ผลวิจัยชี้ ‘เด็ก-ผู้หญิงพิการ’ ถูกละเมิดทางเพศ ส่วนใหญ่ทำได้เพียงเงียบ
ที่มา : มติชนออนไลน์
ภาพประกอบ : มติชนออนไลน์
ผลวิจัยชี้ ‘เด็ก-ผู้หญิงพิการ’ ถูกละเมิดทางเพศ ส่วนใหญ่ทำได้เพียงเงียบ พม.จับมือภาคีเครือข่าย หาแนวทางทางช่วย
เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน ที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สะพานขาว กรุงเทพฯ นางพัชรี อาระยะกุล ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวในการเป็นประธานเปิดเวทีเผยแพร่ข้อมูลรายงานสถานการณ์ความรุนแรงต่อเด็กและผู้หญิงพิการ ซึ่ง พม.โดยกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคเครือข่ายร่วมจัดว่า ช่วงโควิด-19 ที่ผ่าน ทำให้คนในครอบครัวใช้เวลาอยู่ด้วยกันมากขึ้น และก่อให้เกิดคดีล่วงละเมิดเพิ่มขึ้นเช่นกัน การที่จะให้เด็กหรือผู้หญิงออกมากล้าฟ้องหรือแจ้งความเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก เพราะความสัมพันธ์ในเชิงอำนาจ เช่น พ่อทำลูก แต่ลูกไม่กล้าบอก
ด้าน นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. กล่าวว่า ประเทศไทยมีสถิติความรุนแรงต่อผู้หญิงสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก โดยพบผู้หญิงถูกล่วงละเมิดไม่น้อยกว่า 7 คน/วัน ขณะที่มีผู้หญิงที่เข้ารับการบำบัดรักษา แจ้งความร้องทุกข์ปีละ 30,000 ราย ขณะที่ยังมีอีกมากที่ไม่ถูกเปิดเผย ทำให้ สสส. ต้องอาศัยความร่วมมือกับภาคีเครือข่าย ภาครัฐ ภาคประชาสังคม ผลักดันให้ยุติความรุนแรงในประชากรเปราะบางกลุ่มนี้อย่างต่อเนื่อง เพื่อนำไปสู่การปรับปรุง แก้ไขนโยบาย และระเบียบต่างๆ ในการทำให้สังคมไทยเกิดความตระหนักว่า ความรุนแรงไม่ควรเกิดขึ้นกับเด็ก ผู้หญิง คนพิการ และทุกคน
ขณะที่ น.ส.เสาวลักษณ์ ทองก๊วย กรรมการว่าด้วยสิทธิคนพิการแห่งสหประชาชาติ กล่าวว่า ได้ศึกษาวิจัยเก็บข้อมูลกลุ่มเด็กพิการ ผู้หญิงพิการที่ถูกกระทำความรุนแรงช่วงเดือนต.ค.2564-ม.ค.2565 จำนวน 51 กรณี ใน 31 จังหวัด พบว่ามีเพียง 29 % ที่มีการแจ้งความผู้กระทำผิด โดย 71 % ไม่แจ้งความ ใน 29% ที่แจ้งความมีการดำเนินคดีกับผู้กระทำเพียง 27 % ขณะที่ 73% คดีไม่มีความคืบหน้า เนื่องจากคู่กรณีมีอิทธิพล บางรายหนีออกจากพื้นที่ ไม่สามารถบอกลักษณะคนร้ายได้ และบางกรณีไม่สามารถบอกจุดเกิดเหตุได้ ส่วนสาเหตุที่ผู้ถูกกระทำ 71 % ไม่ยอมแจ้งความ เนื่องจากส่วนใหญ่ 55% ผู้กระทำเป็นคนในครอบครัว เช่น พ่อ ญาติพี่น้อง ทำให้คนในครอบครัวซึ่งเป็นเพศหญิงด้วยกันเพิกเฉย
นอกจากนี้ 30% ขอให้ไกล่เกลี่ย 5% กลัว อาย 5% มีอุปสรรคในการแจ้ง เช่น การเดินทาง การสื่อสาร 3% ผู้กระทำมีอิทธิพล ใช้อำนาจ และ 2% ตำรวจไม่รับแจ้ง เพราะให้การไม่เป็นประโยชน์ ผู้พิการสื่อสารไม่ได้ ทั้งนี้จะรวบรวมข้อเสนอแนะส่งถึงภาครัฐให้ความสำคัญแก้ปัญหาเรื่องดังกล่าว ปรับปรุงกฎหมายให้สอดคล้องกับกฎหมายสากลที่ครอบคลุมสิทธิในเรื่องของผู้พิการ ไม่ถูกเลือกปฏิบัติ
ขอขอบคุณ มติชนออนไลน์ : https://www.matichon.co.th/local/quality-life/news_3414475