7 สาระสำคัญหาก พ.ร.บ.ชาติพันธุ์บังคับใช้ คนทั่วไปจะได้อะไร และเราจะเสียอะไรถ้าไม่มี พ.ร.บ.ฉบับนี้
สำนักงานราชบัณฑิตสภา ระบุว่า ชาติพันธุ์ (อ่านว่า ชาด-ติ-พัน) หมายถึงกลุ่มคนที่อยู่ในประเทศใดประเทศหนึ่ง และมีวัฒนธรรมร่วมกัน มีขนบธรรมเนียมประเพณีและภาษาพูดเดียวกัน ทั้งมีความเชื่อว่าสืบเชื้อสายมาจากบรรพบุรุษเดียวกัน กลุ่มชาติพันธุ์ใช้หมายรวมรวมทั้งชนที่เป็นกลุ่มใหญ่และชนที่เป็นกลุ่มน้อยในประเทศไทย คนไทยเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่ใหญ่ที่สุด นอกจากนั้นยังมีกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ อีกจำนวนมาก เช่น จีน มอญ เขมร ฯลฯ
ถึงพจนานุกรมจะระบุว่า ‘คนไทย’ ก็เป็นกลุ่มชาติพันธุ์หนึ่ง แต่เพราะชาติพันธุ์ไทยที่มีขนาดใหญ่กว่ากลุ่มอื่นและกำหนดทิศทางในสังคมมาอย่างยาวนาน จนค่อยๆ กลืนกินตัวตนคนกลุ่มเล็กกลุ่มน้อยให้หายไป จนกลาย ‘เป็นอื่น’
“คนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มคนด้อยสิทธิ ซึ่งเขาอาจจะมีสิทธินั่นแหละ แต่การจะเข้าถึงสิทธิเหมือนคนอื่นมันไม่ง่าย หรือแม้กระทั่งว่าเขาอยู่เมืองไทยมานาน ก็ควรจะมีสิทธิในฐานะพลเมืองไทยได้สัญชาติ แต่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติไม่เอื้อกับเขาเลย”
“หรืออย่างเรื่องที่ดิน ซึ่งเป็นสิทธิใหญ่มากและมีผลกระทบจํานวนมาก เพราะถ้าเรามองว่าที่ดินคือปัจจัยพื้นฐานของการดํารงชีวิต คุณต้องอยู่อาศัยบนที่ดิน คุณต้องมีที่ดินในการทํากิน คุณต้องมีพื้นที่ในการประกอบพิธีกรรม แต่ของพวกนี้ถูกละเลยหมด คนกลุ่มนี้อยู่ด้วยความไม่มั่นคง กลายเป็นปัญหาคาราคาซังจนถึงทุกวันนี้” อภินันท์ ธรรมเสนา ผู้จัดการฝ่ายสื่อสารสังคมและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ให้เหตุผลถึงการมีกฎหมายเพื่อคุ้มครองสิทธิกลุ่มชาติพันธุ์ให้เป็นรูปธรรม
เหตุผลข้างต้นที่กล่าวมาเป็นปัญหาเพียงส่วนหนึ่งที่กลุ่มชาติพันธุ์ต้องเผชิญจากการไร้สิทธิพื้นฐานในการดำรงชีวิต เป็นอุปสรรคที่ดำเนินมายาวนาน ทำให้สถานการณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์อยู่บนความไม่มั่นคงมาตลอดและเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาบานปลายเพิ่มขึ้น
เพื่อแก้ปัญหาที่สะสมมายาวนาน จึงเป็นที่มาของ ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ. …. ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีมติรับหลักการเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา
ซึ่งหัวใจสำคัญของพ.ร.บ.ฉบับนี้ อยู่ที่การกำหนดพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ โดยรัฐจะต้องส่งเสริมดูแลและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ ในการดำรงชีวิตในสังคมตามประเพณีวัฒนธรรม การถูกเลือกปฏิบัติจากสังคม ส่งเสริมการดำรงชีวิตตามวิถีชีวิตดั้งเดิม และเสริมสร้างพื้นฐานการอยู่ร่วมกัน และสร้างความเข้าใจต่อกันในสังคมบนความหลากหลาย ซึ่งมีสาระสำคัญคร่าวๆ ดังนี้
การคุ้มครองสิทธิกลุ่มชาติพันธุ์ในร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพัน
- ได้รับการคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์แม้จะดำรงวิถีชีวิตด้วยวัฒนธรรมที่แตกต่าง เพราะความจริงแล้วเราทุกคนต่างเป็นชาติพันธุ์ที่มีวัฒนธรรมเป็นอัตลักษณ์ของตนเอง ทุกชาติพันธุ์ต่างมีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ในการจะเลือกดำเนินชีวิตตามจารีตประเพณี ซึ่งต้องได้รับการคุ้มครองอย่างเสมอภาค
- มีสิทธิอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมของตนเองไม่ให้สูญหาย ศิลปวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ที่ค่อยๆ เลือนหายไป มาจากความไม่เข้าใจของคนในสังคมทำให้ กลุ่มชาติพันธุ์จึงมีสิทธิที่จะยืนหยัดและภูมิใจกับตัวตน เพื่อธำรงรักษาวัฒนธรรมไม่ให้เลือนหาย โดยสังคมต้องร่วมกันปรับมุมมองและให้เกียรติต่อกลุ่มชาติพันธุ์ด้วย
- สามารถจัดการหลักสูตรการเรียนการสอนได้ด้วยตนเอง การให้โอกาสออกแบบหลักสูตรการศึกษา โดยบูรณาการองค์ความรู้พื้นบ้านและหลักสูตรแกนกลางโดยคนท้องถิ่น จะช่วยให้สามารถจัดสรรเนื้อหาการเรียนที่เข้ากับวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ได้เหมาะสม และช่วยให้ภูมิปัญญาท้องถิ่นไม่ถูกด้อยค่าหรือสูญหาย
- สามารถเข้าใช้สิทธิทรัพยากรธรรมชาติได้ตามวิถีวัฒนธรรมโดยไม่ถูกละเมิด มีสิทธิใช้ประโยชน์ที่ดินตามวิถีวัฒนธรรม เพื่อปลูกบ้านเรือนพักอาศัย ประกอบอาชีพในรูปแบบต่างๆ รวมถึงการใช้ประโยชน์ในที่ดินเพื่อทำพิธีตามจารีตประเพณี โดยไม่ถูกบังคับให้ออกจากพื้นที่ชุมชนดั้งเดิมโดยไม่สมัครใจ
- มีสิทธิกำหนดวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของตน รวมทั้งการสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบเศรษฐกิจฐานวัฒนธรรมที่สอดคล้องกับวิถีชีวิต กลุ่มชาติพันธุ์สามารถเลือกได้ว่าจะดำเนินชีวิตตามวิถีชุมชนดั้งเดิม อย่างเกษตรกรรม หรือเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจแบบใหม่ อย่างธุรกิจท่องเที่ยวชุมชน หรือการทำวิสาหกิจชุมชน เพื่อประโยชน์ในการพึ่งตนเอง สร้างรายได้อย่างยั่งยืน และยกระดับชีวิตให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี
- มีสิทธิเข้าถึงสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานและสวัสดิการสังคมอย่างเสมอภาค กลุ่มชาติพันธุ์ในหลายพื้นที่ยังไม่สามารถเข้าถึงสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานอย่าง น้ำประปา หรือไฟฟ้า ซึ่งมาจากอคติและความไม่เข้าใจที่รัฐมีต่อชาติพันธุ์ จนกลายเป็นความเพิกเฉยต่อการเรียกร้องของกลุ่มชาติพันธุ์
- มีสิทธิร่วมตัดสินใจโครงการที่มีผลกระทบต่อชุมชน โดยรัฐต้องถามความยินยอมต่อกลุ่มชาติพันธุ์ก่อนจะดำเนินการ ความขัดแย้งหลายครั้งในอดีตที่มาจากการตัดสินใจโดยพลการจากรัฐ ซึ่งปราศจากความเข้าใจต่อกลุ่มชาติพันธุ์ การมีส่วนร่วมนี้จะช่วยลดการถูกเอาเปรียบ และลดความขัดแย้งที่มาจากเจ้าหน้าที่รัฐได้
คำถามสำคัญต่อมาคือ ต่อให้มีข้อกฎหมายมาคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์แล้ว คนทั่วไปอาจจินตนาการไปไม่ถึงว่า เราและเขาเกี่ยวข้องกันอย่างไร มีชีวิตมิติใดบ้างหรือที่เชื่อมโยงกัน
“เรารู้สึกถึงแค่การมีอยู่ของร้านสะดวกซื้อ แต่เราไม่รู้หรอกว่าคนขนของให้ร้านพวกนั้นอาจเป็นแรงงานกลุ่มชาติพันธุ์ก็ได้ หรืออย่างชุมชนชาติพันธุ์บางกลุ่มก็ไปเป็นแรงงานเก็บรังนก ที่เอามาขายบนห้างสรรพสินค้าทุกวันนี้ เราไม่นึกออกหรอก เพราะมายาคติมันบังตาเราจนเราไม่เห็นว่าหน่วยเล็กๆ ที่สุดมันเป็นอย่างไร จนเรารู้สึกว่าไม่จําเป็นจะต้องยุ่งกับเขา”
นำมาสู่คำตอบว่า แล้วคนทั่วไปจะได้อะไรจาก พ.ร.บ.ฉบับนี้
1.เป็นการรักษามรดกภูมิปัญญาที่มาจากความรู้ท้องถิ่นของกลุ่มชาติพันธุ์ไม่ให้หายไป ถือเป็นการรักษาทุนวัฒนธรรมที่หลากหลายของชาติ เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจประเทศอย่างยั่งยืน
2.เมื่อรัฐและสังคมยอมรับการมีอยู่ของกลุ่มชาติพันธุ์ จะลดปัญหาความขัดแย้งที่จะเกิดขึ้นจากความรู้สึกเหลื่อมล้ำทางสังคม เพราะความไม่เข้าใจต่อกัน ทำให้สังคม ไทยมีความเข้มแข็งและมีศักยภาพทางการแข่งขันสูงขึ้น
3.ช่วยเพิ่มศักยภาพในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของประเทศอย่างสมดุลและยั่งยืน โดยกลุ่มชาติพันธุ์จะได้มีส่วนร่วมกับรัฐในการดูแลทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพด้วยภูมิปัญญา ที่ได้อาศัยอยู่ร่วมกับทรัพยากรธรรมชาติมายาวนานหลายชั่วอายุ และคุ้นเคยกับสภาพแวดล้อมของท้องถิ่นแต่ละพื้นที่เป็นอย่างดี
4.หากรัฐและกลุ่มชาติพันธุ์สามารถร่วมมือจัดสรรทรัพยากรได้อย่างสมดุลและยั่ง ยืนและคุ้มครองให้กลุ่มชาติพันธุ์สามารถพึ่งตนเองได้บนฐานวัฒนธรรม จะทำให้รัฐสามารถบริหารจัดการงบประมาณแผ่นดินได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
5.หากรัฐสามารถผลักดันการคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ได้สำเร็จ จะทำให้ประเทศไทยเป็นที่ยอมรับบนเวทีนานาชาติ และส่งผลต่อความเชื่อมั่นของประเทศทั้งในมิติทางสังคม วัฒนธรรม และเศรษฐกิจ
“เราอาจจะรู้สึกเหมือนไม่เกี่ยวกัน แต่มันมีความเกี่ยวโยงกัน เช่น ถ้าไม่คุ้มครองสิทธิกลุ่มชาติพันธุ์ คุณอาจจะตกขบวนการพัฒนาแบบแบบยั่งยืนที่สหประชาชาติใช้กันอยู่ แล้วทําให้เราเสียสิทธิหลายเรื่อง เช่น การจะเข้าถึงสิทธิทางเศรษฐกิจฐานวัฒนธรรม ตามอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ มันมีเงื่อนไขที่ทําให้เราเสียประโยชน์ไป ทั้งหมดนี้เป็นการปูรากฐานที่ทําให้สังคมไทยมีความเข้มแข็งในการพัฒนาเศรษฐกิจในอนาคต”
ในทางกลับกัน ถ้าคนจำนวนมากไม่เห็นด้วยกับร่างพ.ร.บ.ชาติพันธุ์ อภินันท์บอกว่าก็จะส่งผลเสียต่อประเทศไม่น้อย แม้จะไม่เห็นผลจับต้องได้ทันทีตอนนี้ แต่มีผลในระยะยาวแน่นอน
“หากเราไม่สนับสนุนพ.ร.บ.ชาติพันธุ์ฉบับนี้ ผมว่าเราจะเสียโอกาสมากๆ ในแง่ความมั่นคง เพราะหากเราเลือกปฏิบัติหรือทำให้เกิดความรู้สึกถึงความเหลื่อมล้ำ ก็ทำให้กลุ่มชาติพันธุ์มีความรู้สึกไม่ผูกพันกับความเป็นไทย เหมือนถ้าเราผลักเขาออก ก็อาจจะเป็นปัญหาที่นําไปสู่ความขัดแย้งได้ง่ายในอนาคต”
หากไม่เห็นด้วยกับ พ.ร.บ.ชาติพันธุ์ เราจะสูญเสียอะไรบ้าง?
1.ในแง่ความมั่นคง หากรัฐไม่คุ้มครอง ไม่ยอมรับกลุ่มชาติพันธุ์ย่อมส่งผลต่อความเชื่อมั่นของกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีต่อรัฐ ซึ่งอาจนำไปสู่ความขัดแย้งขนาดใหญ่ในระดับประเทศได้
2.ประเทศจะสูญเสียบุคลากรที่มีศักยภาพและความสามารถจำนวนมากในระยะยาว เนื่องจากขาดความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นของกลุ่มชาติพันธุ์ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศได้ในอนาคต
“นอกจากการสูญเสียความรู้สึกผูกพันที่มีต่อรัฐแล้ว ผลที่ตามมา อาจจับต้องไม่ได้เป็นรูปธรรมที่ชัดเจน ณ ตอนนี้ แต่ผมรู้สึกว่าในระยะยาวๆ คือความมั่นคงเชิงศักยภาพของประเทศเราเอง เพราะเราจะขาดคนที่มีศักยภาพและมีความสามารถทางการแข่งขันบางอย่างไป ถ้าเราเทียบประเทศที่เป็นเครื่องยนต์ เรามีน้ํามันสํารองเยอะนะ แต่การที่เราทิ้ง ไม่ยอมเอามาใช้ คุณมั่นใจได้ยังไงว่าสิ่งที่คุณใช้อยู่ทุกๆ วันนี้ มันจะอยู่ยั้งยืนยงต่อไปในอนาคต” อภินันท์ ทิ้งท้าย