ ถ้าเราไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย เข้าข่ายผิดกฎหมายได้ แต่เราก็ไม่สามารถมองข้ามหลักมนุษยธรรม บางทีใช้หลักกฎหมายอย่างเดียวไม่ได้ มนุษยธรรมก็ต้องคำนึงถึงด้วย แต่ท้ายที่สุดก็ต้องไม่กระทบกับความมั่นคงของรัฐ”
ความฝัน เป้าหมาย และอนาคตของเด็กๆ ชัดเจนขึ้นได้หลังจากมีรหัส G พวกเขาเริ่มรู้สึกว่า พวกเขาไม่ใช่คนนอกและพวกเขามีอนาคตได้ เหมือนกับโม ไข่ มะตู ที่มีเป้าหมายของตัวเองเพราะว่าพวกเขามั่นใจการมีตัวตนของตัวเองมากขึ้น
“เด็กมีสิทธิที่ได้รับการศึกษาที่สูงขึ้นได้ มีบางทีที่พวกเขาคิดว่าตัวเองไม่ใช่คนไทย จะไปเรียนหรือรับราชการก็ทำไม่ได้ เขาก็ไม่มีกําลังใจจะเรียนใช่ไหม แต่ถ้าเขารู้ว่าสถานะเขาสามารถพัฒนาได้ เริ่มต้นจากมีเลขรหัส G ก่อน แล้วค่อยพัฒนาไปบัตร 0 แล้วก็อาจจะตามมาด้วยบัตรประชาชน เขาก็เริ่มมีความหวังและมีความตั้งใจที่จะสร้างอนาคตของตัวเองในประเทศไทย”
การมีรหัส G คือสิ่งที่จะเปิดประตูทั้งความฝัน และการเข้าถึงสิทธิสวัสดิการอื่นๆ ให้กับ โม ไข่ มะตู และเด็กชาติพันธุ์หรือประชากรข้ามชาติคนอื่นๆ อีกนับไม่ถ้วน ฉะนั้นแล้ว ความฝันของพวกเขาจึงไม่ควรถูกมองข้าม
“เราอยากเห็นเด็กๆ เข้าโรงพยาบาลได้โดยไม่ต้องกังวล ให้พวกเขาได้เรียนหนังสือและเข้าถึงบริการทางการศึกษาอื่นๆ อย่างน้อยมันยังเป็นพื้นฐานที่เราปูให้เด็กแข็งแรงได้ เราถึงเชื่อเสมอว่าการศึกษาจะพัฒนาคน ระบบบริการสุขภาพที่ดีจะทําให้สุขภาพแข็งแรง เมื่อคนหนึ่งคนสุขภาพแข็งแรง ครอบครัวก็แข็งแรง ชุมชนก็แข็งแรง สังคมก็แข็งแรง ฉะนั้น เราเลยอยากให้ความสําคัญกับคนเหล่านี้ทุกคน” ส้มทิ้งท้าย