เครือข่ายวิชาการ-ภาคประชาสังคม เปิดข้อเสนอนโยบายบำนาญพื้นฐานฯ รองรับผู้สูงวัยในภาวะพึ่งพิง
5 เมษายน 2566 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเวทีเสวนา ‘เปิดข้อเสนอ…นโยบายผู้สูงอายุและการรองรับสังคมสูงวัย’ ภายใต้โครงการส่งเสริมพัฒนาการจัดการข้อมูลความรู้ ด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ สังคม พร้อมข้อเสนอนโยบายจากภาคีเครือข่ายวิชาการและภาคประชาสังคมสู่การปฏิบัติ สำหรับการเลือกตั้ง 2566 ที่ใกล้จะถึงนี้
ในเวทีพูดคุยแลกเปลี่ยนได้เปิดประเด็นเรื่องระบบบำนาญและสิทธิขั้นพื้นฐานที่ผู้สูงอายุพึงได้รับ เริ่มจาก ศาสตราจารย์ ดร.วรเวศม์ สุวรรณระดา คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงวิธีการสร้างหลักประกันของผู้สูงอายุว่า ต้องเปลี่ยนฐานคิดจากเบี้ยยังชีพเป็นบำนาญพื้นฐานสำหรับผู้สูงอายุ เพราะเบี้ยยังชีพเสมือนการสงเคราะห์ ขณะที่จำนวนเงินเบี้ยยังชีพจาก 600-1,000 บาทต่อเดือนต่อคน ก็ต้องเพิ่มขึ้นให้เพียงพอสำหรับการให้เงินบำนาญพื้นฐาน ซึ่งเป็นบทบาทหน้าที่ที่รัฐต้องบริหารจัดการต่อไป
ศ.ดร.วรเวศม์ อธิบายเพิ่มว่า เดิมทีเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเป็นแนวคิดแบบสงเคราะห์ซึ่งจะต้องมีการคัดกรองคุณสมบัติของผู้รับสิทธิ์ แต่ในปัจจุบันเบี้ยยังชีพเปลี่ยนรูปแบบเป็นระบบสวัสดิการพื้นฐานที่ให้สิทธิ์กับผู้สูงอายุทุกคน โดย ศ.ดร.วรเวศม์ เสนอว่า ในอนาคตควรมีการเสริมสวัสดิการด้านอื่นๆ สำหรับกลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้สูงอายุอย่างถ้วนหน้า
ถัดมา นายแพทย์ถาวร สกุลพาณิชย์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสาธารณสุข แสดงความเห็นว่า การจัดสรรงบประมาณสำหรับระบบบำนาญผู้สูงอายุสามารถทำได้หลายแนวทาง อาทิ เงินภาษี จัดตั้งกองทุน และเงินออมส่วนตัวที่ใครออมมากหรือทำงานมากก็จะได้รับบำนาญมากขึ้น นพ.ถาวร ยกตัวอย่างประเทศฝรั่งเศสที่ใช้แนวคิดแบบร่วมทุกข์ร่วมสุข คือเชิญชวนให้คนทำงานในบางวันเพื่อเติมเงินเข้ากองทุนบำนาญและจะได้รับสิทธิพิเศษ
มากไปกว่านั้น นพ.ถาวร ขยายความถึงประเด็นกองทุนสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง ซึ่งจะมีการดูแลช่วยเหลือทั้งในด้านการบริการทางสังคม สุขภาพ และค่ายังชีพ เนื่องจากลักษณะโครงสร้างครอบครัวที่เล็กลง ทำให้ปัญหานี้ไม่สามารถจัดการได้ภายในครัวเรือน ดังนั้น ชุมชนต้องมีบทบาทเข้ามาช่วยมากขึ้น ขณะที่ค่าใช้จ่ายการดูแลผู้อยู่ในภาวะพึ่งพิง 1 คน อยู่ที่ประมาณ 18,000 บาท ซึ่งสามารถแก้ไขด้วยการสร้างหลักประกันหรือ ‘ลงขัน’ ที่รัฐควรนำเงินไปจัดสรรเป็นบำนาญเพื่อดูแลผู้สูงอายุทั้งระยะสั้นและระยะยาว ซึ่งเป็นหลักคิดของการเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข ทั้งนี้ นพ.ถาวร เน้นย้ำว่า โจทย์หลักคือทำให้ผู้สูงอายุในภาวะพึ่งพิงสามารถอยู่ได้ด้วยตัวเอง
ทางด้านภาครัฐ กอบกุล กวั่งซ้วน ตัวแทนกรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ชี้แจงว่า ค่าใช้จ่ายในการดูแลผู้ที่อยู่ในภาวะพึ่งพิงอาจสูงขึ้นกว่านั้น โดยขณะนี้ พม. ได้เน้นไปที่การให้ความรู้ครัวเรือนที่มีผู้สูงอายุ จัดอบรม และช่วยเหลือผ่านอาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) ในแต่ละจังหวัด
สำหรับบทบาทของท้องถิ่นต่อการดูแลผู้สูงอายุ ศาสตราจารย์ศศิพัฒน์ ยอดเพชร ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสังคมศาสตร์ ชี้ว่ารัฐควรให้ความสำคัญกับผู้สูงวัยที่มีอายุ 60-79 ปี เนื่องจากเป็นกลุ่มใหญ่ที่มีสัดส่วนมากถึงร้อยละ 70 ของผู้สูงอายุทั้งหมด และอาจเตรียมความพร้อมให้ผู้สูงอายุกลุ่มนี้มีระยะพึ่งพิงเพียง 1-3 ปี เพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถช่วยเหลือตัวเองได้และลดการป่วยติดเตียงให้น้อยที่สุด
ศ.ศศิพัฒน์ อธิบายว่า การบริการส่วนท้องถิ่นตาม พ.ร.บ.กระจายอำนาจ กำหนดให้ท้องถิ่นมีหน้าที่สงเคราะห์คนชราและติดตามสิทธิของผู้สูงอายุ รวมถึงการบริการสาธารณะ ซึ่งการตีความกฎหมายขึ้นอยู่กับวิสัยทัศน์ของผู้นำท้องถิ่นเป็นหลัก ฉะนั้น แนวทางการช่วยเหลือผู้สูงอายุจึงอาจไม่มีหลักปฏิบัติที่ชัดเจน ทำให้หน่วยงานท้องถิ่นมีความกังวลกับข้อกฎหมาย
ศ.ศศิพัฒน์ ยกตัวอย่างว่า ศูนย์บริการผู้สูงอายุในชุมชนแห่งหนึ่งสามารถทำให้คนในพื้นที่มีสุขภาพดีขึ้น เช่น โรคเบาหวานลดลง แต่ถูกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เรียกตรวจสอบ เนื่องจากมองว่าท้องถิ่นไม่มีอำนาจทำหน้าที่นี้ แม้คดีความจะจบลงด้วยชัยชนะของท้องถิ่น แต่สิ่งนี้สะท้อนว่า ความคลุมเครือของกฎหมายมีปัญหาหลายประการ
สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหาเรื่องระเบียบข้อบังคับต่างๆ กอบกุล กวั่งซ้วน ระบุว่า ขณะนี้กำลังปรับปรุงกฎระเบียบเพื่อให้ท้องถิ่นสามารถทำงานได้อย่างราบรื่นขึ้น รวมถึงมีการจัดทำข้อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีในหลายมิติและบูรณาการร่วมกับหลายหน่วยงาน
อย่างไรก็ดี ในวาระเลือกตั้ง 2566 นพ.ถาวร เห็นว่า นโยบายบำนาญหรือนโยบายสำหรับผู้ที่อยู่ในภาวะพึ่งพิงจะเป็นจริงได้ก็ต่อเมื่อถูกประกาศใช้เป็นกฎหมาย ดังนั้น นโยบายต้องชี้ชัดว่าจะถูกนำไปพัฒนาเป็นกฎหมายอย่างไร และมีเป้าหมายเพื่อแก้ไขปัญหาอะไร
ทางด้าน ศ.ดร.วรเวศม์ ทิ้งท้ายด้วยการฝากข้อคิดว่า ที่ผ่านมาสังคมไทยยังไม่เคยวาดภาพของสังคมผู้สูงอายุ เพราะไม่เคยนำผู้สูงอายุมาเป็นศูนย์กลางของการออกแบบนโยบาย จึงทำให้โครงการต่างๆ กลายเป็น ‘โครงการเบี้ยหัวแตก’ ถึงอย่างไร ความคาดหวังของสังคมก็ต้องการช่วยเหลือผู้สูงอายุในระยะยาว เพื่อให้ผู้สูงอายุพึ่งพิงตัวเองได้ และเป็นอนาคตของสังคมไทยเช่นกัน
ทั้งนี้ เครือข่ายพัฒนาและขับเคลื่อนนโยบายผู้สูงอายุและสังคมสูงวัย เสนอนโยบายผู้สูงอายุและการรองรับสังคมสูงวัย โดยสามารถนำไปสู่การปฏิบัติได้ทันที ดังนี้
- สร้างระบบบำนาญพื้นฐานถ้วนหน้า ให้เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ผู้สูงอายุพึงได้รับทุกคนอย่างเพียงพอตามความต้องการด้านปัจจัย 4 หรือเส้นความยากจน
- ส่งเสริมการจ้างงานผู้สูงอายุที่เหมาะสมกับวัยและประสบการณ์ทั้งแรงงานในระบบในสถานประกอบการต่างๆ และแรงงานนอกระบบ ให้ความสำคัญการพัฒนาทักษะ (re-skill, up-skill) โดยภาครัฐต้องเป็นหน่วยงานนำร่องในการจ้างงานผู้สูงอายุ
- จัดตั้งกองทุนดูแลผู้สูงอายุในภาวะพึ่งพิง เพื่อเป็นกลไกด้านการเงินในการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุทั้งในระยะยาวและระยะสุดท้าย
- ปฏิรูประบบการดูแลผู้สูงอายุในระดับพื้นที่ ให้มีศูนย์สุขภาวะ/ศูนย์สร้างสุขภาพ/ศูนย์ชุมชนสุขภาพดี/ศูนย์อเนกประสงค์ 1 ศูนย์ต่อ 1 ตำบล และจัดให้มีเครือข่ายบริการในหลายลักษณะทั้งรัฐและเอกชน โดยมีหน่วยงานกลางหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการประสานความร่วมมือจากองค์กรในชุมชนและหน่วยบริการสุขภาพ
- สังคยานาบทบาทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้านงานผู้สูงอายุและการรองรับสังคมสูงวัย
- สร้างสภาพแวดล้อมและระบบขนส่งสาธารณะที่เข้าถึงได้และปลอดภัยสำหรับผู้สูงอายุ
- สร้างเสริมศักยภาพผู้สูงอายุในด้านเทคโนโลยี ให้ผู้สูงอายุสามารถใช้บริการสัญญาณอินเทอร์เน็ตได้ถ้วนหน้าโดยไม่มีข้อจำกัด