8 เคล็ดลับ ออกแบบบ้านเพื่อผู้สูงอายุ

เมื่ออายุเพิ่มมากขึ้น ข้อจำกัดในการใช้ชีวิตก็เพิ่มขึ้นตามไปด้วย สืบเนื่องจากสมรรถภาพทางร่างกายที่สึกกร่อนและโรคภัยที่รุมเร้า ทำให้ใช้ชีวิตได้ไม่สะดวกเท่าที่ควร นอกจากต้องระวังเรื่องอาหารการกินที่อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคแล้ว เรื่องที่พักอาศัยก็กลายมาเป็นปัจจัยที่ควรคำนึงเช่นกัน

จากสถิติผู้สูงอายุพลัดตก หกล้ม ตั้งแต่ปี 2560-2564 ระบุว่า มีผู้สูงอายุประสบอุบัติเหตุจากการหกล้มประมาณ 3,000,000 รายต่อปี บาดเจ็บ 600,000 ราย ต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล 60,000 ราย เสียชีวิตเฉลี่ยวันละ 4 ราย และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ทำให้เราต้องมาพิจารณากันว่ามีหนทางใดบ้างที่จะช่วยลดความเสี่ยงหรือโอกาสในการเกิดอุบัติเหตุในผู้สูงอายุ ซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญในยุคสังคมสูงวัย

‘ยังแจ่ม’ เสนอ 8 วิธีออกแบบบ้านสำหรับผู้สูงอายุ เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุ และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

  1. ลูกบิดประตู

ปฏิเสธไม่ได้ว่า แม้กระทั่งลูกบิดประตูก็มีความสำคัญต่อการออกแบบ ทั้งในเชิงดีไซน์และฟังก์ชัน โดยเฉพาะการออกแบบลูกบิดประตูให้เข้ากับชีวิตประจำวันและสรีระของผู้ใช้ โดยลูกบิดประตูสำหรับบ้านที่มีผู้สูงอายุควรเป็นแบบคันโยก เพื่อความสะดวกในการบิดเมื่อมือลื่น และช่วยลดความเจ็บปวดหรืออุบัติเหตุสำหรับผู้สูงอายุที่ป่วยเป็นโรคข้ออักเสบ

  1. หลอดไฟ

บ้านที่มีแสงสว่างเพียงพอ จะช่วยลดความเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุยามค่ำคืนได้ เมื่อออกแบบบ้านต้องคำนึงว่ามีแสงไฟสว่างเพียงพอต่อการมองเห็นหรือไม่ แต่ต้องไม่มากเกินไปจนทำให้ทัศนวิสัยแย่ เช่น ไฟสว่างมากไปจนแยงตา

  1. ปลั๊กไฟ

หากผู้สูงอายุมีอาการปวดหลังหรือมีปัญหาเกี่ยวกับการก้ม เมื่อต้องเสียบหรือถอดปลั๊กที่อยู่ในระดับต่ำอาจมีปัญหาความปวดเมื่อยหรืออุบัติเหตุตามมา การวางตำแหน่งปลั๊กไฟให้อยู่ระดับเดียวกับโต๊ะทำงาน จะช่วยลดความเสี่ยงและเพิ่มความสะดวกสบายในการใช้งาน

  1. ห้องน้ำ

ห้องน้ำเป็นหนึ่งในพื้นที่ภายในบ้านที่ใช้ร่วมกัน และเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่เกิดอุบัติเหตุมากที่สุด การออกแบบห้องน้ำจึงต้องคำนึงถึงหลายปัจจัย อาทิ พื้นกระเบื้อง ราวจับภายใน ระดับความสูงของสุขภัณฑ์ หรือแม้กระทั่งรูปแบบของประตูที่ควรออกแบบให้เปิดออกด้านนอก ในกรณีคนล้มในห้องน้ำจะสามารถเข้าไปช่วยเหลือได้โดยไม่ติดขัด

  1. ห้องครัว

การออกแบบห้องครัวให้มีพื้นที่พอเหมาะ ไม่กว้างไป ไม่แคบไป จะช่วยให้การหยิบจับสิ่งของภายในครัวสำหรับผู้สูงอายุสะดวกขึ้น รวมทั้งติดตั้งโต๊ะและเตาไว้ในระดับความสูงที่พอเหมาะ

  1. บันได

บันไดเป็นหนึ่งพื้นที่ที่เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ การออกแบบบันไดให้มีความปลอดภัยและเหมาะกับการใช้ชีวิตประจำวันจึงสำคัญ ดังนั้นความกว้างของบันไดควรอยู่ระหว่าง 1-1.2 เมตร เพื่อความสะดวกในการเดินและการเคลื่อนย้ายรถเข็น รวมถึงติดไฟเพื่อให้แสงสว่างระหว่างทางเดินขึ้นลง และควรมีราวจับบันไดทั้งสองข้าง

  1. กระเบื้อง

เพื่อป้องกันการลื่นล้มภายในบ้าน ควรแน่ใจว่าวัสดุกระเบื้องที่ใช้เหมาะสมสำหรับพื้นที่นั้น คือต้องไม่ลื่นเกินไป ทำความสะอาดง่าย และคำนึงถึงความปลอดภัยก่อนความสวยงาม หากบางพื้นที่ใช้พื้นหินอ่อนที่มีความลื่น อาจวางพรมทับในบริเวณที่มีความเสี่ยง เพื่อเพิ่มแรงเสียดทานและป้องกันการลื่นล้ม

  1. พื้นที่สำหรับพักผ่อน

ผู้สูงอายุเป็นช่วงวัยที่ใช้ชีวิตอยู่ภายในบ้านมากกว่าช่วงวัยอื่น การเพิ่มพื้นที่สำหรับพักผ่อนจะช่วยให้ผู้สูงอายุรู้สึกสบายใจและไม่อึดอัด หากใช้เวลาอยู่ที่บ้านเป็นเวลานาน อาทิ เพิ่มชานหรือระเบียง เพื่อให้ผู้สูงอายุได้รับลมและบรรยากาศจากภายนอก หรือการเลือกเก้าอี้ที่มีความสบายเหมาะกับสรีระของบุคคล

ที่มา:

https://dengarden.com/safety/Home-Design-Ideas-for-Our-Old-Age

https://www.houzz.in/magazine/6-clever-ways-to-make-your-home-elderly-friendly-stsetivw-vs~96809400

https://ddc.moph.go.th/odpc7/news.php?news=26077&deptcode=odpc7

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

ระบุข้อความ