โควิดทำให้คนไร้บ้านเพิ่ม 30% สสส.-ภาคีฯ เร่งผลักดันให้เข้าถึงสิทธิ-ต้องมีงานทำ

ที่มา :   สำนักข่าวอิศรา

ภาพ : สสส. 

ภรณี ภู่ประเสริฐ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 10 ต.ค. 2565 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับกรุงเทพมหานคร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรมพัฒนาสังคมสวัสดิการ มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย มูลนิธิอิสรชน มูลนิธิกระจกเงา กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) สำนักพัฒนาสังคม กรุงเทพมหานคร และภาคีเครือข่าย จัดเสวนา ‘Homeless ไม่ Hopeless: เสียงสะท้อน ความหวัง อนาคต และชีวิตในภาวะไร้บ้าน’

จากสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลกระทบด้านเศรษฐกิจและสังคมต่อคนเปราะบางในเขตเมืองเป็นอย่างมาก ทั้งภาวะตกงาน การขาดความมั่นคงทางรายได้ ส่งผลให้จำนวนคนไร้บ้านที่เพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 30%

ศานนท์ หวังสร้างบุญ

นายศานนท์ หวังสร้างบุญ   รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ตนเห็นด้วยกับคำพูดที่ว่า ‘คนไร้บ้านไม่ใช่ปัญหา’ แต่ปัญหาคือสังคมหรือเมืองที่ทำให้คนรู้สึกว่าไม่น่าอยู่พอ ไม่สามารถทำให้คนมีสวัสดิการหรือสิทธิที่เพียงพอ เราอยู่ในสถานการณ์ที่มีบ้านร้างตึกร้าง แต่ก็ยังมีคนไร้บ้าน เราอยู่ในสถานการณ์ที่มี food waste (ขยะอาหาร) มากมาย แต่บางคนกลับไม่มีอาหารกิน ซึ่งส่วนตัวมองว่าเป็นเรื่องของการบริหารจัดการที่ไม่มีประสิทธิภาพ ถือเป็นหน้าที่ของ กทม. ที่จะต้องร่วมบูรณาการร่วมกับภาคีเครือข่าย ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐที่ต้องปลดล็อกกฎหมาย หรือ ประชาสังคม มูลนิธิต่างๆ ร่วมผลักดันกัน

“เราต้องทำให้ทุกคนรู้ว่าคนไร้บ้านไม่ใช่ปัญหา แต่สังคมที่เราอยู่ร่วมกันสร้างปัญหาที่ทำให้เกิดคนไร้บ้านขึ้น เราต้องช่วยกันมากกว่านี้ ผู้ประกอบการหลายคนขาดแรงงาน​ แต่เราก็ยังมีคนว่างงานและไม่สามารถเข้าถึงแหล่งงานได้ นั่นคือข้อบ่งชี้ว่าการบริหารจัดการยังไม่มีประสิทธิภาพ​ และเป็นหน้าที่ของกทม.ที่จะร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการบูรณาการร่วมกับภาครัฐและภาคีเครือข่ายต่างๆ อาทิ​ การปลดล็อคกฎหมายบางอย่าง รวมถึงการร่วมมือกับภาคีเครือข่ายต่างๆในการสร้างความเข้าใจกับสังคมว่า​ คนไร้บ้านไม่ใช่ปัญหา แต่สังคมต่างหากที่สร้างปัญหาบางอย่างทำให้เกิดคนไร้บ้าน ซึ่งเราต้องร่วมมือช่วยกันแก้ปัญหาให้มากกว่านี้” นายศานนท์กล่าว

Homeless Day 2022

นายศานนท์ กล่าวด้วยว่า เป็นโอกาสดีที่ กทม. ได้มาร่วมงาน “วันคนไร้ที่พึ่ง” หรือ “วันคนไร้บ้าน” Homeless Day ร่วมกับภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนโดยเรื่องคนไร้บ้านในปัจจุบันถูกพูดถึงมากขึ้น​ โดยหลังจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 คนไร้บ้านกับคนจนเมืองเป็นสิ่งที่แยกออกจากกันไม่ได้​ การบูรณาการแก้ไขปัญหาร่วมกันจึงจำเป็นอย่างยิ่ง​ ไม่ใช่แค่การแก้ปัญหาแค่เรื่องบ้านพักที่เป็นที่อยู่อาศัย​เท่านั้น แต่อาจรวมถึงเรื่องสวัสดิการต่างๆ ด้วย​

ในมิติของคนไร้บ้าน​ คนจนเมือง​ คนเร่ร่อนต่างๆ​ อาจจะเป็นเรื่องของสภาวะบางอย่างหรือสวัสดิการต่างๆ ที่ยังไม่พร้อม​ โดยในส่วนของ กทม. จะร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนเรื่องสวัสดิการ​ ทั้งเรื่องของการหางาน สาธารณสุข​ และเรื่องของที่อยู่อาศัย​

“คนไร้บ้าน​ จะต้องไม่ไร้สิทธิ์​ และไม่ไร้งาน​ รวมถึงสวัสดิการต้องพร้อม ทุกภาคส่วนจะร่วมมือกันเพื่อแก้ปัญหานี้ร่วมกัน” นายศานนท์​ กล่าว

Homeless Day 2022

นางอัจฉรา สรวารี เลขาธิการมูลนิธิอิสรชน เปิดเผยว่า ได้พยายามมคลุกคลีกับคนกลุ่มนี้ เพื่อหาข้อมูลให้ได้ว่าสิ่งที่เขาต้องการคืออะไร จนนำไปสู่โครงการต่าง ๆ เช่น แบ่งปันอาหาร ทุกข์ปันสุข การพาเข้าสู่สิทธิการรักษา ขับเคลื่อนกฎหมายให้เกิด พรบ. การคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง ปี พ.ศ. 2557

“เราพบว่าเมื่อเราส่งกลับบ้านหรือคืนสู่สังคมเขาไม่สามารถอยู่ในชุมชนได้ และ ท้องถิ่นไม่สามารถเอางบประมาณมาดูแลได้ ทั้งที่เขาน่าจะอยู่ในชุมชนได้หรือท้องถิ่นของเขาได้ เราจะทำอย่างไรให้เกิดระบบหรือช่องทางที่จะดูแลเขาได้ ไม่ใช่แค่เราทำให้เขาอย่างเดียว แต่อยากให้เขาได้พัฒนาช่วยเหลือตัวเองด้วย นั่นคือสิ่งที่มูลนิธิอิสรชนพยายามทำ” นางอัจฉรา กล่าว

Homeless Day 2022

ด้าน นายสมพร หารพรม จากมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย กล่าวว่า ทางมูลนิธิเน้นให้พี่น้องคนไร้บ้านเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานอย่างที่อยู่อาศัย ซึ่งจะทำให้ได้หวนกลับไปคิดว่าจะไปต่อกับชีวิตอย่างไร โดยได้พยายามรวมกลุ่มเขา เพื่อมาพูดคุยถึงปัญหาว่ามีอะไรบ้าง ซึ่งในช่วงโควิดเราได้ลงพื้นที่พบพี่น้องคนไร้บ้าน เราทราบว่าพวกเขาไม่สามารถเข้าถึงสิทธิการรักษาป้องกันได้ จึงนำไปสู่การผลักดันให้เกิดจุดประสานงานสาธารณะ ไม่ใช่แค่ใน กทม. อย่างเดียว

จากเรื่องที่อยู่อาศัยอย่างเดียวไม่พอ เรื่องงานก็เป็นสิ่งที่ตามมา จึงนำไปสู่การคิดร่วมกันแล้วเกิดเป็นโครงการที่อยู่อาศัยคนละครึ่ง โดยเราเริ่มจากกลุ่มเล็กๆ 10 กว่าคน ขณะนี้มีสมาชิกประมาณ 40 คน เกือบ 20 ห้อง

คาดว่าถ้าเราทำให้พี่น้องออกจากที่สาธารณะตั้งหลักชีวิตได้เราจะขยับไปต่อ เพียงแต่ก็ต้องไปรับความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กทม. หรือ กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ซึ่งคิดว่าถ้ามีนโยบายที่อยู่อาศัยราคาถูกจะเป็นแก้ปัญหาให้ไม่หลุดมาเป็นคนไร้บ้าน และ ช่วยเหลือทั้งคนไร้บ้าน และ กลุ่มเปราะบางต่าง ๆ เช่นกัน

นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. กล่าวว่า “คนไร้บ้าน” คือ ประชากรกลุ่มเฉพาะที่ต้องให้ความสำคัญ สสส. เป็นหนึ่งในหน่วยงานที่คอยเชื่อมประสาน โดยสานพลังกับภาคีเครือข่าย หนุนเสริม พัฒนาคุณภาพชีวิตคนไร้บ้าน สิ่งสำคัญคือการทำให้คนไร้บ้านมี “ที่อยู่อาศัย” และ “อาชีพ” เพราะจะช่วยลดความเสี่ยงต่อการใช้ชีวิตในพื้นที่สาธารณะได้ เนื่องจากการมีรายได้ จะช่วยทำให้คนกลุ่มนี้มีที่พักเป็นหลักแหล่ง สู่การมีสุขภาวะที่ดีได้ โดยภาคประชาสังคม เช่น มูลนิธิอิสรชน, มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย, มูลนิธิกระจกเงา, เครือข่ายคนไร้บ้าน หัวลำโพง มีส่วนสำคัญอย่างมากในการทำให้การแก้ปัญหาคนไร้บ้านดีขึ้นถึงจุดนี้

Homeless Day 2022

ที่ผ่านมา สสส. ได้พัฒนา “นวัตกรรมการจัดบริการที่อยู่อาศัยและความช่วยเหลือฉุกเฉิน บนฐานการมีส่วนร่วมของคนไร้บ้าน” หรือโครงการ “ที่อยู่อาศัยคนละครึ่ง” ในรูปแบบ “แชร์” ค่าเช่าขึ้นมา ร่วมกับภาคีเครือข่าย เพื่อหนุนเสริมคนที่ยากลำบาก แก้ปัญหาจำนวนคนไร้บ้านที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น หลังสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบข้อมูลว่า โควิด-19 ช่วง 2 – 3 ปี ที่ผ่านมา พบคนไร้บ้านใน กทม. สูงขึ้นกว่า 30% จาก 1,307 คน เพิ่มเป็น 1,700 – 1,800 คน ขณะที่คนไร้บ้านทั่วประเทศเพิ่มขึ้น 4,000 คน ทำให้ สสส. พยายามทำงานเชิงรุกแก้ปัญหาการเข้าสวัสดิการ เพราะสัมพันธ์กับความเหลื่อมล้ำ และความไม่เป็นธรรมทางสังคมเศรษฐกิจ

“คำว่า “ความสุข” หรือ “สุขภาวะ” สำหรับคนไร้บ้าน เป็นเรื่องยากมากสำหรับคนที่ทิ้งทุกอย่างมาอยู่ในที่สาธารณะ แต่ สสส. ขอเป็นหน่วยงานหนึ่งที่ร่วมพัฒนานวัตกรรมที่อยู่อาศัย จุดประสานงาน Drop-in เรื่องอาหาร เพื่อช่วยเรื่องชีวิตความเป็นอยู่คนไร้บ้าน เพื่อพัฒนาสุขภาวะคนไร้บ้านให้สามารถตั้งหลักชีวิตได้โดย สสส.จะมุ่งมั่นสานพลังกับหน่วยงานทุกภาคส่วนต่อไป ” นางภรณี กล่าว

ขอขอบคุณข่าวจาก https://www.isranews.org/article/

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

ระบุข้อความ