“แอนชิลีฟีเวอร์” Real Size Beauty ตัวฉัน หรือสังคม คือคนกำหนดว่า “สวย”?
“แอนชิลีฟีเวอร์” Real Size Beauty
ตัวฉัน หรือสังคม คือคนกำหนดว่า “สวย”?
.
ถึงแม้จะผ่านช่วงฟีเวอร์ของ “แอนชิลีฟีเวอร์” ไปสักระยะหนึ่งแล้ว แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า แอนชิลี สก๊อต-เคมมิส นางแบบ และนางงามชาวไทยผู้ได้รับตำแหน่งมิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ 2564 และเป็นตัวแทนประเทศไทยในการประกวดนางงามจักรวาล 2021 ณ ประเทศอิสราเอลถึงแม้ว่าเธอจะไปไม่ถึงตำแหน่งชนะเลิศ แต่ก็ได้สร้างปรากฏการณ์ที่กลายเป็นข้อถกเถียงให้กับสังคมไทยจนถึงปัจจุบัน
.
ภาพที่แตกต่างจากนางงามพิมพ์นิยมที่มักจะตัวสูง ผอมเพรียว หุ่นเรียวขาเล็ก พร้อมใบหน้ารูปไข่ที่เราคุ้นตา กลายเป็นภาพของรูปร่างความสวยงามตามธรรมชาติ หุ่นสไตล์นักกีฬาด้วยความสูงถึง183 เซนติเมตร ความสามารถที่พร้อมทั้งเรื่องการตอบคำถามได้อย่างฉะฉานและความสง่างามสมกับตำแหน่งของเธอ พร้อมกับคำพูดที่กลายเป้นปรากฏการณ์เมื่อปีที่แล้วอย่าง Real-size Beauty หรือ ความงามบนมาตรฐานหุ่นที่แท้จริง
.
แอนชิลีได้นำเสนอ ความสวยแบบ สวยไซส์จริง “เรียลไซส์บิวตี้” ตั้งแต่ก่อนจะขึ้นเวทีประกวด จากส่วนสูง 183 เซนติเมตร มีอาชีพเป็นนางแบบ Curve Model หรือ นางแบบพลัสไซส์ ที่มีรูปร่างที่มีส่วนเว้าส่วนโค้งที่แตกต่างจากความนิยมทั่วไป แอนชิลีกล่าวเมื่อตอนรับสมัครว่า “เธอภูมิใจในเรือนร่างของตัวเอง และมีมุมมองที่อยากจะให้คนทุกคนยอมรับในความแตกต่างที่หลากหลายของขนาดร่างกายและรูปร่าง เพราะนั่นคือความงามที่แท้จริง”
.
แต่ถึงกระนั้นก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะเป็นที่ยอมรับของสังคมที่มี “ความสวยแบบพิมพ์นิยม” หรือ Beauty Standard เพราะขณะที่เธอไปเป็นตัวแทนที่อิสราเอล รูปของเธอในชุดราตรีกลับถูกวิพากษ์วิจารณ์ในโลกอินเทอร์เน็ตว่า “เธอดูอวบเกินไปในชุดที่รัดรูปแบบนั้น” ซึ่งเนติเซนทั้งต่างประเทศและไทยหยิบยกมาล้อกันอย่างสนุกสนาน
.
จนล่าสุดเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์เธอต้องออกมาเปิดใจถึงกรณ๊ดังกล่าวหลังจากไม่ผ่านเข้ารอบนางงามจักรวาล2021 ว่า“แอนโอเคนะคะทุกคน แค่อยากบอกว่า คอมเมนต์มันก็เจ็บได้ คนที่เข้มแข็งไม่ได้แปลว่าแสดงความเสียใจไม่ได้นะคะ คนเข้มแข็งเป็นคนที่สู้ต่อได้ ขอบคุณมากสำหรับกำลังใจนะคะ รักเสมอ ส่วนเรื่องที่ไม่ได้เข้ารอบก็เจ็บนะคะ โดยเฉพาะแอนทำเต็มที่แล้ว แต่แอนขอคนไทยด้วยกันสู้ต่อไปด้วยกันเพื่อสายสะพายไทยแลนด์นะคะ แอนเชื่อว่าอีกไม่นานมง3จะมานะคะ แอนขอโทษที่แอนไม่ใช่เป็นคนที่เอามาให้คนไทยทุกคนได้”
.
เราจะเห็นว่าเธอมีพลังในความคิดบวกอยู่เสมอ แต่ก็สัมผัสได้ถึงความเสียใจจากคอมเมนต์เรื่องรูปลักษณ์ที่เธอได้รับ สังคมไทยอาจจำเป็นต้องใช้เวลาในการทำความเข้าใจเรื่องนี้ ในโลกตะวันตกนั้นกระแสดังกล่าวเริ่มเป็นที่พูดถึงมากว่า 20ปี โดยเป็นกระแสการต่อต้าน “โรคคลั่งผอม” (Anorexia Nervosa) และโรคล้วงคอ (Bulimia) ซึ่งเกิดในวงการนางแบบและนักแสดงที่มักจะถูกกดดันและคาดหวังว่าจะต้องรูปร่างดีตลอดเวลา
.
ในระดับโลก นักแสดงสาวชื่อดังอย่าง ลิลลี่ คอลลินส์ เจ้าของบทบาทนำใน Emily in Paris เคยออกมาเปิดเผยว่าเธอมักจะโดยทีมสร้างภาพยนตร์กดดันว่า เธอจะต้องรักษาหุ่นให้ดีอยู่ตลอดเวลา ซึ่งกลายเป็นแรงกดดันให้นักแสดงหลายคนเกิดปัญหาสภาวะทางจิตใจในการต้องทนอดอาหารเพื่อให้อยู่ในรูปร่างที่ดี มีผลวิจัยที่น่าสนใจของสถาบันทุพพลภาพทางอาหารของสหรัฐฯหรือ NEDA ที่สำรวจเมื่อ 5ปีที่แล้ว พบว่าเด็กวัยรุ่นหญิงกว่า ร้อยละ94 และวัยรุ่นชายร้อยละ 64 มีความไม่พึงพอใจต่อรูปร่างและหน้าตาของตัวเอง
.
เรื่องนี้ทาง สสส. ได้ออกมาให้ความตระหนักรู้ถึง การเห็นคุณค่าในตัวเอง (self-esteem) โดยเสนอว่ามี 6ขั้นตอนที่ควรจะตระหนักถึงได้แก่ เริ่มทำความรู้จักกับตัวเอง การให้อภัยตัวเองในสิ่งที่เราอาจจะไม่สมบูรณ์ การไม่นำตัวเองไปเปรียบเทียบในเชิงลบ สร้างความรักในตัวเอง ไม่ไหวอย่าฝืนให้หยุดกดดันตัวเอง และขั้นสุดท้ายคือการร้องขอความช่วยเหลือจากคนรอบข้าง ก่อนที่จะกลายเป็นความเครียดสะสมและนำไปสู่การทำร้ายตัวเอง อย่างกรณีแอนชิลีที่ได้แสดงความรู้สึกของเธอออกมาเป็นขั้นตอนหนึ่งในการที่พยายามจะสื่อสารและขอร้องว่าคอมเมนต์เชิงลบต่างๆมันทำร้ายจิตใจเธอเพียงใด
.
ถึงเวลาหรือยังที่ประเทศไทยเองจะต้องหันมาให้ความสนใจเรื่องแบบนี้อย่างจริงจัง ไม่นำกระแสดังกล่าวไปเป็นการบูลลี่กันและกัน อย่าให้ปรากฏการณ์การตื่นตัวของแอนชิลี กลายเป็นพลุที่สว่างเพียงชั่วคราวและจางหายไปสายลม เพราะทุกคนนั้นมีความงามในแบบที่ตัวเองพึงพอใจ
.
ภาพจาก Miss Universe Thailand
#แอนชิลี #RealSizeBeauty #BeautyStandard
.
เเหล่งที่มา https://www.facebook.com/curiouspeople.me