ห้องย่อย 3: เรื่องใหม่ที่คนไทยต้องรู้…ธนาคารเวลารองรับสังคมสูงวัย
ธนาคารเวลา เป็น 1 ใน 10 ประเด็นเร่งด่วนด้านผู้สูงอายุ เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับสังคมสูงวัยที่เกิดขึ้นและธนาคารเวลารองรับสังคมสูงวัยในประเทศไทย เป็นกระบวนทัศน์ใหม่ที่นำมาประยุกต์ใช้เป็นเครื่องมือในการรองรับสถานการณ์สังคมสูงวัย พร้อมกับสร้างความรู้ ความเข้าใจ ถึงแนวทางการดำเนินงานในพื้นที่ต่าง ๆ
กำหนดการ
Sapphire 104
เวลา | กิจกรรม |
12.30-13.00 น. | เปิดลงทะเบียน |
13.00-13.15 น. | สสส.ขับ…ภาคีเคลื่อน: ธนาคารเวลา…รองรับสังคมสูงวัย โดย ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ |
13.15-13.30 น. | นำเข้าสู่เวทีการเรียนและรู้: ธนาคารเวลา…รองรับสังคมสูงวัย โดย ผศ.ดร.เนตร หงษ์ไกรเลิศ เเละคุณชัยฤทธิ์ อิ่มเจริญ |
13.30-13.50 น. | การเเสดง “เส้นทางธนาคารเวลา: ความเหมือนที่แตกต่าง” โดย เครือข่ายธนาคารเวลารองรับสังคมสูงวัย สสส. |
13.50-15.20 น. | ความเหมือนที่แตกต่าง: บทเรียนธนาคารเวลา…ภาคี สสส. 1. คุณอนันต์ แสงบุญ ธนาคารเวลารองรับสังคมสูงวัยอำเภอสารภี 2. คุณธรรมศักดิ์ มากนคร ธนาคารเวลาสำหรับทุกกลุ่มวัยภาษีเจริญ 3. คุณวิมล เหลืองอรุณ ธนาคารเวลารองรับสังคมสูงวัยเขตสัมพันธวงศ์ 4. คุณนวลใย พึ่งจะแย้ม ธนาคารเวลารองรับสังคมสูงวัย 11 ชุมชน 5. คุณสุรินทร์ กิจนิตย์ชีว์ กรรมการกำกับทิศทางการดำเนินงานธนาคารเวลาเพื่อรองรับสังคมสูงวัย สสส. ดำเนินรายการ โดย คุณประสาน อิงคะนันท์ |
15.20-16.20 น. | ธนาคารเวลา…กับการบูรณาการเชิงนโยบาย สสส.กับการหนุนเสริม…ขับเคลื่อนธนาคารเวลารองรับสังคมสูงวัย โอกาส…ความท้าทายในการบูรณาการธนาคารเวลารองรับสังคมสูงวัย กทม. ไม่เร่ง…แต่รุก…เรียน…รู้…นวัตกรรมธนาคารเวลารองรับสังคมสูงวัย… ดำเนินรายการ โดยคุณประสาน อิงคะนันท์ |
16.20-16.30 น. | ไม่เลิก ไม่ลา ธนาคารเวลา ต้องเดินหน้า…อย่างต่อเนื่อง |
ภาคีพร้อมผลักดันธนาคารเวลาสู่นโยบาย
กลไกรองรับสังคมสูงวัยที่เท่าเทียม
เมื่อพูดถึงธนาคาร คนส่วนใหญ่คงคิดถึงการฝาก-ถอนเงิน แต่ยังมีธนาคารรูปแบบใหม่ซึ่งจะเป็นเครื่องมือสำคัญรองรับสังคมสูงวัย ลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเท่าเทียมในสังคม ที่เรียกว่า “ธนาคารเวลา” หลักการสำคัญคือการแลกเปลี่ยนด้วย “เวลา” ที่ทุกคนมีอยู่เท่ากัน และเป็นทั้ง “ผู้ให้” การช่วยเหลือ และ “ผู้รับ” ความช่วยเหลือในยามจำเป็น โดยทุกกลุ่มวัยสามารถเก็บออมเวลาแทนเงินไว้ในธนาคารและสามารถเบิกใช้เวลาได้เมื่อต้องการความช่วยเหลือโดยการจ่ายเวลาที่มีอยู่ (เครดิต) แทนการจ่ายเงิน
ในที่ประชุมวิชาการและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เสียงที่คนอื่นไม่ได้ยิน : ประชากรกลุ่มเฉพาะ ครั้งที่ 2 ห้องประชุมย่อย “เรื่องใหม่ที่คนไทยต้องรู้…ธนาคารเวลารองรับสังคมสูงวัย” ภาคีเครือข่ายธนาคารเวลาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมองว่า “ธนาคารเวลา” เป็นเรื่องใหม่ในสังคมไทยที่ต้องใช้เวลาในการสร้างการรับรู้ ทำความเข้าใจ และสร้างความเชื่อมั่นให้แก่สมาชิก โดยหัวใจสำคัญคือการฟังเสียงประชาชนเพื่อสร้างรูปแบบและกลไกที่สอดคล้องกับบริบทสังคมที่ต่างกัน เพื่อนำไปสู่การผลักดันเชิงนโยบาย ซึ่งจะเป็นกลไกหนึ่งที่ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม
ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่าขณะนี้ธนาคารเวลาอยู่ในกระบวนการเรียนรู้ สิ่งที่สำคัญอาจไม่ใช่การก้าวตามแผนแต่คือการเรียนรู้ระหว่างทางและการปรับจูนเพื่อให้สอดคล้องกับบริบทสังคมที่แตกต่างหลากหลาย
“เราอาจจะไม่ต้องก้าวตามแบบแผนความสำเร็จที่ไหน ถ้าตรงไหนไม่ใช่ ตรงไหนล้มเหลว เราลองจูนลองปรับได้ ในกระบวนการเรียนรู้เรามีทั้งระดับกระทรวง อย่างกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กรุงเทพมหานครและชุมชนต่าง ๆ มากมาย ทั้งหมดนี้เรากำลังช่วยกันสร้างนวัตกรรมใหม่ให้สังคมไทยรองรับปัญหาที่จะขยายตัวและอาจจะขาดกำลังในการดูแลกัน และการใช้เงินซื้อ เงินจ้างตามปกติทำไม่ได้ จึงต้องใช้เวลาซื้อเวลา ใช้ชั่วโมงอาสาแลกเปลี่ยนบริการ”
ด้านคุณสุรินทร์ กิจนิตย์ชีว์ คณะกรรมการกำกับทิศทางการดำเนินงานธนาคารเวลาเพื่อรองรับสังคมสูงวัย สสส. กล่าวว่า หลักการของธนาคารเวลาคิดบนพื้นฐานของกิจกรรมที่ธนาคารทั่วไปทำอยู่ เพียงแต่มีการปรับเปลี่ยนกิจกรรมและเปลี่ยนจาก “เงิน” เป็น “เวลา” โดยให้ความสำคัญกับเสียงของประชาชน และผลักดันจากฐานล่างสู่ระดับนโยบาย
“ผมคิดว่าพลังสังคมสำคัญ ต้องให้ความสำคัญกับการสร้างกฎร่วมกันของสังคม ชุมชนคิดเอง ทำเอง กำหนดกติกากันเอง เพื่อให้เกิดความยุติธรรม การเกิดขึ้นต้องเริ่มจากข้างล่างแล้วผลักดันสู่นโยบาย ซึ่งแต่ละพื้นที่สามารถปรับใช้และถ้าทำหลากหลายกลุ่มคนได้มากเท่าไหร่ยิ่งดี ไม่ใช่แค่ในกลุ่มผู้สูงอายุ แต่คนหนุ่มสาวที่คิดว่ายังมีเวลา ก็ต้องไม่ลืมว่าทุกคนมีความเสี่ยงและควรเตรียมความพร้อม”
เช่นเดียวกับ นายธนิต ตันบัวคลี่ รองผู้อำนวยการสำนักพัฒนาสังคม กรุงเทพมหานคร ที่มองว่างานธนาคารเวลา จะสำเร็จได้ต้องสร้างการรับรู้ ทั้งในระดับเจ้าหน้าที่ และเผยแพร่สู่กลุ่มเป้าหมายและชุมชน รวมทั้งสร้างการมีส่วนร่วม โดยใช้หลักการพัฒนาชุมชน “ระเบิดจากข้างใน” (Inside out) เพื่อความยั่งยืน
“ธนาคารเวลาก็เป็นหนึ่งในนโยบายที่สำนักพัฒนาสังคมรับมา เขตสัมพันธวงศ์และภาษีเจริญก็เป็นโมเดลที่ดีอยู่แล้ว การที่เราจะรับธนาคารเวลาไปใช้ให้ครบทั้ง 50 เขตไม่ใช่เรื่องยาก และเรามองว่าธนาคารเวลาเป็นกลไกหนึ่งที่ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ซึ่งต้องอาศัยนโยบายภาครัฐ กลไกของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เป็นแผนยุทธศาสตร์ ที่ทุกส่วนจะต้องดำเนินการร่วมกัน”
ด้านนางอาภา รัตนพิทักษ์ ผู้อำนวยการกองส่งเสริมสวัสดิการและคุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุ กล่าวว่าวันนี้ธนาคารเวลาในประเทศไทยเริ่มชัดเจนมากขึ้นจากการลองทำและปรับใช้ตามบริบทพื้นที่ สิ่งสำคัญคือการสร้างความเชื่อมั่นของสมาชิกทั้งในฐานะผู้ให้บริการและรับบริการ
“ตอนเริ่มทำเรื่องธนาคารเวลาเรามองในภาพใหญ่ระดับประเทศ โดยให้ทุกคนทำเหมือนกันหมด แต่เมื่อมีการถกเถียงกันหลาย ๆ ครั้ง ก็ทำให้เห็นความแตกต่างและหลากหลายของแต่ละพื้นที่ ซึ่งความยากของเมืองก็คือความเชื่อใจ เชื่อมั่นกันและกัน มันไม่เหมือนชุมชนที่ใกล้ชิดกันแบบในต่างจังหวัด เพราะเขาต้องคำนึงถึงความปลอดภัย ทั้งในฐานะผู้ให้บริการและรับบริการ จึงต้องมีระบบที่ชัดเจนที่สร้างความเชื่อมั่นด้วยเช่นเดียวกัน”
หากจะเปรียบเทียบธนาคารเวลาเป็นสินค้า ก็จำเป็นที่จะต้องสร้างสินค้าและพัฒนาให้มีคุณภาพจนเป็นที่ยอมรับ รู้จัก และรู้จริงถึงกลไกที่เหมาะสมกับสังคมไทย โดยในที่ประชุมครั้งนี้ยังมีภาคีเครือข่ายธนาคารเวลาจาก 4 พื้นที่ ได้แก่ ธนาคารเวลารองรับสังคมสูงวัยอำเภอสารภี ธนาคารเวลาสำหรับทุกกลุ่มวัยภาษีเจริญ ธนาคารเวลารองรับสังคมสูงวัยเขตสัมพันธวงศ์ และธนาคารเวลารองรับสังคมสูงวัย 11 ชุมชน มาร่วมแลกเปลี่ยนถึงการใช้เครื่องมือนี้ในชุมชนด้วย
นายธรรมศักดิ์ มากนคร ธนาคารเวลาสำหรับทุกกลุ่มวัยภาษีเจริญ กล่าวว่า กลุ่มตนมีทั้งชุมชนเมือง ชุมชนกึ่งเกษตร บ้านมั่นคง และบ้านจัดสรร โดยเริ่มต้นจาก 30 พื้นที่ และเมื่อดำเนินการมาจนถึงปัจจุบันเหลือธนาคารเวลาเพียง 7 พื้นที่ที่ทำต่อ เพราะหลักการของธนาคารเวลาต้องใช้เวลาและทักษะแลกเปลี่ยน ซึ่งแตกต่างจากกิจกรรมจิตอาสาอย่างที่หลายคนเข้าใจในช่วงแรก
“เรามองเห็นปัญหาของผู้สูงอายุมีมากขึ้น จึงต้องทำอะไรก็แล้วแต่ให้คนทุกกลุ่มวัยลุกขึ้นมาดูแลกัน โดยใช้ธนาคารเวลาเป็นเครื่องมือ เน้นหลักการความเท่าเทียม คือมีเวลาเท่ากัน ให้คุณค่ากับความรู้ที่ทุกคนมี และไม่ทิ้งจิตอาสาและธนาคารความดี เพื่อให้ทุกกลุ่มเข้ามามีส่วนร่วม รวมทั้งต้องพยายามสร้างความรู้ความเข้าใจและสร้างกระบวนการหาทักษะของคนนั้น ๆ เพื่อดึงให้เขาเข้ามาเป็นสมาชิก ที่สำคัญต้องชี้ให้เห็นความแตกต่างระหว่างจิตอาสา ธนาคารความดีกับธนาคารเวลา”
ด้านนายอนันต์ แสงบุญ ธนาคารเวลารองรับสังคมสูงวัยอำเภอสารภี มองว่าธนาคารเวลาเป็นจิตอาสาประเภทหนึ่ง ที่สะสมเวลาและเครดิตของตัวเองได้ ซึ่งนอกจากการมองหาทักษะในตัวของสมาชิกแล้ว สิ่งที่ธนาคารเวลาสามารถต่อยอดได้ คือการพัฒนาทักษะใหม่ ๆ ให้กับสมาชิกและการจัดตั้งกองทุนธนาคารเวลา
“หัวใจสำคัญของธนาคารเวลาคือ เมื่อเป็นสมาชิกและมีเครดิตสะสม สิ่งที่เราทำไม่ได้ จะมีหลักประกันว่าจะมีคนมาช่วยทำให้เรา ที่สารภีเป็นชุมชนกึ่งเมือง กึ่งชนบท สมาชิกมีทักษะจำกัดไม่หลากหลาย เราจึงต้องประเมินดูว่าแนวโน้มในอนาคต สมาชิกของเราจะร้องขออะไรบ้าง เมื่อทักษะของสมาชิกปัจจุบันไม่สามารถสนับสนุนได้อย่างครอบคลุมเราจึงมีแนวคิดการพัฒนาทักษะให้สมาชิก เช่น หัดเข็นวีลแชร์ ฝึกทักษะการพูดคุยเพื่อดูแลหรืออยู่เป็นเพื่อนผู้สูงอายุ หรือเมื่อเห็นว่าผู้สูงอายุและคนพิการไปตัดผมลำบาก ผมจึงซื้อปัตตาเลี่ยนมาอันนึง ปรากฏมีคนร้องขอตัดผมมา 3 คน จึงเห็นความจำเป็นว่าต้องมีคลังอุปกรณ์ที่จะให้สมาชิกสามารถสนับสนุนการร้องขอได้เพียงพอ จึงจัดระดมทุน จัดตั้ง “กองทุนธนาคารเวลา” ซึ่งทั้งหมดชุมชนจะต้องมีฉันทามติร่วมกัน”
ธนาคารเวลาเป็นนวัตกรรมทางสังคม จึงไม่อาจเกิดขึ้นได้ในเวลาอันสั้น แต่ต้องใช้เวลาในการสร้างการรับรู้ ความเข้าใจ และปรับใช้ให้เหมาะกับแต่ละพื้นที่ซึ่งมีบริบทที่แตกต่างกัน โดยให้ความสำคัญกับเสียงของประชาชนและพัฒนาจากฐานรากสู่การผลักดันระดับนโยบาย ธนาคารเวลาจึงไม่ใช่นโยบายเสื้อโหลที่รัฐทำหน้าที่ตัดให้ทุกชุมชนสวมใส่เหมือนกันได้ หากแต่ทุกฝ่ายต้องเรียนรู้ ร่วมมือ และถักทอให้เป็นเสื้อที่พอดีสำหรับทุกคนเพื่อเป็นกลไกรองรับสังคมสูงวัยอย่างเท่าเทียมและยั่งยืน
บทความ: งานประชุมวิชาการและแลกเปลี่ยนเรียนรู้เสียงที่คนอื่นไม่ได้ยิน : ประชากรกลุ่มเฉพาะ ครั้งที่ 2 วันที่ 21-23 กุมภาพันธ์ 2566
โดย บริษัท ออลไรท์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด
ความคิดเห็น ข้อมูลและบทสรุปที่นำเสนอในห้องย่อย ถือเป็นความคิดเห็นร่วมกันของเครือข่ายในห้องย่อยเท่านั้น
ทั้งนี้ จะถูกรวบรวมและนำไปเสนอเชิงนโยบายต่อไป
Please wait while flipbook is loading. For more related info, FAQs and issues please refer to documentation.
ดาวน์โหลด