ประเทศไทยมี LGBTIQNA+ เกือบ1.6 ล้านคน : เมื่อประชากรหลากหลายทางเพศ ‘นับจำนวน’ ได้จริง ผ่านงานวิจัย ‘หลากหลายใต้ตัวเลข’
เรารู้ว่าประชากรหลากหลายทางเพศคือใคร แต่สิ่งที่ไม่รู้คือพวกเขามีจำนวนเท่าไหร่
นี่คือคำถามตั้งต้นจากสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล จนนำไปสู่งานวิจัยที่ชื่อว่า ‘การคาดประมาณประชากรหลากหลายทางเพศ และสถานการณ์ชีวิตและสุขภาพของ LGBTQ+ ไทย’ โดยมีกุลภา วจนสาระ เป็นหัวหน้าโครงการ สนับสนุนโดย สำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ (สำนัก 9)
“สิ่งที่เราทำครั้งนี้ไม่เคยมีใครทำมาก่อน”
รศ.ดร.กฤตยา อาชวนิจกุล ที่ปรึกษาโครงการฯ กล่าวภายในงานประชุมเสนอผลงานวิจัยหลากหลายใต้ตัวเลขฯ ในวันที่ 30 พฤษภาคม 2568 ที่ผ่านมา ถึงแม้จะเคยมีการนำร่องโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติมาก่อน แต่ในครั้งนี้อาจารย์กฤตยาชี้ว่า คณะวิจัยได้ลงพื้นที่และสุ่มเลือกครัวเรือนเองทั้งหมด 2,466 ครัวเรือน นับจดประชากรในครัวเรือนได้ทั้งสิ้น 9,588 คน โดยให้ระบุว่าสมาชิกในครัวเรือนมีเพศภาวะหรือเพศสภาพเป็น LGBTIQNA+ หรือไม่ ถ้ามีก็จะสัมภาษณ์รายบุคคลต่อ
นี่ถือเป็นครั้งแรกของประเทศไทยและในทวีปเอเชีย ที่มีการศึกษาประชากรกลุ่มนี้อย่างครอบคลุมทั้งมิติชีวิตทางเพศและสุขภาพ ได้แก่ อัตลักษณ์ทางเพศ วิถีทางเพศ สุขภาวะ และความรู้เท่าทันเรื่องสุขภาพ
ผลจากการคาดประมาณประชากรหลากหลายทางเพศในงานวิจัยชิ้นนี้ชี้ว่า ในปี 2567 ประเทศไทยมีประชากรหลากหลายทางเพศราว 1,586,918 คน ในจำนวนนี้แบ่งเป็นเพศกำเนิดชาย 543,485 คน และเพศกำเนิดหญิง 1,043,433 คน
กลุ่มอายุ 15-19 ปีและกลุ่มอายุ 20-24 ปี ถือเป็นกลุ่มอายุที่มีความชุกของเพศหลากหลายมากกว่ากลุ่มอื่นซึ่งมีอัตราความชุกอยู่ที่ 6.9% และ 6.3% ตามลำดับ และถือว่ามีมากกว่าจำนวนของกลุ่มผู้สูงอายุ ยิ่งอายุมากขึ้นอัตราความชุกก็จะยิ่งลดลง
นอกจากนี้งานวิจัยยังมองว่าในอีก 15 ปีข้างหน้าอัตราความชุกของประชากรความหลากหลายทางเพศมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่า นั้นหมายความว่าในปีพ.ศ. 2582 อาจจะมีประชากรหลากหลายทางเพศทั้งหมด 2.2 ล้านคน
“งานชิ้นนี้จะมีความหมายในการแสดงให้เห็นถึงความหลากหลาย การแสดงถึงอัตลักษณ์ทางเพศที่มีความแตกต่างกัน เพื่อช่วยกำหนดทิศทางของนโยบาย มาตราการต่างๆ รวมถึงทำให้ประชาชนเห็นถึงสถานการณ์ที่แท้จริง”
ภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุน สสส. และรักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะกล่าว ที่ผ่านมาเรารับรู้ว่าประชากรไทยมีกี่คน อายุเท่าไหร่มากที่สุด จังหวัดไหนมีคนมากที่สุดหรือน้อยที่สุด แต่เราไม่เคยรู้เลยว่าแล้วประชากร LGBTIQNA+ มีเท่าไหร่ ทั้งๆ ที่ประเทศไทยขึ้นชื่อว่าเป็นสังคมที่เปิดรับความหลากหลายมาก
การขาดข้อมูลทางสถิติของกลุ่มประชากรความหลากหลายทางเพศที่น่าเชื่อถือ ส่งผลให้การออกแบบนโยบายสาธารณะและการบริการยังไม่ทั่วถึง เพราะไม่รู้ว่ามีกี่คน อายุเท่าไหร่บ้าง เลยทำให้ไม่ทราบว่าความต้องการแท้จริงของพวกเขา
หากใครที่กำลังตั้งคำถามว่า “รู้แล้วยังไงต่อ?” คำตอบเบื้องต้นคือ ผลจากงานวิจัยในครั้งนี้ เป็นเครื่องมือสำคัญในการต่อยอดสู่ข้อเสนอทางนโยบาย เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้กับคนหลากหลายทางเพศได้ ก้าวสู่สังคมที่มีความเข้าใจและเคารพในความแตกต่างของแต่ละบุคคล
ที่สำคัญยังเป็นการขับเคลื่อนนโยบายบนฐานข้อมูลที่ครอบคลุมและเชื่อถือได้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อหน่วยงานภาครัฐ องค์กรต่างๆ สถาบันการศึกษา และภาคส่วนอื่นๆ ที่สนใจในเรื่องความหลากหลายทางเพศ ช่วยให้พัฒนานโยบายและโครงการต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นเพราะมีสถิติน่าเชื่อถือรองรับ สามารถติดตามการเปลี่ยนแปลงของประชากรได้
และยังเป็นฐานข้อมูลสำคัญที่สามารถนำไปต่อยอดในอนาคตได้ โดยเฉพาะการสำรวจเพิ่มเติมและลงลึกที่จะทำให้เห็นมิติอื่นๆ ของกลุ่มประชากรหลากหลายทางเพศได้อีก
ถ้าเราสามารถนำจำนวนหญิงและชายในประเทศได้ การนับจำนวนประชากรความหลากหลายทางเพศก็ทำได้เช่นเดียวกัน ภายใต้ตัวเลขในเชิงประจักษณ์ทั้งหมดนี้คือการยืนยัน ‘การมีอยู่จริง’ ของประชากรหลากหลายทางเพศ
อ่านงานวิจัยฉบับเต็มได้ที่ https://ipsr.mahidol.ac.th/post_research/lgbtq-population-estimates/?fbclid=IwY2xjawKiYGdleHRuA2FlbQIxMABicmlkETFUV0pkc1M3RWlDemNiaW5jAR4eYPHP-MRmPMhFftMcTTv4Zc5PKIQJwDIeHfQlDubhtUQ4sNeZoJODpwKwuQ_aem_PH05tGgi2pYPq7y6Cobe7Q