สำรวจทัศนคติสังคมไทย สู่ข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อคุ้มครองผู้สูงอายุ
เมื่อสังคมไทยก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างเต็มรูปแบบ สิ่งที่ผู้สูงวัยต้องเตรียมเผชิญเมื่อเข้าสู่การเปลี่ยนผ่านของช่วยวัยคือ การไม่ได้รับการยอมรับนับถือ การถูกเลือกปฏิบัติ ถูกด้อยค่า หรือถูกลดความสำคัญลง
สถานการณ์เช่นนี้ส่งผลให้ผู้สูงอายุกลายเป็นกลุ่มเปราะบางในสังคมที่จำเป็นต้องได้รับการคุ้มครองและปฏิบัติอย่างเหมาะสม ควบคู่ไปกับภารกิจการส่งเสริมค่านิยมที่คนในสังคมมีต่อผู้สูงอายุให้ไปในทางที่ดีขึ้น
จากผลการศึกษา ‘ทัศนคติ การปฏิบัติ และตัวแบบในการส่งเสริมค่านิยมที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุในสังคมไทย’ ของ รองศาสตราจารย์ ดร.วรรณลักษณ์ เมียนเกิด อาจารย์คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุผลการศึกษาด้านค่านิยมของกลุ่มคนหลากหลายช่วงวัย พบว่า ทุกช่วงวัยมีทัศนคติเชิงบวกในการแสดงความกตัญญูต่อผู้สูงอายุ แต่อีกด้านหนึ่งก็พบทัศนคติเชิงลบอยู่ โดยสาเหตุและผลกระทบอันเนื่องมาจากความเสื่อมถอยของค่านิยมที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุ มีดังนี้
สาเหตุ
- การรับวัฒนธรรมและแนวคิดทางตะวันตกมาใช้
- การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างครอบครัวและรูปแบบการเลี้ยงดู
- เทคโนโลยีและการสื่อสาร
- การงานและเศรษฐกิจ
- ความเจริญและสิ่งอำนวยความสะดวก (ความเป็นเมือง)
- การไม่เท่าทัน/ไม่พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลง
ผลกระทบ
- ความห่างเหินจนไม่เข้าใจกันของคนต่างวัย
- การรังเกียจและเลือกปฏิบัติ
- ไม่เคารพนับถือ ก้าวร้าว
- การทอดทิ้งผู้สูงอายุ ขาดความใส่ใจ
- การหลอกลวงเอาทรัพย์สินเงินทองจากผู้สูงอายุ
- การทำร้ายผู้สูงอายุ
ส่งเสริมค่านิยมเชิงบวกต่อผู้สูงวัย
ด้วยสาเหตุและผลกระทบดังกล่าว รศ.ดร.วรรณลักษณ์ จึงได้นำเสนอข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่จะช่วยส่งเสริมค่านิยมที่คนวัยอื่นๆ มีต่อผู้สูงอายุ เพื่อให้ได้รับการปฏิบัติจากคนในสังคมอย่างเหมาะสม และทำให้ผู้สูงอายุรู้สึกถึงคุณค่าในตัวเอง
- ภาครัฐควรทบทวนและมีกลไกในการส่งเสริมค่านิยมที่เกี่ยวกับผู้สูงอายุให้ทันสมัย
- ควรมีนโยบายการส่งเสริมการยอมรับความแตกต่างและอยู่ร่วมกันอย่างเท่าเทียม
- ควรบูรณาการหน่วยงาน/องค์กรภาครัฐ เอกชน ท้องถิ่น และภาคประชาชน ร่วมกันขับเคลื่อนกิจกรรมร่วมกันของบุคคล 3 ช่วงวัย เพื่อสร้างความเข้มแข็งและความอบอุ่นในครอบครัว
- ควรมีนวัตกรรมเพื่อสร้างความเข้าใจความเป็นผู้สูงอายุได้ในลักษณะเชิงประจักษ์แก่กลุ่มช่วงวัยต่างๆ (เจเนอเรชัน X Y Z)
- ควรส่งเสริมการสร้างระบบการคุ้มครองและเฝ้าระวังมิให้ผู้สูงอายุถูกปฏิบัติอย่างไม่เหมาะสมและถูกทอดทิ้ง
ที่มา:
‘ทัศนคติ การปฏิบัติ และตัวแบบในการส่งเสริมค่านิยมที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุในสังคมไทย’ โดย รศ.ดร.วรรณลักษณ์ เมียนเกิด อาจารย์คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นำเสนอในการประชุมเพื่อคืนข้อมูลและวิพากษ์ผลการศึกษาสู่การพัฒนาตัวแบบในการปฏิบัติและคุ้มครองผู้สูงอายุ เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2566