ห้องย่อย 8: แรงงานข้ามชาติกับสิทธิที่ไปไม่ถึง: บทบาทภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม ต่อการคุ้มครอง ส่งเสริม พัฒนา
การทำงานของประชากรข้ามชาติในประเทศไทย กับการเข้าถึงสิทธิแรงงานตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ยังเป็นอุปสรรคที่สวนทางกับนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้การจ้างงานแรงงานข้ามชาติและผู้ติดตามได้รับการคุ้มครองและไม่ถูกเลือกปฏิบัติ ทั้งนี้การดูแลคุณภาพชีวิตและการคุ้มครองแรงงานข้ามชาติให้เข้าถึงสิทธิต่าง ๆ อย่างแท้จริงนั้น เพื่อให้เกิดความสอดคล้องกับ “แนวปฏิบัติการใช้แรงงานที่ดี (GOOD LABOUR PRACTICE)” ซึ่งถือเป็นนโยบายการบริหารแรงงานที่สำคัญของกระทรวงแรงงานและของรัฐบาลไทยมาหลายปี เป็นการเปิดเวทีสาธารณะเพื่อให้เกิดความเข้าใจถึงสถานการณ์ของประชากรข้ามชาติ และนโยบายกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และร่วมกันพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายและกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้มีความสอดคล้องกับความต้องการของกลุ่มประชากรข้ามชาติอย่างแท้จริง
กำหนดการ
Sapphire 109
เวลา | กิจกรรม |
12.30-13.00 น. | ลงทะเบียน |
13.00-13.20 น. | กล่าววัตถุประสงค์ ความเป็นมา และแนะนำองค์กรภาคีร่วมจัดงาน โดย ผศ.ทรงพันธ์ ตันตระกูล รองคณบดีฝ่ายบริหาร คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในฐานะผู้จัดการโครงการฯ บทบาทความร่วมมือองค์กรภาคีดำเนินงาน โดย คุณภัคชนก พัฒนถาบัตร องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน(IOM) คุณพิริยพงศ์ เเจ้งเจนเวทย์ สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) |
13.20-13.45 น. | กล่าวเปิดและบรรยายพิเศษเรื่อง “เเรงงานข้ามชาติ : มูลค่าเเละคุณค่าต่อประเทศไทย” โดย พลเอกนิพัทธ์ ทองเล็ก กรรมการบริหารเเผน คณะที่ 2 สสส. เเละที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ นายมนัส โกศล คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน |
13.45-15.30 น. | เวทีเสวนา “สถานการณ์การเข้าไม่ถึงสิทธิของเเรงงานข้ามชาติ กลุ่มอาชีพต่าง ๆ บทบาทภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม ต่อการคุ้มครอง ส่งเสริม พัฒนา” ผู้อำนวยการกองคุ้มครองแรงงานนอกระบบ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน คุณมงคล สุขเจริญคณา ประธานสมาคมการประมงเเห่งประเทศไทย คุณสมมาส สุภาผล ประธานกลุ่มสับปะรดเเปลงใหญ่ คุณบัณฑิตย์ ธนชัยเศรษฐวุฒิ นักวิจัยอิสระ คุณศุกาญจน์ตา สุขไผ่ตา มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (HRDF) คุณเมียน เวย์ มูลนิธิร่วมมิตรไทย-พม่า คุณชูวงค์ แสงคง นักวิจัยอิสระ คุณสุชาติ ตระกูลหูทิพย์ มูลนิธิเพื่อสุขภาพและการเรียนรู้ของแรงงานกลุ่มชาติพันธุ์ คุณประสิทธิ์ ธงทัศวรรธนะ สภาคริสตจักรในประเทศไทย คุณสุจิน รุ่งสว่าง ประธานสมาพันธ์ศูนย์ประสานงานเเรงงานนอกระบบเเห่งประเทศไทย ดำเนินรายการโดย ดร.กฤษฎิ์ กาญจนกิตติ สำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ |
15.30-16.30 น. | แบ่งกลุ่มย่อยระดมความเห็น “ความคืบหน้าทางนโยบาย เเละก้าวต่อไปในการคุ้มครอง ส่งเสริม พัฒนา” นำแลกเปลี่ยนโดย เรือเอกจักรทิพย์ กล่ำเสือ และนายเมียน เวย์ นำแลกเปลี่ยนโดย นายประสิทธิ์ ธงทัศวรรธนะ และ ผศ.ดร.วรางคณา นาคเสน นำแลกเปลี่ยนโดย นายสุชาติ ตระกูลหูทิพย์ และนางศุกาญจน์ตา สุขไผ่ตา นำแลกเปลี่ยนโดย นายกอบ เสือพยัคฆ์ และนายบัณฑิต แป้นวิเศษ นำแลกเปลี่ยนโดย นายประทีป โมวพรหมานุช และนายชูวงค์ แสงคง นำแลกเปลี่ยนโดย นางสาววาสนา ลำดี และนางสาวสุธาสินี แก้วเหล็กไหล |
16.30-17.15 น. | เเต่ละกลุ่มนำเสนอผลจากการเเลกเปลี่ยน (กลุ่มละ 5-7 นาที) |
17.15-17.30 น. | สรุปประเด็นเเละทิศทางการทำงานร่วมกันในอนาคต โดย ผศ.ดร.ทรงพันธ์ ตันตระกูล ผู้จัดการโครงการฯ |
ผู้ดำเนินรายการประจำห้อง นางสาววาสนา ลำดี มูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย และนายบัณฑิต แป้นวิเศษ มูลนิธิเพื่อนหญิง |
ขั้นตอนรัฐ‘ยุ่งยาก-ซับซ้อน’อุปสรรค
‘แรงงานข้ามชาติ’เข้าระบบ-เข้าถึงสิทธิ์
“2 ล้านกว่าคน” เป็นตัวเลขอย่างเป็นทางการของ “แรงงานข้ามชาติ” ในประเทศไทย แต่สำหรับอดีตนายทหารที่ปัจจุบันเกษียณอายุราชการแล้ว ซึ่งในอดีตเคยดำรงตำแหน่งเจ้ากรมกิจการชายแดน อย่าง พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก คณะกรรมการบริหารแผน คณะที่ 2 สสส. และที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ คาดการณ์ว่า จริง ๆ แล้วอาจสูงกว่านั้นมาก
ข้อมูลข้างต้น พล.อ.นิพัทธ์ กล่าวไว้ในการบรรยายพิเศษ เรื่อง “แรงงานข้ามชาติ: มูลค่าและคุณค่าต่อประเทศไทย” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการประชุมวิชาการและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ “เสียงที่คนอื่นไม่ได้ยิน: ประชากรกลุ่มเฉพาะ ครั้งที่ 2 (ห้องย่อย: เวทีสาธารณะ หัวข้อ: แรงงานข้ามชาติกับสิทธิที่ไปไม่ถึง: บทบาทภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม ต่อการคุ้มครอง ส่งเสริม พัฒนา)” โดยเฉพาะด้านตะวันตก พรมแดน “ไทย-เมียนมา” ที่ยังคงมีแรงงานเข้ามาอย่างต่อเนื่องไม่ขาดสาย จากสถานการณ์ในประเทศต้นทางที่ไม่เคยสงบมานานหลายสิบปี
โดยหากติดตามข่าวสารผ่านสื่อมวลชน ก็จะเห็นข่าวตำรวจ-ทหาร ตรึงกำลังลาดตระเวนตามแนวชายแดน เฝ้าระวังและจับกุมบุคคลจากประเทศเพื่อนบ้านที่พยายามข้ามฝั่งมาหางานทำในประเทศไทย ดังนั้นโจทย์สำคัญคือ ทำอย่างไรจะให้แรงงานข้ามชาติเข้าประเทศไทยได้อย่างถูกต้อง และให้แรงงานข้ามชาติที่เข้าสู่ระบบแล้วได้รับการดูแล
นายมนัส โกศล ประธานสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย ซึ่งร่วมบรรยายพิเศษเรื่องเดียวกับ พล.อ.นิพัทธ์ กล่าวเพิ่มเติมในประเด็น “การเข้าถึงสิทธิประกันสังคมของแรงงานข้ามชาติ” ว่า ปัจจุบันมีแรงงานข้ามชาติอยู่ในระบบประกันสังคมราว 1.28 ล้านคน หากเทียบกับตัวเลขแรงงานข้ามชาติอย่างเป็นทางการราว 2 ล้านคน
เท่ากับว่ามีแรงงานข้ามชาติอีกราว 8 แสนคน ที่ไม่ได้เข้าระบบประกันสังคม ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็น “แรงงานเกษตรตามฤดูกาล” กับ “ลูกจ้างทำงานบ้าน” ที่ปัจจุบันมีกฎกระทรวงยกเว้นไว้ทำให้ไม่ได้เข้าระบบ สิ่งที่ต้องคิดต่อคือจะแก้ไขกฎกระทรวงดังกล่าวได้อย่างไร เพื่อให้แรงงานข้ามชาติที่เข้าเมืองอย่างถูกต้องตามกฎหมายทุกคนเข้าถึงสิทธิประกันสังคม
นอกจากนั้น “สิทธิบำเหน็จประกันสังคมของแรงงานข้ามชาติควรปรับให้เหมาะสมกับสภาพการจ้างงานจริง” กล่าวคือ ปัจจุบันแรงงานข้ามชาติจะอยู่ในประเทศไทยได้ไม่เกิน 4 ปีแล้วต้องถูกส่งกลับประเทศต้นทาง ดังนั้นแม้แรงงานข้ามชาติจะอยู่ไม่ถึง 180 เดือน (หรือ 15 ปี) ซึ่งเข้าเงื่อนไขระยะเวลาส่งเงินสมทบต่อเนื่องแล้วได้บำนาญ แต่ก็ยังมีสิทธิได้รับบำเหน็จ มาก-น้อย แล้วแต่จำนวนเงินสมทบที่จ่ายและระยะเวลาจ่ายเงินสมทบต่อเนื่อง แต่ปัญหาคือกฎหมายระบุว่าจะรับบำเหน็จได้ตอนอายุ 55 ปี แรงงานข้ามชาติที่ต้องกลับประเทศจึงเสียสิทธินี้ไปโดยปริยาย
จากนั้นเป็นเวทีสานเสวนา “สถานการณ์การเข้าไม่ถึงสิทธิของแรงงานข้ามชาติกลุ่มอาชีพต่าง ๆ บทบาทภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม ต่อการคุ้มครอง ส่งเสริม พัฒนา” โดยวิทยากรท่านแรกคือ น.ส.พรรณี รวมทรัพย์ ผู้อำนวยการกลุ่มงานส่งเสริมการคุ้มครองแรงงานนอกระบบ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน รายงานความคืบหน้าของภาครัฐในการปรับปรุงกฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง
อาทิ กฎกระทรวงฉบับที่ 14 (พ.ศ.2555) ว่าด้วยลูกจ้างทำงานบ้าน กำหนดความคุ้มครองวันหยุดประจำสัปดาห์ วันหยุดตามประเพณี วันลา ต่อมายังมีแนวคิดปรับแก้อีก 11 เรื่อง เช่น เพิ่มเรื่องเวลาทำงาน สิทธิความคุ้มครองลูกจ้างหญิงตั้งครรภ์ ไปจนถึงการจ่ายค่าจ้างที่ไม่น้อยกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ปัจจุบันเป็นร่างกฎหมายออกมาแล้ว จากนั้นกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ร่างฯ นี้ส่งรัฐมนตรี จากนั้นให้ทางกฤษฎีกา เมื่อเรียบร้อยก็ส่งกลับมาให้กระทรวงแรงงาน เพื่อให้รัฐมนตรีลงนามประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป
อย่างไรก็ตาม ในมุมมองของ “นายจ้าง” สิ่งที่ต้องการคือ “ช่องทางการนำเข้าแรงงานข้ามชาติที่ถูกต้องตามกฎหมายแบบสะดวก รวดเร็วและราคาไม่แพง” โดยวิทยากร 2 ท่านที่เป็นนายจ้าง คือ นายมงคล สุขเจริญคณา ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย กับ นายสมมาส สุภาผล ประธานกลุ่มสับปะรดแปลงใหญ่อำเภอบางละมุง เห็นตรงกันว่า หากรัฐลดขั้นตอนที่ยุ่งยากซับซ้อนจะได้ประโยชน์ในการลดค่าใช้จ่ายทั้งของนายจ้างและลูกจ้าง ดีกว่าไปบีบให้ใช้บริการ “นายหน้า” ที่มีค่าใช้จ่ายสูง
“จากขึ้นทะเบียนตามมติ ครม. (คณะรัฐมนตรี) ต่า งๆ 2-3 มติที่ผ่านมา ค่าใช้จ่ายอยู่ที่ประมาณ 3-4 พันบาทเท่านั้นเอง แต่บริษัทพวกนี้ (นายหน้าจัดหาแรงงานข้ามชาติ) หมื่นห้าหรือหมื่นสองเป็นอย่างน้อย บางคนได้มาหมื่นสองคุยใหญ่เลยว่าได้ลดราคาถูกจังเลย ซึ่งผมให้น้อง ๆ ที่รู้จักกันไปดูให้ ไปช่วยทำให้ โดยเฉพาะภาคการเกษตร เสียค่าใช้จ่ายประมาณ 5 พันกว่าบาท ก็มีกำไรไปช่วยจ่ายค่าน้ำ-ค่ากาแฟคนช่วยทำ ลองคิดดู 5-6 พันบาท กับ 15,000 บาท มันต่างกันเท่าไร” นายสมมาส ระบุ
เช่นเดียวกับ นายสุชาติ ตระกูลหูทิพย์ มูลนิธิเพื่อสุขภาพและการเรียนรู้ของแรงงานกลุ่มชาติพันธุ์ ที่กล่าวว่า เวทีวันนี้มีประเด็นที่ 3 ฝ่ายทั้งนายจ้าง ลูกจ้าง และภาคประชาสังคม (NGO) เห็นตรงกันคือการลดขั้นตอนและการอำนวยความสะดวกในการขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาติ โดยหลังจากเวทีครั้งนี้ จะต้องมีการร่วมประกาศจุดยืนที่ชัดเจนให้รัฐต้องดำเนินการ ไม่ใช่ปัดทุกอย่างให้เข้าไปสู่ระบบนายหน้า
ด้าน นายชูวงค์ แสงคง นักวิจัยอิสระ กล่าวถึงปัญหา “การทำประกันสุขภาพสำหรับแรงงานข้ามชาติ” ว่า แม้กระทรวงสาธารณสุขส่งเสริมให้ซื้อประกันสุขภาพแรงงานข้ามชาติ ของสาธารณสุข แต่พอไปซื้อจริง ๆ กลับพบเงื่อนไขที่ปฏิบัติตามได้ยาก เช่น ต้องซื้อพร้อมกันทั้งครอบครัว หากครอบครัวหนึ่งมีสมาชิกหลายคนและอยู่ในสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ไม่ดีนักก็ไม่สามารถซื้อได้ ส่วนการเข้าถึงระบบประกันสังคม พบปัญหากิจการขนาดเล็กมีลูกจ้างไม่กี่คน ไม่มีเจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคลเป็นกิจจะลักษณะ ก็มักจะไม่เข้าประกันสังคม แม้กฎหมายจะกำหนดให้ต้องเข้าก็ตาม เนื่องจากมองว่ามีขั้นตอนยุ่งยาก เช่น การหักเงินส่งสมทบ
นางสุจิน รุ่งสว่าง ประธานสมาพันธ์ศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบแห่งประเทศไทย เสนอแนะว่า กระทรวงแรงงาน ควรพัฒนาศักยภาพ “อาสาสมัครแรงงาน” ซึ่งมีบทบาทในการเข้าถึงแรงงานในพื้นที่ เป็น “ด่านหน้า” คอยสื่อสารสร้างความเข้าใจในเรื่องที่แรงงานข้ามชาติควรรู้ เช่น กฎหมายและสิทธิต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ขณะเดียวกัน ระบบการขึ้นทะเบียนแรงงานควรขยายลงไปสู่ระดับจังหวัด เพื่อให้เกิดความสะดวกมากขึ้น
“อาสาสมัครที่อยู่ในพื้นที่ สามารถช่วยและทำเรื่องระบบเหล่านี้เพื่อให้แรงงานข้ามชาติเข้าถึงระบบ ไม่ว่าจะต่อบัตรหรือเข้าถึงการคุ้มครอง มีกฎหมายคุ้มครองไหม มีกฎหมายอะไรบ้าง เข้าถึงประกันสังคมได้ไหม แล้วถ้าเข้าแล้วเขาจะได้อะไรบ้าง หมายถึงเราให้ความรู้เรื่องเหล่านี้ การสร้างความเข้าใจแบบพี่น้องกัน” นางสุจิน กล่าว
บทความ: งานประชุมวิชาการและแลกเปลี่ยนเรียนรู้เสียงที่คนอื่นไม่ได้ยิน : ประชากรกลุ่มเฉพาะ ครั้งที่ 2 วันที่ 21-23 กุมภาพันธ์ 2566
โดย บริษัท ออลไรท์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด
ความคิดเห็น ข้อมูลและบทสรุปที่นำเสนอในห้องย่อย ถือเป็นความคิดเห็นร่วมกันของเครือข่ายในห้องย่อยเท่านั้น
ทั้งนี้ จะถูกรวบรวมและนำไปเสนอเชิงนโยบายต่อไป
Please wait while flipbook is loading. For more related info, FAQs and issues please refer to documentation.
ดาวน์โหลด