6 ข้อเสนอนโยบายผู้สูงอายุ จากภาคประชาสังคมสู่การเลือกตั้ง ’66

เมื่อประเทศไทยก้าวเข้าสู่ ‘สังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์’ (aged society) จากจำนวนประชากรผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป มากกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งหมด ซึ่งนับเป็นสัดส่วนที่ค่อนข้างมาก ความท้าทายที่ตามมาก็คือ ประเทศไทยมีแผนรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าวอย่างไร เพื่อให้ผู้สูงอายุดำรงชีวิตได้อย่างมีคุณภาพและสามารถพึ่งพาตัวเองได้

จากโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนไป ภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคม ได้แก่ เครือข่ายพัฒนาและขับเคลื่อนนโยบายผู้สูงอายุและสังคมสูงวัย และโครงการส่งเสริมพัฒนาการจัดการข้อมูลความรู้ด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ สังคม เพื่อการเผยแพร่สาธารณะรองรับสังคมสูงวัย จึงได้จัดทำข้อเสนอนโยบายเกี่ยวกับสภาพความเป็นอยู่ของผู้สูงอายุที่ครอบคลุมทุกมิติ

อย่างไรก็ตาม เครือข่ายประชาสังคมคาดหวังว่า ข้อเสนอเชิงวิชาการเหล่านี้จะต้องได้รับการตอบรับจากรัฐบาลเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติจริง ดังนั้น ในบรรยากาศของการเลือกตั้งที่กำลังจะมีขึ้นในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ซึ่งจะนำไปสู่การเปลี่ยนผ่านรัฐบาล ข้อเสนอเหล่านี้จึงเป็นสาส์นที่ภาคประชาสังคมด้านผู้สูงอายุต้องการส่งถึงพรรคการเมืองต่างๆ เพื่อให้นำข้อเสนอเหล่านี้ไปออกแบบนโยบายเกี่ยวกับผู้สูงอายุได้อย่างเหมาะสม บนฐานของความรู้ความเข้าใจ และตอบโจทย์ปัญหาที่ผู้สูงอายุกำลังเผชิญอยู่จริง

  1. ปฏิรูปเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุสู่ ‘บำนาญถ้วนหน้า’

เมื่อศักยภาพครัวเรือนซึ่งมีส่วนค้ำจุนดูแลผู้สูงอายุมาอย่างยาวนานกำลังถดถอยลง จึงจำเป็นต้องมีการปฏิรูปเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุที่แต่เดิมมีลักษณะเป็นเงินสงเคราะห์จากรัฐ ให้เป็นเงินบำนาญพื้นฐานถ้วนหน้า จำนวน 3,000 บาทต่อเดือนต่อคน อันเป็นสิทธิพื้นฐานที่ผู้สูงอายุทุกคนพึงได้รับอย่างเพียงพอ เท่าเทียม และยั่งยืน

ทั้งนี้ ต้องมีการปฏิรูปการจัดการด้านการเงินการคลังให้มีความสมดุลระหว่างการคลังเพื่อเศรษฐกิจและการคลังเพื่อสังคม

  1. สร้างหลักประกันรายได้ ส่งเสริมแรงงานสูงวัย

ต้องมีการสร้างหลักประกันด้านรายได้ให้แก่ผู้สูงอายุ ส่งเสริมการจ้างงานทั้งแรงงานในระบบและแรงงานนอกระบบให้เหมาะสมกับวัยและประสบการณ์ มีการส่งเสริมการพัฒนาทักษะแรงงานของผู้สูงอายุ มีการจ้างงานที่ยืดหยุ่น ให้ผู้สูงอายุทำงานได้แบบไม่เต็มเวลา โดยภาครัฐต้องเป็นหน่วยงานนำร่องในการจ้างงานผู้สูงอายุ

ทั้งหมดนี้เพื่อสร้างศักยภาพและประสิทธิภาพในการทำงานของผู้สูงอายุ ให้มีศักดิ์ศรี มีความภาคภูมิใจในตัวเอง ควบคู่ไปกับความมั่นคงทางเศรษฐกิจ

  1. ปฏิรูประบบดูแลผู้สูงอายุ ‘1 ตำบล 1 ศูนย์บริการ’

ปฏิรูประบบการดูแลผู้สูงอายุในระดับพื้นที่ บูรณาการการจัดบริการทางการแพทย์และบริการทางสังคม โดยมีหน่วยงานกลางหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรชุมชน ร่วมกันบริหารจัดการ

มีการจัดตั้งกองทุนดูแลผู้สูงอายุระยะยาว ครอบคลุมทั้งการบริการทางการแพทย์และสังคม มีการพัฒนาระบบฐานข้อมูลผู้สูงอายุในชุมชน เพื่อดูแลผู้สูงอายุอย่างเป็นระบบมากขึ้น และพัฒนาระบบการจัดการที่เป็นศูนย์บริการกลางสำหรับผู้สูงอายุ ‘1 ตำบล 1 ศูนย์บริการ’

  1. ปฏิรูปบทบาท อปท. เพื่อการดูแลผู้สูงอายุอย่างมีประสิทธิภาพ

องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) มีบทบาทหน้าที่สัมพันธ์กับภาคส่วนอื่นที่ขับเคลื่อนงานผู้สูงอายุในระดับพื้นที่ ดังนั้นจึงต้องมีการปฏิรูปบทบาทและหน้าที่ของ อปท. ให้มีขอบเขตที่ชัดเจน และทำงานได้อย่างเป็นเอกภาพ เพื่อให้การดูแลผู้สูงอายุในท้องถิ่นต่างๆ มีประสิทธิภาพมากขึ้น

  1. สร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อคนทุกกลุ่ม

จะต้องมีการสร้างสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรต่อคนทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ส่วนบุคคล สถานที่สาธารณะ และระบบขนส่งสาธารณะต่างๆ ให้มีสภาพเหมาะสมต่อการเดินทางสำหรับคนทุกวัย โดยเฉพาะผู้สูงอายุและผู้พิการ ไม่ให้เกิดความยากลำบากในการเข้าถึงหรือใช้บริการ เพื่อให้เกิดลักษณะ ‘อยู่ดี’ ภายใต้หลักการออกแบบเพื่อมวลชน (universal design)

  1. สร้างเสริมศักยภาพผู้สูงอายุเท่าทันเทคโนโลยี

ปัจจุบันเทคโนโลยีมีบทบาทในชีวิตประจำวันอย่างสูง และมีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็วอยู่เสมอ เพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถใช้ชีวิตได้อย่างรู้เท่าทัน และเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ในยุคนี้ได้ จึงต้องมีการเพิ่มความสามารถในการใช้เทคโนโลยีให้แก่ผู้สูงอายุ ควบคู่กับความรอบรู้ทางดิจิทัล และรู้เท่าทันสื่อดิจิทัลให้มากขึ้น พร้อมๆ กับให้ผู้สูงอายุสามารถใช้บริการอินเทอร์เน็ตได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย หรือมีราคาพิเศษ (ครึ่งราคา)

ทางด้านเนื้อหาบนโลกออนไลน์ จะต้องมีการส่งเสริมการสร้างสรรค์เนื้อหาบนแพลตฟอร์มออนไลน์ที่เสริมสร้างพฤฒพลัง (active aging) ให้แก่ผู้สูงอายุ เพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถเรียนรู้ที่จะพึ่งพาตัวเอง และพัฒนาตัวเองเป็นผู้สูงอายุมีที่คุณภาพในสังคมได้

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

ระบุข้อความ