‘บ้านพูนสุข’ บ้านที่สบายใจของคนไร้บ้าน

“มันเป็นพื้นที่ที่ทําให้รู้สึกว่าอยู่แล้วสบายใจ ไม่วุ่นวายในแต่ละวัน ก็เหมือนกับชื่อของบ้านแหละเนอะ”

‘พิม’ (นามสมมติ) เล่าให้เราฟังถึงความรู้สึกที่เธอมีต่อบ้านหลังปัจจุบัน ‘บ้านพูนสุข’ 

บ้านหลังนี้ตั้งอยู่ในจังหวัดปทุมธานีมีพื้นที่ประมาณ 3 ไร่กว่าๆ เพื่อต้อนรับสมาชิกที่ผลัดเปลี่ยนเวียนเข้ามาอยู่เรื่อยๆ พิมบอกว่าระบุจำนวนคนไม่ได้เป๊ะ แต่ ณ วันนี้มีสมาชิกพักอาศัยอยู่ประมาณ 40 คน ซึ่งที่มาและเหตุผลที่เขาเลือกจะอยู่ที่นี่ก็แตกต่างกันไป

บ้านพูนสุข เป็นหนึ่งในศูนย์พักพิงของคนไร้บ้าน ที่เกิดจากการทำงานร่วมกันระหว่างกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) และภาคประชาสังคม ที่ตั้งใจสร้างศูนย์ให้ ‘คนไร้บ้าน’ บริหารกันเอง เพราะพวกเขาเชื่อว่าการจัดการโดยคนไร้บ้านจะตรงจุดและสามารถช่วยเหลือคนอื่นๆ ได้

เราอยากชวนทุกคนไปเยี่ยมเปิดบ้านพูนสุขด้วยกัน สำหรับคนที่นี่บ้านไม่ใช่แค่ที่พักอาศัยเท่านั้น แต่เป็นที่เติมพลังและเป็นหลักประกันว่าพวกเขาจะสามารถกลับมาตั้งหลักชีวิตได้ใหม่

บ้านพูนสุขจะแบ่งเป็นโซนที่พักอาศัย ซึ่งมีด้วยกัน 2 ส่วน ส่วนแรก ‘ห้องพักประจำ’ สำหรับคนที่เพิ่งเข้ามาอยู่ใหม่ เป็นตึกขนาด 2 ชั้นที่มีห้องพักอยู่ประมาณ 20 ห้อง กับอีกส่วน ‘ห้องมั่นคง’ ที่ขนาดห้องใหญ่ขึ้น แยกออกมาอยู่อีกบริเวณหนึ่ง ห้องพักตั้งเรียงรายติดกัน 8 ห้อง ห้องพักส่วนนี้จะสำหรับคนที่เริ่มตั้งต้นได้และอยากขยับขยายที่พักตัวเอง

ค่าใช้จ่ายพิมบอกว่า จะมีค่าห้องและค่าน้ำ-ไฟ ถ้าห้องพักประจำอยู่ที่เดือนละ 200 บาท ห้องมั่นคง 400 บาทต่อเดือน ค่าน้ำ-ไฟไม่แน่นอนในแต่ละเดือน และเป็นค่าใช้จ่ายที่พิมบอกว่าเยอะที่สุด จึงต้องเอามาหารเฉลี่ยกับสมาชิกทุกคน 

บริเวณหน้าบ้านพูนสุขมีที่ว่างเปล่า พิมตัดสินใจปล่อยให้คนเช่าขายอาหาร เพื่อนำเงินค่าเช่ามาสนับสนุนค่าน้ำ-ไฟอีกทาง

ระหว่างที่เดินอยู่ในโซนห้องพักประจำ ก็มีคุณลุงคนหนึ่งที่เห็นเราแล้วเชิญชวนให้มาดูห้องพักของเขา 

เจ้าตัวออกปากก่อนว่า ของในห้องอาจจะเยอะและดูไม่เรียบร้อยหน่อย เพราะตัวเองพักอยู่คนเดียว แต่ถามว่าเขาชอบที่นี่หรือไม่ มีเพียงรอยยิ้มที่ปรากฏบนใบหน้าแทนคำตอบ

คุณลุงเสื้อฟ้าที่นั่งอยู่บริเวณเดียวกันก็ชวนเราไปคุยด้วยต่อ ทำให้ได้รู้ว่าคุณลุงออกมาจากบ้านเพื่อหางานทำ แต่เกิดอุบัติเหตุที่ทำให้เสียขาไปหนึ่งขา แล้วก็จับพลัดจับผลูได้มาอยู่ที่นี่ 

ปวดขาบ้างไหม? เราถามคุณลุง ซึ่งเขาตอบว่ามีปวดบ้าง ต้องอาศัยกินยาช่วย ตัวคุณลุงเองไม่ได้ทำอะไรนอกจากพักอยู่ที่นี่ เนื่องจากร่างกายและอายุที่มากขึ้น

พิมบอกว่า 70% ของคนในบ้านพูนสุขเป็นผู้สูงอายุและคนพิการ ทำให้การหางานทำเพื่อจะช่วยในการตั้งหลักชีวิต สำหรับคนที่นี่เป็นเรื่องยาก พิมพยายามหางานที่พวกเขาสามารถทำได้ เช่น ตัดหญ้าในบ้าน หรือทำของขาย ตอนนี้ที่กำลังทำขายอยู่คือ ‘ยาดม’ ที่พวกเขาตั้งชื่อว่า ‘ยาดมพูนสุข’ ตามชื่อบ้าน ส่งไปขายตามงานต่างๆ ที่มีโอกาสได้ไป 

ผู้พักอาศัยมีสิทธิ์เต็มที่ที่จะจัดการห้องตัวเองตามแต่ใจปรารถนา บางคนปล่อยให้บริเวณด้านหน้าห้องตัวเองโล่งๆ ปราศจากข้าวของ บางคนก็เอารองเท้าหรือของอื่นๆ ที่ใส่ในห้องไม่พอ เอามาไว้ข้างนอกแทน

บางห้องตากผ้าไว้ข้างหน้าห้องเพื่อความสะดวก บางคนก็เลือกไปตากข้างหลังบ้านแทน

“ยังฟังได้อยู่นะ”

สองสาวที่น่าจะอยู่ในวัยเกษียณบอกกับเรา เพราะเห็นเรามองไปที่วิทยุของเธอ สาวๆ บอกว่าชอบฟังวิทยุทุกวัน บางทีก็ฟังเพลง ฟังข่าว ฟังสิ่งที่อยากฟัง นับเป็นกิจกรรมหนึ่งของสมาชิกบ้านพูนสุข

ช่วงเย็นๆ หลังเลิกงาน แต่ละคนในบ้านก็จะไปทำสิ่งที่อยากทำ บางคนนอนพักเอาแรง บางคนก็นั่งดูทีวีที่อยู่ในบริเวณส่วนกลางของบ้าน

“มีรับจ้างทั่วไป ไปรับเหมาก่อสร้าง หรือไปทำงานโรงแรมที่เราหาให้ ใครสะดวกทำอะไรเขาก็จะไปทำกัน บางคนได้งานประจำทำในห้างฯ ก็มี” 

พิมบอกว่า ‘งาน’ เป็นสิ่งที่คนบ้านพูนสุขมองหาและต้องการ แม้ว่าบางส่วนอาจจะมีตัวเลือกงานน้อยเนื่องจากสภาพร่างกาย แต่ทุกๆ คนก็ยังคงพยายามหางานทำ เพื่อได้เงินเป็นต้นทุนชีวิต สุดท้ายพอเขาจะได้ออกจากบ้านพักชั่วคราวนี้ ไปเริ่มต้นชีวิตแบบที่ตัวเองต้องการอีกครั้ง

พวกเขาอาจไม่ต้องกลัวหรือกังวลว่า ชีวิตจะกลับมาอยู่จุดนี้ไหม เพราะหลายๆ คนเชื่อว่า ในอนาคตถ้าพวกเขาต้องกลายเป็นคนไร้บ้านอีก จะยังมีที่พักพิงเช่นนี้ และตัวพวกเขาเองจะสามารถหาทางกลับมาตั้งหลักได้อีกครั้ง

Shares:
QR Code :
QR Code