ห้องย่อย 1: การออกแบบเพื่อทุกคน: Universal Design New Normal for Complete Aged Society
กำหนดการ
Sapphire 101-102
เวลา | กิจกรรม |
12.30-13.00 น. | เปิดลงทะเบียน |
13.00-13.30 น. | แนะนำ Universal Design Center ภารกิจหลักและผลงานที่ผ่านมา ตั้งแต่ ระยะที่ 1-2 โดย รศ.ไตรรัตน์ จารุทัศน์ และ รศ.ดร.ชุมเขต แสวงเจริญ |
13.30-14.00 น. | กล่าวเปิด โดย ดร.นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ ประธานกรรมการบริหารเเผน คณะที่ 2 สสส. |
14.00-15.30 น. | แนะนำภารกิจ UDC ระยะที่ 3 ซึ่งนโยบายทำงานร่วมกับ อปท. ในการทำงานด้านสภาพแวดล้อมเพื่อผู้สูงอายุและคนพิการ โดย รศ.ดร.นวลวรรณ ทวยเจริญ |
13.40-14.40 น. | พูดคุยแลกเปลี่ยน ประสบการณ์การดำเนินงานที่ผ่านมาด้านผู้สูงอายุและคนพิการ วิทยากรรับเชิญ เป็นตัวแทน อปท. UDC Sandbox 4 พื้นที่ ดังนี้ 1. คุณรังสรรค์ นันทกาวงศ์ นายกเทศมนตรีเมืองบึงยี่โถ 2. คุณณรงค์ชัย คุณปลื้ม นายกเทศมนตรีเมืองแสนสุข 3. คุณชาญชัย แมดมิ่งเหง้า นายกองค์การบริหารส่วนตำบลนาคูณใหญ่ 4. คุณยงยุทธ แซ่เตียว นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบางด้วน ดำเนินรายการ โดย ผศ.กตัญญู หอสูติสิมา และ อ.บรรจง ภูละคร |
14.40-15.00 น. | พักเบรก 20 นาที |
15.00-16.00 น. | พูดคุยแลกเปลี่ยน แผนงานในอนาคตด้านผู้สูงอายุและคนพิการที่จะทำงานร่วมกับ UDC วิทยากรรับเชิญ เป็นตัวแทน อปท. UDC Sandbox 4 พื้นที่ (ท่านละ 10 นาที) ดำเนินรายการ โดย ผศ.กตัญญู หอสูติสิมา และ อ.บรรจง ภูละคร |
16.00-16.30 น. | Q&A |
16.00-16.30 น. | พิธีลงนาม MOU ร่วมกันระหว่าง สสส. UDC และ 4 อปท. ถ่ายภาพร่วมกัน โดย ผศ.ตรีชาติ เลาแก้วหนู |
Universal Design ความหวังใหม่ในสังคมผู้สูงอายุ
พูดคุยกับชุมชนต้นแบบ พัฒนาให้ยั่งยืน
ด้วยองค์ความรู้และเทคโนโลยีใหม่
สํานักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ (สํานัก 9) สสส. ร่วมกับภาคีเครือข่าย จัดงานประชุมวิชาการและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เสียงที่คนอื่นไม่ได้ยิน : ประชากรกลุ่มเฉพาะ ครั้งที่ 2 “2nd Voice of the voiceless: the vulnerable populations” ขึ้น โดยในส่วนของห้องย่อยที่ 1 ว่าด้วยเรื่อง “การพัฒนาภาคีเครือข่ายการออกแบบเพื่อทุกคน (Universal Design)”
รศ. ดร.ชุมเขต แสวงเจริญ หัวหน้าศูนย์ออกแบบสภาพแวดล้อมเพื่อทุกคน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ศูนย์ออกแบบสภาพแวดล้อมเพื่อทุกคน (Universal Design Center: UDC) เริ่มมาเมื่อ 5 ปีที่แล้ว โดยแบ่งออกเป็น 3 เฟสคือ เฟสที่ 1 เป็นการสร้างชุดความรู้ที่เข้มแข็ง มีการจัดอบรมและสร้างความตระหนักในการอยู่ร่วมกันของคนทั่วไป ผู้สูงอายุ คนพิการ โดยได้ภาคีเครือข่ายจากมหาวิทยาลัยทั่วประเทศแบ่งตามภาคทั้งสิ้น 5 มหาวิทยาลัย คือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตตรัง เพื่อส่งเสริมการออกแบบที่ทำให้ทุกคนที่ได้ใช้งานในสถานที่หรือสิ่งนั้น ๆ มีความสะดวกสบายร่วมกันมากที่สุด โดยเริ่มตั้งแต่บ้าน จนถึงขนส่งสาธารณะ อาคารสาธารณะ สถานที่ราชการ โรงพยาบาล หรือสวนสาธารณะ ถนนหนทาง ฯลฯ สำหรับเฟสที่ 2 ตั้งเป้าว่าจะสร้างเครือข่ายทั่วประเทศมากขึ้น ให้คำปรึกษา ปรับปรุงเชิงคุณภาพ จนมีศูนย์ที่ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยต่าง ๆ เพิ่มขึ้นมาอีก 8 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี มหาวิทยาลัยแม่โจ้ มหาวิทยาลัยนครพนม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยราชมงคลสุวรรณภูมิ และมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย
“เราเป็นเพื่อนกัน ใครมีปัญหาเรื่องบ้าน ที่อยู่อาศัย หรือคนพิการและผู้ต้องการพิเศษต้องการสิ่งใดสามารถปรึกษาเราได้ เรายินดีให้ความช่วยเหลือกันให้ทุกคนได้พบกับสภาพแวดล้อมที่ใจดี เข้าได้กับทุกคน เน้นการมีส่วนร่วม ให้ทำงานร่วมกันอย่างเข้มแข็ง เรามีการรวบรวมองค์ความรู้ทั้งหมดแล้วแลกเปลี่ยนกันได้ทั่วประเทศโดย พัฒนาองค์ความรู้ อุปกรณ์ เทคโนโลยี และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เพื่อคนพิการและผู้สูงอายุ ทั้งนี้เครือข่ายที่รวมกันทำงานมีทั้งภาครัฐและเอกชนจะทำให้มีการสับเปลี่ยนหมุนเวียนสิ่งต่างๆ ได้ทั่วประเทศ และนำความรู้ต่างๆ ไปประยุกต์ใช้ มีการจัดอบให้กับคนในพื้นที่ และยังมีผู้เชี่ยวชาญทั้งด้านกายและใจมาเป็นวิทยากรด้วย”
โดยในงานนี้ยังได้จัดให้มีวงเสวนา ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หัวข้อ “การออกแบบเพื่อทุกคน: Universal Design New Normal for Complete Aged Society” เป็นการพูดคุยของชุมชนต้นแบบจากหลายแห่งทั่วประเทศด้วย
นายณรงค์ชัย คุณปลื้ม นายกเทศมนตรีเมืองแสนสุข จังหวัดชลบุรี กล่าวว่า เนื่องจากเมืองแสนสุขเป็นเมืองใหญ่ และยังเป็นเมืองท่องเที่ยว สังคมก็กำลังเดินหน้าเข้าสู่สังคมสูงวัย โดยในปัจจุบันมีผู้สูงอายุ 18% และคาดว่าจะถึง 20% ในปีหน้า และถึงแม้จะมีการพัฒนาเรื่องสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมไปหลายรอบแล้ว แต่ก็ยังครอบคลุมไม่หมด เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่คาบเกี่ยวกับสิ่งปลูกสร้างที่มีอยู่เดิมเช่น จะทำทางลาดชันขึ้นอาคารสำหรับผู้ใช้วีลแชร์ แต่จะไม่สามารถทำตามองศามาตรฐานที่กำหนดไว้ได้ เพราะหากทำเช่นนั้น สิ้นสุดทางลาดอาจจะยาวไปถึงกลางถนน จึงต้องปรับตามภูมิประเทศที่เหมาะสม แต่ก็จะใช้งานได้ส่วนด้านในก็อาจจะติดตั้งลิฟต์ขึ้นมาได้
นอกจากนี้ก็มีการปรับให้มีช่องทางสำหรับคนพิการและผู้สูงอายุตลอดแนวที่มีนักท่องเที่ยวเยอะๆ ใน
บางแสนรวมความยาวประมาณ 2.3 กิโลเมตร และมีการเน้นการทำกิจกรรมกับผู้สูงอายุ โดยร่วมกับหลายหน่วยงาน ตั้ง ‘ศูนย์การพัฒนาศักยภาพผู้สูงอายุ เทศบาลเมืองแสนสุข’ ชะลอการอยู่ในภาวะพึ่งพิงของผู้สูงอายุให้น้อยที่สุด ให้เขาใช้ชีวิตได้ด้วยตนเองให้ได้นานที่สุด และยังมีหน่วยงานอย่าง มหาวิทยาลัยบูรพา เทศบาลเมืองซากุ มหาวิทยาลัยเมืองซากุ และองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JICA) ร่วมสนับสนุนในการดำเนินงานโครงการฝึกอบรมบุคกลากรทางการแพทย์ โดยมีบุคคลากรไปอบรมที่ญี่ปุ่นและนำความรู้มาเผยแพร่ต่อไปยัง อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และครอบครัว เพื่อให้ชุมชนดูแลตัวเองให้ได้มากที่สุดด้วย
“เรื่องของสุขภาพคนแก่นั้นแสนสุขตั้งเป้าไว้ว่าจะสร้าง Smart city เน้นเทคโนโลยีเป็นหลัก มีสร้อยคอมือ สร้อยคอเตือนภัย มีระบบจีพีเอสในตัว ผู้สูงอายุ ผู้พิการที่มีภาวะพึ่งพิงก็จะได้ใช้ในป้องกันทั้งตอนที่รู้สึกตัวและไม่รู้สึกตัว เกิดป่วยขึ้นมาแล้วต้องการความช่วยเหลือ ก็สามารถกดปุ่มเรียกรถพยาบาลของเครือข่ายมาช่วยพาไปโรงพยาบาลได้อย่างรวดเร็ว ตรงนี้ก็ป้องกันไม่ให้เขาติดเตียงและหรือเสียชีวิตได้ โดยตั้งเป้าไว้ปีละ 50 ราย และปีหน้าอาจจะมี เทเลเมดีซีน ปรึกษาคุณหมอผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต เพื่อลดการไปโรงพยาบาล ลดภาระของคุณหมอในกรณีที่เจ็บป่วยแต่อยู่ในระดับที่สามารถดูแลตัวเองที่บ้านได้ครับ”
สำหรับเรื่องสภาพแวดล้อมนั้น เทศบาลเมืองแสนสุขได้ร่วมมือกับยูดีซีและสมาคมสถาปนิกสยาม ภาคตะวันออก เรื่องขอความอนุเคราะห์ในการช่วยดีไซน์บ้านผู้สูงอายุและบ้านคนพิการเพื่อปรับปรุงบ้านให้อยู่ในมาตรฐานสากล เป้าหมายคือ 5-10 หลังต่อปี และปรับปรุงพื้นที่สาธารณะ ต่าง ๆ ให้ดีขึ้น โดยชุมชนแจ้งมา แล้วอบต. ก็ไปปรับปรุงตามความต้องการ ขึ้นอยู่กับว่า มีอะไรที่เราจะส่งเสริมได้บ้าง
ด้านนายรังสรรค์ นันทกาวงศ์ นายกเทศมนตรีเมืองบึงยี่โถ จังหวัดปทุมธานี กล่าวว่า ที่บึงยี่โถดูแลยากพอสมควรเพราะเป็นพื้นที่เมืองแบบหมู่บ้านจัดสรร และอาคารพาณิชย์ ซึ่งทำให้ยากต่อการปรับปรุงให้เป็นไปตามรูปแบบเพื่อให้ทุกคนใช้ร่วมกัน แต่ก็จะมีการขอความร่วมมือจากโครงการใหม่ ๆ ว่า หากจะสร้างก็ขอให้มีพื้นที่ส่วนนี้ด้วย นอกจากนี้ยังมีการสร้าง “ศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ” ตั้งเป้าหมายว่าจะ ‘ดึงคนติดบ้าน มาติดสังคม จะได้ไม่ติดเตียง’
“เรากำลังดำเนินการสร้าง Smart Health City เพื่อดูแลพิการ ผู้สูงอายุ และผู้ที่ดูแลคนพิการซึ่งก็ต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษเช่นกัน เริ่มจาก “ศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ” ซี่งสร้างในสนามกีฬาเก่า เป็นที่พบปะพูดคุยและทำกิจกรรมร่วมกัน โดยจะมีแพทย์ประจำ 5 คน และมีการส่งต่อความรู้สู่ อสม. และครอบครัวต่อไปด้วย และปีหน้าจะมีการสร้างคอนโดสำหรับดูแลผู้สูงอายุที่ต้องการการดูแลชั่วคราว เช่น บุตรหลาน หรือผู้ดูแลมีธุระติดพัน เป็นต้น”
นายรังสรรค์ยังกล่าวด้วยว่า การทำสิ่งใดเกี่ยวกับผู้สูงอายุนั้นจะต้องรู้ว่าเขาต้องการสิ่งใด เพราะในแต่ละพื้นที่ก็มีความต้องการไม่เหมือนกัน อย่างที่บางยี่โถ มีการจัดประชุมกันเดือนละครั้ง ให้ทั้งผู้ดูแล (Care Giver) ได้ระบายความเครียด และให้ผู้ป่วยหรือผู้สูงอายุได้รู้จักวิธีการดูแลตัวเอง
สำหรับการดูแลเรื่องหาทุนและค่าใช้จ่ายนั้น ได้จัดตั้งมูลนิธิ ‘ข้างเตียงเคียงกัน’ ขึ้นมาเพื่อดูแลผู้ป่วยติดเตียงเป็นศูนย์ให้ยืมของใช้ อุปกรณ์ชิ้นไหนที่ไม่สามารถเบิกจ่ายจากภาครัฐได้ก็มาเบิกที่มูลนิธิ เริ่มจากมีเตียงอยู่ 4 เตียง ตอนนี้ 4 ปีผ่านไป มีเตียงที่มูลนิธินำมาให้ผู้ป่วยสับเปลี่ยนหมุนเวียนใช้นับร้อยเตียงแล้ว เนื่องจากมีผู้บริจาคเข้ามาเยอะมาก ทั้งอุปกรณ์ทางการแพทย์อื่น ๆ และเงินบริจาค สำหรับอุปกรณ์ทางการแพทย์นั้นก็มีการส่งต่อไปทั่วประเทศตามแหล่งที่ต้องการด้วย
ส่วนนายชาญชัย แมดมิ่งเหง้า นายกองค์การบริหารส่วนตำบลนาคูณใหญ่ จ. นครพนม ซึ่งเป็นพื้นที่ต้นแบบทางภาคอีสาน ได้รับรางวัลโล่ห์เกียรติยศจากสถาบันพระปกเกล้า ในฐานะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้านส่งเสริมเครือข่าย ภาครัฐ เอกชน และภาคประชาสังคมกล่าวว่า นาคูณใหญ่เป็นตำบลเล็ก ๆ ในพื้นที่ห่างไกล มีประชากร 4,249 คน คนแก่ 710 คนพิการ 156 คน มีคนแก่จะติดบ้าน ติดเตียง ติดสังคมเท่า ๆ กัน โดยที่นี่มีการขับเคลื่อนงานด้านผู้สูงอายุอย่างเข้มแข็ง โดยแบ่งออกเป็น 4 มิติ เช่น ทางด้านเศรษฐกิจ ก็ช่วยกันคิดกับทางภาคีเครือข่ายคือ มหาวิทยาลัยนครพนม มีเป้าหมายสร้างรายได้ผู้สูงอายุและผู้ดูแลให้เพิ่มขึ้น โดยมีการพัฒนาจากผลิตภัณฑ์จักสานซึ่งทำอยู่แล้วให้หลากหลายมากขึ้น และทำเรื่องการตลาดให้ทันยุคทันสมัยจนถึงส่งออกต่างประเทศ
ส่วนเรื่องสุขภาพ ก็มีการร่วมมือกับ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ส่งทีมวิชาชีพเข้าไปเยี่ยมผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง และหนุนเสริมผู้ดูแลไม่ให้เขามีความเครียด
สำหรับมิติทางสังคม ใช้กระบวนการ ‘โรงเรียนผู้สูงอายุ’ เข้ามาดูแลโดยการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ให้กับผู้สูงอายุ มีการเรียนรู้ร่วมกัน เวลาที่จะมีการประชุมแผนประชาคมต่าง ๆ เขาจะได้เข้ามาเสนอความคิดเห็นได้ด้วย ซึ่งทำให้มีความเข้มแข็งของชุมชนมากยิ่งขึ้น
ในส่วนของมิติด้านสภาพแวดล้อมนั้น มีการใช้กระบวนการช่างชุมชน ปรับสภาพบ้านตามความต้องการของผู้อยู่อาศัยในคราวแรกจนกระทั่งยูดีซีเข้าไปช่วยจึงได้มีการปรับสภาพแวดล้อมให้ตรงตามหลักวิชาการ ลดการพลัดตกหกล้มได้
“ตรงนี้ก็อยากจะให้ยูดีซึให้คำปรึกษาและแนะนำอบรมช่างชุมชน ซึ่งอยู่ในชุมชนอยู่แล้ว ก็จะทำให้เครือข่ายของนาคูณใหญ่เข้มแข็งมากขึ้น”
และนายพิพัฒน์พงษ์ กาญจนาทิพย์ รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลบางด้วน จังหวัดตรัง เปิดเผยว่า สำหรับเรื่องสุขภาพของผู้ป่วยและผู้สูงอายุนั้น อบต.บางด้วน มีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) คอยดูแลตามมาตรฐานและมีความเข้าใจความต้องการและปัญหาทางพื้นที่เป็นอย่างดีอยู่แล้ว รวมถึงมี อสม. ที่เข้มแข็งด้วย ส่วนทางด้านสภาพแวดล้อมนั้น ได้ อาจารย์สมศักดิ์ สุนทรนนท์ ประธานสภาองค์กรชุมชนตำบลบางด้วน ช่วยดูแลเรื่องที่อยู่อาศัย ซึ่งก็สร้างบ้านตามมาตรฐานยูดีซีมาได้ทั้งสิ้น 39 หลังแล้ว รวมถึงมีการปรับปรุงห้องน้ำวัด ทางเท้า และอื่น ๆ เพื่อให้ผู้ป่วยและผู้สูงอายุใช้งานได้สะดวกขึ้น ส่งผลให้กลุ่มประชากรเตรียมสูงวัย และผู้สูงอายุใช้ชีวิตได้ดีขึ้นอันจะนำไปสู่การพัฒนาท้องถิ่นอย่างยั่งยืนในอนาคต
ซึ่งการสร้างและปรับปรุงสภาพแวดล้อมมากขนาดนี้ก็ต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก นายพิพัฒน์พงษ์กล่าวว่า วิธีการหางบประมาณนั้นไม่ใช่เรื่องยาก ในส่วนของการของบประมาณจากภาครัฐนั้น ต้องเตรียมแผนงาน เอกสารและการนำเสนอให้พร้อมอยู่เสมอ ดังนั้นแม้ว่าเวลาจะกระชั้นชิดก็จะไม่มีทางพลาด สำหรับการของบประมาณจากภาคเอกชน อบต. ก็ต้องแสดงความโปร่งใส ชัดเจน ตรวจสอบได้ ว่าเมื่อได้เงินมาแล้วนั้นทำเพื่อประชาชน และสาธารณประโยชน์จริง ๆ หากว่าทำได้ก็มั่นใจได้เลยว่า ยังมีภาคเอกชนที่อยากช่วยเหลือคนยากลำบากอีกเยอะมาก
“อย่างเราทำงานกับวัด ที่บางด้วนมีวัด 4 วัด ทุกปีจะมีผู้คนมาทอดกฐิน ทอดผ้าป่า บางปีได้ถึง 2 ล้านบาท ซึ่งเงินจำนวนนั้นเราก็ต้องนำมาใช้อย่างถูกต้อง โปร่งใสจริง ๆ”
จะเห็นได้ว่า ความร่วมมือกันของทุกภาคีเครือข่ายอย่างเข้มแข็ง และการนำเทคโนโลยี รวมถึงเทคนิคที่ใช้กับทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจ สภาพแวดล้อม สุขภาพ และสังคมนั้น ล้วนมีส่วนสำคัญที่ทำให้การอยู่ร่วมกันของทุกคนจะมีประสิทธิภาพและยั่งยืนได้
ในงานได้มีการ MOU ร่วมมือของ สสส. กับ เครือข่ายปรับสภาพแวดล้อมและท้องถิ่นทั้ง 4 แห่งเพื่อพัฒนาชุมชนให้เป็นชุมชนต้นแบบในการยกระดับการทำงานทุกมิติเพื่อเตรียมพร้อมสู่สังคมสูงวัย
บทความ: งานประชุมวิชาการและแลกเปลี่ยนเรียนรู้เสียงที่คนอื่นไม่ได้ยิน : ประชากรกลุ่มเฉพาะ ครั้งที่ 2 วันที่ 21-23 กุมภาพันธ์ 2566
โดย บริษัท ออลไรท์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด
ความคิดเห็น ข้อมูลและบทสรุปที่นำเสนอในห้องย่อย ถือเป็นความคิดเห็นร่วมกันของเครือข่ายในห้องย่อยเท่านั้น
ทั้งนี้ จะถูกรวบรวมและนำไปเสนอเชิงนโยบายต่อไป
Please wait while flipbook is loading. For more related info, FAQs and issues please refer to documentation.
ดาวน์โหลด