“ใครเอ่ย ไม่เข้าพวก?” อคติมีได้ก็แก้ได้ ส่วนรวมแก้ด้วยนโยบาย ส่วนบุคคลแก้ได้ด้วยการมองเขาอย่างธรรมชาติ

“ถ้าเราอยู่ในสังคมที่คนมีอคติเหมือนกัน เราก็พร้อมจะแสดงอคติออกมาได้ง่าย”

ยกตัวอย่าง ถ้าเราเกิดมาในสังคมที่เกลียดผัก ทั้งสื่อ นโยบาย คนรอบข้างต่างก็บอกว่าผักเป็นพิษและควรกำจัดทิ้ง ก็เป็นไปได้ว่าเราจะเติบโตขึ้นเป็นคนที่เกลียดผักไปด้วย

‘ผศ.สกล โสภิตอาชาศักดิ์’ หัวหน้าโครงการวิจัยด้านอคติ และอาจารย์ประจำคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงมองเห็นว่า ส่วนหนึ่งที่ทำให้คนแสดงอคติออกมาได้ง่าย เพราะสังคมสรรเสริญและยอมรับอคตินั้น

อคติ (Prejudice) หมายถึง ปฏิกิริยาจากการเหมารวมบุคคลนั้นๆ เข้าไปอยู่กับกลุ่มคนหนึ่ง อันเนื่องมาจากการอนุมานไปว่าบุคคลนั้นๆ มีลักษณะไม่พึงประสงค์ ไม่เข้าพวก ซึ่งอคติอาจมาจากประสบการณ์ในชีวิต การถูกหล่อหลอมด้วยสื่อ สังคม และนโยบาย

อคติเกิดขึ้นตั้งแต่อดีต และทุกวันนี้มันยังไม่เคยหายไปไหน อาจารย์สกลและทีมผู้วิจัยจากคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงสำรวจสถานการณ์อคติในปัจจุบัน โดยเน้นไปที่กลุ่มคนที่มักโดนอคติ 5 กลุ่ม ได้แก่ คนพิการ ผู้สูงอายุ คนไร้บ้าน ประชากรข้ามชาติ และ LGBTIQNA+ ผ่านรายงานวิจัยโครงการสร้างสังคม DEE (Diversity, Equity and Empathy): ศึกษาสถานการณ์อคติต่อกลุ่มเปราะบางและสื่อสารเพื่อสร้างความตระหนักรู้ของสังคม (หรือ โครงการสร้างสังคม DEE) ได้รับการสนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนัก 9

ถ้าย้อนกลับไปเมื่อหลายสิบปีที่แล้ว ในวันที่สื่อมีเพียงแค่หนังสือพิมพ์ วิทยุ และโทรทัศน์ ประชาชนไม่มีตัวเลือกในการเสพสื่อสักเท่าไหร่ เป็นไปได้ที่เราจะตกหลุมพรางจากการเสพสื่อไม่กี่อย่าง และมีอคติต่อกลุ่มคนอย่างง่ายๆ เช่น คนไทยสมัยก่อนไม่ชอบคนจีน ในขณะเดียวกันคนจีนก็มองว่าคนไทยคือคนขี้เกียจ

ข้อค้นพบหนึ่งจากการวิจัยครั้งนี้ คือ ยิ่งอายุมากขึ้น ความสบายใจต่อกลุ่มประชากรเฉพาะจะลดลง พูดง่ายๆ คือ ยิ่งอายุมาก ก็ยิ่งมีอคติได้ง่าย แต่อาจารย์สกลบอกว่า เป็นเพราะสังคมสมัยก่อนหล่อหลอมให้คนเชื่อแบบนั้น

แต่การไปตีตราว่าผู้สูงอายุคือกลุ่มคนที่มีอคติเยอะที่สุดก็ไม่ถูก งานวิจัยชี้ว่าสิ่งที่มีผลต่ออคติ คือ ‘ประสบการณ์’ เสียมากกว่า เพราะฉะนั้นถ้าเด็กหรือคนที่อายุน้อยสมัยนี้มีประสบการณ์มากขึ้น พวกเขาอาจจะมีอคติมากกว่ากลุ่มผู้สูงอายุก็ได้

ตอนนี้จากที่เห็น ไม่ว่าจะเด็ก วัยทำงาน สูงวัย ใครๆ ก็ต่างมีอคติกันทั้งนั้น ที่น่ากลัวคือทุกคนพร้อมจะแสดงถึงอคติเหล่านั้นออกมาได้ โดยที่ไม่มองว่าเป็นเรื่องผิด

‘ไม่ได้รังเกียจ แต่สงสาร’ แบบนี้ก็ถือเป็นอคติ

บางทีตัวเราเองก็ไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามีอคติอยู่ เพราะอคติไม่ใช่เรื่องในแง่ลบเสมอไป เรื่องที่ฟังดูแง่บวกก็เป็นได้เช่นกัน ยกตัวอย่างสถานการณ์อคติต่อผู้สูงอายุที่งานวิจัยชิ้นนี้พบว่า คนไทยมองผู้สูงอายุแบบ ‘เคารพเก็บไว้บนหิ้ง’ มองว่าผู้สูงอายุควรมีคนดูแลจะได้ไม่ลำบาก ควรอยู่บ้านเฉยๆ หรือไม่ก็ทำกิจกรรมอย่างเข้าวัดถึงจะดูเหมาะสม

ในความเป็นจริงเรากำลังเผลอมองข้ามความต้องการของผู้สูงอายุไป พวกก็เป็นมนุษย์คนหนึ่งที่อยากทำอย่างอื่นนอกจากเข้าวัดบ้าง บางคนอยากขับบิ๊กไบค์ บางคนอยากเปิดร้านอาหาร หรือบางคนอยากมีความรัก แต่คนอื่นๆ กลับมองว่าผู้สูงอายุไม่สมควรทำสิ่งเหล่านี้เพราะผู้สูงอายุไม่มีความสามารถ

คล้ายกันพบกลุ่มคนพิการที่โดนเจอกับอคติเชิงบวก คนทั่วไปมักรู้สึกเห็นใจ สงสาร มากกว่าที่จะรังเกียจหรือกลัว บางทีก็เลือกทำบุญกับคนพิการเพราะมองว่าพวกเขาน่าสงสาร ความคิดเหล่านี้ทำให้เกิดการมองว่าคนพิการคือคนที่ด้อยกว่าและต้องได้รับการช่วยเหลือเสมอ เพราะฉะนั้นถ้าคนพิการทำอะไรที่แปลกไปกว่าความคิดเหล่านี้ คนมักจะตั้งข้อสงสัย

“คนพิการถูกสงสัยว่าทำไมถึงไปผับ ทำไมไม่ไปสวดมนต์ ซึ่งจริงๆ คนพิการก็อยากไปผับ เขาก็คือคนคนหนึ่ง”

ประโยคจากผู้ให้สัมภาษณ์ในงานวิจัยชิ้นนี้ คนพิการก็อยากเที่ยว อยากมีความรัก อยากแต่งตัว เหมือนคนอื่นๆ แต่สังคมกลับมองว่าแปลก

นอกจากนี้ยังมีอคติอื่นๆ ที่มีต่อ คนไร้บ้าน ประชากรข้ามชาติ และ LGBTIQNA+ ทั้งในเชิงลบและเชิงบวก ซึ่งสามารถอ่านสรุปข้อมูลได้ที่นี่ https://www.facebook.com/share/p/16du3HZKC8/

อ่านมาถึงตรงนี้บางคนอาจจะคิดว่าอคติต่อให้ในเชิงบวกก็มีไม่ได้ เชิงลบก็มีไม่ได้ แต่ในเมื่อมันติดตัวกับเรามาตั้งนาน สามารถแก้ไขหรือลบอคติทิ้งไปได้ไหม?

เราถามคำถามนี้กับอาจารย์สกล ซึ่งอาจารย์บอกว่า “ยาก แต่เป็นไปได้”

แก้ยังไงดีเมื่ออคติติดตัวมาตั้งแต่เกิด

การจะแก้อคติได้ต้องเริ่มจากแก้ที่สังคม และค่อยมาแก้ที่ปัจเจก

สร้างโครงสร้างทางสังคมที่เท่าเทียมผ่าน ‘กฎหมาย’ คือวิธีการหนึ่งที่จะช่วยลดอคติได้ โดยให้กฎหมายเป็นตัวบ่งบอกว่าการมีอคตินั้นเป็นเรื่องผิด เช่น กรณีที่มีบริษัทไม่รับพนักงานเพราะพนักงานเป็น LGBTIQNA+ ถือว่ามีความผิด ซึ่งบริษัทนั้นก็จะได้รับบทลงโทษไป หรืออีกวิธีก็คือการผลักดันให้ทุกคนเท่าเทียมกันผ่านกฎหมาย

“ยกตัวอย่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม แค่ออกกฎหมายให้คนสามารถแต่งงานกันได้แค่นี้ก็ช่วยลดการเลือกปฏิบัติเชิงนโยบายได้ การออกกฎหมายที่สร้างโอกาสให้กับคนกลุ่มน้อย ก็น่าจะช่วยให้สถานะทางสังคมของเขาดีขึ้น แล้วทำให้อคติของคนในสังคมก็น่าจะจะลดลงได้ด้วย”

เช่นเดียวกันกับกฎหมายที่มีเพื่อคุ้มครองสิทธิประชากรกลุ่มเฉพาะอื่นๆ อย่างเช่น พ.ร.บ.ชาติพันธ์ ซึ่งตอนนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนของการผลักดันให้เป็นรูปเป็นร่าง เมื่อถึงวันหนึ่งที่กฎหมายฉบับนี้ถูกบังคับใช้ ไม่แน่ว่าอคติที่มีต่อกลุ่มชาติพันธุ์ก็อาจจะลดลงได้

อาจารย์สกลเสนอว่านโยบาย DEI (Diversity, Equity, and Inclusion) คืออีกหนึ่งนโบายที่ช่วยทำให้ทุกคนเท่าเทียมกันได้ ในสังคมที่เต็มไปด้วยความแตกต่าง การมีนโยบายที่โอบรับทุกความหลากหลาย ไม่ลบเลือนตัวตนของใครไป จะทำให้สังคมนั้นอยู่ร่วมกันได้อย่างเท่าเทียม

สิ่งที่เป็นรูปธรรมอย่างการมี ‘พื้นที่สาธารณะร่วมกัน’ ถือเป็นวิธีที่ช่วยลดความแตกต่างของคนในสังคมได้

“พื้นที่สาธารณะมีผลอย่างมาก อย่างในปัจจุบันที่ต่างคนต่างอยู่ในคอนโด ซึ่งคอนโดมันก็คัดกรองคนได้ระดับหนึ่งที่อย่างน้อยคุณต้องมีเงินเท่านี้ถึงจะอยู่ได้ เราเลยไม่มีโอกาสได้เจอคนที่หลากหลาย มันก็ไม่แปลกนะที่เราจะไม่เข้าใจชีวิตหรือความรันทดของคนอื่นๆ”

ไม่ใช่แค่พื้นที่สาธารณะที่ทำให้คนเดินผ่านกัน แต่อาจารย์บอกว่าอยากเป็นพื้นที่ที่ทำให้คนคุยกัน รู้จักกันได้ อย่างน้อยมันก็เปิดโอกาสให้คนมารู้จักกันจริงๆ แทนที่จะเชื่อตามอคติของตัวเอง

แต่ทั้งนี้ถ้ามีพื้นที่ร่วมกัน แต่ยังมีความเหลื่อมล้ำก็คงแก้อคติไม่สำเร็จ นึกภาพว่าใจกลางเมืองมีสวนที่สวยงาม มีที่นั่งเล่น ทำกิจกรรมครบทุกอย่าง แต่ความเหลื่อมล้ำส่งผลให้คนบางกลุ่มไม่สามารถเอื้อมถึงได้ เช่น ไม่มีเงินในการเดินทาง สุดท้ายพื้นที่ตรงนั้นก็อาจจะถูกครอบครองโดยคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ไม่ใช่กลุ่มคนที่หลากหลายมาใช้ร่วมกัน

ลดความเหลื่อมล้ำจึงเป็นหัวใจหลักที่จะทำให้อคติลดลงได้

ถอยลงมาในระดับปัจเจก อาจารย์สกลบอกว่ามีสิ่งที่เราทำได้คือ ‘การมองคนอย่างธรรมชาติ’ มองเขาในสิ่งที่เขาเป็น รู้จักเขาตามที่เขาบอก อย่าไปคิดเองเออเอง เช่น เห็นผู้สูงวัยนั่งคนเดียว ก็ไม่จำเป็นต้องไปคิดว่าเขาน่าสงสาร โดนลูกหลานทิ้ง ไม่มีใครดูแล ในความจริงแล้วผู้สูงวัยคนนั้นอาจจะเป็นอยากออกมานั่งคนเดียวเองก็ได้

ฉะนั้นอคติมีได้ ก็แก้ได้ ถ้าจะแก้ในระดับนโยบายก็คงต้องใช้แรงขับเคลื่อนจากหลายภาคส่วน ส่วนที่แก้ด้วยตัวเองถ้าทำได้ก็คงจะดี เพราะการส่งต่ออคติไปเรื่อยๆ มันคืออาวุธที่บางทีอาจจะย้อนกลับเขามาหาตัวเองโดยไม่รู้ตัว เช่น วันหนึ่งที่เรากลายเป็นผู้สูงวัย เราก็อาจจะโดนอคติที่เคยมีทำร้ายเหมือนกัน

Shares:
QR Code :
QR Code