“คนพิการ” ประชากรกลุ่มเฉพาะที่มีมากกว่า 2 ล้านคนทั่วประเทศ และยังเป็นคนพิการสูงอายุถึงร้อยละ 70 ทั้งในเรื่องของประเด็นและจำนวน จึงเป็นเรื่องที่ไม่ควรปล่อยปละละเลยเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะสังคมไทยที่กำลังจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์
เราควรให้ความสำคัญและร่วมกันแก้ไขอย่างจริงจัง เพราะในประเทศไทยคนพิการส่วนใหญ่นั้นขาดแคลนทรัพยากรด้านความรู้ ดังนั้นการช่วยเหลือจากหลายภาคส่วน และมุมมองต่อคนพิการที่สังคมไทยยังต้องปรับปรุง จนมีกลุ่มคนเห็นถึงความสำคัญเกี่ยวกับคนพิการจนมาถึงวันนี้ และเกิดเป็นหัวข้อ “มุ่งสู่มาตรฐานการให้บริการคนพิการโดยชุมชน / คิด เห็น ทำ อย่างไร ให้ใจเกินร้อย” โดยมีสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับเครือข่ายคนพิการ ญาติ และคณะทำงาน 5 จังหวัด และยังมีมหาวิทยาลัยรังสิตมาร่วมกันพัฒนา และวิจัยประเด็นทางสังคมนี้อย่างจริงจังเป็นครั้งแรก
คุณจุรีรัตน์ เงินท๊อก ได้ออกมาพูดถึง “ความสำคัญของการจัดทำมาตรฐาน” การที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการให้ดียิ่งขึ้น หรือดึงศักยภาพด้านต่าง ๆ เพื่อประโยชน์ต่อตัวคนพิการเองและต่อสังคม โดยองค์กรด้านคนพิการจะยั่งยืนได้ต้องเริ่มต้นจากการพัฒนารากฐานให้เข้มแข็ง โดยองค์กรด้านคนพิการควรปฏิบัติงานอย่างมีประสิทธิภาพ ตรงจุด ถูกต้อง และรวดเร็ว เพื่อเป็นแบบอย่างให้กับองค์กรด้านคนพิการที่มีแผนขยายเครือข่ายให้ครอบคลุมทั่วทั้งประเทศ
คุณวาสนา เกษอินทร์ และ คุณปภาวิณี คำโพนงาม ทั้งสองท่านเก็บข้อมูลจากพื้นที่ภายใต้การดูแล แล้วพบว่ามีปัญหาที่คล้ายคลึงกัน และปัญหาเหล่านี้ยังกระจายไปทั่วทุกพื้นที่ในประเทศ คนพิการต้องพบเจอปัญหาที่ไม่ถูกแก้ไขให้ตรงจุด และถูกปล่อยปละละเลยมาเนิ่นนาน เช่น งบประมาณ ศูนย์ช่วยเหลือคนพิการอยู่ห่างไกล หรือขาดองค์ความรู้ และหวังว่าการประชุมครั้งนี้ จะจุดชนวนให้ชุมชนหันมาให้ความสำคัญกับปัญหาคนพิการ โดยมีภาครัฐเป็นฝ่ายคอยกำกับดูแลให้องค์กรทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
คุณอุไร ภักดิ์ศิลป์ หนึ่งในภาคีจากตำบลหัวเสือ หนึ่งในพื้นที่ที่สามารถช่วยเหลือดูแลคนพิการได้อย่างดีเยี่ยม โดยทั้งหมดทั้งมวลนี้เริ่มต้นมาจากความเหนียวแน่นภายในชุมชน มีบุคลากรที่ช่วยเหลือสังคมด้วยใจ มีการเข้าเยี่ยมเพื่อสร้างกำลังใจให้ทั้งตัวคนพิการเอง และญาติของคนพิการ แต่ก็ยังมีประเด็นที่น่าเป็นห่วงอย่างการมีคนพิการสูงอายุในพื้นที่สูงถึง 70% คิดจากจำนวนคนพิการทั้งหมด ซึ่งถือเป็นกลุ่มที่ต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด และยังต้องการความช่วยเหลือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
คุณสิริมงคล จันทร์ขาว ครู กศน. ที่งานหลักไม่ได้เกี่ยวข้องกับคนพิการแม้แต่น้อย แต่สามารถมาเป็นหัวเรือของอำเภอเวียงแหง คุณสิริมงคล จันทร์ขาว ได้ประสานหน่วยงานรัฐ ให้สามารถเข้าช่วยคนพิการในพื้นที่ห่างไกลได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยเน้นไปที่ “หลักการของน้ำ” โดยมีการเปรียบเทียบกับน้ำ 3 ชนิด คือ น้ำตก น้ำพุ น้ำนิ่ง เปรียบเหมือนการรับนโยบายจากภาครัฐ และยื่นเสนอปัญหาจากชุมชนกลับสู่รัฐ วนกลับมาเป็นนโยบายที่สามารถใช้งานได้จริง ถือเป็นการ “ยกระดับสู่มาตรฐานศูนย์บริการระดับอำเภอ” ได้ดีเลยทีเดียว
ผศ.ดร. พญ.ศิรินาถ ตงศิริ ได้ออกมาให้ความรู้แก่ผู้ร่วมประชุมเกี่ยวกับหัวข้อ “ทำอย่างไรให้ผ่านมาตรฐานการเป็นศูนย์บริการ” สมาชิกศูนย์ด้านคนพิการจำเป็นต้องวิเคราะห์ข้อมูลที่เก็บมาได้ในแต่ละครัวเรือน เพื่อหาแนวทางการแก้ไขที่ถูกต้อง ถือเป็นการลดระยะเวลาในการเข้าช่วยเหลือ และใช้ทุกทรัพยากรอย่างคุ้มค่า เพราะคนพิการแต่ละคนต้องการความช่วยเหลือแตกต่างกัน มีทั้งด้านการแพทย์ สังคม และการช่วยเหลือด้านชุมชน โดยสมาชิกภายในองค์การต้องทำตามมาตรฐานอย่างเคร่งครัด เพื่อให้คนพิการได้รับความช่วยเหลือที่ตรงจุด และได้รับบริการที่น่าพึงพอใจ
โดยมาตรฐานที่ใช้เป็นเกณฑ์การตัดสินคุณภาพขององค์กรจะอ้างอิงจาก “มาตรฐาน พก.” หลังจากเตรียมเอกสารครบถ้วน หน่วยงานรัฐจะทำการจ้างบุคคลที่สามจาก ISO มาตรวจสอบแต่ละศูนย์ด้านคนพิการ เพื่อให้ตรงตามมาตรฐาน และด้านความโปร่งใส ว่าศูนย์บริการนั้นมีมาตรฐานตามที่หน่วยงานรัฐกำหนดไว้จริง นอกจากนี้เพื่อความยั่งยืนจะมีการประเมินคุณภาพทุก ๆ 3 ปี
แลกเปลี่ยนประสบการณ์ สานพลัง คิด เห็น ทำ อย่างไร ให้ใจเกินร้อย (กระบวนการของคนทำงาน การสร้างพลังใจ การมีส่วนร่วม)
คุณอนันต์ แสงบุญ ได้กล่าวว่า การที่เราเลือกที่จะมาเป็นหนึ่งในส่วนร่วมช่วยเหลือกลุ่มคนพิการได้นั้น ล้วนแล้วต้องมาจากพลังใจอันเหลือล้น เพราะหน้าที่ของกลุ่มคนเหล่านี้จำเป็นต้องไปเห็นทั้งภาพ เสียง กลิ่นที่อาจไม่พึงประสงค์ ทั้งยังต้องทุ่มแรงกายจนบางวันอาจเหนื่อยล้า แต่ด้วยใจเมตตาอยากช่วยเหลือซึ่งกันและกันทำให้เลือกที่จะมาทำงานเพื่อสังคมในรูปแบบนี้ได้ เพราะเรา “จะไม่ทิ้งใครไว้ด้านหลัง” เป็นการเดินตามวิธีพุทธะและนาโรปะ
ผศ. ดร.พิมพา ขจรธรรม ได้มาพูดถึงการ “มองและก้าวต่อไป” ให้มีประสิทธิภาพ ด้วยหลัก CBR 6×6 หรือหลักการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการโดยชุมชน มาใช้ร่วมกับแนวคิด ICF หรือการแก้ไขปัญหาอย่างตรงจุดที่ผ่านการวิเคราะห์มาแล้ว โดยท่านได้เปรียบเทียบผู้ปฏิบัติงานด้านนี้กับ “เหล่ายอดมนุษย์ Avengers” ที่อยากจะช่วยเหลือผู้คนจากใจจริง และมีความสามารถเฉพาะด้านที่แตกต่างกันออกไป การแบ่งหน้าที่ตามความถนัดจึงเป็นอีกข้อสำคัญที่จะช่วยให้ศูนย์ด้านคนพิการช่วยเหลือคนพิการได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ควรที่จะมีทั้งทีมที่รับหน้าที่เบื้องหน้า หรือเรียกกันง่าย ๆ ว่า ทีมหน้าบ้าน เช่น ลงพื้นที่ เก็บข้อมูล ช่วยเหลือคนพิการ กายภาพบำบัดคนพิการ และที่ขาดไปไม่ได้ก็คงจะหนีไม่พ้นทีมหลังบ้าน ที่จะคอยช่วยสนับสนุนให้ทีมหน้าบ้านปฏิบัติหน้าที่ได้สะดวกยิ่งขึ้น รวมกันเป็นหนึ่งองค์กรที่มีคุณภาพ
ผศ.ดร. นเรฎฐ์ พันธราธร ตัวแทนจากคณะบำบัดมหาวิทยาลัยรังสิตได้เข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ เพื่อเข้ามามีส่วนร่วมทำหน้าที่เพื่อคนพิการอย่างจริงจังกว่าที่เคยเป็นมา กล่าวว่าทางมหาวิทยาลัยอาจมีงานวิจัยมากมาย แต่ก็ยังไม่เคยมีงานวิจัยที่เกี่ยวกับคนพิการที่ทั้งเข้าใจ และเข้าถึงตัวคนพิการจริง ๆ เพื่อให้คนพิการให้มีคุณภาพที่ดียิ่งขึ้นนี่จึงเป็นการลงนาม MOU ครั้งแรกของทางมหาวิทยาลัยร่วมกับภาคีทุกภาคส่วน
ปัญหาด้านคนพิการในสังคมไทยยังมีอยู่มากมายให้เห็นตามชุมชน ซึ่งถือเป็นภาพที่หลายคนไม่อาจทนเห็นได้อีกต่อไป จนเกิดเป็นศูนย์ด้านคนพิการก่อตั้งกระจายไปในแต่ละพื้น แต่ก็ยังถือว่ามีจำนวนน้อยมาก และยังไม่เพียงพอที่จะช่วยเหลือคนพิการได้อย่างครอบคลุม เพื่อที่จะพัฒนาศักยภาพคนพิการ และมุมมองที่มีต่อคนพิการ การประชุมครั้งนี้ถือเป็นอีกจุดเปลี่ยนสำคัญที่จะช่วยผลักดัน “เสียงที่ไม่ได้ยิน” ให้ดังยิ่งขึ้น และสร้างสังคมที่น่าอยู่ยิ่งขึ้นระหว่างคนพิการ กับคนปกติ เพราะคนพิการก็สามารถมีชีวิตเหมือนคนปกติได้เช่นกัน