หยุดบูลลี่คนแก่! 5 วิธีสร้างบทสนทนาที่เป็นมิตร

“ไม่ได้ดั่งใจเลย”

“ทำไมตื่นสายขนาดนี้” (ทั้งที่เป็นวันหยุด)

“ฉันอาบน้ำร้อนมาก่อนนะ”

แม้การอยู่ร่วมกับปู่ย่าตายายจะทำให้ครอบครัวแน่นแฟ้น อบอุ่น และครื้นเครง แต่หลากหลายคำพูดของผู้สูงอายุในบ้านก็อาจทำให้คนฟังรู้สึกบั่นทอนได้ง่ายๆ ครั้นจะโต้แย้ง ก็เจอหงายการ์ด ‘เด็กสมัยนี้น่ะ…’ พออีกฝ่ายแสดงท่าทางฉุนเฉียวใส่ ผู้เฒ่าก็หงายการ์ดตีน่าเศร้าเหงาหงอย พลอยให้ลูกหลานรู้สึกแย่ไปด้วย บรรยากาศบ้านที่ควรอบอุ่น จึงกลับกลายอึงอลด้วยความอึมครึมจากช่องว่างระหว่างวัย

‘ศิลปะในการสื่อสาร’ จึงถือเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยให้บรรยากาศในบ้านเป็นสถานที่แห่งความสบายใจ แทนที่จะเต็มไปด้วยความขัดแย้ง

ต่อไปนี้คือ 5 วิธีสื่อสารกับผู้สูงอายุให้ดียิ่งขึ้น

1. อดทน

ขั้นแรกคือการปรับมุมมอง ผู้สูงวัยไม่ใช่เด็ก บางทีอาจเป็นคนเข้าใจยาก หากแต่ผ่านประสบการณ์และมีสภาพร่างกายที่เสื่อมถอยลง ดังนั้น คนในครอบครัวจึงควรเปิดใจ อดทน และสื่อสารกับผู้สูงวัยให้ช้าลงแต่ชัดเจน เว้นที่ว่างในบทสนทนาเพื่อให้เขามีโอกาสอธิบาย และอย่าเพิ่งเบือนหน้าหนีหัวข้อสนทนาว่าด้วยเรื่องเก่าๆ ที่ดูเป็นเรื่องซ้ำซาก เพราะมันคือหนทางอย่างง่ายที่จะช่วยกระชับความสัมพันธ์และเข้าใจมุมมองของผู้สูงวัยอย่างแท้จริง

2. ถามให้เป็น

อย่าคิดไปเองว่าผู้สูงอายุต้องการอะไร แล้วประเคนทุกอย่างให้ด้วยความหวังดี ผู้สูงอายุจำเป็นต้องมีความรู้สึกเป็นอิสระและรับรู้คุณค่าของตนเอง คำถามที่ดีอาจเป็นคำถามง่ายๆ หรือคำถามที่เปิดไปสู่ประเด็นใหม่ๆ ในความสัมพันธ์ เช่น “อยากกินข้าวกับอะไร” (พร้อมตัวเลือกสัก 2-3 ข้อ) “ใครคือเพื่อนที่ดีที่สุดในชีวิต” “คืนวันที่คุณรู้สึกดีที่สุดเป็นแบบไหน” “มีคำแนะนำอะไรกับลูกหลาน” ฯลฯ

3. อย่าเถียงและอย่าถือตัว

ไม่ว่าในความสัมพันธ์ไหน ไม่มีใครชื่นชอบคนขี้ดูถูก พูดจาถากถาง และเสียงดังกระโชกโฮกฮาก แม้ผู้สูงอายุจะมีอารมณ์ร้ายเหลือทน แต่การหาจุดกึ่งกลางและประนีประนอมคือวิธีการที่เหมาะสมที่สุด อาจเริ่มโดยการพยายามสงบสติอารมณ์ตัวเองและสังเกตคู่สนทนา บางกรณีผู้สูงอายุอาจนั่งรถเข็น คุณควรย่อตัวเองหรือนั่งลงในระดับสายตาเดียวกัน หรือสรรหาการสื่อสารทางกายว่าไม่มีเจตนาร้ายต่อเขา

4. เปลี่ยนประโยคคำสั่ง ให้เป็นประโยคบอกเล่า

เทคนิคนี้เป็นประโยชน์กับคนทุกวัย การใช้คำพูดแกมสั่งสอนอาจทำให้ผู้สูงวัยรู้สึกถูกด้อยค่า ซ้ำยังทำให้เขาต่อต้านคุณได้ง่าย แต่ข้อความเดียวกัน อาจก่อเกิดผลลัพธ์ต่างกัน เพียงเปลี่ยนวิธีพูด เช่น “อย่าลืมกินยา” เป็น “ฉันเตรียมยาหลังอาหารไว้แล้วนะ” หรือ “ห้ามนอนดึก” เป็น “ฉันคิดว่าการเข้านอนแต่หัวค่ำมันดีมากเลย” วิธีการนี้ยังนับเป็นการถ่ายทอดประโยคบอกรัก โดยไม่ต้องมีคำว่ารักได้ในคราวเดียวกัน

5. อย่าลืมสร้างเสียงหัวเราะ

หากผู้สูงวัยประสบปัญหาด้านการรับรู้หรือประมวลผลภาษา มุกตลกที่ยืดยาวซับซ้อนอาจไม่ตอบโจทย์นัก นอกจากนี้ ผู้สูงอายุยังมีแนวโน้มอ่อนไหวต่อ ‘มุกคนแก่’ เป็นพิเศษ จึงควรหลีกเลี่ยงการล้อเลียนสภาพร่างกายหรือมุกที่ก้าวร้าว และอย่าลืมว่าผู้สูงอายุยังมีแนวโน้มหัวเราะได้ยากกว่าคนวัยอื่น ดังนั้น ควรเน้นไปที่เรื่องตลกสั้นๆ เข้าใจง่าย และเสริมสร้างความรู้สึกเชิงบวกแก่พวกเขา

ที่มา

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

ระบุข้อความ