ห้องย่อย 3: เมืองที่ไม่ทิ้งใคร

                           เมืองที่ไม่ทิ้งใคร (Inclusive city) ต่างก็เป็นเมืองที่หลายเมืองใฝ่ฝัน เมืองที่ออกแบบมาเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงพื้นที่และบริการทั้งหมดในเมืองได้อย่างสะดวกและไร้รอยต่อ ซึ่งการสร้างเมืองไม่ทิ้งใครไม่ใช่เรื่องง่าย หลายเมืองไม่รู้จะเริ่มสร้างอย่างไร จะต้องใช้กระบวนการ กลยุทธ์และวางแผนอย่างไรท่ามกลางข้อจำกัดที่มีอยู่อย่างมากมาย การจัดเวทีเสวนาในครั้งนี้จะนำเอาผู้บริหารเมืองและระบบขนส่งสาธารณะมาพูดคุยกันเพื่อนำเอาบทเรียน ประสบการณ์ ปัญหา อุปสรรคและความสำเร็จในการสร้างเมืองไม่ทิ้งใครมาเล่าสู่กันฟัง สร้างแรงบันดาลใจรวมถึงให้แนวทางในการพัฒนาแก่เมืองอื่นๆ ที่สนใจจะพัฒนาเมืองเพื่อคนทั้งมวล

กำหนดการ

Sapphire 205

เวลา กิจกรรม
12.30-13.30 น. ลงทะเบียน
13.30-14.30 น. สสส.ขับ…ภาคีเคลื่อน: อารยสถาปัตย์เพื่อคนทั้งมวล
โดย คุณกฤษนะ ละไล ประธานมูลนิธิอารยสถาปัตย์เพื่อคนทั้งมวล
14.30-15.00 น. นิทรรศการเมืองไม่ทิ้งใครและกิจกรรมนำเข้าสู่การเสวนาเมืองที่ไม่ทิ้งใคร
15.00-16.30 น. เสวนาเรื่อง “เมืองในอนาคตควรเป็นแบบไหน เมืองอัจฉริยะ เมืองน่าอยู่ หรือเมืองที่ไม่ทิ้งใคร”
  • เมืองดีเด่นด้านการออกแบบเมืองเพื่อคนทั้งมวลของประเทศญี่ปุ่นสร้างได้อย่างไร
    ตัวแทนจากเทศบาลเมือง Akashi ประเทศญี่ปุ่น
  • กรุงเทพ…เมืองท่องเที่ยว เมืองอัจฉริยะ เมืองน่าอยู่ หรือเมืองที่ไม่ทิ้งใคร
    ตัวแทนจากกรุงเทพมหานคร
  • ทิศทางและอนาคตการพัฒนาเมืองรอบสถานีขนส่ง (TOD) ของประเทศไทย
    ตัวแทนจากสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร
  • ผู้ดำเนินรายการ: นายสว่าง ศรีสม
    ประธานฝ่ายแผนงานและโครงการ ภาคีเครือข่ายขนส่งมวลชนทุกคนต้องขึ้นได้ (T4A)
    16.30-17.00 น. เสียงจากเครือข่ายเมืองที่ไม่ทิ้งใคร : ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อเมืองที่ไม่ทิ้งใคร

    “อารยสถาปัตย์” แนวคิดการออกแบบเมืองน่าอยู่
    อย่างเท่าเทียมโดยทุกคน เพื่อทุกคน

    อารยสถาปัตย์ หรือ Universal Design เป็นเรื่องที่ถูกพูดถึงอย่างกว้างขวางมากขึ้นในสังคมไทย เป็นการออกแบบที่ทำให้ทุกคนมีสภาพแวดล้อมที่ดี ใช้ชีวิตอย่างสะดวกสบาย สามารถที่จะเดินทางเชื่อมต่อจากสถานที่หนึ่งไปยังอีกสถานที่ได้อย่างราบรื่น และสามารถเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ได้อย่างเท่าเทียม และแน่นอนว่าการผลักดันเรื่องนี้ต้องใช้เวลาและต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในสังคม  

    ในที่ประชุมวิชาการและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เสียงที่คนอื่นไม่ได้ยิน : ประชากรกลุ่มเฉพาะ ครั้งที่ 2 ห้องประชุมย่อย “เมืองที่ไม่ทิ้งใคร: เมืองในอนาคตควรเป็นแบบไหน เมืองอัจฉริยะ เมืองน่าอยู่ หรือเมืองที่ไม่ทิ้งใคร” ภาคีเครือข่ายและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในและต่างประเทศได้ร่วมแลกเปลี่ยนถึงบทบาทและประสบการณ์ในการขับเคลื่อนเรื่องนี้ ทั้งยังมองว่าอารยสถาปัตย์ จะสำเร็จได้ถ้าทุกฝ่ายขับเคลื่อนร่วมกันและให้ความสำคัญกับเสียงของผู้ใช้งานและประชาชน

    คุณมาซามิ ทสึจิ ผู้จัดการด้านการวางแผนและประสานนโยบายเทศบาลเมืองอาคาชิ ประเทศญี่ปุ่นให้ข้อมูลว่าในปี 2022 เมืองอาคาชิได้กำหนดเทศบัญญัติไม่ทิ้งใคร โดยมีวัตถุประสงค์สร้างสังคมเพื่อคนทั้งมวลที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ขจัดการเลือกปฏิบัติต่อคนพิการและสร้างสังคมที่ทุกคนสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสบายใจ ประชาชนทุกคนให้เกียรติและเคารพซึ่งกันและกัน ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วนและให้ความสำคัญกับความเห็นของคนพิการในพื้นที่

    “เราพยายามออกแบบเมืองตามแนว Universal Design และกรอบกฎหมาย barrier-free เพื่อทุกคนสามารถเดินทางได้อย่างอิสระและปลอดภัย โดยไม่แบ่งแยก แต่เทศบาลจะดำเนินการฝ่ายเดียวไม่ได้ เราต้องรับฟังข้อคิดเห็นของคนในพื้นที่และความต้องการของคนพิการด้วย ในขณะเดียวกันเราต้องขอความช่วยเหลือจากองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น สมาคมท่องเที่ยว กรมการค้า เพื่อปรับปรุงพื้นที่สาธารณะ นอกจากนี้ต้องประสานงานระหว่างหน่วยงานที่ดูแลรถไฟ รถเมล์ แท็กซี่ ผู้ดูแลถนนและสัญญานไฟจราจร ตำรวจ ทุกคนต้องช่วยกันผลักดัน barrier-free ครบวงจร คนพิการจึงจะสามารถเดินทางได้อย่างอิสระ”  

    คุณดำรงฤทธิ์ พรหมณีวัฒน์ ผู้อำนวยการทางส่วนวิศวกรรมทาง 2 สำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กรุงเทพมหานครมีแผนการปรับปรุงพื้นที่ตามหลักอารยสถาปัตย์ ตามแผนพัฒนากรุงเทพมหานคร ระยะ 20 ปี และให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของประชาชน

    “นโยบายผู้ว่ากรุงเทพมหานครและแผนพัฒนากรุงเทพมหานคร ระยะ 20 ปี ทางเท้าต้องสะอาดเป็น ระเบียบ แข็งแรง คงทน มีมาตรฐานความปลอดภัย มีห้องน้ำสาธารณะที่ดี มีสภาพแวดล้อมที่ดีเพื่อการเข้าถึงพื้นที่สาธารณะ ออกแบบอาคารให้เหมาะสมกับทุกคนในสังคม พัฒนาปรับปรุงภูมิทัศน์ คลอง แม่น้ำเพื่อให้เป็นแหล่งพักผ่อนและใช้สอย เช่น การปรับปรุงพระปกเกล้าสกายปาร์ค สวนสาธารณะเหนือแม่น้ำเจ้าพระยา ที่มีลิฟต์ขนส่งและทางลาดสำหรับผู้ใช้วีลแชร์ ฯลฯ นอกจากนี้กรุงเทพมหานครได้นำการออกแบบอารยสถาปัตย์มาใช้กับการก่อสร้างอาคารต่าง ๆ ปรับปรุงให้อาคารมีทางลาดเข็นวีลแชร์ เช่น การปรับปรุงสำนักงานเขต ซึ่งมีการสำรวจและปรับปรุงไปแล้ว 30 เขต การปรับปรุงศูนย์สาธารณสุข 28 ศูนย์ จาก 40 ศูนย์ ส่วนศูนย์เยาวชนและโรงพยาบาลอยู่ระหว่างการสำรวจและออกแบบ ทั้งนี้กรุงเทพมหานคร โดยสำนักงานโยธาฯ ได้จัดทำมาตรฐานทางเท้าใหม่ โดยอาศัยความร่วมมือจากภาคประชาชนออกแบบเพื่อเป็นทางเท้าสำหรับทุกคนในสังคม”

    คุณสุรพงษ์ เมี้ยนมิตร รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร กระทรวงคมนาคม กล่าวว่า การพัฒนาพื้นที่ตามแนวคิด TOD (Transit Oriented Development : การพัฒนาพื้นที่รอบสถานีรถไฟฟ้าหรือระบบขนส่งมวลชนในระยะประมาณ 600 เมตร) เพื่อให้เกิดการเข้าถึงของคนทั้งมวลอย่างเท่าเทียมไม่อาจสำเร็จได้โดยการทำงานของกระทรวงคมนาคมโดยลำพัง แต่ทุกภาคส่วนทั้ง ผังเมือง ชุมชน ท้องถิ่น ต้องทำงานร่วมกัน และต้องเลือกพัฒนาศักยภาพบางส่วนของพื้นที่เพื่อควบคุมการพัฒนาภายใต้หลักการ “เมืองน่าอยู่”

    “ถามว่าทำไมต้องมีการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีรถไฟ? เรามีรถไฟฟ้าผ่านเส้นหนึ่ง มีสถานีรถไฟฟ้า แต่บริเวณแถวนั้นเราเข้าถึงไม่ได้ คนทั้งมวลเข้าถึงไม่ได้ เพราะว่ามีการพัฒนาขึ้นมาโดยไม่มีการควบคุม อาจจะมีคอนโดสูงขึ้นมาปิดหมดเลย ไม่มีทางเท้า ไม่มีพื้นที่สีเขียว จึงทำให้เกิดปัญหาด้านการจราจรและสิ่งแวดล้อมตามมา เราใช้ยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่ง ระยะ 20 ปีเป็นกรอบในการดำเนินการทุกโครงการ ต้องเป็นการขนส่งที่เข้าถึงได้อย่างเสมอภาคและเท่าเทียม เพื่อให้เป็น Universal Design จริง ๆ”

    ในขณะที่ คุณกฤษณะ  ละไล ประธานมูลนิธิอารยสถาปัตย์เพื่อคนทั้งมวล มองว่าประเทศไทยยังมีอารยสถาปัตย์ไม่เพียงพอ ไม่ทั่วถึง ไม่เท่าเทียม และต้องจัดสภาพแวดล้อมให้เป็นอารยสถาปัตย์ที่เป็นมิตรกับคนทั้งปวง ที่ไม่เฉพาะคนพิการ เพื่อให้ทุกคนใช้ได้อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม ตลอดจนยกระดับเป็นเมืองศูนย์กลางสุขภาพระดับโลก (Medical Hub) ส่งเสริมการเดินทางท่องเที่ยวที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เชื่อมโยงธุรกิจการค้า การขาย การลงทุนและธุรกิจการท่องเที่ยวที่รองรับทุกคน (Tourism for All) โดยผู้นำต้องมีความรู้ความเข้าใจ มีแนวคิดที่เติบโตไปข้างหน้า และบริหารให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องขับเคลื่อนและเดินหน้าสู่อารยสถาปัตย์ เมืองท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวลร่วมกัน

    “เรามีเป้าหมายให้ 77 จังหวัดทั่วประเทศเป็นเมืองต้นแบบในการเข้าถึงได้ของคนทั้งมวล โดยเริ่มต้นที่สนามบิน เรานำเสนอกระทรวงคมนาคมให้ยกเลิกการใช้บันได แล้วหันมาใช้เทคโนโลยีทางลาดเพื่อการลำเลียงผู้โดยสารอย่างสากล จนได้ทางลาดขึ้นลงเครื่องบิน ในสนามบินต่างจังหวัดทั่วประเทศ 37 แห่ง แต่ปัญหาคือไม่เอามาใช้ เราจึงมีโจทย์สำคัญ 3 ข้อ คือหนึ่ง เราจะช่วยกันต่อสู้ เรียกร้อง ส่งเสริมผลักดันให้กรมท่าอากาศยาน กระทรวงคมนาคม นำทางลาดลำเลียงอำนวยความสะดวกให้ผู้โดยสารทุกคนอย่างปลอดภัย เสมอภาค และเท่าเทียม สองขอให้นักออกแบบ และเจ้าของอาคารสถานที่ทั้งภาครัฐ เอกชนหรือชาวบ้านทั่วไป ได้ออกแบบให้เป็นอารยสถาปัตย์ ให้ทางลาดอยู่ด้านหน้าทุกตึกอาคารที่เป็นพื้นที่สาธารณะ และสาม รณรงค์และยกเลิกการออกแบบที่พิการ คือการออกแบบที่มีทางลาดแบบเสียมิได้ เช่น เอาทางลาดไปซุกไว้ข้างหลัง หายาก ให้นักออกแบบปรับทัศนคติใหม่ให้เอาทางลาดมาไว้หน้าอาคาร”

    อารยสถาปัตย์ จึงไม่ใช่เรื่องของใครคนใดคนหนึ่ง ไม่ใช่หน้าที่ของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง แต่เป็นการออกแบบสภาพแวดล้อมที่ทุกคนต้องขยับและผลักดันร่วมกัน เพื่อให้ทุกพื้นที่สามารถรองรับคนทุกกลุ่มในสังคมได้อย่างเท่าเทียมโดยไม่มีข้อจำกัดและเป็นเมืองน่าอยู่ที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

    เมื่องที่ไม่ทิ้งใคร

    บทความ: งานประชุมวิชาการและแลกเปลี่ยนเรียนรู้เสียงที่คนอื่นไม่ได้ยิน : ประชากรกลุ่มเฉพาะ ครั้งที่ 2 วันที่ 21-23 กุมภาพันธ์ 2566
    โดย บริษัท ออลไรท์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด

    ความคิดเห็น ข้อมูลและบทสรุปที่นำเสนอในห้องย่อย ถือเป็นความคิดเห็นร่วมกันของเครือข่ายในห้องย่อยเท่านั้น
    ทั้งนี้ จะถูกรวบรวมและนำไปเสนอเชิงนโยบายต่อไป

    Please wait while flipbook is loading. For more related info, FAQs and issues please refer to documentation.


    ดาวน์โหลด
    Shares:
    QR Code :
    QR Code

    ใส่ความเห็น

    อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

    ระบุข้อความ