เมื่อโรงเรียนและบ้านอาจไม่ใช่พื้นที่ปลอดภัยของ LGBT
เมื่อโรงเรียนและบ้านอาจไม่ใช่พื้นที่ปลอดภัยของ LGBT
.
ส่งท้ายเดือน Pride Month กับประเด็นความหลากหลายทางเพศ กับหนึ่งปัญหาของสังคมไทยที่ยังพบได้มากก็คือ “การรุมรังแก” (Bullying) กลุ่มนักเรียนที่เป็น LGBT ในรั้วโรงเรียน ซึ่งเรื่องดังกล่าวนั้นเกิดได้ตั้งแต่ เพื่อนนักเรียน ครูอาจารย์ ผู้บริหาร และตัวผู้ปกครองเอง ซึ่งนำไปสู่มาตรการการเลือกปฏิบัติที่ไม่เท่าเทียม
.
เกราะป้องกันแรกที่ใกล้ตัวที่สุดก็คือคนในครอบครัว ต้องมีความเข้าใจที่ดี เปิดใจและยอมรับ เพื่อสร้างความพึงพอใจในตัวเองให้กับบุตรหลานเพราะในปัจจุบัน“เพศ” ไม่ได้เป็นสิ่งที่จำกัดหมวดหมู่ไว้สำหรับหญิงและชายที่เกิดขึ้นมาตามเพศสรีระ เพียงแค่สองเพศอีกต่อไป แต่ยังอาจหมายถึง อัตลักษณ์ทางเพศ การแสดงออกทางเพศ เพศวิถี หรืออื่น ๆ ซึ่งเป็นที่มาของคำว่า ความหลากหลายทางเพศ (Gender and sexual diversity) หรือ LGBT
.
สสส. ร่วมกับมูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้ทำหนังสือคู่มือ “บ้านนี้มีสีรุ้ง” โดยบทที่หนึ่งเน้นย้ำการตั้งคำถามว่า “เราเลี้ยงลูกผิดอยู่ไหม?” พ่อแม่ผู้ปกครองหลายคนมักจะพยายามค้นหาคำตอบเวลามีลูกเป็น LGBT ว่าพวกเขาเลี้ยงลูกผิดอยู่ไหม จะต้องแก้ไขตรงไหน แล้วเพราะอะไรถึงเป็น LGBT แทนที่จะพยายามทำความเข้าใจสภาวะของบุตรหลาน โดยเชื่อว่าพวกเขาจะเปลี่ยนพฤติกรรมได้ เกิดการไม่ยอมรับ ซึ่งเป็นปัจจัยเริ่มต้นแห่งการถูกด้อยค่าของตัวเด็ก
.
ดังนั้น ลองเปลี่ยนคำถามว่า “เพราะอะไรเขาถึงเป็น LGBT” เป็นคำถามว่า “เราจะทำอย่างไรให้ลูกเรามีความพึงพอใจในคุณค่าของตัวเอง” เป็นเรื่องที่สำคัญกว่า เพราะบุตรหลานของท่านต้องการสนับสนุนทั้งในเชิงร่างกายที่กำลังเปลี่ยนไปในช่วงวัยรุ่น และในเชิงจิตใจที่ต้องการการสนับสนุนจากคนที่ทำให้รู้สึกไว้วางใจและปลอดภัย ครอบครัวจึงเป็นส่วนสำคัญในส่วนนี้
.
โรงเรียนเป็นพื้นที่ที่วัยรุ่นใช้เวลามากพอ ๆ กับที่บ้าน ดังนั้นการเกิดปฏิสัมพันธ์ต่าง ๆ มักจะเกิดในโรงเรียน เมื่อปี 2557 มหาวิทยาลัยมหิดล องค์การ PLAN International ประเทศไทย และยูเนสโก เผยแพร่งานวิจัยการรังแกต่อกลุ่มนักเรียนที่เป็นหรือถูกมองว่าเป็นคนข้ามเพศหรือคนรักเพศเดียวกัน มีตัวเลขจากผลสำรวจที่น่าตกใจเป็นอย่างมาก โดยพบว่า 6 ใน 10
นักเรียน LGBT ถูกรังแกเพราะตัวตนทางเพศและถูกรังแกมากกว่ากลุ่มที่ไม่ใช่ LGBT มากถึง 2 เท่า
.
โดยผลกระทบดังกล่าวสะท้อนออกมาในผลวิจัยว่า จากการกลั่นแกล้งดังกล่าวภายในสถานศึกษานั้นทำให้กลุ่ม LGBT อยู่ในข่ายซึมเศร้ามากกว่า นร.ที่ไม่ใช่ LGBT 3 เท่า โดยในกลุ่มสำรวจเคยมีประสบการณ์ถูกทำร้ายร่างกาย 31% และรู้สึกทนไม่ไหวจากการกลั่นแกล้งและเคยพยายามฆ่าตัวตายจากการถูกรังแก 7%
.
ซึ่งการใช้ความรุนแรงภายในโรงเรียนกับ LGBT ยังมีในหลายระดับนอกจากการทำร้ายร่างกายแล้ว 29% ได้รับการกระทำทางวาจาดูหมิ่นเหยียดหยามไม่ว่าจะมาจากทั้งเพื่อนนักเรียนและครู ส่วนการล่วงละเมิดทางเพศมีกลุ่มสำรวจ 26% ที่เคยเจอประสบการณ์เช่นนั้น ในแบบสำรวจยังกล่าวว่าผู้บริหารและโรงเรียน ก็มีความไม่เข้าใจในเรื่องนี้ นโยบายของโรงเรียน มองแต่เรื่องความรุนแรงของการยกพวกตีกันของเด็ก แต่ไม่ได้เข้าใจเรื่องความรุนแรงของการกลั่นแกล้ง
.
เรื่องนี้เป็นโจทย์ใหญ่ที่ระบบการศึกษาและสถาบันครอบครัว ต้องร่วมแก้ไขไปพร้อมกัน อย่าให้เพียงความตระหนักรู้ถึงการเลือกปฏิบัติจะถูกหยิบยกมาพูดเฉพาะวาระ Pride Monthเท่านั้น เพราะ LGBT ยังต้องใช้ชีวิตในสังคมที่มีความไม่เท่าเทียมแบบนี้ตลอดทั้งปี
.
#LGBT #การกลั่นแกล้ง
.
เเหล่งที่มา https://www.facebook.com/curiouspeople.me