คนแปลกหน้าที่มีพลังบวกให้แก่กัน : Rao.asia ชุมชนออนไลน์เพื่อช่วยคนที่เจอเหตุการณ์กระทบจิตใจ ได้ก้าวข้ามและเสริมพลังไปพร้อมกัน

“คนแปลกหน้าที่มีข้อความดีๆ ให้แก่กัน”

คำนิยามที่ ‘แพรว’ ทิพย์เกษร สุตันคำ มีให้กับ Rao.asia (เรา) ชุมชนออนไลน์ที่เกิดขึ้นใหม่ล่าสุด

แพลตฟอร์มเราเกิดจากความร่วมมือระหว่างแผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ สมาคมเพศวิถีศึกษา ร่วมกับองค์กรออกแบบการสื่อสารเพื่อสังคม ไซด์คิก (Sidekick) พร้อมเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต โดยการสนับสนุนจากสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ (สำนัก 9) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

พื้นที่นี้เกิดขึ้นโดยมีเป้าหมายว่า เป็นพื้นที่ปลอดภัยในโลกออนไลน์ เพื่อให้ผู้หญิงที่เผชิญกับเหตุการณ์กระทบกระเทือนทางร่างกายและจิตใจ ได้ก้าวข้าม พร้อมกับเสริมพลังตัวเองให้แข็งแรงไปด้วยกัน ซึ่งตัวแพลตฟอร์มเพิ่งเสร็จจากขั้นตอนเปิดให้ทดลองใช้งาน และกำลังจะเปิดให้คนทั่วไปได้เข้าไปดูในวันที่ 25 พฤศจิกายนนี้ ถือเป็นวันยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงสากล (International Day for the Elimination of Violence Against Women)

ภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. บอกว่า ผลสำรวจสถานการณ์ความรุนแรงต่อเด็กและผู้หญิงพิการ ปี 2564 พบว่า มีการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ประมาณร้อยละ 29 และประเทศไทยมีสถิติความรุนแรงต่อผู้หญิงสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ผู้หญิงถูกล่วงละเมิดไม่น้อยกว่า 7 คนต่อวัน ขณะที่มีผู้หญิงที่เข้ารับการบำบัดรักษา แจ้งความร้องทุกข์ ประมาณปีละ 30,000 คน  

ตุลย์ ปิ่นแก้ว ผู้ก่อตั้งไซด์คิก บอกว่า สิ่งที่คนที่เผชิญกับเหตุการณ์กระทบกระเทือนจิตใจต้องการมากที่สุด คือ พื้นที่ให้พวกเขาได้ระบายสิ่งที่พบเจอ และการเสริมพลังในตัวเอง (Empowerment) พื้นที่ ‘เรา’ จึงเกิดขึ้นมา

แพรวเป็น 1 ใน 270 คนที่เข้าร่วมทดลองใช้แพลตฟอร์มดังกล่าว ส่วนใหญ่จะเป็นนักศึกษาและคนที่เพิ่งเริ่มต้นทำงาน (first jobber) ซึ่งเพื่อนเป็นคนแนะนำให้แพรวรู้จักกับโครงการนี้ เพราะแพรวเองก็เป็นคนหนึ่งที่เคยเผชิญกับเหตุการณ์ที่กระทบจิตใจ

“แพรวเป็นคนที่โดนคุกคามค่อนข้างที่จะบ่อย ไม่ว่าจะคุกคามทางเพศ หรือคุกคามรูปแบบอื่นๆ ช่วงที่เรียนมหา’ลัย เราก็เจอกับเหตุการณ์ที่มันสะเทือนใจค่อนข้างจะหนักมาก

“มีครั้งหนึ่งที่เราจะไปเข้าห้องน้ำในห้าง มันเป็นห้างที่เงียบมากๆ มีผู้ชายคนหนึ่งเดินตามมา จะเดินเข้าห้องน้ำตามเรา แต่มีพี่ผู้หญิงเขาทักก่อน เขาเลยออกไป แต่เรากลัวมาก ต้องขังตัวเองไว้ในห้องน้ำ 2 ชั่วโมง”

ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากถูกคุกคาม ส่งผลต่อจิตใจของแพรวค่อนข้างมาก ทำให้เธอตัดสินใจเข้ารับการรักษากับจิตแพทย์ แต่เธอบอกอย่างตรงไปตรงมาว่า การรักษาไม่ได้ตรงตามที่เธอคาดหวัง อาจจะเพราะจำนวนจิตแพทย์ที่มีน้อยกว่าจำนวนคนไข้ ทำให้หมอใช้เวลารักษาคนไข้อย่างรวดเร็ว การรักษาก็เน้นไปที่รับยามากกว่าการพูดคุย ซึ่งเป็นสิ่งที่แพรวอยากได้

การได้เข้าร่วมทดลองใช้แพลตฟอร์มเรา แพรวบอกว่าเป็นตัวช่วยหนึ่งที่ทำให้เธอสามารถรับมือกับเหตุการณ์นี้ได้ เธอเล่าว่า ชุมชนนี้จะมีกิจกรรมหลากหลายอย่างให้ทำ เช่น เรียนภาษาเกาหลี เรียนแต่งหน้า ศิลปะบำบัด ได้พูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญที่ช่วยเรื่องการดูแลจิตใจ แล้วก็มีกลุ่มแชทออนไลน์ที่ให้สมาชิกได้พูดคุยกัน ที่ไม่ต้องมีการระบุตัวตน ทำให้แพรวรู้สึกมั่นใจที่จะโพสต์เรื่องราวของตัวเอง และให้คำแนะนำคนอื่นๆ

“ด้วยความที่มันสามารถไม่ระบุตัวตนได้ ถ้าเราเล่าไปก็จะไม่มีใครรู้ว่าเป็นเรา เราก็เลยกล้าที่จะเล่า ในนั้นไม่มีใครเห็นหน้า หรือรู้จักเราเลย เหมือนเล่าให้คนแปลกหน้าฟัง ไม่มีใครรู้หรอกว่าเราเป็นใคร”

“ถ้าเล่าให้ครอบครัวหรือเพื่อนฟัง พวกเขารู้จักเรา ฉะนั้น คำแนะนำหรือทางออกมันก็จะไม่ได้เยอะมาก เขาจะแนะนำสิ่งที่มันน่าจะเข้ากับเราอยู่แล้ว เราก็ลองทำตามนะ อาจจะได้ผลหรือไม่ได้ผลบ้าง ส่วนเพื่อนในสังคมออนไลน์ เวลาเขาแนะนำทางออกหรือให้ความคิดเห็นมันจะมีมากมาย มีทางออกหลายทาง เพราะเขาไม่ได้รู้จักเรา ทำให้เราได้ลองเยอะขึ้น อาจช่วยให้เราดีขึ้น แม้จะไม่ 100% แต่มันก็จะมีดีสักทาง”

การได้ระบายและได้รับคำแนะนำ หรือกำลังใจกลับไป อาจช่วยแพรวได้ แต่ขณะเดียวกันก็ยังมีคนอื่นๆ ที่เขามาระบายเช่นกัน บางเรื่องอาจคล้ายกับแพรว หรือรุนแรงกว่า นั่นจะส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจของแพรวหรือไม่ การรับรู้เรื่องราวเหล่านี้ แพรวบอกเราว่า ไม่เลย เพราะความอยากช่วยคนอื่นๆ มีมากกว่า แพรวบอกว่า ที่ตัวเธอเองสามารถก้าวข้ามเหตุการณ์ที่เจอมาได้ เหตุผลหนึ่งเพราะความช่วยเหลือของสมาชิกคนอื่นๆ ทำให้เธอไม่ลังเลใจที่จะส่งต่อความช่วยเหลือนี้ไปให้คนอื่นๆ 

สำหรับแพรว การมีอยู่ของแพลตฟอร์มเรา ทำให้มีพื้นที่ให้คนที่เจอเรื่องคล้ายๆ เธอได้มีที่ระบาย ถูกรับฟัง และได้รับคำแนะนำหรือกำลังใจกลับไป โดยที่ไม่มีใครรู้ตัวตนของพวกเขา ที่สำคัญพื้นที่นี้ทำให้พวกเขารับรู้ว่า ตัวเองไม่ได้โดดเดี่ยว ไม่ได้เผชิญเหตุการณ์ลำพัง หรือมีแต่ตัวเองที่ต้องเจอเรื่องนี้ ยังมีคนอื่นๆ ที่พร้อมจะฟังและให้ความช่วยเหลือ

“ใครที่กำลังเจอเหตุการณ์แย่ๆ กระทบกระเทือนจิตใจของเราอยู่ ขอให้ลองเปิดใจพูดคุยกับคนรอบตัว หรือเข้ามาคุยที่ rao.asia ได้นะ เพราะอย่างน้อยการพูดคุยกับใครสักคนจะทำให้เรารู้สึกดีขึ้น เราไม่ได้โดดเดี่ยว ยังมีคนที่อยากให้กำลังใจ หรือคอยช่วยเหลือเรา” แพรวทิ้งท้าย

หากใครสนใจสามารถเข้าไปร่วมชุมชน ‘เรา’ ได้ที่ rao.asia 

 

 

อ้างอิง

thaihealth.or.th

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

ระบุข้อความ