คำกล่าว : ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ในช่วงพิธีเปิดงานการประชุมวิชาการและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เสียงที่คนอื่นไม่ได้ยิน : ประชากรกลุ่มเฉพาะ ครั้งที่ 2 “2nd Voice of the voiceless: the vulnerable populations”
“งานเสียงที่คนอื่นไม่ได้ยิน ครั้งที่ 2 มีเป้าหมายที่จะรวบรวมเสียงสะท้อนจากมุมสำคัญนี้ และสื่อสารประเด็นลดความเหลื่อมล้ำทางสุขภาพในช่วงทศวรรษต่อไปในการทำงานของ สสส. ที่จะเน้นการสร้างผลลัพธ์ทางสุขภาพ ขยายผลต้นแบบงานสร้างเสริมสุขภาพสำหรับประชากรกลุ่มเฉพาะ ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ทุกภาคส่วน ผ่านการผลักดันนโยบาย ผ่านกระบวนการเรียนรู้ และการสื่อสาร รวมถึงสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีและระบบดิจิทัลเพื่อสร้างเสริมสุขภาพ ที่ก็ต้องคำนึงถึงการลดความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัลในกลุ่มประชากรที่ขาดโอกาสควบคู่ไปด้วย” – ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
.
คำกล่าวส่วนหนึ่งในช่วงพิธีเปิดงานการประชุมวิชาการและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เสียงที่คนอื่นไม่ได้ยิน : ประชากรกลุ่มเฉพาะ ครั้งที่ 2 “2nd Voice of the voiceless: the vulnerable populations” ภายใต้เเนวคิด “ก้าวสู่สุขภาวะที่เป็นธรรม รับฟังทุกเสียงอย่างเท่าเทียม” เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา ณ ห้อง Grand diamond อิมแพ็ค ฟอรั่ม เมืองทองธานี กทม.
.
ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมงานประชุมวิชาการฯกว่า 3,800 คน และปาฐกถาในหัวข้อ “ทศวรรษต่อไปของ สสส. กับการลดความเหลื่อมล้ำทางสุขภาพ” ว่าตลอด 20 ปี ที่ผ่านมา สสส. ไม่ใช่องค์กรที่ขับเคลื่อนสังคมโดยลำพัง แต่เป็นองค์กรเปิดให้กับทุกภาคส่วนได้เข้ามาทำงานร่วมกันสร้างเปลี่ยนแปลง เกิดโครงการนวัตกรรมสังคมทางสุขภาพ ตลอดจนเจ้าหน้าที่และอาสาสมัคร แต่ในขณะเดียวกันประเทศไทยยังคงมีอัตราผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) โดยสาเหตุหลักมาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต ซึ่งแนวทางแก้ไขปัญหาจะมุ่งเน้นที่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมดังกล่าว ซึ่งสอดคล้องกับวิจัยของมหาวิทยาลัยเบิร์กลีย์ที่พบว่า สุขภาพของคนขึ้นอยู่กับระบบบริการทางสุขภาพเพียง 10% ในขณะที่สุขภาพ 90% นั้นขึ้นอยู่กับพฤติกรรมของคนและสิ่งแวดล้อม
.
เป้าหมาย 10 ปีของ สสส. นั้น ไม่เพียงคาดหวังให้ค่าเฉลี่ยของประชากรทั่วไปนั้นดีขึ้น แต่หมายรวมถึงประชากรกลุ่มเฉพาะด้วย สำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ (สำนัก 9) สสส. จึงเป็นหน่วยงานหลักคอยขับเคลื่อนแผนงานร่วมกับภาคีเครือข่ายเพื่อส่งเสริมสุขภาพให้กับประชากรกลุ่มเฉพาะ ตัวอย่างเช่น การเกิดกฎหมายการจ้างงานคนพิการ สนับสนุนให้เกิดจุดประสานงานคนไร้บ้านในแต่ละจังหวัด โดยมีทิศทางการทำงานข้างหน้า ด้วยการมุ่งเน้นการสร้างผลลัพธ์ทางสุขภาพอย่างก้าวกระโดด ขยายผลต้นแบบงานสร้างเสริมสุขภาพสำหรับประชากรกลุ่มเฉพาะ ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม รวมถึงการใช้เทคโนโลยีและระบบดิจิทัลเพื่อสร้างเสริมสุขภาพ โดยคำนึงถึงการลดความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัลในกลุ่มประชากร เพื่อสร้างและรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างเท่าทันได้ในอนาคต
.
ติดตามเรื่องราวเเละรับฟังเสียงของพวกเราได้ที่
Voice of the Voiceless 2nd : https://section09.thaihealth.or.th/voiceofthevoiceless2nd/
WEBSITE : https://section09.thaihealth.or.th/
YouTube : https://www.youtube.com/channel/UC1Tm-YdvZCUTJ7mYlTdd-Ng