มุมมองและข้อเสนอแนะต่อนโยบายด้านสุขภาวะของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ
เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2567 เวลา 10.00 – 16.00 น. ณ True 5G Pro Hub (ชั้น 4 Siam Discovery) และ Lido connect คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับ Bangkok Pride ในงานเทศกาล Bangkok Pride 2024 โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนัก 9 จัดเวทีสาธารณะมุมมองและข้อเสนอแนะต่อนโยบายด้านสุขภาวะของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ ตลอดจน Interactive Exhibition ที่มาจากผลการวิจัย
การจัดเวทีครั้งนี้เพื่อนำเสนอข้อค้นพบสำคัญจากงานวิจัย 2 โครงการหลัก ได้แก่ โครงการการศึกษาสถานการณ์ สุขภาวะทางเพศ สุขภาพจิต และความสัมพันธ์ของกลุ่มประชากรสูงอายุที่มีความหลากหลายทางเพศในประเทศไทย และ โครงการ สร้างสังคม DEE (Diversity, Equity and Empathy) เสนอร่างข้อเสนอเชิงนโยบาย เพื่อให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการออกแบบนโยบายได้ร่วมแลกเปลี่ยนให้ข้อเสนอแนะ และร่วมชมนิทรรศการที่ให้ผู้เข้าร่วมได้รับรู้ข้อมูลพร้อมกับสะท้อนตนเองไปด้วย
ในงานนี้ได้รับเกียรติเปิดงานโดย คุณภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ และรักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. ให้คำกล่าวในการเปิดงาน
“ทาง สสส. สำนัก 9 ให้ความสำคัญต่อสุขภาวะของประชากรกลุ่มเฉพาะ โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุที่มีความหลากหลายทางเพศ ที่มีความซ้อนทับเชิงอัตลักษณ์ เนื่องด้วยการเป็นผู้สูงอายุโดยทั่วไปแล้วก็มีความท้าทายในการใช้ชีวิต แต่เมื่อเป็นผู้มีความหลากหลายทางเพศแล้วด้วย พวกเขาจะพบความท้าทายใดบ้าง ที่ผ่านมาเรื่องนี้เป็นสิ่งที่พูดกันโดยใช้ประสบการณ์ความรู้สึก แต่ยังขาดข้อมูลเชิงประจักษ์เกี่ยวกับประชากรกลุ่มนี้ สสส. จึงเห็นความสำคัญของการมีข้อมูลที่เป็นพื้นฐานเพื่อนำไปสู่การออกแบบและวางแผนนโยบายต่อไปได้อย่างเหมาะสม”
รศ.ดร.ฐิติกาญจน์ อัศตรกุล อาจารย์ประจำคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ หัวหน้าโครงการการศึกษาสถานการณ์ สุขภาวะทางเพศ สุขภาพจิต และความสัมพันธ์ของกลุ่มประชากรสูงอายุที่มีความหลากหลายทางเพศ ในประเทศไทย ได้นำเสนอถึงข้อค้นพบบางส่วน ดังนี้
“ในส่วนของงานวิจัยเชิงปริมาณ ข้อมูลเชิงสถิติเบื้องต้น พบว่า ผู้สูงอายุ LGBTQIAN+ อาศัยอยู่คนเดียวมีสัดส่วนที่สูงกว่าผู้สูงอายุทั่วไปเกือบ 3 เท่าตัว และยังคงต้องทำงานอยู่กว่าร้อยละ 60 โดยแหล่งรายได้หลักส่วนใหญ่มาจากการทำงาน ซึ่งมีสัดส่วนของผู้ที่ยังทำงานอยู่สูงกว่าผู้สูงอายุทั่วไป 2 เท่าตัว ในขณะที่ผู้สูงอายุทั่วไปมีแหล่งรายได้หลักมากจากการทำงานและบุตรในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน คือ ประมาณร้อยละ 30 ทั้งคู่ แต่ผู้สูงอายุที่มีความหลากหลายทางเพศ มีแหล่งรายได้หลักในการยังชีพที่มาจากการทำงานสูงกว่าร้อยละ 60
ที่น่าสนใจคือ แม้จะยังทำงานอยู่ และแหล่งรายได้หลักมาจากการทำงาน ในสัดส่วนที่สูงกว่าผู้สูงอายุทั่วไปกว่าเท่าตัว แต่เมื่อพิจารณาในรายได้เฉลี่ยต่อปี พบว่า รายได้เฉลี่ยต่อปีตำกว่า 40,000 บาท (ต่ำกว่าเส้นความยากจน) กลับแทบไม่ได้ต่างกันกับผู้สูงอายุทั่วไปเลย (ร้อยละ 47.67 กับ 51.22) อาจสะท้อนได้ว่า แม้พวกเขาจะทำงานหนัก แต่รายได้ยังคงไม่เพียงพอต่อการใช้ชีวิตได้อย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดี มันอาจมีความเชื่อมโยงกับข้อค้นพบเรื่องประสบการณ์การถูกเลือกปฏิบัติ ที่ผู้สูงอายุที่มีความหลากหลายทางเพศรายงานว่า ตนเองเคยมีประสบการณ์
การถูกเลือกปฏิบัติในสถานที่ทำงานสูงที่สุด ทั้งการได้รับความรุนแรงทางกายภาพ เพศ และวาจา การรังแกและคุกคาม ในสถานที่ทำงาน และการถูกเลือกปฏิบัติเมื่อสมัครงาน อาจสะท้อนได้ว่า ประสบการณ์การถูกเลือกปฏิบัติในการทำงานในขณะที่ยังเป็นวัยทำงาน มีผลอย่างมากต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจของพวกเขาในยามสูงอายุด้วย” และยังมีข้อค้นพบอื่น ๆ ที่น่าสนใจจากงานนี้ เช่น พฤติกรรมสุขภาพ สุขภาวะทางเพศ และสุขภาพจิต
ผลการศึกษาอีกโครงการยังสะท้อนให้เห็นถึงอคติของสังคมที่มีต่อประชากร LGBTQIAN+ โดย ผศ.สกล โสภิตอาชาศักดิ์ อาจารย์ประจำคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ หัวหน้าโครงการ สร้างสังคม DEE (Diversity, Equity and Empathy) ได้นำเสนอข้อค้นพบที่เกี่ยวข้องกับอคติของคนในสังคมที่มีต่อประชากรกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ ดังนี้
“ในภาพรวมดูเหมือนประชาชนทั่วไปจะรู้สึกสบายใจที่ต้องปฏิสัมพันธ์กับกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ เช่น ทำงานร่วมกัน LGBTQIAN+ เป็นหัวหน้างาน หรือการใช้บริหารต่าง ๆ จากกลุ่ม LGBTQIAN+ แต่เมื่อใดก็ตามที่เริ่มเป็นเรื่องที่เข้ามาในพื้นที่ส่วนตัว เช่น มีสมาชิกในครอบครัวคบหากับ LGBTQIAN+ มีคนในครอบครัวเป็น LGBTQIAN+ หรือ ใช้ห้องน้ำร่วมกันกับ LGBTQIAN+ ความสบายใจนั้นจะเริ่มลดลง เมื่อสอบถามความเห็นเกี่ยวกับความเห็นด้วยต่อกฎหมายสมรสเท่าเทียม คนส่วนใหญ่เห็นด้วย แต่เมื่อลงในรายละเอียดที่เป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิของ LGBTQIAN+ เช่น การเปลี่ยนคำนำหน้าชื่อ กลับพบว่าระดับความเห็นด้วยนั้นลดลง”
ผู้ร่วมเสวนา รองศาสตราจารย์ ดร. อานนท์ มาเม้า อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ได้ร่วมให้ข้อคิดเห็นในเชิงกฎหมายเกี่ยวกับนโยบายต่าง ๆ อย่างน่าสนใจ โดยเฉพาะเรื่องสิทธิ์ในการตัดสินใจเรื่องสำคัญของคนรัก
“ข้อกฎหมายมีข้อจำกัดที่เป็นอุปสรรคมากต่อคู่รักผู้สูงอายุที่มีความหลากหลายทางเพศ โดยเฉพาะในเรื่อง
การตัดสินใจ หรือการให้การยินยอมในการรักษาพยาบาลกรณีที่ผู้ป่วยไม่รู้สึกตัว เนื่องด้วยเมื่อยามเข้าสู่วัยสูงอายุ เพิ่มโอกาสการเจ็บป่วยมากขึ้น หรือมีภาวะอัลไซเมอร์ หลายครั้งที่คู่รักอยู่ในจุดนั้นแล้ว แต่ไม่สามารถให้คำยินยอมได้ แพทย์ต้องตามหาตัวญาติแทน ซึ่งบางครั้งญาติแม้จะโดยสายเลือด แต่ก็ไม่ได้มีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกัน”
สำหรับ คุณจารุณี ศิริพันธุ์ ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อสิทธิความหลากหลาย และ กองเลขามูฟดิ ได้ร่วมให้ความคิดเห็นต่อประเด็นและนโยบายที่เกี่ยวข้องกับ LGBTQIAN+ โดยเฉพาะในเรื่องสิทธิในการเข้าถึงการบริการเกี่ยวกับสุขภาพทางเพศ
“งานหลักที่ มูฟดิ (MoveD) ทำคือ การทำงานเพื่อขจัดการเลือกปฏิบัติ ลดอคติในสังคม ในทุกกลุ่มประชากร
โดยเมื่อได้ฟังข้อมูลจากผลวิจัยที่พบว่าผู้สูงอายุที่มีความหลากหลายทางเพศยังคงมีความต้องการทางเพศอยู่
และมีเพศสัมพันธ์อยู่ เรื่องนี้สะท้อนถึง หากสังคมหรือบุคลากรทางการแพทย์มีอคติว่าอายุมากแล้วไม่มีความต้องการด้านนี้แล้ว ประเด็นการดูแลทางด้านนี้อาจถูกละเลย และทำให้ไม่สามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขทางนี้ได้ มิติความรักความสัมพันธ์ของ LGBTQIAN+ ยังไม่ได้จำกัดแค่เรื่องเพศสัมพันธ์เท่านั้น แต่ยังครอบคลุมถึง
การกอดการแสดงความรักผ่านการสัมผัสรูปแบบอื่นด้วย”
โดยผู้ร่วมวงเสวนาทั้ง 4 ท่าน ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของนโยบาย และแนวทางก้าวต่อไป โดยเฉพาะเมื่อกฎหมายสมรสเท่าเทียมผ่าน ซึ่งย่อมจะมีผลต่อกฎหมายลูก หรือนโยบายต่าง ๆ ของแต่ละหน่วยงานตามมา ดังนั้น แนวทางการทำงานต่อไป จึงควรให้ความสำคัญกับการทำงานกับวิธีคิด อคติ ของคนในสังคม หรือการให้ความรู้ความเข้าใจประชาชนทั่วไป ตลอดจนผู้รับนโยบายไปปฏิบัติ ถึงการมองกลุ่ม LGBTQIAN+ อย่างเคารพความเป็นมนุษย์ของพวกเขา
นอกจากนี้ คณะผู้จัดงาน ยังจัดนิทรรศการที่ย่อยข้อมูลจากผลงานวิจัย ในรูปแบบ interactive exhibition ที่เน้นให้ผู้เข้าร่วมได้มีส่วนร่วมกับข้อมูลที่จัดแสดงและสะท้อนตนเอง
“ไม่ได้เหยียดนะ แต่...” นิทรรศการที่ย่อยข้อมูล
จาก โครงการ สร้างสังคม DEE (Diversity, Equity and Empathy)
“…แต่ ฉันจะอยู่อย่างไรในยามชรา” นิทรรศการที่ย่อยข้อมูลจาก โครงการการศึกษาสถานการณ์ สุขภาวะทางเพศ สุขภาพจิต และความสัมพันธ์ของกลุ่มประชากรสูงอายุที่มีความหลากหลายทางเพศ ในประเทศไทย
ทั้งนี้ ภายในงานได้มีภาคีเครือข่าย ตลอดจนประชาชนทั่วไปเข้าร่วมเพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองร่วมกัน ตลอดจนให้ความสนใจในตัวนิทรรศการเป็นจำนวนมาก
สำหรับผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และสนใจร่วมตอบแบบสำรวจ เพื่อเป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อ
การออกแบบนโยบายต่อไป สามารถตอบแบบสำรวจได้ที่นี่