ทีมฟุตซอลของเด็กติด G จากกาญจนบุรี ที่ไม่มีบัตรประชาชน : คุยกับนักเตะรุ่นจิ๋วไร้สัญชาติที่มีความฝันอยากเป็น ‘คริสเตียโน โรนัลโด’

สนามกีฬา เป็นสิ่งแรกที่เตะตาเราหลังเหยียบเท้าเข้า โรงเรียนบ้านดงโคร่ง ขนาดที่กว้างขวางเหมือนกินพื้นที่ส่วนใหญ่ของโรงเรียน  คงทำให้เด็กๆ รู้สึกสนุกกับการทำกิจกรรมต่างๆ ในสนามนี้

โรงเรียนบ้านดงโคร่ง เป็นโรงเรียนที่ขนาดไม่เล็ก แต่ก็ไม่ใหญ่มาก มีประชากรนักเรียนอยู่ประมาณ 130 คน ทำให้ถูกตั้งตำแหน่งเป็นโรงเรียนขนาดกลาง ตั้งอยู่ในตำบลหินดาด อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี และเพราะที่กาญจนบุรีประชากรมีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ เช่น มอญ พม่า ลาว กะเหรี่ยง โรงเรียนบ้านดงโคร่งก็เลยเป็นโรงเรียนที่มีนักเรียนหลากหลายชาติพันธุ์เข้ามาเรียน 

‘ดงเดียวกัน สานฝันเป็นหนึ่ง’ คือคำขวัญของโรงเรียนบ้านดงโคร่ง ที่อธิบายความเป็นสถานศึกษานี้ได้ดีที่สุด

เด็กเกือบครึ่งหนึ่งของบ้านดงโคร่งมีสิ่งที่เรียกว่า ‘G’ ติดอยู่ที่บัตรประจำตัว เด็กติด G คือ เด็กที่ไม่มีสัญชาติ พวกเขาอาจเป็นลูกหลานประชากรข้ามชาติ หรือชาติพันธุ์ต่างๆ ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย รหัส G คือ รหัสที่เขาได้ก็ต่อเมื่อเข้าเรียนในสถานศึกษาในประเทศไทย โดยจะใช้ได้แค่ชั่วคราวและครอบคลุมเฉพาะเรื่องของการศึกษาเท่านั้น เลขประจำตัวรหัส G จะไม่ใช่บัตรประชาชน ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิและสวัสดิการได้ตามกฎหมาย อย่างเช่น สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นต้น

ไม่ใช่ทุกโรงเรียนที่จะมีบรรยากาศความหลากหลายแบบนี้ คนที่บอกเล่าเรื่องราวในพื้นที่นี้ได้ดีที่สุดคงเป็นใครไปไม่ได้นอกจาก คณะครู ผู้อำนวยการ และเด็กนักเรียน 

ก่อนจะคุย แน่นอนว่าเราเองก็ไม่ได้ลืมที่จะหยิบขนมติดไม้ติดมือไปฝากเด็กๆ ด้วย  ขนมที่เราเอาไปมีหลายอย่าง เยลลี่ดูจะป๊อบปูลาร์ที่สุด ทุกคนต่างอยากได้ 

‘เอปอ’ เด็กชายชั้นประถมที่สวมเสื้อบอลทับเสื้อนักเรียน ไม่ต้องถามก็รู้ว่าเจ้าตัวน่าจะชอบเล่นกีฬาแน่ๆ 

“น้ำเปล่าครับ” สิ่งที่เอปออยากได้ ไม่ใช่ขนม ด้วยความสงสัยเราเลยถามต่อว่า ทำไมเขาถึงอยากได้น้ำเปล่า

“โรนัลโดเขาไม่กินขนมครับ”

คริสเตียโน โรดัลโด นักฟุตบอลชื่อดังระดับโลกที่ไม่มีใครไม่รู้จัก และยังเป็นนักเตะอับดับหนึ่งในดวงใจของเอปออีกด้วย เป็นเพราะว่านักเตะคนนี้ทำประตูได้เยอะมาก เอปอเลยประทับใจมากกว่านักฟุตบอลคนอื่นๆ และเพื่อได้เป็นนักฟุตบอลระดับแนวหน้า เอปอมีโรนัลโดเป็นไอดอล ตั้งแต่การใช้ชีวิต ยันการเล่นกีฬา

นักฟุตซอล นักฟุตบอล และนักตะกร้อ เป็นอาชีพในฝันของเอปอตอนนี้ แม้จะยังไม่เลือกชัดๆ ว่าอยากทำอาชีพไหนที่สุด แต่ที่เอปอรู้แน่ๆ คืออนาคตเขาต้องมีกีฬาเกี่ยวข้อง  เพราะเป็นกิจกรรมโปรดของเขาเลย

ไม่ได้มีแค่เอปอคนเดียวที่ชื่นชอบกีฬาฟุตซอล ยังมีเพื่อนๆ อีกหลายคนที่เล่นฟุตซอลกับเอปอเป็นประจำ พวกเขามีดีกรีเป็นทีมฟุตซอลของโรงเรียนที่สามารถออกไปคว้าแชมป์การแข่งขัน Street Futsal ในกิจกรรม Olympic Day 2023 ที่จัดโดยคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์

ชัยชนะครั้งนี้มีความหมายมากกว่าครั้งอื่นๆ เพราะนี่เป็นการเปิดตัวให้คนในพื้นที่ได้รับรู้ว่า กาญจนบุรีมีม้ามืดอย่างทีมโรงเรียนบ้านดงโคร่งอยู่ ผู้อำนวยการโรงเรียนบอกกับเราว่า เมื่อก่อนไม่มีใครรู้จักโรงเรียนบ้านดงโคร่งเลย เพราะขนาดไม่ใหญ่และมีเด็กชาติพันธุ์จำนวนมาก แต่พอได้ไปคว้ารางวัลใหญ่ระดับจังหวัด ทุกคนจำชื่อโรงเรียนนี้ได้และเห็นศักยภาพของพวกเขามากขึ้น

‘New Life’ บ้านที่มอบชีวิตใหม่ให้เด็ก

และส่วนหนึ่งก็เป็นเด็กที่อยู่ในบ้าน ‘New Life’ ที่อยู่ในการดูแลของ ‘ตุ๋ย’ อรัญญา นิติวัฒนานนท์ ซึ่งเด็กๆ จะเรียกเธอว่า ‘ครูตุ๋ย’

บ้านชีวิตใหม่ ตั้งอยู่ตำบลเดียวกันกับโรงเรียน ความตั้งใจของตุ๋ยคือการสร้างพื้นที่ปลอดภัยและสร้างอนาคตให้กับเด็กๆ กลุ่มนี้ที่มักประสบปัญหาในชีวิต ไม่ได้เข้าถึงโอกาสมากนัก ตุ๋ยเล่าว่าปัญหาพื้นฐานที่เด็กเจอ คือ  ไม่มีผู้ปกครองคอยดูแล บ้านมีฐานะยากจน บางคนก็เคยถูกทำร้ายมา แต่ที่เป็นปัญหาสำคัญที่สุด คือ การเป็นเด็กไม่มีสัญชาติ

“เด็กไม่ได้มีชีวิตที่สวยหรู พวกเขามีอะไรอยู่ในใจที่เราฟังแล้วรู้สงสาร มีเด็กคนหนึ่งเคยพูดกับเราว่า ‘ครูรู้มั้ยหนูโดนอะไรมา ใครก็ๆไม่เอาผม และก็ตีผมด้วย’ เราเห็นใจเขามาก เด็กบางคนยอมเดินเท้ามาเป็นวัน เพื่อมาหาเราที่บ้าน”

บ้านหลังนี้เปิดมาร่วม 16 ปีแล้ว ตั้งแต่เปิดมามีเด็กเดินเท้าเข้ามาพักอาศัยประมาณร้อยคน ปัจจุบันที่ยังอยู่ในบ้านมีราว 50 คน ถ้าเป็นเด็กที่เข้ามาใหม่แล้วยังไม่มีบัตร G ตุ๋ยก็จะประสานงานกับโรงเรียน และหน่วยงานอย่างองค์กรส่งเสริมการเข้าถึงการสนับสนุนด้านสุขภาพและสังคม (APASS) เพื่ออย่างน้อยเด็กๆ จะมีบัตร G ได้ เพราะการมีบัตร G มันช่วยให้ทั้งเด็กและบ้าน New Life ก้าวไปข้างหน้าได้มากยิ่งขึ้น

“พอเด็กได้บัตร G มาที่เห็นได้ชัดเลย คือ เขามั่นใจขึ้น มันดีตรงที่เด็กรู้ว่าอนาคตตัวเองเป็นอะไรได้บ้าง ไม่ต้องมาหลบๆ ซ่อนๆ เพราะตัวเองไม่มีเอกสารยืนยันตัวตน เราก็ช่วยดูว่าเขาถนัดด้านไหน และสนับสนุนให้เขาทำตามที่ชอบได้ เช่น มีเด็กอยากเป็นช่าง เราก็เอาจักรยานเก่าที่มีอยู่ให้เขาลองดัดแปลง ใช้เครื่องมือ ฝึกฝนทักษะของตัวเองไปด้วย จนตอนนี้ที่บ้านมีเด็กที่เรียนสูงๆ ออกไปได้ทุนถึงปริญญาเอก”

เพราะความรักและเอาใจใส่ที่ตุ๋ยมอบให้เด็กๆ เมื่อวันหนึ่งที่พวกเขาเติบโตและออกจากบ้านไป พวกเขาก็ยังห่วงใยและกลับมาสนับสนุนบ้าน New Life อยู่เสมอ ตุ๋ยบอกกับเราว่าเธอภูมิใจมากที่เด็กๆ เรียนรู้จะให้ในวันที่เขาพร้อม

โรงเรียนของเราน่าอยู่ เพราะมีคุณครูที่เข้าใจเด็ก

ว่ากันว่าโรงเรียนคือบ้านหลังที่สอง ประโยคนี้ใช้ได้จริงกับโรงเรียนบ้านดงโคร่งเสมอ เพราะคุณครูและ ‘ตุ่ม’ วัณทิพย์ภร ขาวผ่อง ผู้อำนวยการโรงเรียน ต่างก็ช่วยกันดูแลเด็กให้พวกเขามีเติบโตไปมีอนาคตได้ดีที่สุด บ้างดงโคร่งเปิดสอนสำหรับชั้นอนุบาล 2 ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 

ผอ.ตุ่มเดินมาพร้อมกับใบหน้ายิ้มแย้ม เราถามหาที่มาของรอยยิ้มนี้จนได้รับรู้มาว่า เป็นยิ้มที่มาจากความตื่นเต้น ที่วันนี้เธอจะได้บอกเล่าเรื่องราวของเด็กๆ ในโรงเรียนให้คนภายนอกได้ฟัง เธอหวังว่าเมื่อบทสนทนาในวันนี้จบลง ศักยภาพและความสามารถของเด็กๆ จะได้ถูกนำเสนออกไปให้คนภายนอกได้รับรู้มากขึ้น รวมไปถึงสถานการณ์ของเด็กไร้สัญชาติที่ยังอยู่ในขั้นตอนการช่วยเหลือ จะเป็นที่จับตามองมากขึ้นอีกด้วย

ยิ้มในวันนี้ยังเป็นยิ้มที่มาจากความดีใจที่ค้างอยู่มานานหลายอาทิตย์ เนื่องจากเด็กๆ ไร้สัญชาติได้ไปคว้ารางวัลชนะเลิศการแข่งกีฬา Street Futsal มาได้ เป็นความดีใจที่ได้เห็นเด็กๆ ประสบความสำเร็จด้วยความสามารถของตัวเอง

ผอ.ตุ่มเล่าให้เราฟังว่า ความท้าทายของโรงเรียนที่มีเด็กหลายชาติ คือการทำอย่างไรให้เด็กชาติพันธุ์รู้สึกว่า พวกเขาไม่ได้ด้อยค่าไปกว่าคนอื่น หรือไม่ได้มีความสำคัญน้อยไปกว่าคนอื่น ‘ความเท่าเทียม’ คือ สิ่งที่บุคลากรพยายามสร้างให้มีในโรงเรียน เพราะมันช่วยให้เด็กเหล่านี้กล้าคิด กล้าทำ และกล้าแสดงออกมากขึ้น แต่ทั้งหมดจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยถ้าเด็กๆ ขาดบัตรประชาชนที่เอาไว้ยืนยันตัวตนไป เพราะถ้าไม่มีพวกเขาก็ทำอะไรไม่ได้เลย แม้แต่ออกไปข้ามเขตก็ทำไม่ได้ 

เด็กที่นี่ส่วนใหญ่จะมีบัตร G ที่เอาไว้ใช้ยืนยันตัวตัน ทำกิจกรรม และใช้เรียน ดูเผินๆ ก็น่าจะพอดีแล้วสำหรับเด็ก แต่อย่าลืมว่า เรื่องอื่นๆ อย่างสวัสดิการด้านสุขภาพ พวกเขายังอยู่ห่างไกลจากการเข้าถึงอยู่มาก บัตรรหัส 0 เท่านั้นที่จะทำให้เข้าถึงได้

“ถ้าเป็นเด็กติด G ปัญหาที่เจอคือเรื่องการเข้าถึงสุขภาพของเด็ก เมื่อเด็กเจ็บป่วยมีปัญหาตรงที่ไม่มีสิทธิในการรักษา ครูและผู้บริหารก็ต้องมาช่วยกัน ควักตังค์ตัวเองช่วยเด็กไป ถ้าหนักมากก็ต้องขอบริจาค เคยมีเคสเด็กผ่าตัดที่เราก็ขอรับบริจาค โชคดีที่ยังได้รับการช่วยเหลือ การเป็นเด็กติด G พอไปถึงโรงพยาบาลเขาก็บอกเลยว่าไม่มีสิทธิรักษา แต่หากพวกเขาได้เปลี่ยนจาก G เป็น 0 จะมีสิทธิในการรักษา แบบนั้นโรงเรียนก็สบายใจในการรับเด็กด้วย อย่างน้อยก็อุ่นใจว่า เด็กเราไม่สบายก็พาไปรักษาได้”

“เมื่อพูดไทยไม่ได้ ก็จะไม่แสดงออกอะไรเลย” ผอ.ตุ่มบอกกับเรา เด็กชาติพันธุ์ไม่เหมือนกับเด็กไทย เนื่องจากไม่ได้ใช้ภาษาไทยเป็นภาษาหลัก การสื่อสารของพวกเขาจึงค่อนข้างติดขัด เมื่อพูดไม่ค่อยได้ เด็กหลายคนก็เลือกที่จะไม่พูดไปเลย ทำให้กลายเป็นคนที่ไม่กล้าแสดงออก 

‘ความฝัน’ ยิ่งเลือนรางลง เมื่อรู้ว่าตัวเองไม่มีบัตรประชาชน พวกเขาก็รู้สึกว่าตัวเอง ‘ด้อย’ กว่าคนอื่น ทำให้คอยหลบอยู่ในมุมมืด และมักไม่เปิดเผยตัวเองมากนัก 

เมื่อคิดว่าตัวเองไม่สำคัญ และเป็นคนที่ด้อยกว่าคนอื่น แต่ก่อนจะมีบัตร G เด็กชาติพันธุ์จะไม่กล้าฝันอะไรมากนัก เขาไม่มีแรงบันดาลใจให้เรียนต่อ หรือไม่รู้ว่าโตไปแล้วอยากทำอาชีพอะไร เพราะแค่ไม่มีบัตรก็ทำอะไรไม่ได้มาก อนาคตก็กลายเป็นเรื่องที่พวกเขาก็ปล่อยให้โชคชะตานำพาไปเอง

83% ของเด็กไร้สัญชาติได้รับบัตร G สำเร็จแล้วภายในระยะเวลา 2 เดือน

เพื่อให้ประโยชน์กับเด็กๆ มากที่สุด ทั้งนายอำเภอ โรงเรียน องค์กรส่งเสริมการเข้าถึงการสนับสนุนด้านสุขภาพและสังคม (APASS) และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ต่างร่วมกันยกระดับชีวิตของเด็กเหล่านี้ให้มีบัตรประจำตัว เพื่อให้พวกเขาไม่ต้องใช้ชีวิตในความกลัวอีกต่อไป

เริ่มต้นจากการให้เด็กที่ไร้สัญชาติอยู่ในโรงเรียน จากนั้นสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ก็จะส่งเอกสารให้คุณครูกรอกข้อมูลของเด็กที่ไม่มีสถานะทั้งหมดในโรงเรียน เสร็จแล้วส่งให้หน่วยงานท้องถิ่น และจากนั้นจึงส่งไปยังสพฐ. เพื่อให้กำหนดค่า G มาให้ สุดท้ายพอได้ค่า G มา เด็กๆ ก็ได้เข้ามาสู่ระบบการศึกษาแบบมีตัวตนแล้ว

กระบวนการได้บัตรจะต้องอาศัยความร่วมมือทั้งหน่วยงานภายในและภายนอก ถ้าหากขาดฝ่ายไหนไปอาจทำให้กระบวนการล่าช้า และส่งผลกระทบต่อชีวิตของเด็กเหล่านี้ได้ ผอ. ตุ่มบอกด้วยว่า เป็นเรื่องดีที่นายอำเภอทองผาภูมิมีนโยบาย ให้อำเภอนี้เป็นพื้นที่นำร่องเรื่องของการพัฒนาสถานะให้กับเด็กไร้สัญชาติ

ปี 2566 ประเทศไทยมีเด็กไร้สัญชาติอยู่ราว 9 แสนกว่าคน มี 82,000 คนที่ได้สิทธิด้านการศึกษาจากการมีบัตร G ซึ่งบัตร G นี้เป็นมาตรการที่ออกจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ เพื่อให้เด็กไร้สัญชาติเข้าถึงสิทธิที่มากขึ้น แต่การได้รับสถานะบุคคลตามกฎหมายจะเกี่ยวข้องกับ กระทรวงมหาดไทย ซึ่งก็มีมาตรการเพื่อทำให้คนกลุ่มนี้สามารถเข้าถึงกระบวนการขอสถานะได้  (อ่านเพิ่มเติมได้ที่ 5784.pdf (dopa.go.th))

บัตรค่า G ต่างกับบัตรค่า 0 ตรงที่บัตรค่า G เป็นสถานะนักเรียนที่ไม่มีบัตรประชาชนคนไทย ใช้บัตรใบนี้เพื่อมีสถานะในระบบการศึกษาเพียงเท่านั้น แต่บัตรค่า 0 คือ  บัตรประจำตัวบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน สำหรับกลุ่มชาติพันธุ์ที่เข้ามาอาศัยในประเทศไทย ซึ่งจะถูกบันทึกไว้ในทะเบียนราษฎร์ และเมื่อได้บัตรนี้มาแล้ว พวกเขาสามารถพัฒนาสถานะต่อให้มีบัตรประชาชนไทยต่อในอนาคต

‘ส้ม’ วันดี มณีมงคลกาญจน์ ผู้รับผิดชอบโครงการแรงงานข้ามชาติ APASS Thailand บอกกับเราว่าในกาญจนบุรีมีเด็ก 1,479 คนที่ต้องการบัตร G แต่ยังไม่ได้รับ แต่พอหลายฝ่ายร่วมมือกัน เด็กๆ ก็ได้รับบัตร G กันรวดเร็วมากขึ้น จากที่ต้องใช้เวลาร่วม 4-5 ปี ในการทำบัตร G ให้กับเด็กชาติพันธุ์ ตอนนี้แค่เพียง 2 เดือน เด็กๆ ก็ไดับัตร G กันแล้ว ปัจจุบันมีเด็ก 1,221 คนที่เข้าส่วนกระบวนการรับบัตร G สำเร็จแล้ว

“หลังจากมีบัตร เราเห็นได้ชัดเลยคือเด็กมีความมั่นใจมากขึ้น เราพูดกับเด็กว่า ในอนาคตไม่แน่เด็กๆ อาจจะเปลี่ยนไปมีบัตรไทยเลยก็ได้ และเด็กจะได้ทำสิ่งที่อยากทำแน่นอน คำพูดแบบนี้สร้างกำลังใจให้เขา เขาก็ตั้งใจเรียนมากขึ้น เห็นได้ชัดเลยว่าเขามีความหวังกับอนาคตตัวเองมากยิ่งขึ้น แตกต่างจากเมื่อก่อนที่เด็กๆ มองว่าแค่อ่านออกเขียนได้พอแล้ว สื่อสารให้ไม่โดนหลอกก็พอ”

ผอ. ทิ้งท้ายว่าในฐานะคนเป็นครู ก็อยากให้เด็กเรียนสูงๆ อยากให้เขามีอนาคตที่เลือกเองได้ และหวังเป็นอย่างว่ายิ่งค่า G ที่เด็กๆ มีอยู่ในอนาคตจะเปลี่ยนเป็น 0 และเป็นไปได้พวกเขาอาจจะเป็นได้เปลี่ยนเป็นสัญชาติไทยตามที่หลายคนฝัน

ถ้วยรางวัล เสียงเชียร์ และไก่ทอดเคเอฟซีที่โรงเรียนซื้อให้ เป็นบทสรุปการแข่งขันของทีมฟุตซอลเด็กติด G ในวันนั้น เอปอเล่าด้วยรอยยิ้มว่า “วันที่แข่งมีเพื่อนๆ ไปเชียร์ด้วย พอชนะครูก็ประกาศชื่อพวกเราหน้าเสาธง ผมชอบคำชมจากครู ครูบอกว่าพวกเราเก่งและบอกให้เราขยันเล่นต่อไป ผมก็จะเล่นต่อไปครับ”

การที่ได้เห็นความมุ่งมั่นของเด็ก G ที่ยืนยันจะสานฝันเส้นทางนัดฟุตซอลของตัวเองต่อ เป็นสิ่งที่บ่งบอกได้ดีว่าเด็กเหล่านี้ยังไม่ทิ้งอนาคต และการมีบัตรประจำตัวมันมีความหมายต่อพวกเขาจริงๆ

     3 ขั้นตอนเบื้องต้นในกระบวนการแก้ไขปัญหาสถานะบุคคลของเด็กติด G ไปเป็นบัตร 0

  • กระทรวงศึกษาธิการส่งข้อมูลนักเรียนเด็ก G และเมื่อได้รับการตรวจสอบเรียบร้อยแล้ว ส่งต่อให้สำนักทะเบียนกลาง และสำนักทะเบียนท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง
  • เมื่อได้รับข้อมูลแล้ว ส่งต่อไปที่โรงเรียนเพื่อให้มีการตรวจสอบตัวตนและคัดกรองอีกขั้น เพื่อส่งต่อไปยังสำนักทะเบียนอำเภอ หรือสำนักทะเบียนท้องถิ่นเขต ให้บันทึกข้อมูลและจัดทำทะเบียนประวัติบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน เป็นบุคคลประเภท 0
  • ประสานต่อโรงเรียนให้พานักเรียนมาทำเลขประจำตัว 13 หลัก ประเภท 0 และตรวจสอบสอบโดยนายทะเบียนอีกครั้ง

อ้างอิง:

www.thaipbs.or.th

www.theactive.net

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

ระบุข้อความ