มูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย (สสม.) เริ่มปี 2546 โดยการสนับสนุนของ สสส. เริ่มต้นด้วยความตั้งใจ จากการเช่ารถตู้ตระเวณไปในทุกพื้นที่ที่มีมุสลิมอยู่ เพื่อทำความรู้จักและทำความเข้าใจ ให้เราสามารถกลับมาเขียนแผนงานที่จะดูแลคุณภาพชีวิตพี่น้องมุสลิมได้อย่างทั่วถึง

จนเกิดแนวความคิดพัฒนาเขตสุขภาวะมัสยิดครบวงจรขึ้น สืบเนื่องจากการดำเนินโครงการมัสยิดครบวงจร เมื่อประมาณ ปี 2552 ด้วยพันธกิจของมูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย (สสม.) และความหวังที่จะเห็นสังคมมุสลิม ใช้มัสยิดเป็นศูนย์กลางแห่งการเรียนรู้ทุกรูปแบบ โดยเน้นกระบวนการเรียนรู้ผ่านผู้นำองค์กรในพื้นที่ สร้างแนวร่วมกับภาคีเครือข่าย เพื่อขับเคลื่อนสังคมมุสลิมให้มีสุขภาวะที่ดี และยกระดับคุณภาพชีวิตให้มีประสิทธิภาพที่ดียิ่งขึ้น โดยยึดหลักศาสนาและการสร้างกลไกทางสังคม ที่เหมาะสมกับบริบทสังคมมุสลิมไทย นำไปสู่การพัฒนามัสยิดและชุมชนได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืนได้ในทุกมิติ

เสวนา “สุขภาวะดีตามวิถีมุสลิม”
ในช่วงที่ผ่านมาเราทำการศึกษาความไม่เท่าเทียมของกลุ่มมุสลิมไทยใน 3 พื้นที่ ได้แก่ กรุงเทพฯ และปริมณฑล ภาคใต้ตอนบนและตอนกลาง และภาคใต้ตอนล่าง รวมถึงการทบทวนข้อมูลระดับประเทศ
จากการศึกษาในเบื้องต้นพบว่า กลุ่มมุสลิมยังมีปัญหาเรื่องความจน หนี้สิน ปัญหาเรื่องการสูบบุหรี่ และการเป็นโรคต่าง ๆ ทั้งเบาหวาน ความดัน ไขมันในเส้นเลือด ทั้งจากวิถีวัฒนธรรมการรับประทานอาหาร รวมถึงมุสลิมส่วนมากยังไม่ดูแลตนเอง ไม่ตรวจสุขภาพ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ยังเป็นประเด็นที่เรายังต้องติดตามศึกษาต่อไป เพราะในความเป็นจริงเราต้องจัดการกับข้อมูลอย่างละเอียดอีกครั้ง โดยต้องลงพื้นที่เพื่อทราบสาเหตุก่อน จึงจะนำมาวิเคราะห์ เพื่อผลักดันในเชิงแนวคิดและนโยบายต่อไป
อีกทั้งต้องการให้สื่อช่วยนำเสนอสิ่งที่ถูกต้อง และมีการนำเสนอข้อมูลเหล่านี้ให้มากขึ้น โดยมีแนวคิดให้เผยแพร่ในช่วงคุตบะห์วันศุกร์ และสอดแทรกในรายการต่าง ๆ รวมถึงใช้เครื่องมือทางศาสนา เช่น กองทุนซะกาตให้มีการจัดการอย่างเป็นธรรม เพื่อให้ทุกคนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
สรุปประเด็นถามตอบบนเวที
1. เรื่องคนพิการในชุมชนไม่เคยถูกพูดถึง ในมัสยิดหรือวัด สิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการ ยังมีน้อย
2. ทุกวันนี้มีปัญหาเรื่องนโยบายกัญชา ซึ่งยังมีประเด็นที่เราต้องผลักดันต่อไป เราควรมีการพูดคุยในเชิงนโยบายมากขึ้นกว่านี้ โดยเฉพาะนโยบายด้านยาเสพติด ทั้งในเรื่องกัญชา ยาสูบ และอื่น ๆ เพื่อที่จะจัดการปัญหาในระยะยาวได้
3. นำเสนอว่าทุกมัสยิดต้องเริ่มทำข้อมูลแบบนี้บ้าง ว่าในชุมชนของเราทุกคน มีปัญหาสุขภาพ มีคนจน คนป่วย อยู่เท่าไหร่ เพื่อจะได้นำข้อมูลมาวางแผนงานของเราเอง
4. อยากให้มีแผนงานนโยบายเกี่ยวกับการให้ความรู้กับเยาวชนในเรื่องนี้ให้มากขึ้น
5. เราต้องยอมรับว่ามุสลิมเรายังมีคนดื่มสุราจริง เราต้องเรียนรู้และยอมรับเพื่อจะแก้ปัญหาให้ถูกจุด
เล่าสู่กันฟัง “ป่วยเพราะไม่รู้”
“ป่วยเพราะไม่รู้” เป็นหนังสือที่จัดทำขึ้นเพื่อหวังให้พี่น้องมุสลิม มีความรอบรู้ทางสุขภาพ หมายถึงความรู้ความเข้าใจในการดูแลสุขภาพ เป็นทักษะการวางแผนการดูแลสุขภาพของเราทั้งชีวิต ซึ่งพบว่าคนมุสลิมส่วนมากยังไม่เข้าใจโรคต่าง ๆ ขาดความรู้ความเข้าใจในการรับข้อมูล เราจึงพยายามทบทวนประสบการณ์ของผู้คนผ่านกระบวนการสุนทรียสนทนา ซึ่งเป็นกระบวนการพูดคุยเพื่อสร้างบทเรียนที่จะสร้างความรอบรู้ทางสุขภาพที่จะเป็นประโยชน์กับทุกคน
กระบวนการสุนทรียสนทนาดังกล่าวนั้น จำเป็นต้องใช้การจัดการกลุ่มเป้าหมาย โดยแบ่งการทำงานออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่ การทำกลุ่มพูดคุยเป็นกลุ่มใหญ่ การพูดคุยแบบกลุ่มย่อย และการลงพื้นที่สัมภาษณ์ จนเกิดการตกผลึกข้อมูล

และในวันนี้เรามีตัวอย่างมาให้ฟังสั้น ๆ เพื่อให้เห็นว่าบางครั้งอาการป่วยอาจเป็นสิ่งที่เราคิดไม่ถึง “ป่วยเพราะไม่รู้ มีปัญหาแอลกอฮอล์สะสมในตับมากเกินไป ทั้งที่ไม่เคยกินเหล้า แต่จากการใช้สเปรย์ทำผมให้ลูกค้าโดยไม่ได้ป้องกัน ทำให้เกิดการสะสมของแอลกอฮอล์ในตับจนใกล้จะเป็นโรคเบาหวาน จนถึงตับแข็ง จึงต้องเรียนรู้ที่จะดูแลจัดการตนเองให้ดีขึ้น” – กรณีศึกษา คุณกัญตนา โกสิลทร์
สิ่งที่เราคาดหวังอะไรจากการทำหนังสือ
หนังสือเล่มนี้พยายามรวบรวม ความรู้ เรื่องที่เป็นประสบการณ์ เพื่อให้เป็นความรู้ แรงบันดาลใจให้ผู้อ่านได้นำไปใช้ดูแลและพัฒนาตนเอง หนังสือเล่มนี้คือบทเรียนชีวิตของคนแต่ละคน คือช่วงเวลาความเป็นความตายที่แต่ละคนได้เผชิญและนำมาแบ่งปัน จึงมีคุณค่ามาก ๆ แต่สิ่งสำคัญที่สุด นอกจากการเรียนรู้แล้ว เราต้องนำความรู้มาใช้เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตัวเราให้ได้
สุดท้ายนี้เราเชื่อว่า พฤติกรรม ความเชื่อ วิถีชีวิต วัฒนธรรมการกิน เป็นปัจจัยสำคัญส่งผลต่อสุขภาพ เราไม่สามารถย้อนกลับไปในวันที่เราสุขภาพดีได้ แล้วเราจะทำอย่างไรดีที่จะดูแลตัวเองในวันนี้ เท่าทันกับปัญหาที่ก่อตัว ให้เราสามารถดูแล ฟื้นฟู รวมถึงป้องกันให้สุขภาพของเรานั้นแข็งแรงได้ยาวนานที่สุด
