จนแล้ว จน (ไม่) รอด : เผยตัวเลขคนจนและคนจนขั้นรุนแรงของไทย ขยันแค่ไหนแต่ทำไมประชากรบางกลุ่มหนีความจนไม่พ้นเสียที
“ความยากจนเกิดจากความขี้เกียจ?”
‘ไผ่’ นิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์ ผู้ประสานงานเครือข่ายรัฐสวัสดิการเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม (We Fair) เล่าว่าตนเองเคยตั้งคำถามกับผู้เข้าร่วมกิจกรรม Workshop การเรียนรู้รัฐสวัสดิการว่า ความยากจนเกิดจากอะไร คำตอบมีทั้งความยากจนเกิดจากกรรมเก่า ความยากจนเกิดจากการไม่ได้เรียนหนังสือ และความยากจนเกิดจากความขี้เกียจ ซึ่งข้อสุดท้ายเป็นคำตอบที่คนเลือกตอบมากที่สุด
ที่ผ่านมาเราเชื่อมาตลอดว่าเพราะไม่ขยันจึงจน และเมื่อจนก็ไม่สามารถโทษใครได้นอกจากตัวเอง แต่ในความเป็นจริง มีอีกหลายคนที่ขยันสุดตัว แต่ก็ยังหนีจากความจนไม่พ้นเสียที เพราะการมองว่าจนจากความขี้เกียจไม่ได้นำไปสู่การแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างจริงๆ
“เรามีความชินชาต่อความไม่เป็นธรรม ถูกกล่อมเกลาให้เชื่อแบบนั้น หรือเฉยๆ ต่อมัน ซึ่งเราคิดว่าถ้าไม่มีการเปลี่ยนจิตสำนึกนี้ จะไม่มีการนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในสังคมได้” นิติรัตน์กล่าว
ประเทศไทยมีคนจน 2.39 ล้านคน ในจำนวนนี้มี ‘ประชากรกลุ่มเฉพาะ’ อยู่ไม่น้อย ดร.นณริฏ พิศลยบุตร จากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย นิยามว่ากลุ่มประชากรเฉพาะ คือ ประชากรบางกลุ่มที่มีความเปราะบาง ต้องการกระบวนการพิเศษในการเข้าถึงการสร้างเสริมสุขภาวะ และไม่ได้รับประโยนช์จากกลไกการสร้างเสริมสุขภาพตามนโยบายในภาพรวม
เพื่อแก้ไขความจนให้ตรงจุด นิติรัตน์จึงเผยสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำในปัจจุบันที่สังคมควรหันมารับรู้ร่วมกัน ภายในงานประชุมวิชาการและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เสียงที่คนอื่นไม่ได้ยิน : ประชากรกลุ่มเฉพาะครั้งที่ 3 เมื่อ 18 มิ.ย. 2568 ภายใต้หัวข้อ สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางสุขภาพในมุมมองของภาควิชาการและภาคประชาสังคม
นิติรัตน์บอกว่าความเหลื่อมล้ำคือสิ่งที่เราไม่สามารถมองข้ามไปได้ จากการสำรวจพบว่าประเทศไทยมีประชากร 2.39 เป็นคนจน ซึ่งแบ่งตามเส้นความยากจนที่ 3,043 บาท นอกจากนี้ยังมีกลุ่มคนจนรุนแรงอยู่ 6.3 แสนราย ที่น่ากังวลคือกลุ่มเด็กอายุ 6-14 ปี มีสัดส่วนคนจนสูงสุดมากถึง 6.56%
คนทั่วไปหนีไม่พ้นความจน ประชากรกลุ่มเฉพาะก็เช่นกัน นิติรัตน์ได้ยกตัวอย่างประชากรกลุ่มเฉพาะบางกลุ่มเพื่อทำให้เห็นภาพรวมสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำและความเปราะบางที่ไม่แพ้คนทั่วไป
เมื่อพิจารณาจากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน เริ่มต้นที่กลุ่มสตรีมีครรภ์ราว 4.58 แสนคน ซึ่งการตั้งครรภ์บุตร 1 คน ทำให้รายได้ลดลงมากถึง 20% แน่นอนว่าโอกาสในการทำงานก็จะลดลงไปด้วยเนื่องจากผู้ว่าจ้างมองว่าคนกลุ่มนี้ไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่ ส่งผลให้สตรีมีครรภ์เจอกับสถานการณ์ค่าใช้จ่ายมากขึ้น แต่รายได้ลดลง ที่สำคัญคือปัจจุบันกลุ่มสตรีมีครรภ์ยังขาดสวัสดิการเงินอุดหนุนการตั้งครรภ์จากภาครัฐอีกด้วย เพราะตอนนี้มีเพียงเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด (0-6 ปี) 600 บาท สำหรับครัวเรือนรายได้เฉลี่ยไม่เกิน 100,000 บาทเท่านั้น
ข้อเสนอจากนิติรัตน์ คือ ควรมีเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด (0-6ปี) แบบถ้วนหน้า และเงินอุดหนุนสตรีมีครรภ์ในช่วงเดือนที่ 5-9 ในอัตราไม่ต่ำกว่าเส้นความยากจน
ในส่วนของกลุ่มผู้สูงอายุที่มีราว 13 ล้านคน ทุกวันนี้สังคมไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยแล้ว มีผู้สูงอายุ 12.2 ล้านคนเท่านั้นที่ได้รับเบี้ยยังชีพ โดยเบี้ยยังชีพของผู้สูงอายุ 60 – 69 ปี ได้รับเดือนละ 600 บาท – อายุ 70-79 ปี ได้รับ เดือนละ 700 บาท – อายุ 80-89 ปี ได้รับเดือนละ 800 บาท ส่วนอายุ 90 ปีขึ้นไป ได้รับเดือนละ 1,000 บาท ซึ่งในจำนวนที่ได้รับต่ำกว่าเส้นความยากจน 3-5 เท่า
ขณะเดียวกันผู้สูงอายุเองก็มีความเปราะบางด้านรายได้ เนื่องจาก 90% ของผู้สูงอายุที่ทำงานอยู่ เป็นแรงงานนอกระบบ ส่วนใหญ่อยู่ในภาคเกษตร ที่ไม่ได้รับการคุ้มครองจากสิทธิสวัสดิการต่างๆ เช่น ประกันสังคม เป็นต้น นิติรัตน์จึงมองว่าการพัฒนาเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุควรจะเกิดขึ้น โดยมีการสร้างระบบบำนาญพื้นฐานถ้วนหน้าให้กับประชาชนทั่วไปโดยมีเป็นอัตราไม่ต่ำกว่าเส้นความยากจน
ภาพรวมของคนพิการในปัจจุบัน 4.19 ล้านคน แต่มีเพียง 2.2 ล้านคนเท่านั้นที่มีบัตรประจำตัวคนพิการ นั้นหมายความว่ามีคนพิการกว่า 2 ล้านคนไม่สามารถเข้าถึงสิทธิและสวัสดิการของคนพิการได้เนื่องจากไม่มีบัตร เนื่องจากการนิยามความพิการของแต่ละหน่วยงานรัฐต่างกัน นอกจากนี้ยังพบว่ามีคนพิการยากจนอยู่ 2.23 แสนคนและกลุ่มคนพิการยากจนที่สุดเข้าถึงเบี้ยยังชีพเพียง 79.61% ข้อเสนอจากนิติรัตน์คือเพิ่มเบี้ยความพิการให้มีอัตราไม่ต่ำกว่าเส้นความยากจน
ดังนั้นการแก้ไขความยากจนด้วยการทำให้คนขยันจึงไม่ใช่คำตอบ จึงต้องแก้ที่โครงสร้าง เพื่อคนให้มีโอกาสเข้าถึงสิทธิสวัสดิการ โดยเฉพาะในประชากรกลุ่มเฉพาะ ที่เข้าไม่ถึงอำนาจและสิทธิขั้นพื้นฐาน โจทย์ของสังคมในตอนนี้คือจะทำอย่างไรให้ทุกคนหลุดพ้นจากความจนได้
นิติรัตน์ทิ้งท้ายว่า รัฐสวัสดิการจะแก้ปัญหาทั้งความยากจน ความเหลื่อมล้ำ และความเปราะบาง การที่มีนโยบายรัฐสวัสดิการ เช่น หลักประกันสุขภาพ การศึกษาฟรี เงินอุดหนุนเด็กถ้วนหน้า และระบบบำนาญผู้สู้งอายุ ทำให้โอกาสในการเข้าถึงสิทธิสวัสดิการเป็นของทุกคน จะทำให้คุณภาพของคนในสังคมยกระดับอย่างยั่งยืน รวมทั้งประชากรกลุ่มเฉพาะก็จะมีคุณภาพชีวิตอย่างมีเกียรติและศักดิ์ศรี