ส่องแนวทางและนวัตกรรมลดความรุนแรงทางเพศทั่วโลก
ความรุนแรงทางเพศ หรือ sexual violence โดยสังเขปแล้วเกิดขึ้นจากความรู้สึกที่มีอคติทางเพศซึ่งเอื้อให้เกิดการกระทำความรุนแรงในหลากหลายรูปแบบ โดยไม่จำเป็นว่าต้องเป็นการลงแรงกระทำเท่านั้น แต่ความรุนแรงทางเพศยังรวมไปถึงการใช้คำพูด การเย้าแหย่ ตลอดจนการคุกคามทางเพศ หรือ sexual harassment บางคนอาจจะสงสัยว่าที่พูดมาก็มีหลายเกณฑ์ หลายระดับ แล้วเราจะเอาอะไรมาวัดล่ะว่าอะไรคือความรุนแรงทางเพศ
สำหรับผู้เขียนแล้ว empathy และ consent เป็นสิ่งที่สำคัญอย่างมาก หมายความว่าเมื่อใดก็ตามที่ผู้ถูกกระทำรู้สึกไม่สบายใจหรือรู้สึกว่าตนกำลังถูกคุมคามทางเพศ เมื่อนั้นเราต้องเคารพ และต้องมองว่านี่คือเรื่องจริงจังที่ไม่ควรปล่อยผ่านไป เพราะถ้าเราปล่อยผ่าน เราก็อาจจะเป็นส่วนหนึ่งของการส่งต่อความรุนแรงทางเพศให้สังคมต่อไป
คราวนี้เราต้องมาทำความเข้าใจว่าทำไมเราไม่ควรปล่อยผ่าน? สิ่งที่เราต้องคำนึงถึงก็คือกำเนิดของความรุนแรงเหล่านี้ ความรุนแรงเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างลอย ๆ อย่างไม่มีที่มาที่ไปหรือไม่รู้ต้นสายปลายเหตุ แต่ความรุนแรงทางเพศเกิดขึ้นอย่างเป็นระบบในสังคมที่เราอาศัยอยู่ เพราะสังคมที่เราอาศัยอยู่มีส่วนอย่างมากที่ช่วยหล่อหลอมความคิดของคน ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม อาจจะเริ่มตั้งแต่ความรู้สึกว่าเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องขำขัน หยอกล้อ เย้าแหย่ด้วยคำพูด ไปจนถึงการใช้กำลังข่มขืนทำร้าย และสรรหาเหตุผลต่าง ๆ นานาเพื่อโยนความผิดไปให้เหยื่อ
แน่นอนว่าความรุนแรงทางเพศไม่จำเป็นว่าต้องเกิดขึ้นกับเพศหญิงเพียงอย่างเดียว ไม่ว่าคุณจะเป็นเพศอะไรก็ตาม คุณก็สามารถตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงทางเพศได้เช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้นเพจ FFF จึงรวบรวมแนวทางป้องกันความรุนแรงทางเพศที่ใช้ในต่างประเทศเพื่อดูว่าในแต่ละประเทศจัดการและรับมือกับปัญหาความรุนแรงทางเพศและความรุนแรงในครอบครัวอย่างไร โปรดติดตามตอนต่อไปนะ