“สมรสเท่าเทียมผ่านแล้วนะ แต่…” สังคมที่ยอมรับ LGBTIQNA+ ทำไมบางข้อแม้ยังมีแต่เสมอ
ทุกคนคงอยู่ในช่วงดีใจที่ประเทศไทยไปข้างหน้าได้อีกก้าว เมื่อพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ได้รับการลงมติเห็นชอบโดยวุฒิสภาเป็นที่เรียบร้อยและกำลังถูกบังคับใช้จริงภายใน 120 ภายหลังจากประกาศลงราชกิจจานุเบกษา
ที่สำคัญประเทศไทยเป็นประเทศแรกในภูมิภาคอาเซียนที่มีกฎหมายจดทะเบียนสมรสสำหรับทุกเพศได้ แน่นอนว่ากลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศเองก็ย่อมรู้สึกได้รับการยอมรับในสังคมมากขึ้นอีกด้วย
ในเมื่อกฎหมายก็เตรียมโอบกอดความหลากหลายมากขึ้นแล้ว แต่เมื่อกลับไปสำรวจทัศนคติหรือพฤติกรรมของคนในสังคม ยังพบว่าภายใต้ความเปิดกว้างต่อความหลากหลาย แต่กลับมีอคติอ ที่มาในรูปของ ‘ข้อแม้’ หรือ ‘เงื่อนไข’ ในความหลากหลายนี้อยู่
“เราอยากเป็นเพื่อนกับ LGBTIQNA+ นะ เพราะพวกเขาตลก”
“เป็นทอมหรอ อย่ามาชอบเรานะ”
“เป็นเพศอะไรก็ได้ ขอให้เป็นคนดีก็พอ”
ฟังเผินๆ อาจไม่มีอะไร แต่สงสัยกันไหม ทำไมการเปิดว่าตัวเองไม่ใช่หญิงหรือชายตามกรอบสังคมกำหนด มักพ่วงมากับการแบกรับหน้าที่ ‘คนดี’ เข้ามาด้วยทั้งๆ ที่ตอนเราเกิดมาเป็นชายหรือหญิง ก็ไม่มีใครขอให้เป็นคนดี แต่กับคนที่มีความหลากหลายทางเพศ การเป็นคนดีเป็นสิ่งที่ต้องมีหรือต้องเป็นด้วย
นั่นเพราะสิ่งที่ LGBTIQNA+ ยังหนีไม่พ้นก็คือการเหมารวม ทั้งในแง่ลบและในแง่บวก ถึงแม้จะเป็นการเหมารวมที่ดูแล้วเหมือนเป็นแง่บวกแต่ก็สร้างความเข้าใจผิดๆ ได้ เช่น การมองว่า LGBTIQNA+ เป็นคนตลก มีสีสัน อยู่ด้วยแล้วไม่เบื่อ ความคิดเหล่านี้ทำให้ LGBTIQNA+ ที่มีนิสัยหรือพฤติกรรมแตกต่างไปจากนี้มักถูกตั้งคำถามว่าทำไมเขาถึงไม่เหมือนคนอื่นๆ
การมีอัตลักษณ์ทางเพศหรือรสนิยมทางเพศที่แตกต่างจากขนบธรรมเนียมของสังคมก็เหมือนเป็นการฉีกกล่องเพศที่เคยจำกัดตัวตนของพวกเขาไว้ แต่การเหมารวมแบบนี้เป็นการผลักพวกเขาลง ‘กล่อง’ ความคิดแบบเดิมอีกครั้ง
“การจัดคนลงกล่องเพศมันอาจไม่มีปัญหาเท่าไหร่ แต่ปัญหาอยู่ที่ว่าเราปฏิบัติกับคนที่อยู่ในกล่องๆ นั้นอย่างไร นั่นแหละคือสิ่งที่ทำให้เกิดความไม่เท่าเทียม”
คือคำพูดของ ผศ.สกล โสภิตอาชาศักดิ์ จากคณะวิทยาการการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผ่านรายการสารคดี ถอดรื้ออคติต่อ ‘ผู้มีความหลากหลายทางเพศ’: A Documentary Series EP2 Cheers!, Queer! และเป็นหนึ่งในทีมวิจัย งานวิจัยในโครงการสร้างสังคม DEE (Diversity, Equity and Empathy) ซึ่งศึกษาสถานการณ์อคติต่อกลุ่มเปราะบางและสื่อสารเพื่อสร้างความตระหนักรู้ของสังคมที่ได้รับการสนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนัก 9
อ.สกล เชื่อว่าการให้คำนิยามกับเพศถือเป็นเรื่องธรรมชาติของมนุษย์ที่มีไว้เพื่อรู้ว่าตัวเองเป็นใครและอีกคนเป็นใคร แต่สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือการที่แต่ละคนเลือกปฏิบัติต่อชื่อตามกล่องนั้นไม่เหมือนกัน
งานวิจัยชิ้นนี้พาเราไปทบทวนกันอีกครั้งว่าที่ผ่านมาเราเผลอปฏิบัติกับความหลากหลายแตกต่างไปหรือเปล่า และในภาพใหญ่ที่เรียกว่าเปิดกว้าง เอาเข้าจริงแล้วมันยังซ่อนเนื้อในที่เต็มไปด้วยคำว่าแต่
ตั้งแต่กีฬาสีโรงเรียน งานปาร์ตี้บริษัท ไปจนถึงงานบวช ใครๆ ก็อยากมี LGBTIQNA+ ไว้เป็นคน ‘สร้างสีสัน’ ให้กับงานรื่นเริง เพราะถ้ามีพวกเขาอยู่ด้วยแล้วล่ะก็ การันตีได้เลยว่างานนั้นจะสนุกอย่างแน่นอน
81.65% ของกลุ่มเป้าหมายในงานวิจัยตอบว่าเห็นด้วยกับความคิดที่ว่า LGBTIQNA+ มักเป็นคนตลก สนุกสนาน ช่วยสร้างสีสันได้
ฟังผ่านๆนี่อาจเป็นคนคำชม ไม่มีใครเสียหาย แต่ความเป็นจริงแล้วมี LGBTIQNA+ จำนวนไม่น้อยที่อึดอัดกับการเหมารวมว่าต้องเป็นคน กรี๊ดกร๊าด เสียงดัง เฮฮา และตลก ทำไมการเป็นคนที่มีความหลากหลายทางเพศต้องพ่วงมาด้วยกับคุณลักษณะเช่นนี้?
“เราเป็นกะเทยเรียบร้อยแล้วมีแต่คนหมั่นไส้”
บุคคลนิรนามระบายความอึดอัดที่ตัวเองมีต่อการเหมารวมผ่านกระทู้พันทิป เธอเล่าว่าเธอเป็นคนที่เรียบร้อย ไม่ค่อยพูดคำหยาบ แต่มักจะโดนคนอื่นๆ หาว่า แอ๊บ หรือ ปลอม และมองว่ามันผิดกับวิถีเพศของเธอ คำต่อว่าเหล่านี้มาจากปากเพศอื่นๆ และคนที่เป็น LGBTIQNA+ ด้วยกันเอง
ไม่ว่าจะเป็นด้านบวกหรือด้านลบแต่ความคิดเหล่านี้ก็ยังเป็นการเหมารวมไม่ต่างอะไรกับที่ผู้หญิงมักโดนเหมารวมว่าขับรถไม่เป็น ส่วนผู้ชายมักจะโดนว่าข้อหาชอบใช้กำลัง สำหรับ LGBTIQNA+ การบอกว่าพวกเขาเป็นคนตลก สนุกสนาน เฮฮา โดยที่ไม่ถามถึงตัวตนที่แท้จริงของเขาก่อนก็เป็นการเหมารวมที่ทำให้เกิดความอึดอัดได้เหมือนกัน
ท้ายที่สุดแล้วการใช้เพศเป็นตัวกำหนดว่าตัวตนของแต่ละคนอาจไม่ใช่หนทางที่โอบรับความหลากหลายได้เสมอไป ทุกคนต่างก็มีนิสัยและตัวตนในแบบของตัวเอง การเหมารวมว่าหญิง ชาย ทอม ไบ เควียร์ มีนิสัยแบบไหนอาจทำให้คนที่โดนเหมารวมรู้สึกอึดอัดและไม่สามารถแสดงออกตามที่ใจอยากจะเป็นได้สักที
48.96% ของผู้ตอบแบบสอบถามบอกว่า LGBTIQNA+ เหมาะที่จะทำงานด้านบันเทิง ศิลปะ หรือความงามมากกว่าด้านอื่นๆ
เป็นไปได้ไหมว่านี่จะเป็นหนึ่งในเหตุผลที่เรามักไม่ค่อยเห็นกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศในวงการาชการหรือตำแหน่งระดับบังคับการในองค์กร/บริษัท การที่พวกเขาดูเป็นคน ‘สร้างสรรค์’ เกินไปกลายมาเป็นข้อจำกัดไม่ให้คนกลุ่มนี้ได้เติบโตในสายงานอื่นๆ
ขณะเดียวกันการเหมารวมว่าคนกลุ่มนี้เหมาะกับงานสร้างสรรค์อาจจะผลักให้พวกเขาทำงานในสายงานที่ตัวเองไม่ได้ชื่นชอบ แต่จำเป็นต้องทำเนื่องจากงานในสายอื่นๆ ไม่ยอมรับเพราะเห็นว่าคนที่มีความหลากหลายทางเพศเหมาะกับงานบางหมวดเท่านั้น
“คนจะเป็นหมอได้ต้องมีความน่าเชื่อถือ แล้ววันหนึ่งคนไข้ปฏิเสธ LGBTQINA+ อย่างเธอขึ้นมา เธอจะทำอย่างไร?”
เป็นคำถามที่อาจารย์แพทย์ถามต่อ บรู๊ซ-กาจพล ศรีดาโคตร บรู๊ซเป็นหญิงข้ามเพศที่เรียนคณะแพทย์ศาสตร์ในสถาบันแห่งหนึ่ง เพราะคำถามนี้เลยทำให้บรู๊ซไม่แต่งตัวตามที่ตัวเองต้องการและยอมแต่งกายตามระเบียบที่อ้างอิงจากเพศกำเนิด บรู๊ซเปิดเผยในรายการห้องพักแพทย์สาวว่า ในตอนนั้นเธอก็สงสัยเหมือนกันว่าการแต่งหญิง (แต่งตัวแบบที่ผู้หญิงนิยม) จะทำให้กลายเป็นคนไม่น่าเชื่อถือไปเลยหรือ
บรู๊ซเล่าอีกว่า มีอยู่ครั้งหนึ่งที่อยากจะไปประกวดมิสทิฟฟานี่ (Miss Tiffany) แต่กลับโดนอาจารย์และผู้บริหารเรียกไปพบ พร้อมกับบอกว่า “ถ้าหากอยากจะอยู่ในวงการแพทย์อย่างราบรื่น อย่าทำตัวให้เป็นสปอตไลท์”
ข้อจำกัดของอาชีพทำให้ LGBTIQNA+ บางคนเลือกที่จะปิดกั้นความเป็นตัวเองหรือ
เลือกทำอาชีพที่ตัวเองไม่ได้ชอบไปเลย เราต่างรับรู้ร่วมกันว่า แม้สายงานบันเทิงจะเปิดโอกาสให้ทุกคนได้เป็นตัวของตัวเองมากกว่าสายงานอื่นๆ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าทุกคนอยากจะทำงานในวงการบันเทิงเสมอไป
อาชีพหมอ ทนาย ตำรวจ ทหาร และอื่นๆ อีกมากมายยังคงเป็นความฝันของ LGBTIQNA+ อยู่เพราะฉะนั้นการจำกัดพวกเขาไว้แค่บางพื้นที่ ก็เท่ากับลดทอนคุณค่าของพวกเขาอีกด้วย
“เจนิส ฉันเชิญเธอมางานปาร์ตี้สระน้ำของฉันไม่ได้หรอกนะเพราะเธอเป็นเลสเบี้ยน พอดีว่าสาวๆ ของฉันจะใส่ชุดว่ายน้ำกัน”
ถ้าใครเคยดูหนังวัยรุ่นตลอดกาลอย่างมีนเกิลส์ (Mean Girls) คงจะคุ้นเคยประโยคนี้กันมาบ้าง เหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อ เรจินา จอร์จ (Regina George) ดาวเด่นประจำโรงเรียนจัดงานปาร์ตี้สระน้ำพร้อมทั้งชวนเหล่าเพื่อนสาวของเธอมางาน แต่เธอเลือกที่จะไม่เชิญเจนิส เอียน (Janis Ian) มาร่วมด้วยเนื่องจากเรจิน่าคิดว่าเจนิสเป็นเลสเบี้ยน และเลสเบี้ยนก็ไม่ควรจะอยู่ในปาร์ตี้ที่มีสาวๆ ใส่ชุดว่ายน้ำเพราะมันอาจจะ ‘ไม่ปลอดภัย’ ต่อพวกเธอ
ความคิดเหล่านี้ไม่ได้อยู่แค่หนัง แต่มักเกิดขึ้นในชีวิตจริง ข้อมูลจากงานวิจัยชี้ว่ามีกลุ่มตัวอย่างบางส่วนรู้สึกไม่พอใจหากจะต้องนอนพักร่วมกับกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งก็มีหลายเหตุผลที่คนรู้สึกไม่พอใจ เช่น กลัวว่า LGBTIQNA+ จะเข้ามาคุกคามหรือลวนลาม กลัวพวกเขาจะทำอะไรไม่ดี กลัวว่าพวกเขาจะมีพฤติกรรมแปลกๆ เป็นต้น
ปฏิเสธไม่ได้ว่าภาพของ LGBTIQNA+ ตามสื่อสมัยก่อนอาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนในสังคมคิดแบบนี้ เช่น ตัวละครที่เป็นทรานส์วูเมน (Transwomen) มักจะถูกวางบทบาทให้เป็นคนที่บ้าผู้ชาย ชอบเล่นมุกลวนลามสองแง่สองง่าม มีพฤติกรรมที่อยากจะคุกคามผู้อื่นตลอดเวลา
น่าตั้งคำถามต่อว่า แล้วกลุ่ม LGBTIQNA+ สามารถแสดง ‘ความกลัว’ ต่อกลุ่มเพศอื่นที่พวกเขาต้องอยู่ร่วมได้ไหม เพราะในความเป็นจริงแล้วไม่ว่าจะเป็นเพศไหนก็เจอกับความไม่ปลอดภัยได้เหมือนกัน ซ้ำร้ายพวกเขายังถูกมองไปในแง่ลบก่อนที่ใครๆ จะได้เข้ามารู้จักก่อนอีกด้วย
โดยเฉพาะในหอพักนักศึกษาที่ไม่แบ่งแยกเพศโดยใช้เกณฑ์อื่นนอกจากหญิงกับชาย หมายความว่าคนที่เป็นทรานส์เมนก็ยังต้องนอนรวมกับหอพักชาย หลายคนอาจจะมีความกลัวต่อคนกลุ่ม LGBTIQNA+ ไปก่อน แต่ใครจะรู้ว่ากลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศก็กลัวอีกฝ่ายเช่นเดียวกัน
หลายคนมองว่าตัวเองเป็นคนที่เปิดกว้างยอมรับความหลากหลายได้มากแล้ว แต่ลองนึกดูว่าหากคนในครอบครัวอย่างพี่ น้อง พ่อ แม่ หรือลูก ถ้าวันหนึ่งพวกเขาเปิดตัวว่าคบหากับ LGBTIQNA+ ขึ้นมา ความรู้สึกเปิดกว้างที่เคยมีจะยังอยู่เหมือนเดิมไหม?
216 คนจากงานวิจัยชิ้นนี้ระบุว่ารู้สึกไม่สบายใจถ้าหากต้องเห็นคนในครอบครัวคบกับคนที่มีความหลากหลายทางเพศ นอกจากนี้ยังพบอีกว่าพวกเขามีแนวโน้มที่จะรู้สึกไม่สบายใจสูงขึ้นเมื่อคนใกล้ตัวไปยุ่งเกี่ยวหรือเป็น LGBTIQNA+
ในทางกลับกัน หลายคนมีความรู้สึกเปิดกว้างกับ LGBTIQNA+ ได้มากกว่า ถ้าหากพวกเขาไม่ใช่คนใกล้ตัว เพราะฉะนั้นบางคนเมื่อค้นพบว่าลูกหรือคนในครอบครัวคบหา LGBTIQNA+ พวกเขาจึงพยายามกีดกันไม่ให้ความสัมพันธ์ดังกล่าวเกิดขึ้น
จีน (นามสมมุติ) ที่นิยามว่าตัวเองเป็นเลสคิง/ดี้ เปิดเผยในงานวิจัยโครงการการศึกษาสถานการณ์สุขภาวะทางเพศ สุขภาพจิต และความสัมพันธ์ของกลุ่มประชากรสูงอายุที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTIQNA+) ในประเทศไทย ว่าตัวเองเป็นหนึ่งคนที่โดนครอบครัวขัดขวางความสัมพันธ์เอาไว้โดยผู้เป็นแม่
“มันวิปริต ผู้หญิงกับผู้หญิงจะรักกันได้ยังไง คู่หญิงกับชายมันยังแต่งงานกันได้ แต่คนที่คบเพศเดียวกันแต่งงานกันไม่ได้ แล้วถ้าเป็นแบบนี้ทรัพย์สมบัติที่หาด้วยกันจะแบ่งกันยังไงล่ะ”
นี่คือสิ่งที่แม่พูดกับจีน ภาพคู่สมรสในอุดมคติสำหรับใครบางคนยังเป็นภาพของเจ้าสาวที่เป็นผู้หญิงและเจ้าบ่าวที่เป็นผู้ชายเท่านั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นเพราะเมื่อก่อนประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายที่รองรับการแต่งงานของคนกลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศ
แต่ในวันนี้เราได้เห็นความรักที่ไม่มีข้อจำกัดผ่านร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ยิ่งโดยเฉพาะประเด็นสิทธิในการจัดการทรัพย์สินและทำธุรกรรมร่วมกันได้ ทั้งนี้ก็เพื่อให้จีนและกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศคนอื่นๆ มีความสุขกับความรักในแบบของตัวเองโดยที่ไม่ต้องมีข้อกังขาอีกต่อไป
อ้างอิง:
- www.facebook.com
- www.youtube.com
- www.youtube.com
- ร่างงานวิจัยโครงการการศึกษาสถานการณ์สุขภาวะทางเพศ สุขภาพจิต และความสัมพันธ์ของกลุ่มประชากรสูงอายุที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTIQNA+) ในประเทศไทย โดย ดร.ฐิติกาญจน์ อัศตรกุล, ผศ.ดร. นรุตม์ ศุภวรรธนะกุล, ผศ.ดร. ลินดา เยห์, ผศ.ดร. อัครา เมธาสุข, ผศ.สกล โสภิตอาชาศักดิ์, และ รศ.ดร. วิราภรณ์ โพธิศิริ